ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 นอกจากคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 200 ประเทศแล้ว ยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในสังคม ทำให้การติดต่อทางสังคมเป็นเรื่องน่ากังวล โดยเฉพาะผู้คนในเมืองใหญ่ที่มีความหนาแน่นของประชากร และจำเป็นต้องใช้สถาปัตยกรรมร่วมหรือยานพาหนะร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ประตูรถแท็กซี่ ราวบันไดในอาคาร ปุ่มลิฟต์ หรือแม้กระทั่งการยืนใกล้กันในอาคารหนึ่ง ยืนเบียดกันบนรถเมล์ รถไฟฟ้า ที่เคยทำได้เมื่อวันก่อน มาวันนี้หากเรายังไม่เว้นระยะห่าง ก็อาจจะกลายเป็นความเสี่ยงถึงชีวิตได้ Social Distancing การเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นมาตรการป้องกันที่ทั่วโลกให้การยอมรับแล้วว่า ช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ให้เกิดผู้ติดเชื้อโควิด 19 ใหม่น้อยที่สุด แต่ขณะเดียวกันถ้าวิกฤตินี้กินระยะเวลายาวนาน ผู้คนก็จะเกิดเป็นความเคยชินและสร้างความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกับวิถีชีวิตในระยะยาวต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ทั้งในเชิงประชากร โครงสร้างทางสังคม โครงสร้างทางกายภาพ และแน่นอนรวมถึงสถาปัตยกรรม ตั้งแต่ บ้าน ย่านและเมือง ผศ. ดร. รชพร ชูช่วย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก all(zone) จึงชวนตั้งคำถามร่วมกันว่าผลกระทบจากโควิด 19 จะเปลี่ยนแปลงเมืองของเราไปอย่างไรบ้าง ในการบรรยายภายใต้หัวข้อ การเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ในเมืองและสถาปัตยกรรม ในกิจกรรม Re:learning for the Future 19 ความท้าทายใหม่ในโลกที่(ไม่)เหมือนเดิม ที่จัดโดย สถาบันอุทยานการเรียนรู้ การอยู่บ้านที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป อาจารย์รชพร เริ่มต้นอธิบายว่า ในช่วงเวลาประมาณสองเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา สิ่งที่เราถูกขอร้องให้ทำก็คือลดใช้พื้นที่สาธารณะ เพราะว่าด้วยตัวพื้นที่สาธารณะ เป็นสถานที่ที่มีผู้คนมากหน้าหลายตามารวมกัน และเป็นสถานที่เสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่ง่าย เนื่องจากมีการใช้ของร่วมกับคนที่เราไม่รู้จักจำนวนมาก “เมื่อพอเราถูกขอร้องไม่ให้ไปพื้นที่สาธารณะ หลายๆ คนจึงต้องกักตัวอยู่บ้าน แต่การอยู่บ้านในวิกฤตนี้ ก็อาจเป็นการอยู่บ้านที่ไม่เคยอยู่มาก่อนเหมือนกัน การอยู่บ้านนานๆ ก็อาจพบว่า บ้านทำกิจกรรมจำนวนมากไม่ได้ เช่น เราไม่เคยทำกับข้าวบ่อยเท่านี้ พอทำก็พบว่าการระบายอากาศในบ้านหรือคอนโดใช้ไม่ได้ ส่วนคนที่มีโอกาสทำงานที่บ้านได้ บางคนกลับพบว่าบ้านไม่เหมาะกับการทำงานขนาดนั้น ทำแล้วประสิทธิภาพลด เพราะไม่มีพื้นที่ส่วนตัวในการทำงาน หรือบางบ้านมีผู้สูงอายุ มีโอกาสติดเชื้อง่าย เราก็อยากแยกจากท่านไปไกลนิดหนึ่ง แต่ว่าบางบ้านก็ทำไม่ได้ ประเด็นเหล่านี้ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามถึงที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าก่อนหน้านี้บ้านไม่มีประเด็นเหล่านี้ แต่เพราะใช้งานน้อยกว่านี้ บวกกับคนก็ไม่แน่ใจว่า วิกฤตินี้จะอยู่ไปนานแค่ไหน เพราะฉะนั้นบ้านกลายเป็นพื้นที่สำคัญมาก ดังนั้นผู้ที่ต้องออกแบบบ้านต่อไปอาจต้องทบทวนแล้วว่าเราจะจัดการกับการอยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปของคนใช้บ้านในเวลามากขึ้นอย่างไร” อยากจะใช้คำว่า Physical Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางกายภาพที่ต้องทำให้เกิดขึ้นในระหว่างที่เรายังไม่มีวัคซีนหรือมียารักษาโรคระบาด