“ขอเชิญผู้ปกครองทุกท่านพาน้องๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมกับเราที่ซุ้มนี้ ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ” เสียงเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์กิจกรรม “หนังสือเดินเท้า เรื่องเล่าเดินทาง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “TK Mobile Library ห้องสมุดมีชีวิตเคลื่อนที่” จัดโดยอุทยานการเรียนรู้ TK park เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2554 ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) กิจกรรมถูกจัดขึ้นบริเวณซุ้มสีขาวท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่นของสนามหญ้าสีเขียวสด เด็กๆ จอดรถจักรยานอย่างเป็นระเบียบ แววตาสนใจและตื่นเต้นกับกิจกรรมที่รอคอยอยู่ตรงหน้า
สนุกหรรษา พัฒนาสมอง
ด้านหน้าซุ้มกิจกรรม มีของเล่นและหนังสือดีๆ มากมายคอยดึงดูดความสนใจของเด็กๆ พวกเขาสามารถนั่งหรือนอนอ่านได้ตามความพอใจบนเสื่อผืนยาวท่ามกลางบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยพรมสีเขียวที่คอยป้อนออกซิเจนให้แก่ร่างกาย ภายในซุ้มกิจกรรมมีฐานการเรียนรู้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ฐาน ได้แก่ ตามหาวงกลม หนูน้อยนักบันทึก และคณิตศาสตร์แสนสนุก โดยแต่ละฐานเป็นกิจกรรมเพื่อการพัฒนาเด็กตามแนวคิด BBL (Brain-based Learning) ซึ่งมีความสนุก เหมาะสมกับพัฒนาการ และสามารถพัฒนาทักษะได้รอบด้าน
ลานด้านนอกซุ้มมีหนังสือและของเล่น
วันนี้เราได้ “น้องอิ๋งอิ๋ง” หรือ “ด.ญ. ศศิวิมล อุไรสินธว์” สาวน้อยวัย 6 ปี ชั้นอนุบาล 3 จากโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ มาเป็นผู้นำพาไปพบกับกิจกรรมต่างๆ น้องอิ๋งอิ๋งเล่าว่าครอบครัวของน้องอิ๋งอิ๋งมักจะมาพักผ่อนที่สวนรถไฟแห่งนี้เป็นประจำ มีการทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เสมอ เช่น ขี่จักรยาน พายเรือ แต่วันนี้น้องอิ๋งอิ๋งมีกิจกรรมพิเศษที่ได้ทำพร้อมเพื่อนๆจากอีกหลายครอบครัว
เริ่มจากฐานแรก “ตามหาวงกลม” เด็กๆ จะได้ฟังนิทานเกี่ยวกับวงกลมที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในสิ่งต่างๆ รอบตัว จากนั้นพี่ๆ เจ้าหน้าที่ใจดี จะมีกระดานรูปต่างๆ ให้เด็กๆ ได้วงล้อมรอบสิ่งที่มีวงกลมเป็นส่วนประกอบ โดยเด็กเล็กจะมองรูปทรงเป็นภาพที่กว้าง สิ่งที่เด็กเล็กจะวงก็คือรูปที่เป็นวงกลมจริงๆ เช่น ลูกบอล แต่เด็กโตจะมีการมองรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น เช่น เลือกที่จะวงล้อมรอบรูปสิงโต เพราะมันมีดวงตาที่กลม เป็นต้น โดยเราอาจปรับเปลี่ยนวิธีเล่น เป็นการวงล้อมรอบสิ่งที่ไม่ใช่วงกลมก็ได้เช่นกัน ฐานนี้เด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องรูปทรงเรขาคณิตหลายแบบด้วยกัน ไม่ใช่เพียงแค่วงกลมอย่างเดียวเท่านั้น
น้องอิ๋งอิ๋งกำลังตั้งใจฟังนิทานวงกลม
ผมกำลังตามหาวงกลมอยู่ครับ
ฐานต่อมา น้องอิ๋งอิ๋งพาเราไปเรียนรู้เกี่ยวกับฐาน “หนูน้อยนักบันทึก” ฐานนี้ดูจะเป็นฐานที่ดึงดูดให้เด็กๆ นั่งได้นานขึ้น เนื่องจากเป็นการบูรณาการด้านต่างๆ ไว้ด้วยกันมากมาย โดยเริ่มต้นจากการที่เด็กๆ จะต้องระบายสี ตัดกระดาษ แล้วทากาวประกบกันให้ออกมาเป็นลูกเต๋า รูปต่างๆ บนลูกเต๋า เป็นภาพน่ารักๆ และมีคำภาษาอังกฤษประกอบอยู่ด้วย แต่นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อเด็กๆ มีลูกเต๋าเป็นของตัวเองแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการโยนลูกเต๋าและบันทึกภาพที่ได้ในแต่ละครั้งว่าได้ภาพอะไร จากนั้นให้รวบรวมว่าได้ภาพใดกี่ครั้งแล้วสร้างกราฟเส้นขึ้นไป เป็นอันจบกระบวนการ จากกิจกรรมนี้ผู้ปกครองบางท่านอาจจะคิดว่าดูยุ่งยาก เพราะมีการใช้ทักษะหลายๆ ด้าน แต่เมื่อเด็กๆ ได้ลองสัมผัสมาแล้ว พวกเขาต่างชื่นชอบและทำได้ดีมาก
เมื่อถามน้องอิ๋งอิ๋งว่าชอบฐานไหนมากที่สุด สาวน้อยส่งเสียงเจื้อยแจ้วมาว่าชอบฐาน “คณิตศาสตร์แสนสนุก” มากที่สุด “มันสนุกแล้วก็ได้ใช้ความคิดค่ะ” น้องอิ๋งอิ๋งเล่าต่อว่าในฐานนี้มีลูกเต๋าหลายแบบและมีสีสันสวยงาม โดยหน้าของลูกเต๋ามีหลายแบบ ลูกเต๋าสำหรับเด็กเล็กจะมีรูปเป็ดตัวเล็กๆ ให้นับจำนวนและมีตัวเลขกำกับ ลูกเต๋าสำหรับเด็กโตจะเป็นโจทย์คณิตศาสตร์หัดบวกลบ เด็กๆ จะได้โยนลูกเต๋าและตอบผลลัพธ์ให้ถูกต้อง ใครตอบถูกจะได้ตัวต่อ ใครสะสมได้มากกว่าคนนั้นจะเป็นฝ่ายชนะ เมื่อได้ตัวต่อมากพอ เด็กๆจะได้ใช้ตัวต่อเหล่านั้นมาต่อเป็นสิ่งต่างๆ ซึ่งนอกจากจะได้ฝึกคณิตศาสตร์แล้ว ยังได้ใช้กล้ามเนื้อมือและความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย
หนูกำลังโยนลูกเต๋าของตัวเองอยู่ค่ะ
เด็กๆ ในฐานคณิตศาสตร์แสนสนุก
เล่นกันอยู่เพลินๆ พี่เจ้าหน้าที่ก็บอกกับพวกเราว่าได้เวลาสำหรับกิจกรรมต่อไปแล้ว.....
บริหารสมองกันเถอะ
หลังจากที่ใช้สมองกันมาสักพัก เด็กๆ ก็ได้เวลามาทำ Brain Exercise หรือการบริหารสมองกัน ด้วยการทำท่าทางง่ายๆ โดยวันนี้เราได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ “อาจารย์พัชราภรณ์ พุทธิกุล” หรือ “ครูปิ๊ก” นิสิตปริญญาเอก ครุศาสตร์ ปฐมวัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาแนะนำท่าทางต่างๆให้เด็กๆ ได้บริหารสมองกัน และแน่นอนว่ากิจกรรมนี้ น้องอิ๋งอิ๋งของเราก็ไม่มีพลาดเช่นกัน
ครูปิ๊กบอกว่าท่าทางที่เราทำแต่ละท่าจะส่งผลต่อสมองของเรา ครูปิ๊กเริ่มต้นท่าที่ง่ายที่สุดคือการดื่มน้ำ ให้ค่อยๆ จิบน้ำจะได้ค่อยๆ ซึมเข้าสู่ร่างกายและสมองได้ง่าย ท่าที่ 2 ครูปิ๊กวางมือซ้ายที่สะดือ มือขวากดตรงปลายสะบักด้านล่างซึ่งเป็นตำแหน่งของปุ่มสมอง เป็นที่รวมของเส้นเลือดแดงใหญ่ การคลึงเบาๆ จะทำให้เลือดนำออกซิเจนไปที่สมองได้ดี เป็นการเปิดการเรียนรู้ ครูปิ๊กนวดเบาๆ ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ นับ 1-8 แล้วสลับเปลี่ยนข้าง ท่าที่ 3 ท่าสมดุล ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางนวดเบาๆ เป็นวงกลมเข้าหาตัวที่กกหูด้านหลังใบหู จากนั้นเปลี่ยนข้าง ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย พร้อมตั้งใจฟังครู ท่าที่ 4 ท่าหมวกความคิด ให้นวดติ่งหูไปตามใบหู จากล่างขึ้นบน ผ่อนคลายที่ใบหู
จากนั้น ครูปิ๊กเริ่มต้นท่าทางอีกชุดหนึ่ง ซึ่งครูปิ๊กบอกว่าการเคลื่อนไหวที่ผ่านเส้นกึ่งกลางร่างกายให้แขนกับขาไปคนละข้าง จะเป็นการบริหารสมอง 2 ซีกเข้าด้วยกัน ท่าทางจากนี้ไป จึงเป็นท่าทางที่ต้องเคลื่อนผ่านเส้นกึ่งกลางของร่างกายทั้งสิ้น ได้แก่ ท่าที่ 5 ท่าเตะตะกร้อ ใช้เท้าซ้ายแตะมือขวา งอขามาด้านหน้า งอขาไปด้านหลัง สลับข้างกัน เป็นการทดสอบซ้ายขวาสำหรับเด็กๆ ได้ หรือจะใช้การออกกำลังด้วยการว่ายน้ำหรือชกมวยแทนก็ได้ ท่าที่ 6 ท่าเครื่องบิน เป็นท่าทางที่เด็กๆ หลายคนคุ้นเคยกันดี ให้โน้มตัวไปข้างหน้า ยกขาไปด้านหลัง ท่าสุดท้ายของชุดนี้คือท่าที่ 7 ท่าตุ๊กตาเริงระบำ ให้เด็กๆ ยกขาไปด้านหลัง เอามือจับข้อเท้า อีกมือหนึ่งยกขึ้นระดับไหล่ พยายามรักษาสมดุลด้วยการเอนตัวหรือยกขาสูงขึ้น
เมื่อทำจบชุดนี้แล้ว ครูปิ๊กนำเสนอท่าทางที่เป็นเหมือนกับสัญลักษณ์ในการบริหารสมอง ในท่าที 8 นี้ครูปิ๊กทำท่ายกนิ้วหัวแม่มือพร้อมกับยืดแขนออกมาตรงๆ พร้อมกับวาดเป็นรูปเลข 8 แนวนอนหรือสัญลักษณ์อินฟินิตี้ ให้มองตามมือที่วาดด้วย ทำข้างละ 3 ครั้ง ต่อมาเปลี่ยนเป็น 2 มือประกบกัน ยกนิ้วโป้งขึ้น วาด 2 มือเป็นเลขแปดแนวนอนพร้อมๆ กัน ท่าที่ 9 เป็นท่าเพิ่มพลัง เมื่อเครียด ให้วางมือบนโต๊ะ ยืดแขนแล้วก้ม จากนั้นเงยหน้าขึ้น สามารถทำในห้องเรียนได้ ท่าที่ 10 เอียงแก้มชิดกับต้นแขน ยื่นนิ้วชี้ออกมาวาดเลขแปดแนวนอนแล้วยุบตัวย่อตัวตามจังหวะเขียนขึ้นลง
เด็กๆ เตรียมพร้อมบริหารสมอง
ครูปิ๊กสาธิตท่าทางให้เด็กๆ ทำตาม
หลังจากบริหารกันมาอย่างเต็มที่แล้ว ครูปิ๊กสอนให้เด็กๆ ได้ยืดเส้นยืดสายด้วย 4 ท่าสุดท้าย ได้แก่ ท่าที่ 11 ท่าเหยียดขางอเข่า หากเอียงตัวไปด้านไหน ให้พับขาข้างนั้นแล้วเหยียดขาอีกข้างหนึ่ง ต่อเนื่องด้วยท่าที่ 12 ซึ่งท่าให้มีสมาธิผ่อนคลาย เริ่มจากการนั่งบนเก้าอี้ แล้วยกขาวางข้อเท้าบนเข่าอีกด้าน ใช้นิ้วนวดบริเวณเอ็นร้อยหวายส่วนมืออีกข้างบีบที่น่อง แล้วสลับข้างกัน ต่อมาเป็นท่าที่ 13 ท่าเกี่ยวตะขอ ครูปิ๊กบอกว่าท่านี้จะทำให้กลับเข้าสู่สมาธิ เริ่มจากเอาข้อเท้าเกี่ยวกัน เอามือไขว้เกี่ยวกันแล้วม้วนเข้าหาตัวแบนบกับอก พร้อมหายใจเข้าออกลึกๆพร้อมกัน 8 ครั้ง ครบแล้วม้วนออก แกะมือและขาออก สำหรับท่าสุดท้ายซึ่งเป็นท่าที่ 14 ครูปิ๊กให้เด็กๆ พนมมือ หายใจลึกๆ กดปลายนิ้วเข้าหากัน ผลักกันทีละคู่ จะหลับตาก็ได้ ทำเมื่อรู้สึกเหนื่อย จนรู้สึกสบายแล้วลืมตา ถ้าอยู่ที่บ้านเราสามารถเปิดเพลงบรรเลงคลอเบาๆ ได้ ท่าทางต่างๆที่ครูปิ๊กสาธิตให้เด็กๆ ดูนั้น ครูปิ๊กบอกว่า การศึกษาในเรื่อง Brain Exercise ของอเมริกา ได้ทำการวิจัยแต่ละท่ามาแล้วว่าส่งผลต่อสมองจริงๆ ซึ่งท่าทั้งหมดที่ครูปิ๊กเลือกมาทำในวันนี้ เป็นท่าที่ช่วยส่งเสริมการอ่าน ทำให้อ่านได้คล่องและเข้าใจดีขึ้น
นิทานพาเพลิน
หลังจากที่ผ่อนคลายกันมาแล้ว เด็กๆ ที่สวนรถไฟวันนี้ยังจะได้ฟังนิทานอีกหลายเรื่อง ด้วยรูปแบบการนำเสนอต่างๆ กัน งานนี้น้องอิ๋งอิ๋งของเรามีหรือจะยอมพลาด หลังจากที่ทุกคนพร้อมแล้ว พี่ๆ จาก “กลุ่มนิทานแต้มฝัน” ก็เริ่มต้นเล่าและแสดงละครนิทานเพลงแสนสนุกในชื่อเรื่อง “ออมสินฟักทอง” ซึ่งเขียนโดยทวีวัฒน์ โพธิรัชต์ ในเรื่องมีตัวละคร 3 ตัว ได้แก่ หนูขาว ลูกหนูขาว และหนูดำ เนื้อเรื่องมีอยู่ว่าหนูขาวกับหนูดำเป็นเพื่อนกัน ทั้งสามตัวทำไร่สตรอเบอรี่ เมื่อขายได้เงินมาก หนูดำอยากซื้อรถและของแพงๆ หนูขาวไม่เห็นด้วย เขาสอนให้ลูกหนูขาวเก็บเงินไว้ใช้ในยามจำเป็น โดยให้ไปหยอดกระปุกออมสินฟักทอง ต่อมาฝนตก สตรอเบอรี่ไม่ออกผล หนูขาวไม่ลำบากเพราะยังมีเงินในกระปุกเหลืออยู่ ส่วนหนูดำไม่มีเงินเหลือเลย หนูขาวเอาสตรอเบอรี่และเงินที่เก็บไว้ส่วนหนึ่งมาแบ่งให้หนูดำ เขาสอนลูกว่าเราควรมีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนในยามที่เพื่อนลำบาก ต่อมาหนูทั้งสามก็ช่วยกันทำงานเก็บเงินและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เมื่อนิทานจบแล้ว พี่ๆ ก็ชวนเด็กๆ มาเต้นตามเพลงสนุกๆ จากนิทานเรื่องนี้กัน
นิทานเรื่องออมสินฟักทอง
หลังจากที่สนุกสนานกับนิทานเพลงกันแล้ว ก็มาถึงนิทานที่เด็กๆ จะได้มีส่วนร่วมด้วย นั่นคือ “นิทานพับกระดาษ” ซึ่งได้รับเกียรติจาก รศ.กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ อาจารย์ประจำสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (มศว.) นักเล่า และเขียนหนังสือเด็ก หรือ “ป้ากุล” มาเล่าให้เด็กฟัง “การเล่านิทานพับกระดาษนั้นได้ประโยชน์หลายอย่าง นอกจากจะทำให้เด็กมีสมาธิแล้ว ยังได้ฝึกให้มือกับสายตาสัมพันธฺ์กัน ได้เรียนรู้คณิตศาสตร์ รูปทรง คำตรงข้าม ได้ทักษะการฟังและคุณธรรมจากนิทานอีกด้วย” ป้ากุลกล่าว ซึ่งป้ากุลย้ำอยู่ตลอดเวลาสำหรับเด็กเล็กนั้น ผู้ปกครองต้องช่วยพับก่อน สำหรับกระดาษที่พับ จะใช้ A4 หรือกระดาษเหลือใช้ก็ได้
ป้ากุลเปิดตัวนิทานเรื่องแรกด้วยชื่อเรื่องเก๋ไก๋ว่า “คุณสั้นกับคุณยาว” ป้ากุลเล่าไปพับทีละขั้นตอน เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า คุณยาวผู้สูงสง่าได้รับจดหมายเชิญไปงานเลี้ยง เขาต้องเข้าประตูขนาดเดียวกับตัวเอง ส่วนคุณสั้นผู้เตี้ยสั้นม่อต้อก็ได้รับเชิญไปงานเลี้ยงเช่นกัน แต่เนื่องจากคุณสั้นเป็นคนมีรูปร่างพิเศษ จึงต้องมีรหัสลับพิเศษในการเข้างาน โดยคุณสั้นต้องเลือกประตูบานที่เท่ากับขนาดของตัวเองและเคาะมุมประตูทั้งสี่มุมประตูจึงจะเปิด เมื่อป้ากุลเล่านิทานจบ 2 รอบ ฟังไปเพลินๆ เด็กๆ ก็ได้กล่องพร้อมฝากล่องกลับบ้านไปใส่ของได้
นิทานเรื่องที่ 2 ของป้ากุลสนุกมาก ป้ากุลเล่าว่าชายคนหนึ่งเป็นคนขี้เบื่อ “ทำอะไรนิดเดียวก็เบื๊อเบื่อ เขาสร้างคอนโดซู้งสูง แต่อยู่แค่ 2 วันเขาก็เบื๊อเบื่อ ลิฟท์เสียต้องเดินขึ้นบันได เขาก็เนื๊อยเหนื่อย คอนโดก็แพ๊งแพง” ป้ากุลเล่าเน้นเสียง เด็กๆ หัวเราะเสียงดังแต่มือเล็กๆ ก็ไม่ลืมที่จะพับกระดาษตามป้ากุลไปด้วย “ต่อมาเขาสร้างบ้าน 2 ชั้น หลังคาแล้มแหลม ซู้งสูง อยู่บ้านไปสักพักก็ขี้เกี๊ยจขี้เกียจ เบื๊อเบื่อ” ป้ากุลเน้นเสียงอีก คราวนี้เด็กๆ ประสานเสียง ทำเสียงสูงตามป้ากุลกันเป็นแถว “จากนั้น เขาก็ไปสร้างบ้านเตี๊ยเตี้ย กว๊างกว้าง แต่ทำความสะอาดทีก็เนื๊อยเหนื่อย เบื๊อเบื่อ พอไปเห็นกระท่อมชาวนา ก็ไปปลูกกระท่อมอยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็เบื๊อเบื่อ” เด็กๆ เน้นเสียงไปพร้อมๆ กับป้ากุล จนผู้ใหญ่หลายคนก็อดหัวเราะตามไม่ได้ ป้ากุลเล่าว่าชายขี้เบื่อคนนี้ เกิดอยากไปอยู่กระโจมอินเดียนแดง แต่อยู่ไปอยู่มาก็เบื่อโลกใบนี้อยากไปอยู่ดาวดวงอื่น ชายคนนี้จึงสร้างจรวดบินขึ้นฟ้าไปอยู่ดาวศุกร์ เมื่อป้ากุลเล่าซ้ำอีกรอบว่าต่อมาเขาก็เบื่อดาวศุกร์อีกเช่นกัน เขาก็สร้างจรวดบินไปดาวดวงอื่นอีกเรื่อยๆ พอจบนิทานเรื่องนี้ เด็กๆ ก็จะได้จรวดไปปาเล่นกันได้ ซึ่งป้ากุลเสริมว่า เรื่องนี้ผู้ปกครองสามารถไปต่อยอดให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์ต่อได้
ป้ากุลเล่านิทานพับกระดาษ
เด็กๆ ฟังนิทานและพับกระดาษไปด้วย
ก่อนจากกันในวันนี้ ทางอุทยานการเรียนรู้ TK park ขอฝากประชาสัมพันธ์ว่า TK Mobile Library จะกลับมาพบกับเด็กๆ อีกในวันเสาร์ที่ 26 - วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2554 เวลา 10.00-18.00 น. ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) พร้อมด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิเช่น วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2554 เสวนาแนวทางพัฒนาทักษะภาษา “เด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้” โดย คุณพงษ์ระพี เตชพาหพงษ์ เจ้าของเว็บไซต์ www.2pasa.com และวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2554 ร่วมฟังเคล็ดลับ “สอนลูกให้เก่งเลข เป็นเรื่องง่ายๆ” โดย พ่อธีร์ ปัณณธีร์ ผู้เขียนหนังสือ “คณิตศาสตร์เรื่องง่าย สอนได้ก่อนอนุบาล” และเจ้าของกระทู้ในเว็บบอร์ดที่มีคนเข้าดูกว่า 200,000 ครั้ง
หลังจากผ่านการทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบในวันนี้แล้ว เด็กๆ คงจะได้รับความสนุกสนาน การกระตุ้นพัฒนาการ การสร้างเสริมจินตนาการและความรู้ในด้านต่างๆกันไปไม่มากก็น้อย ซึ่งผู้ปกครองเป็นผู้ที่จะต่อยอดให้เด็กๆ ต่อไปอีก แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเราแน่ใจได้ว่าเด็กๆ จะได้รับอย่างเต็มอิ่มในวันนี้ก็คือความสุขใจแบบเด็กๆ ที่ผู้ปกครองได้มีเวลาอยู่อ่านหนังสือและเรียนรู้ไปพร้อมๆกับพวกเขานั่นเอง
นภทวีป