สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จัดเวทีเสวนา (TK Showcase App Story) แอพพลิเคชั่นเพื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนที่สนใจในโลกของไอที ฟังการสัมภาษณ์ เรื่อง “App Story” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 15.00-16.00 น. ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากโลกไอทีชื่อดัง อาทิ คุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ (ซี) พิธีกรชื่อดังจากรายการ 168 ชั่วโมง สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 รายการวัยรุ่น ZU@U คุณวิมลพร รัชตกนก (TJ วิว) เจ้าของโรงเรียนสอนกราฟิก Koala Cafe' Internet & Graphic House หนึ่งในทีมแอพฯ ฮวงจุ้ย บ้านแปดทิศ และหนึ่งในทีมพัฒนาแอพของ สวพ. FM91BKK ที่ใช้แจ้งอุบัติเหตุและเตือนภัยบนท้องถนน คุณสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ (ไนซ์) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบริษัท Debuz ผู้อำนวยการบริการเกมออนไลน์ประเภท MMORPG เกมแรกของเมืองไทย
การเสวนาเริ่มขึ้นด้วยพิธีกรเชิญแขกทั้งสามท่านขึ้นมาบนเวที เพื่อพูดคุยในเรื่องของแอพพลิเคชั่นที่ใช้ในชีวิตประจำวันของแต่ละท่าน เริ่มต้นด้วยการพูดคุยจาก คุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ (ซี) ที่ทุกคนต่างยกย่องให้เธอเป็นเจ้าหญิงแห่งวงการไอที
คุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ (ซี) พิธีกรชื่อดังจาก 168 ชั่วโมง
คำถาม : แอพพลิเคชั่น ที่ใช้ในชีวิตประจำวันคืออะไร
คุณฉัตรปวีณ์ (ซี) ใช้ Dropbox และ iCloud สำหรับ Dropbox เป็นกล่องสำหรับเก็บข้อมูลสามารถถ่ายโอนข้อมูลได้อย่างง่ายดายเป็นแอพพลิเคชั่นที่ทำให้เราสามารถส่งข้อมูลจากต่างประเทศมาประเทศไทยได้โดยไม่ต้องรอการดาวน์โหลดเป็นเวลานาน ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีการถ่ายทำรายการที่ประเทศสิงค์โปร์ในวันนั้นเราก็สามารถที่จะส่งข้อมูลมาให้ทางช่องได้โดยเสียเวลาในการนอนดึกนิดหน่อยส่วน iCloud ก็คือ เมฆ หรือกลุ่มเมฆที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า คน 2 คนอาจมองเห็นก้อนเมฆก้อนเดียวกัน แต่อยู่คนละที่กันได้ ไม่ต้องยืนติดกัน เผลอๆ ห่างกันหลายกิโลเมตรยังมองเห็นก้อนเมฆเดียวกันได้เลย แล้วถ้าก้อนเมฆก้อนนั้นเป็นถุงเก็บข้อมูลอะไรก็ได้ ที่เราสามารถโยนขึ้นไปเก็บไว้ ไม่ว่าจะเป็น ไฟล์รูปถ่าย, วิดีโอ หรือข้อมูลอะไรก็ได้ที่เรามีอยู่ เพราะคนอื่นคงมองไม่เห็นไฟล์นั้นของเราอย่างแน่นอน
คุณสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ (ไนซ์) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบริษัท Debuz
คุณสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ (ไนซ์) fackbook เพราะเป็นส่วนที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้คนได้ง่าย และสามารถตอบโจทย์ของแอพฯที่ผมกำลังทำอยู่ด้วยคือเกมไทย ฟอร์มยักษ์ เกมออนไลน์ประเภท MMORPG เกมแรกและเกมเดียวของคนไทยที่ให้บริการอยู่ เริ่มต้นจากความฝันที่จะสร้างเกม MMORPG ของคนไทยเรากันเองโดยพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด เป็นเกมที่พอเพียง พอดีๆ เป็นเกมที่เล่นแล้วรู้สึกน่ารัก อบอุ่น สร้างความสุขและช่วยต่อเติมจินตนาการให้กับผู้เล่นได้ไม่มีที่สิ้นสุด และเป็นเกมที่พวกเราและเพื่อนๆ ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างมันขึ้นมา โครงการเริ่มต้นจากการร่วมพัฒนาและเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานแห่งหนึ่งในโครงการพัฒนาเกมออนไลน์เพื่อการศึกษา และนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นเกมโปรเจควันในปลายปี 2548 และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อมาได้ในเดือนตุลาคม 2551 เปลี่ยนชื่อเป็นเกมอสุราเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาและระบบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและสามารถเป็นธุรกิจทางการค้าได้ดี
คุณวิมลพร รัชตกนก (TJ วิว) เจ้าของโรงเรียนสอนกราฟิก Koala Cafe' Internet & Graphic House
คุณวิมลพร รัชตกนก (TJ วิว) App FM91BKK คือเป็นแอพฯที่ทำร่วมกับ สวพ.FM91 เพื่อความสะดวกในการเดินทางของคนกรุงเทพในการทำงานแต่ละวัน เราสามารถรู้อุบัติเหตุล่วงหน้าได้อย่างรวดเร็วโดยดาวน์โหลดแอพฯ นี้มาใช้ เพื่อที่จะช่วยในเรื่องการจราจรในการเดินทางและในการทำงานในแต่ละวัน เราสามารถรู้เหตุที่เกิดในแต่ละจุดได้และสามารถตรวจสอบเส้นทางการจราจร นอกจากนี้แล้วสามารถที่จะดูอุบัติเหตุย้อนหลังได้ 7 วัน หรือดูว่ามีอุบัติเหตุเกิดอยู่ล่วงหน้าในที่ที่คุณจะไปทำงานหรือเปล่า
คำถาม : แรงบันดาลใจในการสร้าง แอพพลิเคชั่นของแต่ละท่านคืออะไร
คุณสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ : ดูข้อมูลเยอะๆ มีความสุขในสิ่งที่ตัวเองทำก็ทำไปอย่าไปสนใจใคร เปรียบเสมือนการเป็นนักดนตรีที่ต้องเรียนรู้การทำงานการเล่นด้วยตนเอง ทุกสิ่งทุกอย่างมีการผิดพลาดได้ แต่ผิดแล้วเราก็สามารถที่จะแก้ไขมันขึ้นมาใหม่จนได้
คุณวิมลพร รัชตกนก : ดูเยอะ เล่นเยอะ อ่านเยอะ และนำมาปรับประยุกต์ใช้กับงานของเรา ที่สำคัญต้องมีความสุขกับงานที่เราทำและงานนั้นก็ต้องเป็นงานที่สามารถช่วยเหลือสังคมได้ด้วย อย่างเช่นในเรื่องของแอพพลิเคชั่นที่ทำงานร่วมกับ สวพ.FM91 เป็นต้น
คุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ : ค้นหาตัวเองให้เจอ เรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองชอบ อย่ากลัวที่จะทำ อย่ากลัวที่จะใช้งานแอพฯ เพราะในแต่ละตัวของแอพฯ นั้นเป็นมีสิ่งที่ดีและไม่ดีก็อย่าไปกลัวที่จะใช้มัน เพราะอย่างไรก็ตามรูปแบบของแอพฯ ก็มีประโยชน์ในการใช้งานในชีวิตประจำวันของเรา อยู่ที่เราจะเลือกใช้มันให้ถูกวิธีอย่างไร
คำถาม มุมมองเกี่ยวกับเด็กติดเกม
คุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ : ขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครอง ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ จึงทำให้เด็กหาทางออกในการระบายกับเกม เมื่อเด็กติดเกมแล้วผู้ใหญ่ก็ควรที่จะแนะนำในการเล่นให้กับลูกและควรมีเวลาให้ลูกเพื่อให้รู้ลูกว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียว
คุณวิมลพร รัชตกนก : ผู้ปกครองควรมีภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและจัดสรรเวลาให้เด็กมากขึ้น ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมรอบด้านตัวเราก็มีความสำคัญ มีส่วนที่จะช่วยให้เด็กไม่ต้องติดเกมได้โดยนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ให้กับเขา หรือสร้างกิจกรรมให้เขาทำ
คุณสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ : เด็กไม่ได้ติดเกม แต่อยู่ที่มุมมองของผู้ใหญ่ว่าสาเหตุใดเด็กถึงติดเกม จึงแนะนำให้ผู้ใหญ่ควรเล่นดูว่าทำไมเด็กถึงติดเกม จะได้รู้ถึงสาเหตุที่เด็กติดเกม
คำถาม : การควบคุมการเล่นเกมของแต่ละท่าน
คุณวิมลพร รัชตกนก : ควบคุมตนเอง ตั้งเป้าหมายที่จะหยุดเล่น เช่นถ้าเล่นเกมที่มีด่านเยอะๆ เราจะบอกตัวเองว่าเราควรหยุดที่ด่าน 5 นะ เป็นต้น และก็ต้องทำได้
คุณสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ : เล่นอย่างมีลิมิต ควบคุมตนเองในการเล่น ไม่เล่นอย่างเอาจริงเอาจัง ควรดูสภาพร่างกายของเราด้วยในการเล่น
คุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ : ชนะแล้วก็เลิกเล่นแต่ถ้าไม่ชนะก็อย่าไปฝืนเพราะมันจะทำให้เราเลิกเล่นไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่หยุดเล่นตั้งแต่ตอนนั้นเราก็ต้องต้องตัดใจในการเล่นแล้วรอวันพรุ่งนี้ค่อยเล่นใหม่
คำถาม : มีความคิดเห็นอย่างไรที่รัฐบาลให้เด็ก ป.1 มีแท็บเล็ต
คุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ : เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับเด็ก เด็กเปรียบเสมือนเป็นบ่อปลาอนุบาล ที่รัฐบาลทำเป็นตัวอย่างการดึงดูดให้เด็กมีความสนใจในการเข้าเรียนมากยิ่งขึ้น เพราะเด็กวัยนี้ต้องการสิ่งดึงดูดในการเรียน สิ่งที่ไม่เห็นด้วยคือเด็กวัยนี้ควรที่จะเรียนรู้ด้วยการอ่านหนังสือมากกว่าที่จะอ่านจากแท็บเล็ต เพราะแท็บเล็ตมีทั้งข้อดีทั้งเสียในตัวของมันอยู่ จะทำอย่างไรไม่ให้เด็กเข้าไปอยู่ในโลกที่ไม่ดี และที่สำคัญเด็กอาจจะสายตาเสียก่อนวัยอันควร ถ้ามีก็ควรที่จะมีการต่อยอดสำหรับการพัฒนาในรูปแบบที่ดีๆ เข้าไปในเครื่อง เพื่อที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ดีๆ จากเท็บเล็ต
คุณวิมลพร รัชตกนก : เห็นด้วยแต่ควรมีการพัฒนารูปแบบแอพพิลเคชั่นที่ดี เพื่อเด็กจะได้สามารถเรียนรู้และหาความรู้จากสิ่งที่ได้มาอย่างคุ้มค่า และควรมีการครอบคลุมสัญญาณ Wifi ให้ครอบคลุมได้ทั้งหมดทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดเพื่อประโยชน์ของเด็กๆ
คุณสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ : เห็นด้วยแต่ควรให้คำแนะนำวิธีการใช้ให้ถูกวิธี และลงแอพฯที่มีประโยชน์ให้แก่เด็กเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ที่หลากหลาย
การเสวนาปิดท้ายด้วยพิธีกรให้แขกรับเชิญทั้งสามท่าน ถามคำถามแก่ผู้ฟังท่านละหนึ่งคำถามเพื่อแจกของที่ระลึกให้กับท่านผู้ฟังพร้อมทั้งถ่ายรูปเป็นที่ระลึกให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัลจากการตอบคำถาม
นันทิภา มิตรสะดร
นักศึกษาฝึกงาน ฝ่ายกิจกรรม รายงาน