มากกว่าคำว่า Social Distancing แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าพื้นที่ในเมือง อาคารในเมืองไม่ได้ถูกออกแบบไว้สำหรับการทิ้งระยะห่างทางกายภาพ โดยในแง่สถาปัตยกรรม สถาปนิกก็ต้องเริ่มคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้มากขึ้น รวมถึงหลักการอยู่บ้านของผู้อยู่อาศัยก็อาจต้องปรับเปลี่ยน เช่น มีการออกแบบทางเข้า ระบบพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อทำความสะอาดก่อนเข้าบ้าน หรืออาจถึงขั้นว่าการอยู่อาศัยในอาคารชุด ต้องป้องกันการติดเชื้อในการใช้พื้นที่ร่วมกัน อย่างเช่น ลิฟต์ หรือทางเดินได้อย่างไรในอนาคต ระบบออนไลน์ เข้ามาแทนพื้นที่ทางกายภาพในห้องเรียน เมื่อโควิด 19 ก้าวเข้ามา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาเร็วขึ้นกว่าเดิม ด้วยความที่เราต้องรักษาระยะห่างทางสังคม การรวมกลุ่มบนโลกจริง จึงเป็นปัญหา ต้องเปลี่ยนวิธีการรวมกลุ่มกันทางออนไลน์แทน จากเดิมการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่มีคนจำนวนมากเรียนร่วมอยู่ในห้องเดียวกัน สิ่งนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะเราต้องทิ้งระยะห่างต่อกัน เช่น ถ้ามีคน 200 คนที่ต้องนั่งห่างกันสองเมตร มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนคงไม่สามารถหาห้องเรียนแบบนั้นได้ “จากที่เราได้รับฟีดแบคจากการเรียนการสอนที่ตัวเองทำอยู่ กลายเป็นว่าการเรียนออนไลน์ในชั้นเรียนที่มีคนจำนวนมาก นิสิตบอกว่าดีกว่าเพราะจะได้อัดเสียงและกลับมาทบทวนได้ เพราะเวลาเรียนทำไม่ทันบ้าง หรือหลับตาก็พลาดไป แต่ก็มีของบางอย่างที่ไม่สามารถทำออนไลน์ได้ ยังคงต้องการปฏิบัติ เช่นที่คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ มีวิชาการทำเซรามิก วิชานี้เราก็อาจไม่สามารถสอนออนไลน์ได้ แต่ก็จะกลายเป็นกลุ่มคนที่เล็กลง ที่สามารถจัดการการทิ้งระยะห่างได้” อาจารย์รชพรได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ส่วนตัว ในเชิงประชากรและโครงสร้างทางกายภาพ โครงสร้างออฟฟิศ พื้นที่สำนักงาน ต้องเปลี่ยนไป หลายๆ บริษัท ที่สามารถให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ พยายามปรับตัวเข้าสู่โลกเทคโนโลยีให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้บริษัทยังอยู่รอดในสถานการณ์อันยากลำบากนี้ โดยบริษัทมีการเริ่มให้อิสระพนักงานมากขึ้น เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมและลดความเสี่ยง พนักงานบางบริษัทจึงไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาทำงานที่สำนักงาน ส่วนบริษัทที่ยังต้องให้พนักงานมาทำงาน หรือให้เข้ามาทำงานได้บ้างแล้ว หลังสถานการณ์การโควิดเริ่มดีขึ้น อาจารย์รชพร เสริมถึงประเด็นนี้ว่า พื้นที่ภายในสำนักงานจะมีการปรับเปลี่ยนการทำงาน ต่างจากเดิมที่นิยมออกแบบสำนักงานเปิดโล่ง (Open Plan) ไม่มีกั้นระหว่างโต๊ะทำงาน พื้นที่ทุกส่วนเชื่อมกันหมด จะเปลี่ยนเป็นแบบปิดมากขึ้น “ระบบ Open Plan น่าจะหายแน่ๆ สำนักงานหลังโควิดนี้ อาจต้องมีระบบสัญจรในพื้นที่ที่จำกัด ไม่เปิดโล่ง ห้ามคนเดินสะเปะสะปะ และให้ไปทำงานเฉพาะจำเป็นเท่านั้น เช่น มีประชุมสำคัญหรือทำอะไรร่วมกัน เพราะการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ยังสำคัญอยู่ในการทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์หรือการแก้ไขปัญหาในรูปแบบใหม่ๆ ส่วนในแง่สถาปัตยกรรมเองในเรื่องวัสดุพื้นผิวต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะแบบอาคารสำนักงาน อาจต้องเปลี่ยนไป สิ่งที่หลายคนต้องแตะร่วมกัน เช่น ลิฟต์หรือประตู ก็ต้องเปลี่ยนเป็นลักษณะของใช้เสียงหรือเซ็นเซอร์สั่งงานได้ เพื่อจำเป็นให้ไม่ต้องใช้พื้นผิวต่างๆ ร่วมกัน และพื้นผิวเหล่านี้ ก็ต้องมีการทำความสะอาดที่ง่ายขึ้น ทนทานต่อสารที่จะมาฆ่าเชื้อโรคได้” ธุรกิจการบริการต้องปรับตัว เพิ่มระยะห่างโต๊ะ ลดพื้นที่สร้างรายได้ สำหรับธุรกิจร้านอาหาร นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องของการสร้างระยะห่าง จากลูกค้าเคยนั่งไหล่ชนกัน เปลี่ยนมาเป็นทางร้านจัดที่นั่งให้ทิ้งระยะห่างกัน 1-2 เมตร และบางร้านก็ยังไม่รับลูกค้านั่งร้าน แต่ให้บริการเฉพาะการสั่งอาหารและเครื่องดื่ม กลับไปรับประทานที่บ้าน หรือมีบริการเดลิเวอรี่เท่านั้น “การนั่งห่างกันในร้านเป็นประเด็นสำคัญ เพราะช่วยให้ความหนาแน่นของผู้คนต่ำลง สมมุติในร้านมีโต๊ะ 20 โต๊ะ โต๊ะหนึ่งนั่งได้ 4 คน ในหนึ่งช่วงเวลานั่งได้ 80 คน แต่เราต้องลดให้นั่งโต๊ะละคน แสดงว่าหนึ่งช่วงเวลานั่งได้ 20 คน ในแง่ธุรกิจแปลว่าเราขายของได้น้อยลง ร้านจึงจำเป็นต้องมีดิจิทัลแพลตฟอร์มมาช่วยในการสั่งอาหารหรือซื้อไปกินที่บ้าน ที่เราทำกันมาในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาอย่างหนักหน่วง ส่วนตัวคิดว่ามันต้องผสมผสานกันระหว่างสองแพลมฟอร์มแน่ๆ เพราะทำสิ่งเดียวในพื้นที่ที่มีอยู่ ก็ไม่น่าจะสามารถทำให้ธุรกิจเหล่านี้อยู่ได้” อาจารย์รชพร พูดถึงการจัดการโครงสร้างทางกายภาพในร้าน เพื่อลดความเสี่ยงของการติดโรคขณะเดียวกัน ก็ยังมีสินค้าและบริการอีกจำนวนมากที่การบริหารจัดการได้ยากอยู่ โดยเฉพาะบริการที่ยังจำเป็นต้องอาศัยเรื่องกายภาพ อย่าง การนวด การโรงแรม เป็นต้น แต่ภาพรวมสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือเรื่องการใช้สองแพลตฟอร์มนี้ร่วมกัน Digital Connection และ Physical Distancing อย่างเช่นวันนี้เน้นดิจิทัล อีกวันหนึ่งเปิดโอกาสให้ใช้ลักษณะทางกายภาพได้เยอะขึ้น แต่ถ้าโรคระบาดกลับมามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เราอาจต้องกลับมาอยู่บ้านหรือเกิดมาตรการล็อคดาวน์อีกครั้ง เพราะฉะนั้นทุกคนต้องเตรียมพร้อม ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่าย กล่าวโดยสรุป อาจารย์รชพร ได้แสดงความคิดเห็นในด้านสถาปัตยกรรมหลังโควิดว่า สถาปนิกหรือคนสร้างบ้านเพื่อเป็นสินค้า รวมถึงหน่วยงานต่างๆ กำลังเจอกับความท้าทายใหม่ ทั้งเรื่องพฤติกรรมวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป การจัดการพื้นที่ใช้สอยในบ้าน สัดส่วนพื้นที่ในอาคาร วัสดุพื้นผิวที่ต้องสะอาดและสามารถป้องกันเชื้อโรค และที่สำคัญแม้จัดการปัญหาการจัดการพื้นที่ทางกายภาพได้ดี ก็ยังมีกลุ่มคนไร้บ้าน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมของผู้มีรายได้น้อย ที่มีความแออัดสูงและยังมีพื้นที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะนัก ไม่มีการระบายอากาศ ก็อาจจะเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดอยู่ดี “ด้วยวิกฤตครั้งนี้ ทุกคนใหม่หมด บางปัญหาเป็นปัญหาเก่าที่ถูกทำให้เห็นเด่นชัดขึ้น บางปัญหาก็เป็นปัญหาใหม่ แต่เชื่อว่าทั้งหมดนี้ คงไม่ใช่แค่ใครสักคน หรือหน่วยงานใด ที่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้หมดทันที สุดท้ายแล้วต้องร่วมมือกัน เพื่อแก้ไข ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนอะไรที่อยู่รอบตัวเราให้ดีขึ้น ต้องทดลองทำ อาจจะไม่ดีพอก็แก้ไข เปลี่ยนแปลง และทำใหม่”