ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากจะทำให้เราทุกคนต้องพยายามปรับตัว และตกอยู่ในสภาวะที่มีการแข่งขันสูงอยู่ตลอดเวลาแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเรียนรู้ และพัฒนาทักษะของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ก็กลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็น และสามารถทำให้ใครหลายๆ คนโดดเด่น หรือได้รับโอกาสมากกว่าคนอื่น
TK Park จึงเชิญ คุณณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยทีมนโยบายปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ (TDRI) มาบอกเล่า และร่วมพูดคุยกับทุกคนในกิจกรรม “Re:learning for the Future 19 ความท้าทายใหม่ในโลกที่(ไม่)เหมือนเดิม” ท่ามกลางวิกฤติโควิด 19 ที่ทุกภาคส่วนกำลังรับมืออยู่ มีส่วนที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของคนไทยอย่างไร รวมถึงพูดคุยเกี่ยวกับแนวโน้ม และความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังวิกฤติในครั้งนี้ ความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต คุณณิชา กล่าวว่า ทำไมเราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต แค่เรียนในห้อง หรือในโรงเรียนอย่างเดียวไม่พอเหรอ ซึ่งความจริงการเรียนรู้ตลอดชีวิตจำเป็นมากๆ ในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากมีปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน แต่ปัจจัยอย่างหนึ่งที่เป็นหัวใจหลัก และทำให้เราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตคือเรื่องของระยะเวลาการใช้ชีวิตที่ซับซ้อนและยาวนานขึ้น ถ้าดูจากงานวิจัย อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยมากขึ้นทุกปีๆ และเมื่ออายุโดยเฉลี่ยของเรายาวนานขึ้น ก็ทำให้ความรู้ที่มีอยู่หมดอายุเร็ว เพราะโลกที่เราอยู่ทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีอะไรให้เราอัพเดทอยู่เสมอๆ ทำให้ต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็นขึ้นมาใหม่ ขณะเดียวกันทักษะเดิมที่เคยมี ก็อาจจะไม่ใช่ทักษะที่จำเป็นในโลกอนาคตก็ได้ การเรียนรู้นอกห้องเรียนจึงจำเป็น เพราะจะทำให้เราสามารถพัฒนาทักษะได้เรื่อยๆ และปรับตัวกับโลกที่ไม่หยุดนิ่งไปได้ตลอดชีวิต ผลกระทบที่โควิด 19 มีต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในแง่หนึ่ง วิกฤติครั้งนี้ทำให้หลายๆ คนมีเวลามากขึ้น อยู่กับตัวเองได้นานขึ้น มีโอกาสที่จะทำความเข้าใจ และค้นหาตัวเองว่าชอบอะไรจริงๆ ต่างกับช่วงเวลาปกติ เพราะหากดูจากงานวิจัย คนไทยส่วนใหญ่ใช้เวลาทำงานมากกว่า 2,185 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งมากกว่าหลายๆ ประเทศในยุโรปเสียอีก เมื่อเป็นอย่างนั้น หากอิงจากผลสำรวจทัศนคติเกี่ยวกับการเรียนรู้ ก็จะเห็นได้ว่า มีความสอดคล้องตรงกัน เพราะสาเหตุอันดับแรกที่เป็นสัดส่วนสูงถึง 42.7% และทำให้คนไม่อยากกลับมาเรียนรู้ หรือพัฒนาทักษะของตัวเอง คือปัญหาเรื่องเวลา “แต่อย่างไรก็ตาม เวลาไม่ใช่สิ่งเดียวที่จำเป็นต้องมีสำหรับการเรียนรู้ แต่ยังต้องประกอบด้วย ความชอบส่วนตัว ไอเดีย และปัจจัยเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียนด้วย ซึ่งถ้ามองในแง่นี้ แม้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19 จะทำให้เรามีเวลาที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้น แต่จริงๆ แล้ว การสูญเสียรายได้ และตกอยู่ในสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง ย่อมส่งผลโดยตรงต่อสภาพจิตใจ และทำให้การเรียนรู้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ บางคนอาจจะแย้งว่า การเรียนรู้มีหลายช่องทาง แต่ต้องไม่ลืมว่า การจะเรียนเรื่องอะไรก็ตาม นอกจากจะมีเรื่องของการเข้าถึงเนื้อหาแล้ว คนเรียนยังต้องมีความตั้งใจที่มาพร้อมกับความใส่ใจ และวินัยที่มากพอ ถึงจะทำให้การเรียนเรื่องต่างๆ ประสบความสำเร็จ ซึ่งวิกฤติครั้งนี้ สร้างผลกระทบต่อการเรียนรู้ของคนแต่ะละคนแตกต่างกันไป ถ้าเป็นคนที่มีการศึกษาไม่สูง แล้วต้องทำงานนอกบ้าน อาจจะได้รับผลกระทบเยอะหน่อย มากกว่าคนที่ทำงานอยู่บ้าน และเป็นงานที่ใช้ทักษะชั้นสูง กลุ่มนี้อาจจะรู้สึกว่าตัวเองมีเวลาทำงานมากขึ้นด้วยซ้ำ แต่ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม วิกฤติครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น บางคนอาจจะเลือกเรียนโดยไม่ได้ทำงาน ก็จะต้องเตรียมทุน หรือมีเงินที่มากพอที่จะทำให้ตัวเองอดทนเรียนจนจบ และปัจจัยสุดท้าย ที่เป็นสิ่งสำคัญและหลายคนอาจจะมองข้ามเมื่อพูดถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตก็คือ คนที่เรียนต้องมีแรงจูงใจ ต้องรู้ว่าเรียนแล้วจะเอาสิ่งที่ตัวเองรู้ไปทำอะไร สามารถต่อยอดงานที่ตัวเองทำอยู่ได้อย่างไร โลกแห่งการเรียนรู้หลังวิกฤติโควิด 19 คุณณิชายังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในอนาคต แม้วิกฤติโควิด 19 จะจบลงแล้ว เราก็อาจจะต้องกลับมาทบทวนประเด็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตกันอีกครั้ง ซึ่งแบ่งเป็น 3 โจทย์สำคัญคือ 1. การเรียนรู้เพื่อทำงานและสร้างงาน – เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องการมากขึ้นภายใต้สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และจะไม่ได้เป็นการเรียน แล้วค่อยออกไปทำงาน แต่จะเป็นการหันกลับมาให้ความสำคัญกับการเรียนเพื่อนำไปสู่ทักษะที่ทำให้แต่ละคนสามารถทำงานได้จริง หรือที่เรียกว่า Work – Based Education ในที่นี้รวมถึงทักษะที่จะทำให้ใครก็ตามสามารถเข้าถึงการจ้างงานที่มั่นคง รวมทั้งตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ได้ด้วยในเวลาเดียวกัน ยกตัวอย่างการเรียนรู้ที่โดดเด่นมากๆ คือโครงการ Buddy Home Care ซึ่งเป็นการนำเด็กชนเผ่าที่ต้องการที่จะเรียนรู้และหารายได้ ไปเข้าคอร์สอบรมเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ จากนั้นจึงให้พวกเขาออกมาทำงานจริง ด้วยดูแลผู้สูงอายุติดเตียงที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในจังหวัดเชียงใหม่ ผลที่ได้ก็คือ ผู้สูงอายุในพื้นที่รับการดูแล ส่วนเด็กชนเผ่าก็สามารถพัฒนาทักษะของตัวเองด้วยในเวลาเดียวกัน 2. การเรียนรู้เพื่อใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยี – หลังจากวิกฤติโควิด 19 คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะท่ามกลางวิกฤติครั้งนี้ การที่คนสูงอายุไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ หรือรับเงินชดเชยจากช่องทางใดๆ ก็ตาม แสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยี ยังมีความจำเป็นอยู่ เช่น การเสิร์ชหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต การกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ ฯลฯ หากลองสังเกตจาก Google Trends หรือสิ่งที่คนมักต้องการเรียนรู้ผ่าน Google ในช่วง 3-6 เดือนก่อนหน้านี้ ก็จะเห็นได้ว่า เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะคำค้นหาต้นๆ ยังเกี่ยวกับสวัสดิการ และการให้บริการของรัฐ การเรียนรู้แบบนี้จะทำให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงข้อมูล สวัสดิการของรัฐได้มากขึ้น และสุดท้าย ถ้าดูในภาพรวม คนก็จะสามารถมีการเรียนรู้ เข้าถึงการเรียนรู้ได้มากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นสิ่งใหม่ และอาจจะเกิดขึ้นมาภายหลังก็คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกรรมออนไลน์อย่างปลอดภัย 3. การเรียนรู้เพื่อสุขภาวะและการอยู่ร่วมกัน - วิกฤติโควิด 19 จะทำให้ความเครียดของคนเพิ่มสูงขึ้น จากการล็อคดาวน์ และเสพสื่อออนไลน์จากที่บ้าน บางส่วนอาจจะเจอ Fake News หรืออะไรที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งทำให้ความวิตกกังวลมากขึ้น หรืออีกกลุ่มหนึ่งอาจจะมีเวลาว่างมากขึ้น เลยทำให้ใช้เวลากับหน้าจอมากขึ้น พอเป็นอย่างนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือความขัดแย้ง ทั้งในโลกดิจิตอล และในโลกแห่งความเป็นจริง ดังนั้น การเรียนรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ และการใช้โซเชียลมีเดียอย่างรู้เท่าทัน หรือ Social Media Literacy จึงมีความจำเป็น เพราะหากบางคนใช้โซเชียลมีเดียอย่างขาดวิจารณญาณ ก็อาจนำไปสู่ปัญหาภายในครอบครัว หรือความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ และที่มากกว่านั้น การขาดทักษะเกี่ยวกับการวิเคราะห์ หรือฝึกที่จะคัดกรองข้อมูล สุดท้ายย่อมส่งผลต่อการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ ตามมาด้วย กฎ “4 เติม” เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่มากกว่า จากโจทย์การเรียนรู้ทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมา จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน เพราะการเรียนรู้แบบเดียวไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนทุกกลุ่ม เนื่องจากเราแต่ละคนมีพื้นเพ และความต้องการที่แตกต่างกัน ทั้งเรื่องของพื้นฐานการศึกษา เวลา ภาระงานที่มีแตกต่างกันออกไป จนถึงรูปแบบการเรียนรู้ที่แต่ละคนอาจจะถนัดไม่เหมือนกัน เช่น หากเป็นพนักงานระดับผู้จัดการ ก็อาจต้องการจะเรียนรู้เพื่อเติมโตในองค์กร คนกลุ่มนี้อาจจะมีทักษะอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน มีเงินมากพอที่จะเรียน แต่กลับไม่มีเวลาให้การเรียนรู้ได้มากเท่าที่ควร ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคนที่ขายของออนไลน์ กลุ่มนี้อาจจะมีเวลาที่ยืดหยุ่นกว่า และพร้อมที่จะเรียนรู้มากกว่า แต่รายได้อาจจะไม่มั่นคงเท่ากลุ่มแรก รูปแบบของการเรียนรู้ก็ควรจะตอบสนองคนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน การตอบโจทย์ความต้องการของทุกกลุ่มจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็สามารถทำได้อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยแบ่งออกเป็น 3 ขา หลักๆ คือ ภาครัฐ ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง และภาคประชาชน ซึ่งการร่วมมือดังกล่าวนี้ จำเป็นต้องอาศัย “หลัก 4 เติม” คือ 1. เติมใจ – หรือการฝึกทุกคนให้มีนิสัยใฝ่รู้ ส่วนนี้โรงเรียนและครอบครัวจะมีบทบาทมาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเรียน หรือเพิ่มพูนทักษะที่ตัวเองยังไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ อีกทั้งสร้างนิสัยการเรียนรู้ที่ฝังอยู่ในตัวเขาตลอด จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ 2. เติมเงิน - หรือการที่นายจ้างให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ของลูกจ้าง อาจจะใช้วิธีการสมทบเงินออมให้แก่ลูกจ้าง เพื่อทำให้ลูกจ้างมีการเรียนรู้ที่มากขึ้น ส่วนรัฐก็ควรจัดสรรงบประมาณสำหรับผู้มีรายได้น้อย ทำให้พวกเขาเข้าถึงโอกาสที่จะเรียนรู้โดยไม่เดือดร้อน อาจจะอาศัยโมเดล Individual Learning Account แบบที่สิงคโปร์ หรือฝรั่งเศสเคยทำมาแล้ว 3. เติมไอเดีย – การช่วยให้คนไทยวางแผนอาชีพในอนาคตได้ อาจจะใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ว่าเรียนอะไรถึงจะมีตลาดงานรองรับในอนาคต จะต้องเรียนวิชาอะไร มีหลักสูตรอย่างไรบ้าง 4. เติมเวลา - นายจ้างควรจัดเวลาของลูกจ้างให้สมดุล ในขณะเดียวกันลูกจ้างก็ควรแบ่งเวลาเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ อยู่เสมอ ทั้งหมดนี้คือแนวคิดที่อาจจะช่วยให้เห็นภาพกว้างขึ้น เห็นความท้าทายมากขึ้น ว่าหลังโควิด 19 เราควรมีการเรียนรู้อย่างไร หรือปรับตัวอย่างไร เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติใดๆ ก็ตาม จะมีโควิด หรือไม่มีโควิด การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ย่อมจำเป็นอยู่เสมอ ดังนั้นทุกๆ ภาคส่วน รวมถึงตัวเราเอง ควรปรับทัศนคติกันใหม่ และตระหนักอยู่เสมอว่า ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน