หลังเสร็จสิ้นจากการคัดเลือกในรอบที่สองไปแล้ว เราก็ได้เยาวชนนักเขียนตัวจริงจำนวน 30 คน เพื่อเข้าอบรมการทำนิตยสารออนไลน์แบบเจาะลึกกับนักเขียนมืออาชีพชื่อดัง ในโครงการ TK Young Writer 2011 หรือ Ibook 3 ที่สานฝันให้น้องๆ เยาวชนนักเขียนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการแสดงผลงานเป็นของตนเอง กับนิตยสารออนไลน์ Read Me โดยอุทยานการเรียนรู้ TK park
การอบรบในรอบสุดท้ายนี้ใช้เวลากว่า 4 วัน 3 คืน ระหว่างวันที่ 21-24 ตุลาคม 2554 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park เพื่อให้น้องๆ เยาวชนนักเขียนได้เรียนรู้และลงมือทำนิตยสารออนไลน์ที่ได้ออกเผยแพร่จริงๆ ในเว็บไซต์ www.tkpark.or.th โดยการควบคุมของ พี่จุ้ย - ศุ บุญเลี้ยง นักเขียนรุ่นใหญ่ผู้คลุกคลีกับแวดวงน้ำหมึกมาอย่างยาวนาน และ พี่เอ๋ - สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ เจ้าของนามปากกา นิ้วกลม นักเขียนรุ่นใหม่ที่ผลงานหนังสือขายดีอย่าง โตเกียวไม่มีขา, สิ่งมหัศจรรย์ธรรมดา, และ ความรักเท่าที่รู้ ซึ่งทั้งสองท่านจะมาดูแลผลงานน้องๆ อย่างใกล้ชิดตลอดเวลาอยู่ในค่ายบ่มเพาะคนทำนิตยสารรุ่นใหม่ค่ายนี้
วันที่ 1 ระดมความคิด
เมื่อใกล้ถึงเวลานัดหมาย น้องๆ เยาวชนนักเขียนก็ค่อยๆ ทยอยเดินทางมาลงเบียนเป็นระยะๆ สำหรับใครที่มาถึงก่อนแล้วพี่จุ้ยก็มีกิจกรรมสนุกๆ ให้ทำกันไปก่อน คือให้หยิบนิตยสารแจกฟรีที่วางไว้มาแบ่งหมวดหมู่ว่าเล่มไหนเป็นนิตยสารที่ ‘ดาษดื่น’ หรือ ‘โดดเด่น’ เพื่อสำรวจทัศนคติความคิดในการทำนิตยสารขั้นต้น ซึ่งแต่ละคนก็สามารถแบ่งหมวดหมู่ได้อย่างน่าสนใจ
เมื่อถึงเวลาแล้วก็เริ่มต้นด้วยการให้น้องๆ แนะนำตัวเองว่าเรียนสาขาไหน อายุเท่าไร ซึ่งแต่ละคนก็เรียนต่างสาขาออกไป บางคนก็เรียนไม่เกี่ยวข้องกับการทำสื่อเลย ถือเป็นข้อดีที่จะได้ความหลากหลายในการร่วมมือทำนิตยสารสักเล่ม
พี่จุ้ยแนะให้โดดเด่น
ในช่วงเช้านี้พี่จุ้ยเน้นในเรื่องของระบบความคิดในการทำนิตยสาร ให้เปลี่ยนจากความดาษดื่นให้เป็นโดดเด่น อย่างที่ได้ลองคิดจากกิจกรรมสนุกๆ เมื่อครู่ หลังจากนั้นพี่จุ้ยได้ให้น้องๆ ลองนิยามว่านิตยสารที่มีธีมกับไม่มีธีมแตกต่างกันอย่างไร และมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร เพื่อแบ่งกลุ่มในการทำนิตยสารในค่ายนี้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ โดยให้น้องกลุ่มหนึ่งทำนิตยสารที่มีธีม และอีกกลุ่มทำนิตยสารที่ไม่มีธีม
ต่อด้วยการแนะนำวิธีคิดดีๆ อย่างแรกคือต้องเชื่อว่าเราเป็นคนหัวดี ซึ่งอาจจะไม่ใช่คนเก่ง แต่เป็นคนพร้อมที่จะเก่ง เราอาจเขียนไม่ดี แต่ถ้าเราหัวดีเราก็เขียนดีได้ และให้คำสามคำที่ว่า ‘คิด’ คือต้องให้ความสำคัญกับความคิดให้มาก ‘นิด’ ความคิดเพียงนิดเดียวก็สามารถมีอิทธิพลต่อยอดได้ และ ‘นิจ’ คือการฝึกคิดอยู่เป็นประจำ ซึ่งควรใช้ร่วมกับ ‘Kid’ คือการคิดเริ่มต้นแบบเด็กๆ ‘Kit’ คือการคิดแบบเครื่องมือให้เกิดสิ่งที่ดี ‘Kiss’ คือการคิดแบบใส่เสน่ห์เข้าไป
นอกจากนั้นพี่จุ้ยยังสอนให้รู้จักคิดนอกกรอบ แต่ยังตอบโจทย์อยู่ ซึ่งโจทย์ก็คือทำนิตยสาร 2 เล่ม ภายในเวลา 3 วันนี้ ถ้าไม่สามารถตอบโจทย์ได้ก็เป็นการคิดนอกกรอบที่ไม่ดี นิตยสารหนึ่งเล่ม คนอ่านก็มีหน้าที่อ่านเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับคนทำแล้ว ต้องดู มอง จ้อง เพ่ง พินิจ พิจารณา และอ่านสิ่งที่เราจะเขียนให้ออก
พี่จุ้ยปิดท้ายในช่วงเช้า ด้วยการยกตัวอย่างการสื่อสารว่าเขียนดีหรือสื่อสารดี ผ่านป้ายตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีทั้งที่สามารถสื่อสารได้เข้าใจกระชับ และการสื่อสารที่ล้มเหลว การสื่อสารผ่านนิตยสารที่ดีจึงต้องทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้นั่นเอง
ประชุมกองในขั้นต้น
จบจากการสอนเรื่องวิธีคิดแล้วก็มาถึงช่วงลงมือคิดกันแล้ว โดยแบ่งกลุ่มคิดประชุมตามนิตยสารที่มีธีม ดูแลโดยพี่เอ๋ และกลุ่มนิตยสารที่ไม่มีธีม ดูแลโดยพี่จุ้ย ขั้นแรกมีการสำรวจความสนใจโดยรวมของน้องๆ แต่ละคนด้วยการให้บอกนิตยสารที่อ่านประจำว่าเป็นเล่มไหนและเพราะอะไร มีงานอดิเรกอะไร เพื่อหาแนวคิดรวบยอดของนิตยสารได้ว่าจะให้ไปในทิศทางไหน โดยบันทึกทุกอย่างที่ประชุมลงในกระดาษ ซึ่งมีความสำคัญมากในการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่เช่นนี้ หลังจากนั้นก็ให้ระดมความคิดกันว่าในนิตยสารของแต่กลุ่มจะประกอบไปด้วยคอลัมน์อะไรบ้าง หากใครยังคิดไม่ออกพี่เอ๋และพี่จุ้ยก็เปิดโอกาสให้น้องๆ ออกไปหาข้อมูลในห้องสมุดของ TK park กันได้ตามสบาย เพื่อดูว่าคอลัมน์ที่คิดมานั้นสามารถทำจริงได้มากน้อยแค่ไหน
สอนเทคนิคการสัมภาษณ์
มาช่วงที่ให้น้องๆ พักสมองกันบ้าง พี่จุ้ยและพี่เอ๋จึงสอนสอนเทคนิคเรื่องการสัมภาษณ์แบบง่ายๆ เพื่อให้น้องๆ ได้นำไปใช้จริงในการลงพื้นหาข้อมูลในวันพรุ่งนี้ ก่อนอื่นต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ที่จะสัมภาษณ์ให้มากที่สุด ขั้นตอนต่อมาคือนัดสัมภาษณ์ล่วงหน้า และเตรียมตัวคิดประเด็นต่างๆ ไว้ให้พร้อมมากที่สุด
พี่จุ้ยเน้นย้ำว่า นักสัมภาษณ์คือนักฟังที่ดี ไม่ใช่นักถามที่ดี เพื่อจับประเด็นที่สัมภาษณ์ให้อยู่ในสิ่งที่เราต้องการได้ และพี่เอ๋ช่วยเสริมว่า ก่อนจะสัมภาษณ์สิ่งที่ต้องเตรียมไปคือความสงสัยและอยากรู้คำตอบจากเขาจริงๆ และควรอ่านบทสัมภาษณ์จากที่อื่นให้มากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกถามซ้ำ
สรุปคอลัมน์ก่อนจะออกกอง
ในช่วงค่ำหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ก็เป็นช่วงเวลาที่ให้น้องๆ ได้ระดมสมองกันอย่างจริงจัง เพื่อสรุปคอลัมน์ที่จะทำ โดยมีพี่ๆ จาก Read Me คอยให้คำแนะนำ ซึ่งก็ได้ข้อสรุปที่น่าพอใจทีเดียว ก่อนจะออกกองลงพื้นที่จริงเพื่อหาข้อมูลมาเขียนในวันพรุ่งนี้
วันที่ 2 ออกกองหาข้อมูล
เช้าวันใหม่เริ่มต้นด้วยการสอนเทคนิคการสัมภาษณ์แบบลงพื้นที่จริง โดยพี่ๆ จาก Read Me ซึ่งถือเป็นการต่อยอดจากพี่จุ้ยและพี่เอ๋ที่สอนไปเมื่อวาน พี่ๆ จาก Read Me กล่าวว่าการสัมภาษณ์คนธรรมดาทั่วไปจะมีความยากกว่าสัมภาษณ์คนที่มีชื่อเสียง เราจึงต้องอาศัยการทำความรู้จักให้เขาไว้ใจที่จะตอบคำถามเรา โดยการถามเรื่องทั่วไปก่อน แล้วจึงวกเข้าประเด็นที่เราต้องการ
ต่อเนื่องกับการอบรมในช่วงเช้า พี่เอ๋มาพูดถึงเรื่องการเขียนที่สามารถสร้างอิทธิพลต่อโลกได้มาก จึงยกตัวอย่างคลิปวิดีโอที่มีคนทั่วโลกดูกันมากที่สุดในเว็บไซต์ยูทูบ ซึ่งเป็นคลิปเด็กสองคนเล่นกันเท่านั้น พี่เอ๋กล่าวคลิปนี้มีสิ่งหนึ่งที่หนังฮอลลีวูดไม่สามารถทำได้ นั่นคือความเป็นธรรมชาติมากๆ ซึ่งสอดคล้องกับงานเขียน ถ้างานเขียนที่เป็นธรรมชาติคนอ่านจะสามารถสัมผัสมันได้ แตกต่างจากงานที่พยายามหรือมีเทคนิคมากเกินไป
อีกคลิปวิดีโอหนึ่งเป็นคลิปหนูหันหน้ามาแล้วมีดนตรีประกอบ แต่กลับทำให้คนดูทั่วโลกสนใจดูได้ พี่เอ๋กล่าวว่าสิ่งที่เราไม่เห็นในเนื้อหา กลับสามารถสนับสนุนเนื้อหาได้ นิตยสารก็เช่นกัน เราไม่ได้ทำแค่เนื้อหา แต่มีทั้งรูปแบบการจัดวางหน้า ภาพถ่าย และภาพประกอบ หลายๆ อย่างประกอบขึ้นมาให้น่าสนใจ
และสุดท้ายพี่เอ๋ได้ยกตัวอย่างมิวสิกวิดีโอของวง OK GO ที่ใช้การถ่ายแบบลองเทคยาวไปจนจบเพลงโดยไม่ตัดเลย เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นว่ากว่าจะมาเป็นคลิปนี้ต้องผ่านการซ้อม การทดลอง ทำซ้ำหลายครั้งมาก งานเขียนก็เช่นกัน คือต้องเขียนขึ้นมาหลายร่าง กว่าจะเป็นต้นฉบับที่ดีได้ และมิวสิกวิดีโอของวง Daft Punk ที่ใช้เพียงปากกาเมจิกหนึ่งด้ามก็สามารถทำมิวสิกวิดีโอเก๋ๆ ได้แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงการทำอะไรโดยพ้นข้อจำกัดต่างๆ ออกไป
งานศิลปะที่สามารถตีความได้หลายแบบ
พี่เอ๋กล่าวเพิ่มเติมว่า สารคดีคือเรื่องจริงที่ไม่น่าเบื่อ อยากให้เขียนอย่างสนุกและสุขที่ได้เขียน พี่เอ๋ยกตัวอย่างงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่มีลักษณะเป็นวงกลมสองวง แต่เมื่อนำศีรษะของเราไปวางไว้ก็จะกลายเป็นมิกกี้เมาส์ หรือบางคนก็อาจจะมองเห็นเป็นอย่างอื่นก็ได้ สื่อว่าคนเราตีความสิ่งที่เห็นแตกต่างกันออกไป การตีความในงานเขียนแต่ละชิ้นก็ไม่มีทางเหมือนกัน นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้งานเขียนทุกชิ้นมีค่า ให้เชื่อมั่นในสิ่งตัวเองเขียน โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องให้เหมือนนักเขียนดังคนไหน
แล้วก็มาถึงช่วงเวลาออกกองลงพื้นที่จริงกันแล้ว มีการแบ่งเส้นทางออกเป็น 2 เส้นทาง คือไป สภากาชาดไทย และ ย่านสยาม โดยให้น้องๆ เลือกจะไปสถานที่แห่งไหนด้วยตนเองตามหัวข้อคอลัมน์ที่คิดไว้
ออกกองไปหาข้อมูลภายนอก
ตั้งใจจดบันทึก
เส้นทางที่จะไปสภากาชาดไทยมีพี่จุ้ยคอยให้คำแนะนำ ส่วนเส้นทางไปสยามก็มีพี่เอ๋คอยให้คำแนะนำ ซึ่งพี่วิทยากรทั้งสองท่านก็ได้แนะนำวิธีคิด วิธีสังเกต การเก็บข้อมูลจากสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นระหว่างทาง รวมไปถึงวิธีการมองโลกด้วยสายตานักเขียนที่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจและความรู้สึก
สัมภาษณ์ศิลปินในงาน Art for Help
หลังจากเดินทางไปครบทั้งสองสถานที่แล้ว น้องๆ ทั้งสองกลุ่มเดินกลับมาที่จุดศูนย์กลางคือ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณแยกปทุมวัน ซึ่งกำลังจัดงาน Art for Help เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ภายในงานมีทั้งคอนเสิร์ตและการออกบูทการกุศลเพื่อหาเงินช่วยเหลือ น้องๆ จึงได้สัมผัสบรรยากาศภายในงานอย่างเต็มอิ่ม และมีน้องบางคนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ศิลปินที่มาเล่นคอนเสิร์ตในงานอีกด้วย จึงถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการนำเรื่องราวไปเขียนคอลัมน์
เมื่อน้องๆ เดินทางกลับมายัง TK park พี่จุ้ยก็มาพูดเรื่องการใช้ภาษาที่ถูกต้องในงานเขียน ให้หลีกเลี่ยงการใช้เทคนิคที่ถูกทำซ้ำทำบ่อย (Cliché) ซึ่งเป็นสิ่งดี แต่ถูกทำซ้ำจนไม่แปลกแล้ว พี่จุ้ยยกตัวอย่างประสบการณ์ตอนที่แต่งเพลง อิ่มอุ่น และเพลง เติมใจให้กัน หรือแม้แต่การตั้งชื่อ วงเฉลียง ว่าร่างแรกเป็นอย่างไร และร่างหลังสุดเป็นอย่างไร ซึ่งมีพัฒนาการขึ้นมาเรื่อยๆ มีการขัดเกลาหลายครั้งจนได้ฉบับสุดท้ายออกมาได้ ไม่ต่างกับงานเขียนที่ต้องอาศัยการขัดเกลาทั้งเรื่องเนื้อหาและภาษาให้ออกมาดีที่สุด ก่อนจะเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้อ่าน
มาช่วงของพี่เอ๋บ้าง พี่เอ๋หยิบตัวอย่างนิตยสารมาหลายเล่ม เพื่อให้น้องๆ ดูตัวอย่างเป็นแรงบันดาลใจ หามุมแปลกๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือการหาจุดเด่นในนิตยสารของเราเองที่เล่มอื่นไม่มี ซึ่งมีทั้งเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่แล้วกับเนื้อหาทั่วไป แต่การนำเสนอสามารถกระทบใจคนอ่านได้
ช่วงสุดท้ายของกิจกรรมในวันนี้คือช่วงที่เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เขียนงานกันอย่างเต็มที่ และในระหว่างนี้พี่จุ้ย พี่เอ๋ และพี่ๆ Read Me ก็ได้ให้คำปรึกษาน้องๆ ตามคอลัมน์เป็นรายบุคคล เพื่อพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
วันที่ 3 ปิดต้นฉบับ
มาถึงการอบรมในวันที่สามแล้ว พี่จุ้ยเริ่มต้นด้วยการสอนเรื่อง การหาเสน่ห์ของเรื่องเล่า ที่ต้องมี ความขัดแย้ง (Conflict) ไม่ใช่เรื่องราวพื้นๆ ธรรมดาทั่วไป ต้องหาจุดสนใจของเรื่องเล่าให้ได้ การเล่าเรื่องจึงจะมีพลัง โดยไม่พ้น ‘ตรรกะ’ ของความจริงที่เป็นไปได้ และรู้จัก ‘ขยัก’ ค่อยๆ ปล่อยเรื่องราวออกมาตามลำดับความสำคัญ ดูสิ่งไหนควรเก็บไว้หรือควรปล่อยออกมาเลย การ ‘ขยาย’ ก็จำเป็นในการเขียนหนังสือ ต้องบอกระดับของสิ่งที่เล่า รวมไปถึงการ ‘ขยี้’ คือการเติมหัวใจหลักของงานเขียนลงไป คล้ายท่อนฮุกในเพลง และการ ‘ขจัด’ สิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปให้หมด สุดท้ายคือการ ‘ขัดเกลา’ เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยทั้งหมดก่อนจะเสร็จสมบูรณ์
พี่จุ้ยสอนเสน่ห์ของเรื่องเล่า
ก่อนจะหมดช่วง พี่จุ้ยทิ้งท้ายไว้ว่า นักเขียนคือนักเลือกว่าจะเลือกสิ่งใดมาเขียนนำเสนอให้ผู้อ่าน ซึ่งต้องมีความน่าสนใจ และต้องแยกให้ออกระหว่างสิ่งที่อยากบอกกับเรื่องที่จะเล่า เรื่องราวในงานเขียนจึงประกอบไปด้วย ประสบการณ์ จินตนาการ และ อุดมการณ์ ซึ่งเรื่องที่ดีนั้นต้องกระเพื่อมและกระแทกความรู้สึก รวมไปถึงความคิดของคนอ่าน
หลังจากที่เมื่อคืนผลงานของน้องๆ แต่ละคนได้มาถึงมือพี่เอ๋แล้ว ในวันนี้พี่เอ๋ก็ได้มาวิจารณ์ผลงานเป็นรายชิ้น เพื่อให้น้องๆ ศึกษาข้อดีและข้อไม่ดีของคนอื่น ก่อนจะนำมาประยุกต์ใช้กับงานตัวเองได้ ทั้งเรื่องของภาษาที่ใช้และจังหวะในการเขียน อีกทั้งปัญหาในการทำงานของน้องๆ แต่ละคน อย่างการออกไปสัมภาษณ์ที่พบเจอกับอุปสรรคต่างๆ
ก่อนที่จะปล่อยให้น้องๆ กลับไปแก้ไขงาน พี่เอ๋ก็ได้ให้ข้อคิดเรื่องการทำงานที่ดี ผ่านประโยคที่พี่เอ๋เก็บมาจากน้องๆ ซึ่งเป็นประโยคที่ไม่ควรพูดหรือคิดบ่อย คือ
1. หนูเรียนมาทางนี้
2. ผมเป็นคนแบบนี้
3. ผมว่าแบบนี้ดีที่สุดแล้ว
4. หนูว่ามันธรรมดาเกินไป
5. พี่ว่าแบบไหนดีกว่ากัน
6. มีคนเขาบอกว่าอันนี้น่าสนใจ
7. มีคนเขาบอกว่าแบบนี้ไม่ดี
8. โลภ
9. แปลก ไม่เท่ากับ ดี, ง่าย ไม่เท่ากับ ไม่ดี
10. เครียดค่ะ, เครียดครับ
11. พี่ชอบไหม
ขั้นตอนต่อไปหลังจากที่ได้ต้นฉบับเรียบร้อยแล้ว คือการจัดเลย์เอาต์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญสำหรับนิตยสารเลยทีเดียว เพราะผู้อ่านจะสนใจอ่านหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการจัดวางหน้าเป็นหลัก ถ้าสวยงามก็สามารถดึงดูดความสนใจได้ แต่สำหรับค่ายนี้น้องๆ ไม่ต้องจัดเลย์เอาต์เอง เพราะมีพี่ๆ อาร์ตไดเรกเตอร์มืออาชีพ อย่าง พี่เบิ้ม - กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล และ พี่ซาร่า - รุ่งนภา คาน มาช่วยดูแลในส่วนนี้ให้เป็นอย่างดี โดยให้น้องๆ สามารถออกความเห็นในคอลัมน์ของตนเองได้อย่างอิสระ
ระดมสมองคิดชื่อและปกของนิตยสาร
แล้วก็มาถึงขั้นตอนในการคิดชื่อนิตยสารกันแล้ว น้องๆ ทั้งสองกลุ่มที่มีธีมและไม่มีธีมต่างช่วยกันระดมความคิดออกมาเป็นชื่อต่างๆ มากมาย และให้มาโหวตเลือกกันพร้อมให้เหตุผลที่เลือก สุดท้ายกลุ่มที่ไม่มีธีมก็ได้ชื่อ ‘แจ่ม’ ส่วนกลุ่มที่มีธีมก็ได้ชื่อ ‘เหวย’ซึ่งมีความแปลกใหม่และน่าสนใจทั้งคู่ทีเดียว
และต่อจากนั้นก็มีการระดมความคิดเรื่องปกนิตยสารกันต่อ จนได้รูปแบบที่ทุกคนเห็นตรงกันออกมาในที่สุด
วันที่ 4 พร้อมวางแผง
เดินทางมาถึงวันสุดท้ายแล้วสำหรับค่ายอบรมทำนิตยสารค่ายนี้ ซึ่งในวันนี้พี่เอ๋ได้นำสิ่งที่พบเจอจากการได้ทำงานร่วมกับน้องๆ ในค่าย มาถ่ายทอดเป็นข้อคิดดังนี้
1. อย่าประดิษฐ์ความรู้สึก ถ้าหาความรู้สึกที่จะเขียนไม่ได้ให้หาเรื่องใหม่ อย่าพยายาม เพราะว่านอกจากจะยากแล้ว คนอ่านจะรู้สึกได้ว่าเป็นการประดิษฐ์
2. อย่าเล่นท่ายาก อย่าไปคิดว่างานเขียนนี้ต้องมีเทคนิคที่ดีมาก คนคาดไม่ถึง บางครั้งการทำอะไรง่ายๆ อาจทำได้ดีกว่าก็เป็นได้
3. อย่ากลัวโง่ ห้ามประเมินตัวเองต่ำไป ควรจะเขียนออกมาก่อน
4. ปล่อยออกมาให้หมด เวลาคิดหรือรู้สึกต้องปล่อยเขียนออกมาให้หมดก่อน แล้วจึงมาคัดกรองที่หลัง อย่าปล่อยให้ความคิดวนอยู่ในหัว เพราะจะทำให้เครียด
พี่เอ๋ให้แง่คิด
และนอกจากนั้นยังมีประโยคแง่คิดดีๆ อาทิเช่น “เราไม่ได้เขียนเพื่อบอกว่า ‘ฉันเจ๋ง’ แต่เราเขียนเพื่อส่งต่อ ‘ความคิดเจ๋งๆ’”, “แค่ ‘คิด’ จะเขียน ความ ‘ดาษดื่น’ ก็ลดลงแล้ว”, “ใช้ชีวิตด้วยความ ‘พอใจ’ แต่เวลาทำงานอย่ารีบ ‘พอใจ’”, “อย่าแคร์สายตาคนอื่นจนลืมตัวเอง”, “งานทุกชิ้นมีสายตาของบางคนมองมันอยู่ ทำให้ ‘เต็มที่’ เพราะมันอาจพาเราไปในที่ที่คิดไม่ถึง”, “ไม่เอาชนะกัน แต่เอาชนะไปด้วยกัน”, “แทนที่จะบอกว่าคนอื่น ‘ไม่ดี’ ให้เสนอสิ่งที่ ‘ดีกว่า’” และ “ไม่เขียนก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้มองโลกด้วย ‘สายตานักเขียน’” ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่น้องๆ ควรจะนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงอย่างยิ่ง
ทางฝั่งพี่จุ้ยก็ออกมาเล่าถ่ายทอดเรื่องราวสนุกๆ ในการทำเพลง เป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ สำหรับนักเขียนรุ่นใหม่ และร้องเพลงที่เพิ่งแต่งล่าสุดให้น้องๆ ฟัง พร้อมสอนการแต่งเพลงแบบง่ายๆ ใน 10 นาที โดยการนำทำนองที่มีอยู่แล้วมาเปลี่ยนเนื้อร้องใหม่ และต่อไปก็นำเนื้อเพลงมาเปลี่ยนทำนองใหม่
แล้วก็มาถึงช่วงสุดท้ายของค่าย TK Young Writer 2011 กันแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ให้น้องๆ ได้นำเสนอผลงานนิตยสารของตนเองที่เสร็จสมบูรณ์แล้วให้กับทางผู้ใหญ่อย่าง ป้าต้อย - ดร.ทัศนัย วงพิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ได้เห็นผลงานกัน
นำเสนอผลงาน
เริ่มต้นจากกลุ่มนิตยสารไม่มีธีมที่ชื่อว่า ‘แจ่ม’ ซึ่งชื่อนี้มาจากแนวคิดที่ว่าถึงจะมองภายนอกไม่ชัด แต่ไอเดียภายในเล่มแจ่มชัด ถ้าได้อ่านก็จะมีความรู้สึกแจ่มขึ้นมาทันที ภายในเล่มประกอบไปด้วยคอลัมน์ที่น่าสนใจอาทิเช่น คอลัมน์สัมภาษณ์คนเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Top Secret วัยรุ่นพันล้าน คอลัมน์สัมภาษณ์อาสาสมัครที่สภากาชาดไทย บทความเกี่ยวกับกระแสปลาไหลในโลกออนไลน์ และเรื่องราวแปลกๆ เกี่ยวกับเพศที่สาม รวมไปถึงคอลัมน์เรื่องสั้นและบทกวี ซึ่งแต่ละคอลัมน์เรียกได้ว่ามีความน่าสนใจอันหลากหลายแตกต่างกันออกไป ตรงตามรูปแบบของนิตยสารที่ไม่มีธีม
เปลี่ยนมาทางนิตยสารมีธีมกันบ้าง กับ ‘เหวย’ ซึ่งถูกคลุมไว้ด้วยธีม กรงเทพ เกิดจากการที่พี่เอ๋เขียนคำว่ากรุงเทพขึ้นมา แล้วสระอุเลือนไป จนกลายเป็นคำว่า กรงเทพ หมายถึงการถูกกักขังไว้ในกรงของคนกรุงเทพฯ ส่วนชื่อ ‘เหวย’ มาจากคำทักทายในสมัยก่อน รวมไปถึงภาษาจีนก็มีการใช้คำนี้ ซึ่งเวลาเรียกแล้วจะเป็นคำที่สะดุดหู ช่วยสร้างจุดเด่นของนิตยสารออกมาได้ ภายในเล่มก็ประกอบไปด้วยคอลัมน์อาทิเช่น บทความที่พูดถึงกลิ่นของผู้หญิง บทความฮาวทูแนะนำวิธีการแหกกรง เรื่องสั้นว่าด้วยความแตกต่างระหว่างชนชั้น และสารคดีท่องเที่ยวที่พาคนเมืองไปพักผ่อนตอนเช้าก่อนออกไปทำงาน เรียกได้ว่าเป็นคอลัมน์ที่มีความน่าใจไม่แพ้เล่มแรกเลยทีเดียว และยังสามารถยึดรูปแบบนิตยสารมีธีมไว้ได้อย่างดี
หลังจากการนำเสนอผลงานนิตยสารอันน่าภูมิใจจบลง ก็มาถึงช่วงกล่าวปิดค่ายจากผู้ใหญ่ เริ่มต้นที่พี่เอ๋ได้กล่าวถึงน้องๆ ว่า “ค่ายนี้ได้เรียนรู้อะไรจากน้องๆ มาก หนึ่งคือเหมือนได้กลับไปตอนที่เพิ่งเริ่มเขียนหนังสือใหม่ๆ มันสนุกแบบนี้ มีอุปสรรคแบบนี้ และอีกอย่างคือรู้สึกว่าเวลาเราเขียนแล้วได้เอาไปสอนคนอื่นเขาอีกที เป็นความรู้สึกที่ดีอย่างหนึ่ง ที่ประทับใจมากๆ คือน้องตั้งใจเกินคาด พยายามทำผลงานให้ดีที่สุด และไม่ค่อยมีอัตตาเท่าไร ถ้ายังมีความชอบความสนุกที่จะเขียน ก็อยากให้เขียนต่อไป เพราะเชื่อว่าคนที่เขียนคนที่อ่านจะเป็นคนที่จิตใจไม่หยาบกระด้าง ละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีต่อสังคมและชีวิตของเรา”
พี่จุ้ยได้กล่าวถึงน้องๆ ว่า “ค่ายนี้ถ้าวัดเป็นนักเรียนก็ได้เกรดธรรมดา เขียนก็ไม่น่าตื่นเต้น ความคิดก็ไม่ได้หวือหวา แต่ความสุขของคนสอนคือไม่ว่าเขาจะมายังไงก็ตาม เรารู้สึกว่าถ้าทำให้เขาพัฒนาขึ้นได้ นี่คือความสำเร็จแล้ว แต่ความสำเร็จของน้องไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น แต่เป็นการวิ่งมาราธอน ถึงจะเริ่มต้นช้า แต่อาจจะถึงเส้นชัยก่อนก็ได้ เพราะมีคนเก่งที่นอนหลับอยู่ใต้ต้นไม้เสมอ ซึ่งไม่มีใครเป็นอุปสรรคให้เราได้มากเท่ากับตัวเราเอง หวังว่าเราจะไปเจอกันที่เส้นชัย อยู่ที่ไหนก็จะไปโบกมือคอยอยู่”
ปิดท้ายที่ ป้าต้อยได้กล่าวถึงน้องๆ ว่า “ค่ายสี่วันที่ผ่านมา น้องๆ บางคนอาจจะเคยเขียนแล้ว แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่เคย การที่เราได้มารวมกันอยู่ที่นี่ ได้เสริมทักษะทางการเขียนกับพี่จุ้ย พี่เอ๋ เป็นโอกาสที่ไม่ได้มาง่ายๆ ค่ายนี้ยังไม่จบ อยากให้ค่ายนี้เป็นจุดเริ่มต้น จุดประกายให้เราอยากเขียน เพราะทักษะนี้ไม่มีใครขโมยไปจากเราได้ มันจะติดตัวเราและสามารถดึงมาใช้เมื่อไรก็ได้ ขอให้วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์งานเขียนที่ถนัดขึ้นมา”
จบจากค่ายนี้ไปก็ต้องมารอดูกันว่าเส้นทางในแวดวงนิตยสารของน้องๆ เยาวชนนักเขียนรุ่นใหม่เหล่านี้ จะดำเนินต่อไปอย่างไร เพราะนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น จากโครงการในปีก่อนๆ ที่ผ่านมา ก็ได้เห็นถึงความสำเร็จของน้องๆ หลายคนที่ไปโลดแล่นอยู่ในวงการหนังสือ และในปีนี้ก็เชื่อว่าคงเกิดขึ้นไม่ต่างกันแน่นอน
อย่าลืมมาพิสูจน์ผลงานของน้องๆ เยาวชนจาก TK Young Writer 2011 ในรูปแบบนิตยสารออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.tkpark.or.th และผลงานในนิตยสารออนไลน์ Read Me ได้เร็วๆ นี้
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย