หลายคนคงสงสัยว่าโลกหลังโควิด 19 เราจะเจอกับอะไร?
หนึ่งในนั้นคือการเรียนรู้แบบใหม่ เพราะความรู้เป็นสิ่งที่หลายคนใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้
การมาเยือนของวิกฤติโรคระบาดเต็มไปด้วยความท้าทายเกี่ยวกับระบบการเรียนรู้หลากหลายมิติ เป็นต้นว่า หลักสูตรในโลกการเรียนรู้รูปแบบใหม่หลังจากนี้จะมีหน้าตาแบบไหน และการเรียนรู้ในยุคโควิด 19 ให้มีประสิทธิภาพได้นั้นต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับกระบวนการทำงานท่ามกลางวิกฤตินี้ต่อไปอย่างไร ไปจนถึงรูปแบบการเรียนการสอน การฝึกทักษะจะปรับเปลี่ยนไปอยู่บนแพลตฟอร์มใหม่ๆ แทนที่ความรู้แบบเดิมๆ ที่ได้รับจากใบปริญญาหรือไม่
วันนี้เราพามาหาคำตอบเกี่ยวกับ การเรียนรู้แบบคนรุ่นใหม่หลัง โควิด 19 กับ คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ Southeast Asia Center (SEAC) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ในงาน Re:learning for the Future 19 ความท้าทายใหม่ในโลกที่(ไม่)เหมือนเดิม จัดโดย สถาบันอุทยานการเรียนรู้
จากประสบการณ์ทำงานในแวดวงการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 28 ปี และท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและฉับพลันครั้งนี้ คุณอริญญา เถลิงศรี ได้สรุปการเรียนรู้แบบใหม่ไว้ว่าต้องมี 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ Just In Time, Purpose Driven และ Truly Blended
Just In Time
เรียนตอนนี้ ใช้ตอนนี้
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี วิกฤติทางเศรษฐกิจ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกต่างจากเดิม โดยคุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC เชื่อว่าทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ยิ่งในโลกยุคดิจิทัลการเรียนรู้ไม่ได้ถูกกำหนดด้วยอายุหรือเวลา และด้วยวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ การเรียนรู้ยิ่งเปลี่ยนไปมากกว่าเดิม ทุกคนไม่ได้รอบริษัทหรือใครมาบอกว่าตัวเองต้องพัฒนาอะไร แต่เริ่มมองเองว่า เวลานี้ต้องเรียนอะไร ที่สำคัญเรียนแล้วต้องใช้งานได้เลย
และอย่างที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์โควิด ได้ใช้มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งส่งผลให้คนใช้งานออนไลน์กันมากขึ้น ทั้งการจับจ่ายซื้อของ และการติดต่อสื่อสาร New Normal ที่มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม วิธีการคิด วิธีการใช้ชีวิต ทำให้คนเริ่มจะคุ้นชินกับการตัดสินใจผ่านข้อมูล ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น และความปกติใหม่ยังรวมไปถึงการศึกษา ที่เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ทั่วโลก มีมาตรการปิดสถาบันศึกษาต่างๆ หันมาใช้การเรียนการสอนแบบทางไกลโดยใช้เทคโนโลยี เพื่อให้การเรียนรู้กลายเป็นความปกติใหม่ทางการศึกษา ขณะเดียวกันทั่วโลกก็เกิดการเรียนรู้แบบใหม่ โดยจำกัดความว่า Just In Time เป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นหลังโควิด หลายคนเริ่มมองว่าตัวเองต้องเรียนเรื่องอะไรเพื่อพัฒนาศักยภาพชีวิตให้อยู่รอด แล้วจะทำอย่างไรให้เข้าถึงสิ่งนั้นได้อย่างรวดเร็ว
“หลังเกิดโควิดมีนวัตกรรมเกิดขึ้นมากมาย ต่างกับเมื่อ 5 ปีก่อนที่หลายองค์กรพยายามผลักดันนวัตกรรมต่างๆ แต่ไม่เกิดขึ้น พอเกิดโควิด คนในองค์กรทั้งเล็กและใหญ่กลับต้องการความรู้ใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถทำอะไรออกมาอย่างเร็ว เพราะฉะนั้นคำว่า Just In Time คือเรียนแล้วเอาไปใช้ได้เลย เรียนวันนี้ เอาไปใช้พรุ่งนี้เลย ไม่ใช่การเรียนรู้แบบเก่าที่เรียนแล้วไม่รู้จะนำไปใช้เมื่อไหร่”
Purpose Driven
แพลนกับชีวิต เพื่อจะไปสู่สเต็ปต่อไป
การเรียนรู้และการทำงานในปี 2020 กำลังเปลี่ยนไปอย่างที่ใครหลายคนอาจจะกำลังสับสน แต่สำหรับคนที่พอจับทางได้ ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การเรียนรู้พร้อมกับพัฒนาตัวเอง เพราะความสามารถและทักษะใหม่ๆ สำหรับโลกยุคนี้ คือสิ่งที่จะทำให้คุณสามารถอยู่รอด ต่อได้ในอนาคตและสายอาชีพ
ในส่วนนี้คุณอริญญา ได้อธิบายเสริมว่า “Purpose Driven คือ สิ่งที่เราเคยเรียนมาอาจจะใช้ไม่ได้ เช่นเมื่อก่อนทำมาร์เก็ตติ้งมาแบบหนึ่ง วันนี้อาจต้องเข้าใจดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งอีกรูปแบบหนึ่ง Purpose Driven ก็คือการเริ่มมองดูที่เป้าหมายหรืออนาคตและสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ มองไปไกลขึ้นอีกว่าตัวเรายังอยากอยู่ในอาชีพเดิมต่อหรือเปลี่ยนอาชีพใหม่ แล้วจะปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อไปถึงวัตถุประสงค์นั้น เนื่องจากหลังโควิดทำให้เราเห็นแล้วว่าแต่ละอาชีพเติบโตไปอีกระดับหนึ่งทั้งนั้น อย่างเช่น อาชีพ Data Scientist (นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล) ก็ไปอีกระดับหนึ่ง Project Management ก็เกิดขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง หรือคนทำงาน Sales ก็ต้องเป็นได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ตัวอย่างอาชีพเหล่านี้ทำให้คนจบใหม่หรือคนในอาชีพเหล่านั้นเริ่มมองเป็น Purpose Driven คือฉันจะต้องหาการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อมาตอบโจทย์อาชีพที่ตัวเองอยากไปต่อ”
Truly Blended
เน้นการผสมผสาน การเรียนรู้แบบใหม่ที่จะพาคุณไปไกลกว่าเดิม
สำหรับส่วนสุดท้าย คุณอริญญา ได้แนะนำว่าปัจจุบัน การเรียนรู้ของผู้คนเน้นไปที่ Truly Blended มากขึ้น ก็คือไม่ว่าจะเรียนแบบไหน เน้นการผสมผสานที่หลากหลาย โดยผู้คนเริ่มไม่หยุดอยู่นิ่งกับการเรียนรู้กับช่องทางเดิมๆ ผู้คนเริ่มขวนขวายให้เกิดซึ่งการเรียนรู้ และนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้จริง ด้วยวิดีโอคลิป หรือ Visual ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น Virtual Classroom (ห้องเรียนเสมือน), Webinar (สัมมนาออนไลน์), Simulations (การจำลองการเรียนการสอนรูปแบบใหม่) และ One-on-One Coaching (โค้ชตัวต่อตัว) เป็นต้น
นอกจากนี้ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลของคนทั่วโลกหลังการระบาดโควิด จากผลการศึกษาของจีนบอกว่า อัตราของคนที่อยากพัฒนาตัวเอง ยอมจ่ายเงินเรียนเองมีถึง 70% ซึ่งทั้ง 70% ใช้การเรียนรู้แบบการผสมผสาน เนื่องจากคนจำนวนมากเริ่มกลัวว่าจะตกงาน และไม่เชื่อว่าการเรียนแบบเดียวจะเพียงพอ เพราะฉะนั้นรูปแบบการเรียนรู้ของคนกำลังวิ่งไปสู่หลายๆ แบบ
อย่างไรก็ตาม อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC ได้พูดถึงภาพสรุปสำคัญของการเรียนรู้แบบคนรุ่นใหม่ หลังโควิด 19 ว่า “การเรียนรู้แบบคนรุ่นใหม่ เราจะต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อที่จะต้องอยู่รอดให้ได้ ในช่วงที่โควิดเกิดขึ้น มันเกิดการผลักดันขึ้นให้คนไม่รอแล้วว่าองค์กรจะต้องให้เขาไปเรียนหรือเปล่า แต่คนเริ่มจะควักกระเป๋าเรียนเองแล้ว และสามมิติข้างต้นทั้ง Just In Time, Purpose Driven และ Truly Blended จะเป็นรูปแบบการเรียนรู้แบบใหม่ในช่วงโควิดได้”