ในปัจจุบัน สื่อยอดนิยมอย่างหนึ่งของโลกออนไลน์คือ “คลิปวิดีโอ” ด้วยความสั้น กระชับ เข้าใจง่าย และส่งต่อได้อย่างรวดเร็ว ทำให้คลิปกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้คนบนโลกออนไลน์นิยมรับชมรับฟัง กระทั่งคลิปได้พัฒนาขึ้นมาเป็นสื่อโฆษณาอันทรงพลัง ดังที่หลายคลิปในเว็บไซต์รวมคลิปอย่าง Youtube มีคนคลิกเข้าไปเพื่อชมกว่าล้านหรือสิบล้านครั้ง
โครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทยอย่าง Amazing Thailand Grand Sale 2011 เล็งเห็นถึงอานุภาพของสื่อโฆษณาชนิดนี้ จึงได้จัดให้มีโครงการ “ประกวดคลิปชวนช้อป” เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับรู้ข่าวสารของโครงการและเชิญชวนให้มาช้อป ซึ่งปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 และได้คัดเลือกคลิปในรอบแรกเพื่อให้ได้คลิปที่ตรงตามกติกาคือ “เรื่องราวความสนุกที่ได้จากการ Shopping หรือเรื่องราวที่เชิญชวนให้รู้สึกอยากไป Shopping” จำนวน 40 คลิป แบ่งเป็นระดับประชาชนทั่วไป 20 คลิป และนักศึกษา 20 คลิป ซึ่งผู้เข้ารอบทั้ง 40 คน/ทีม จะต้องมาเข้าร่วมสัมมนากับผู้ทรงคุณวุฒิในงานนี้ คลิปชวนช้อป Workshop “อายกูรู...ไม่รู้วิชา” การอบรมทำคลิปชวนช้อปโดยสุดยอดนักโฆษณา ผู้กำกับภาพยนตร์ ครีเอทีฟ นักเขียน และกูรูวงการออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นที่ TK park ห้อง Learning Auditorium เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งงานนี้ได้รับเกียรติจาก “กูรู” ชั้นเซียนจากทุกวงการไม่ว่าจะเป็น นิ้วกลม - สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์, สรณ์ จงศรีจันทร์, หนุ่มเมืองจันท์ และคุณวันฉัตร แห่ง pantip.com
งานเสวนาเริ่มขึ้นด้วยบรรยากาศสบายๆ มีการเปิดคลิปของผู้เข้าประกวดบางส่วนเป็นตัวอย่างเพื่อวิจารณ์กันว่าคลิปดังกล่าวมีข้อดี/ข้อเสียอย่างไรบ้าง บางคลิปก็เป็นการบอกเล่าหรือขายของกันดื้อๆ บางคลิปทำเหมือนภาพยนตร์โฆษณา แต่อาจจะยาวไปสักหน่อย บางคลิปดูคล้ายการแอบถ่ายแบบเรียลลิตี้ ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีจุดเด่น/จุดด้อยที่แตกต่างกันไป
ผู้ร่วมเสวนาชมตัวอย่างคลิปของเพื่อนๆ
การอบรมเริ่มขึ้นที่แนวคิดเรื่องการสร้างแบรนด์ให้แก่คลิปจากสุดยอดนักสร้างแบรนด์ของเมืองไทย คุณสรณ์ จงศรีจันทร์ ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจโฆษณาและการสร้างแบรนด์มากว่า 20 ปี และมีประสบการณ์ดูแลแบรนด์สินค้าระดับโลกและบริษัทชั้นนำในประเทศไทยอาทิ Kodak, Citibank, Unilever, Colgate-Palmolive, Mercedes-Benz, Caltex, Cerebos, ปตท, Oishi, True Visions, Siam Cement Group, Happy by DTAC เป็นต้น
คุณสรณ์ จงศรีจันทร์ สุดยอดนักสร้างแบรนด์
คุณสรณ์เริ่มการเสวนาโดยกล่าวถึงคำว่า Creative หรือความคิดสร้างสรรค์ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ใช่พรสวรรค์ที่มีเฉพาะบางคน แต่มีอยู่ในตัวทุกคนโดยเฉพาะตอนเด็กๆ ซึ่งในอังกฤษมีการทดลองเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ปรากฏว่ากว่า 95% ของเด็กทุกคนมีคำตอบที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ทั้งนั้น แต่เมื่อโตขึ้น เราต้องเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาที่ต้องท่องจำ ทำให้สมองนึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำๆ จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่ารูปแบบ (Pattern) ฝังอยู่ในสมอง หลังจากนั้นเราจึงมักจะคิดถึงสิ่ีงต่างๆ เป็นรูปแบบซ้ำๆ ทำให้ความคิดสร้างสรรค์หายไป สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ก็คือ ต้องฝันถึงสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สิ่งที่ไม่อยู่ในรูปแบบซ้ำๆ ที่อยู่ในสมองของเรา
คุณสรณ์กล่าวถึงที่มาของความคิดสร้างสรรค์ เกิดจาก 3 อย่างคือ (1) การ์ตูน คุณสรณ์ให้ความเห็นว่า นักเขียนการ์ตูนนั้นเป็นคนที่มีพลังจินตนาการสูง เพราะต้องจินตนาการถึงความคิดใหม่ๆ และเขียนถึงภาพนั้นออกมาชัดเจน เช่น สิ่งประดิษฐ์ หรือสิ่งก่อสร้างที่มีในการ์ตูนเมื่อสิบปีก่อน ปรากฏว่าปัจจุบันกลับเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม (2) ความเกียจคร้าน การต้องการความสะดวกสบายนี้ทำให้มนุษย์ประดิษฐ์เครื่องทุ่นแรง หรือเครื่องจักรการผลิตออกมามากมาย (3) ต้องจำไว้ว่า “ทิฐิปิดกั้นปัญญา” คือการคิดว่าตนเองเก่งแล้ว รวยแล้ว จึงไม่สนใจที่จะคิด หรือคิดง่ายๆ ไม่เป็น คุณสรณ์ยกตัวอย่างการทุ่มทุนกว่า 80 ล้านของอเมริกาเพื่อประดิษฐ์ปากกาที่เขียนได้ในอวกาศ แก้ไขปัญหาที่ปากกาเขียนบนอวกาศไม่ได้ ส่วนสหภาพโซเวียตคู่แข่งคิดง่ายๆ กว่านั้น คือ ใช้ดินสอเขียน โดยไม่ต้องลงทุนเลยแม้แต่บาทเดียว
เคล็ดลับความสำเร็จของการคิดสร้างสรรค์เกิดจาก 3 อย่าง คือ (1) แนวคิดที่เกี่ยวกับวิชาเทคนิคจากโรงเรียน คือวิชาการต่างๆ ที่เราจะได้เรียนจากโรงเรียนนั่นเอง การมีความรู้ทางวิชาการมากขึ้นจะทำให้เราสามารถต่อยอดจากความคิดเดิมเป็นความคิดใหม่ง่ายขึ้น (2) ความสามารถเฉพาะตัว หรือพรสวรรค์ที่มีในแต่ละคน คุณสรณ์ยกตัวอย่างคุณตัน โออิชิที่มีพรสวรรค์ด้านความคิดสร้างสรรค์ ทั้งที่ไม่ได้จบการศึกษาสูงๆ แต่สามารถคิดสินค้าและโปรโมชั่นที่ถูกใจลูกค้าได้มากมาย (3) ความสามารถในการคิด คือต้องหมั่นคิด ไม่ลดละในการคิด หมั่นผสมความสามารถข้อ 1 และ 2 เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ
จากนั้นคุณสรณ์จึงพูดถึงเคล็ดลับของการสร้างแบรนด์ของเราให้เป็นที่จดจำ นั่นคือต้อง “แตกต่าง” และ “สร้างสรรค์” ความแตกต่างจะทำให้ลูกค้าคิดถึงแบรนด์เราเป็นอันดับแรก และความสร้างสรรค์ทำให้เรารู้สึกว่า สินค้าของเรามีความพิเศษน่าซื้อน่าใช้ เช่นเดียวกับคลิป หากคลิปมีแต่ความคิดซ้ำๆ ประกาศขายกันโต้งๆ ก็จะไม่มีใครจดจำหรือพูดถึงคลิปของเรา สิ่งสำคัญในการสร้างคลิปให้ประสบความสำเร็จ ต้องรู้จักจุดเด่นของคลิป นั่นคือ “ความสั้น” หากเล่นไปแล้ว 10 วินาที คนดูยังไม่รู้ว่าเราจะพูดถึงอะไร หรือไม่ชวนให้ติดตามต่อ ก็ถือว่าสอบตก ต้องทำให้ลูกค้าสนใจคลิปตามลำดับคือ รู้-เข้าใจ-เชื่อ-อยากได้-หาซื้อ-ใช้-ชอบ
สุดท้ายคุณสรณ์ได้ปิดท้ายการอบรมเรื่องการสร้างจุดเด่นให้คลิปของเราว่า สมองมีไว้คิด ไม่ได้มีไว้จำ การใช้สมองเพื่อจดจำเป็นการใช้ศักยภาพสมองเพียงแค่ 10% เท่านั้น การคิดจะทำให้กิ่งก้านสมองของเราแตกสาขาออกไปไม่สิ้นสุด นำมาสู่ความคิดสร้างสรรค์ที่จะช่วยสร้างแบรนด์ที่น่าจดจำให้แก่สินค้าเราเสมอ
มอบของที่ระลึกให้คุณสรณ์
มาถึงคิวของ “นิ้วกลม” ศราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียน/ครีเอทีฟชื่อดัง ที่มากับคำถามแรก “เรากำลังจะทำอะไร” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคิดและตอบตัวเองให้ได้เสมอเมื่อจะทำอะไรสักอย่าง และโจทย์ของเราคือ “ทำคลิปชวนช้อป” ดังนั้นต้องคิดให้ได้ว่า “อะไร” ที่ทำให้คนอยากไปช้อป คือมีคำตอบชัดเจนสำหรับคนที่ดูคลิปนี้ การจะสร้างคำตอบดังกล่าวมีเทคนิคอยู่ที่ อย่าคิดจากโจทย์ ต้องเอาโจทย์มาทำเป็นประโยคที่เข้าใจง่ายที่สุด เช่น โจทย์ “คลิปชวนช้อป” หากคิดจากโจทย์ คำตอบที่ได้มักจะเป็น “ดูแล้วทำให้คนอยากไปช้อป” แต่หากนำมาทำเป็นประโยคที่เข้าใจง่ายที่สุด อาจต้องดึงจุดเด่นที่ได้จากการช้อป เช่น “ยิ่งช้อปยิ่งรวย” เป็นต้น ยิ่งเรามีคำตอบที่ง่ายและชัดเจน ก็จะยิ่งเปิดโอกาสให้เราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น และทำให้คนดูเข้าใจและจดจำสารที่เราต้องการสื่อได้ง่ายขึ้น
นิ้วกลม กับคำถามว่า “เรากำลังจะทำอะไร”
นิ้วกลมกล่าวถึงเคล็ดลับที่ทำให้คลิปแพร่กระจายอยู่ 6 ข้อ คือ
(1) อารมณ์ขัน คลิปบางคลิปไม่มีเนื้อหาอะไรเลย แต่มีอารมณ์ขัน อาจจะแค่พอให้อมยิ้ม หรือถึงขนาดทำให้หัวเราะน้ำหูน้ำตาไหลก็ใช้ได้ อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เพราะทำให้คนอยากดู/ส่งต่อได้
(2) เสียงประกอบที่ดี สิ่งที่มองไม่เห็นไม่ได้แปลว่าไม่มีความสำคัญ คลิปที่มีเสียงประกอบที่ดีจะช่วยสร้างจังหวะในการปล่อยสาร หรือเพิ่มอารมณ์ขัน/ความตื่นเต้นระทึกใจได้ง่าย
(3) เห็นแล้วต้องทึ่ง คือ ทึ่งในความสามารถหรือองค์ประกอบของคลิป เมื่อดูแล้วต้องตะลึงว่า “เก่งมาก” หรือ “ตลกมาก” คลิป แบบนี้จะทำให้คนจดจำและอยากส่งต่อ
(4) ล้อเลียน เช่น คลิป “ซับนรก” “พากย์นรก” ทั้งหลายที่เอาหนังดังมาล้อเลียนพากย์ใหม่ให้ตลกๆ นิ้วกลมเห็นว่ามีบางคลิปที่ส่งมาให้ชมเล่นมุกนี้และได้ผลดี น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สริ้างความตลกได้ง่าย และทำให้คนจดจำจากความดังของหนังที่เอามาล้อเลียน
(5) ความไร้เดียงสา ของเด็กหรือสัตว์ ถือเป็นอีกจุดขายหนึ่งที่มักจะขายได้ง่าย เพราะคนทั่วไปชอบดูความไร้เดียงสาเหล่านี้อยู่แล้ว
(6) มีวิธีเล่าที่สร้างสรรค์ เช่น แต่งเป็นเพลง หรือใช้ความสามารถพิเศษอื่นๆ ทำให้คนจดจำได้ดีกว่าการเล่าเรื่องแบบธรรมดา
นอกจากนั้น นิ้วกลมยังมีข้อแนะนำ/ข้อควรระวังอีก 6 ข้อ คือ
(1) ไม่มีใครเปิดคอมมาเพื่อดูคลิปเรา เพราะฉะนั้นอย่ายาว อย่าน่าเบื่อ เพราะคลิปไม่ใช้หนัง ต้องสั้นและกระชับ
(2) “สุดๆ” หรือยัง เมื่อได้ดูในฐานะคนดู เราคิดว่าคลิปนี้เต็มที่หรือยัง ถ้าคิดว่ายังเติมอะไรได้อีกแสดงว่าคลิปนั้นยังไม่ “สุดๆ”
(3) เป็นเราจะ “ส่งต่อ” ไหม ลองถามตัวเองด้วยคำถามนี้ หากไม่ส่งต่อแสดงว่าคลิปเรายังไม่ดีพอ
(4) แก่นเรื่องชัดเจน คือสื่อสารสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกไปได้ชัดเจน
(5) สื่อสารกับใคร การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้สารของเราชัดเจนขึ้น เช่น เป้าหมายที่พนักงานบริษัท ก็ต้องทำคลิปที่ “พูด” กับพนักงานบริษัทให้เขาสนใจ ซึ่งนิ้วกลมได้ยกบางคลิปที่ส่งเข้ามาที่มีเป้าหมายเป็นพนักงานบริษัทมาเป็นตัวอย่าง
และ (6) เกี่ยวกับคนดู คือมีความเกี่ยวพันกับชีวิตคนดู ชวนให้เขานึกภาพถึงเรื่องตัวเอง คลิปลักษณะนี้มักขายประเด็นความถวิลหา (Nostalgia) เช่น พูดถึงครั้งแรกของสิ่งต่างๆ เช่น รักครั้งแรก ของเล่นชิ้นแรก ซื้อของครั้งแรก เป็นต้น
มาถึงคิวของ “หนุ่มเมืองจันท์” หรือคุณสรกล อดุลยานนท์ นักเขียนชื่อดังจากสำนักพิมพ์มติชน เจ้าของคอลัมน์ “ฟาสต์ฟู๊ดธุรกิจ” คอลัมน์ว่าด้วยธุรกิจและการตลาดที่เต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์ขันมาแนะนำวิธีผสานระหว่างความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ให้นำมาใช้ได้จริง ซึ่งมีเคล็ดลับอยู่ 10 ข้อดังนี้
(1) ความบริสุทธิ์ไม่มีจริง หมายความว่าทุกความคิดสร้างสรรค์แท้จริงแล้วมาจากการต่อยอดจากของเดิม หรือการนำสองหรือสามสิ่งที่มีอยู่เดิมมาผสมกันเป็นสิ่งใหม่
(2) คิดแบบเด็กในบ่อทราย หมายความว่า ทรายนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ นั่นคือ ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่สิ้นสุด แต่เมื่อทรายอยู่ในบ่อก็หมายความว่า มีกรอบจำกัด นั่นคือ พยายามคิดแบบสร้างสรรค์โดยคำนึงถึงกอรบที่จำกัด เช่น เวลา งบประมาณ
(3) โลกไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของเขาด้วย นั่นคือ ต้องทายใจคนอ่าน/คนบริโภคให้ถูกว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่ทำไปตามความคิดของตัวเองอย่างเดียว
(4) ยิงหนังสติ๊กให้ไกล ต้องดึงไปให้สุดแรง คือ คิดให้ถึงที่สุด ให้มีความแรงที่สุด แล้วเอาความจริงมากลั่นกรองความเป็นไปได้ แล้วจะเห็นจุดสมดุลที่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง
(5) ความแตกต่างทำให้มีเสียง นั่นคือ หากแตกต่างจากคนอื่น ก็จะทำให้งานเราเป็นที่จดจำ คือมีเสียงให้ผู้ชม/ผู้บริโภคได้ยินและจดจำไว้ในในง่ายขึ้น
(6) ปัญหาคือบิดาของนักประดิษฐ์ ปัญหาทำให้เรารู้จักแก้ไขปัญหา และการแก้ไขปัญหานำมาซึ่งสิ่งใหม่ๆ เสมอ ดังนั้นหากเกิดปัญหาในการทำงานต้องอย่าท้อ ให้เอามาเป็นกำลังใจ
(7) ถ้าตักปลาไม่ได้ให้เหวี่ยงแห หมายความว่า ถ้าทำเฉพาะเจาะจงไม่ได้ ก็ให้ทำอย่างกว้างๆ ที่สุดเพื่อหาไอเดีย “หนุ่มเมืองจันท์” ยกตัวอย่างเวลาที่เขาเขียนไม่ออก เขาก็จะเขียนสิ่งที่อยู่ในหัวทั้งหมดออกมา แล้วเรื่องมันจะเกาะเกี่ยวประเด็นกันเอง การหาไอเดียทำคลิปก็เช่นกัน
(8) เพราะ “ไม่” จึง “ใช่” คือตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกให้มากที่สุด หรืออย่างที่ภาษาอังกฤษว่า Less is More โดยเฉพาะการทำคลิปที่ต้องสั้นและกระชับที่สุด
(9) ให้เคารพความคิดแรก แต่อย่าเชื่อ ดังที่มีคนกล่าวกันว่า ความคิดแรกมักจะเป็นความคิดที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด แต่บางครั้งก็อาจไม่ใช่เสมอไป
(10) “เส้นตาย” คือแรงบันดาลใจ ข้อสุดท้ายที่สำคัญที่สุดที่ “หนุ่มเมืองจันท์” กล่าวว่ายังใช้ได้ผลเสมอ นั่นคือ เมื่อจวนตัวต้องส่งงาน ครีเอทีฟทั้งหลายก็ย่อมมีแรงบันดาลใจพลุ่งพล่าน
หนุ่มเมืองจันท์ กับ 10 เคล็ดลับประยุกต์ความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นจริง
สุดท้ายหนุ่มเมืองจันท์ได้ย้ำว่า ต้องคิดอยู่เสมอว่าเราจะเล่าเรื่องอะไร และเล่าให้ใครฟัง หากเรารู้และเข้าใจสองข้อนี้ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ดีและตรงเป้าหมายแก่ผู้ชมก็ย่อมเป็นไปได้เสมอ
มอบของที่ระลึกให้วิทยากร
วิทยากรคนสุดท้ายคือ คุณวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้ง เว็บบอร์ดอันดับหนึ่งแห่งประเทศไทย pantip.com จะมากล่าวถึงการทำประชาสัมพันธ์ในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media for PR) ซึ่งคุณวันฉัตรก็ได้กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันเป็นพื้นที่สำหรับการทำประชาสัมพันธ์ที่ดีมาก เพราะทรงพลัง เข้าถึงคนหมู่มาก และมีค่าใช้จ่ายน้อย แต่เดิมนั้นผู้ที่ทำประชาสัมพันธ์ทางโลกออนไลน์ก็มักจะทำออกมาในรูปแบบเว็บไซต์หรือแบนเนอร์ แต่ปัจจุบันสังคมออนไลน์ (Social Network) เช่น Facebook หรือ Twitter ได้เข้ามามีบทบาทมากแล้ว จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้เข้าอบรมจะใช้เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของตนเอง โดยต้องรู้จักจุดแข็งของสังคมออนไลน์ดังนี้คือ สังคมออนไลน์เป็นกิจกรรมยอดนิยมของคนในปัจจุบัน จึงมีคนให้เวลากับมันมากขึ้นเรื่อยๆ ผลจากการมีเวลามากขึ้น ทำให้เกิดการสื่อสารทางอารมณ์มากกว่าสื่ออื่นๆ นอกจากนั้นสังคมออนไลน์ที่ทำให้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น จึงทำให้เกิดการตลาดที่เรียกว่า Word of Mouth หรือการตลาดแบบปากต่อปากนั่นเอง เคล็ดลับของการทำให้คนอยากเผยแพร่คลิปของเราต่อไปเรื่อยๆ จึงต้องสร้างความน่าสนใจของคลิป และความน่าเชื่อถือของคนส่งต่อ เป็นการสร้างสัมพันธภาพระหว่างคนเผยแพร่กับคนดู ซึ่งทำให้การตลาดแบบปากต่อปากแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
คุณวันฉัตร แห่ง pantip.com
สุดท้ายคุณวันฉัตรได้กล่าวถึงกฎ 4 ข้อที่จะทำให้การประชาสัมพันธ์ในสื่อสังคมออนไลน์ประสบความสำเร็จ คือ
(1) สร้างสื่อครบวงจร บางครั้งสื่อประชาสัมพันธ์อย่างสังคมออนไลน์อาจมีข้อจำกัดเรื่องความละเอียดข้อมูล เพราะหากลงทั้งหมดก็อาจทำให้เยิ่นเย้อ ดังนั้นจึงควรมีข้อมูลในเว็บไซต์รับรองเผื่อผู้ที่สนใจอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมด้วย
(2) ฟังและเอาใจใส่ผู้ใช้บริการ ความเอาใจใส่จะทำให้ผู้เข้ามาชมรู้สึกอบอุ่นและกลับเข้ามาชมอีก รวมถึงบอกต่อๆ กันไป
(3) โปร่งใส จริงใจ การตลาดแบบจริงใจไม่หลอกลวงทำให้การประชาสัมพันธ์ของเราเติบโตอย่างยั่งยืน
และ (4) เตรียมตัวแก้ไขความผิดพลาด ไม่มีการทำงานใดไม่มีความผิดพลาด สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที การแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสมจะทำให้ผู้มาใช้บริการเกิดความเชื่อมั่นในพื้นที่ประชาสัมพันธ์ของเรา
ผู้เข้าอบรมร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับวิทยากร
หลังจบการอบรม ผู้เข้าร่วมอบรมก็ได้รับโจทย์ของงานรอบชิงชนะเลิศทันที ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้:
ผลิตคลิปชวนช้อปที่เล่าเรื่องได้โดนใจ น่าสนใจ และสนุกที่สุด ความยาวไม่เกิน 5 นาทีด้วยวิธีการใดก็ได้ พร้อมพูดคำว่า “Amazing Thailand Grand Sale 2011” โดยเลือกเรื่องราวจากหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งดังนี้
1. นักช้อปชาวไทย เมื่อใช้จ่ายทุก 500 บาท จากร้านค้าที่ร่วมรายการ รับคูปองลุ้นโชคเป็นบัตรกำนัลมูลค่า 1 ล้านบาท
2. ชาวต่างประเทศ เมื่อใช้จ่ายทุก 500 บาท จากร้านค้าที่ร่วมรายการ รับคูปองลุ้นโชค 30 Days Experience Thailand ได้มาเรียนรู้และใช้ประสบการณ์ชีวิตในเมืองไทยเป็นเวลาถึง 30 วัน พร้อมผู้ร่วมรายการได้อีก 1 ท่าน
หมดเขตส่งผลงาน 24 พฤษภาคม 2554 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-694-3181
หนอนหนังสือตัวอ้วน