ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา readWORLD เสนอบทวิเคราะห์เจาะลึกข้อมูลผลสำรวจการอ่านของคนไทยอย่างละเอียดมาแล้ว คราวนี้เราขอนำอินโฟกราฟิกแสดงตัวเลขและข้อมูลที่น่าสนใจของปี 2561 เกี่ยวกับการอ่านของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มานำเสนอ ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลมาจากหลากหลายแหล่ง แต่ไม่มีการแจกแจงกระบวนการสำรวจหรือวิธีการได้มาของข้อมูล ดังนั้นความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงของข้อมูลต่างชุดกันจึงอาจทำให้สถิติตัวเลขบางเรื่องบางหัวข้อดูน่าสงสัย ผู้อ่านอาจเกิดความคิดเห็นขัดแย้งอยู่กลายๆ
กระนั้นก็ดี เราเพียงคาดหวังว่า ชุดข้อมูลจากอินโฟกราฟิกดังต่อไปนี้จะมีส่วนกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความคิดใหม่ๆ ที่แตกแขนงออกไป รวมถึงการออกแบบอินโฟกราฟิกที่อาจจะไม่หวือหวาแต่ก็น่าศึกษาเรียนรู้ เพราะสะท้อนถึงการทำการบ้านหรือทำความเข้าใจกับข้อมูลมาก่อนเป็นอย่างดี แล้วจึงแปลงข้อมูลที่ยากและซับซ้อนให้กลายเป็นภาพที่ดูสวยงามและเข้าใจง่าย ซึ่งเพียงแค่สองเรื่องนี้ย่อมถือว่าเป็นประโยชน์กับผู้อ่านได้ไม่น้อย
โดยสรุป ทีมงาน readWORLD ไม่แนะนำให้นำข้อมูลไปใช้อ้างอิงใดๆ ในทางวิชาการ ส่วนการเผยแพร่ต่อนั้นสามารถทำได้แต่โปรดใช้ความระมัดระวัง และควรใช้วิจารณญาณวิเคราะห์ไตร่ตรองไปพร้อมกับการอ่านสถิติสนุกๆ ประกอบอินโฟกราฟิกสวยๆ นอกจากนั้นบางชุดข้อมูลเรายังได้เพิ่มเกร็ดความรู้เข้าไปอีกเล็กน้อยเพื่อให้เนื้อหามีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น
...ถ้าพร้อมแล้ว ก็ไปดูกันเลย
รูปที่ 1 แสดงให้เห็นถึงนิสัยการอ่านของคนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยสำรวจจากระยะเวลาที่ใช้ในการอ่านคิดเป็นชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ เห็นตัวเลขของประเทศไทยกันมั้ย? แทบไม่น่าเชื่อว่าจากข้อมูลของ 22 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยติดอันดับอ่านมากเป็นลำดับที่ 2 รองจากอินเดีย คือสูงถึง 9 ชั่วโมง 24 นาทีต่อสัปดาห์
รูปที่ 2 มาดูเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มีชาวอเมริกันถึงร้อยละ 74 ที่ได้อ่านหนังสือในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง (ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือเล่มที่เป็นกระดาษ) ร้อยละ 67 อ่านหนังสือกระดาษที่พิมพ์เป็นรูปเล่ม ร้อยละ 18 อ่านด้วยการฟังหนังสือเสียง (audiobook) ร้อยละ 77 ของชาวอเมริกันที่อายุต่ำกว่า 29 ปีเคยซื้อหนังสือมาอ่าน ร้อยละ 37 ของกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีการศึกษาไม่เกินระดับมัธยม ไม่ได้อ่านหนังสือเลยในรอบปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด และร้อยละ 7 ของกลุ่มที่จบการศึกษาระดับวิทยาลัย ไม่ได้อ่านหนังสือเลยในรอบปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด
รูปที่ 3 ครัวเรือนในยุโรปมีพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อหนังสือและหนังสือพิมพ์เพิ่มมากกว่าปกติถ้าเป็นช่วงวันหยุดยาว โดยในแต่ละปีชาวยุโรปจะใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อหนังสือและหนังสือพิมพ์คนละประมาณ 200 ยูโร (ประมาณ 240 เหรียญสหรัฐ)
ประเทศที่อ่านมากที่สุด วัดจากเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการอ่านต่อวัน (หน่วยเป็นนาที) คือประเทศเอสโทเนีย เป็นแชมป์การอ่าน ด้วยเวลา 13 นาทีต่อวัน ปาดหน้าฟินแลนด์ที่ว่ากันว่าเป็นประเทศที่มีการศึกษาดีมีคุณภาพที่สุดไปอย่างเฉียดฉิวที่ใช้เวลาอ่าน 12 นาทีต่อวัน ส่วนประเทศที่อ่านน้อยมากคือฝรั่งเศส แค่ 2 นาทีต่อวัน ได้ลำดับที่ 15 เป็นลำดับสุดท้าย
สำหรับหนังสือยอดนิยมในประเทศต่างๆ นั้นมีดังนี้ อิตาลี คือนิยายชุดนักสืบมอนทัลบาโน (Inspector Montalbano series) เขียนโดย แอนเดรีย คามิลเลอรี (Andrea Camileri) เนเธอร์แลนด์ คือเรื่อง Pieces of Her เขียนโดย คาริน สลาฟเตอร์ (Karin Slaughter) เยอรมนี คือเรื่อง Das Feld หรือ The Field เขียนโดย โรเบิร์ต ซีธาเลอร์ (Robert Seethaler) สหราชอาณาจักร คือเรื่อง Eleanor Oliphant is Completely Fine เขียนโดย เกล ฮันนีแมน (Gail Honeyman) และหนังสือที่ได้รับความนิยมสูงมากในหลายประเทศ ทั้งฝรั่งเศส สเปน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และกรีซ คือเรื่อง Becoming เขียนโดย มิเชล โอบามา (Michelle Obama)
รูปที่ 4 ที่ทวีปแอฟริกา ข้อมูลระบุว่า ตลอดปี 2561 ผู้ใช้อุปกรณ์มือถือชาวแอฟริกันทุกคนใช้เวลารวมกันมากกว่า 4 ล้านชั่วโมงไปกับการอ่านบนหน้าจอ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยประเทศที่มีประชากรอ่านออนไลน์ผ่านอุปกรณ์มือถือสูงที่สุด 3 ประเทศ คือ ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ และ ไอวอรี่โคสต์
นักอ่านบนมือถือ (ข้อมูลเฉพาะภาคพื้นทวีป) ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายประมาณร้อยละ 65 ผู้หญิงร้อยละ 35 แต่ผู้หญิงจะใช้เวลาอ่านนานกว่าคือเฉลี่ย 11.5 นาที ผู้ชาย 6.5 นาที
เฉพาะประเทศอัลจีเรีย พบว่าร้อยละ 95.6 ชอบอ่านหนังสือ ร้อยละ 90 ชอบหนังสือกระดาษที่เป็นรูปเล่มมากกว่าอีบุ๊ค ร้อยละ 52 อ่านเรื่องบันเทิงคดี เช่น นิยาย และร้อยละ 68 ของกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจอ่านหนังสือภาษาอารบิก ร้อยละ 41.6 อ่านภาษาฝรั่งเศส ร้อยละ 12.7 อ่านหนังสือภาษาอังกฤษ
รูปที่ 5 ที่ประเทศออสเตรเลีย แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นหนังสือยอดนิยมที่ถูกยืมออกจากห้องสมุดมากที่สุดในปี 2561 ข้อมูลระบุว่าอันดับ 1 ได้แก่ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเด็กต้องคำสาป (Harry Potter and the Cursed Child) ภาค 1 และ 2 (พิมพ์และวางจำหน่ายครั้งแรกปี 2559) เขียนโดย แจ็ค ธอร์น (Jack Thorne) อันดับ 2 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพณ์ (2540) โดย เจ.เค. โรว์ลิ่ง อันดับ 3 เทพพยากรณ์ทมิฬ (The Dark Prophecy) (2560) โดย ริค เรียร์แดน (Rick Riordan) อันดับ 4 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต (2550) โดย เจ.เค. โรว์ลิ่ง อันดับ 5 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ (2546) โดย เจ.เค. โรว์ลิ่ง อันดับ 6 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบาน (2542) โดย เจ.เค. โรว์ลิ่ง อันดับ 7 สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ ต้นฉบับบทภาพยนตร์ (Fantastic Beasts and Where to Find Them: The Original Screenplay) (2544) โดย เจ.เค. โรว์ลิ่ง อันดับ 8 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ (2541) โดย เจ.เค. โรว์ลิ่ง
ที่ประเทศประเทศนิวซีแลนด์ ผู้ใหญ่ร้อยละ 86 ได้อ่านหรือเริ่มต้นอ่านหนังสืออย่างน้อย 1 เล่มในปีที่ผ่านมา (ลดลงจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 88) และร้อยละ 57 อ่านหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนหรือกวีชาวนิวซีแลนด์ ที่น่าสนใจคืองานกวีนิพนธ์ได้รับความนิยมอย่างมาก คือมีนักอ่านถึงร้อยละ 30 อ่านหนังสือประเภทบทกวีในปีที่ผ่านมา
รูปที่ 6 ประเทศไหนคือสวรรค์ของคนรักหนังสือ?
ถ้าวัดจากจำนวนหนังสือเฉลี่ยต่อครัวเรือนเมื่อประชากรมีอายุ 16 ปี หรือจำนวนหนังสือที่ประชากรอายุ 16 ปีมีไว้ครอบครองหรือเป็นเจ้าของ ไล่เรียงตามลำดับ 15 ประเทศจากมากที่สุด ดังนี้ เอสโทเนีย 218 เล่ม ตามมาด้วย นอร์เวย์ (212) เชก (204) เดนมาร์ก (192) รัสเซีย (154) เยอรมนี (151) ออสเตรเลีย (148) สหราชอาณาจักร (143) แคนาดา (125) ฝรั่งเศส (117) สหรัฐอเมริกา (114) ไอร์แลนด์ (107) ญี่ปุ่น (102) เบลเยียม (95) และชิลี (52) [ตัวเลขในวงเล็บท้ายชื่อประเทศคือจำนวนหนังสือ]
ส่วน 20 อันดับหนังสือเล่มยอดนิยมในปี 2561 นั้น อันดับ 1 ได้แก่ Fire and Fury: Inside the Trump White House เขียนโดย Michael Wolff นี่เป็นหนังสือที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางว่าด้วยเบื้องหลังการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์ ในรอบหนึ่งปีแรก
“ความพิเศษอยู่ที่ผู้เขียนคือ ไมเคิล วูล์ฟ ซึ่งเป็นสื่อมวลชนเพียงคนเดียวที่ได้รับอนุญาตจากทรัมป์ให้เดินเข้าออกทำเนียบขาวได้ เพื่อสังเกตการณ์ รับฟังข้อมูลต่างๆ จากเหตุการณ์จริง ข้อมูลในหนังสือจึงเจาะลึกในระดับที่ไม่มีใครเหมือน ว่ากันว่าแรกเริ่มเดิมทีทรัมป์เองก็ชอบบทความที่วูล์ฟเขียนถึงเขาในช่วงปี 2016 (พ.ศ.2559) ก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม การเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์กลับไม่สนุกอย่างที่คิด และเต็มไปด้วยเหตุการณ์สำคัญมากมายที่บั่นทอนภาพลักษณ์ของเขา จนเป็นผลให้ทรัมป์พยายามสกัดกั้นไม่ให้หนังสือเล่มนี้วางขาย แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ จึงทำได้เพียงแค่ออกแถลงการณ์ว่า Fire and Fury ไม่ได้การรับรองจากทรัมป์อย่างเป็นทางการ”[1]
ในหนังสือยังมีเรื่องอื่นๆ ของบุคคลในทำเนียบขาว ไม่ว่าจะเป็น สตีฟ แบนนอน (Steve Bannon) ที่ปรึกษาของทรัมป์ผู้มีชื่อเสียงอื้อฉาวจากนโยบายการแบนคนมุสลิมไม่ให้เข้าประเทศ และเบื้องหลังการปลด เจมส์ โคมีย์ (James Comey) ผู้อำนวยการเอฟบีไอ ซึ่งเกี่ยวโยงกับการที่ทรัมป์กำลังโดนเอฟบีไอสอบสวนในข้อหาร่วมมือกับรัสเซีย และอาจจะทำให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยกระบวนการถอดถอน (impeachment)
อันดับ 2 คือหนังสือเรื่อง Magnolia Table เขียนโดย Joanna Gaines เป็นหนังสือตำราทำอาหารหลากหลายแนว พร้อมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยหรือเคล็ดลับในห้องครัว เรายังไม่มีข้อมูลหนังสือเล่มนี้มากนัก จึงขอผ่านไปก่อน แต่ถ้าใครเคยอ่านหรือมีข้อมูล จะเขียนมาบอกเล่าแบ่งปันกันอ่าน ก็ดีนะครับ
อันดับ 3 ได้แก่ A Higher Loyalty เขียนโดย James Comeyอดีตผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) ชื่อเต็มๆ ของหนังสือเล่มนี้หากแปลเป็นไทยตรงตามตัวอักษรก็คือ "ความภักดีที่สูงกว่า: ความจริง การโกหก และความเป็นผู้นำ" (A Higher Loyalty: Truth, Lies and Leadership) หนังสือมียอดจำหน่ายถึง 600,000 เล่มในสัปดาห์แรกที่วางขาย เนื้อหาเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพียงวันแรกที่วางจำหน่าย (17 เมษายน) ก็ขึ้นชาร์ตเป็นหนังสือขายดีอันดับ 1 ในเว็บแอมะซอน แต่กลับตกลงมาอยู่ในอันดับ 2 ทันทีในวันถัดมา หนังสือเล่มนี้สำนักพิมพ์คาดว่าจะมีผู้ซื้ออ่านเป็นจำนวนมากจึงวางแผนจัดพิมพ์ไว้ถึง 1 ล้านเล่ม และมีจำหน่ายในรูปแบบดิจิทัลด้วย แม้ว่าหนังสือเกี่ยวกับทรัมป์เล่มนี้จะมียอดขายค่อนข้างดี แต่ก็ยังไม่ใช่เล่มที่ขายดีที่สุดของปีนี้ โดยหนังสือชื่อ เพลิงพิโรธ หรือ Fire and Fury ของไมเคิล วูล์ฟ ซึ่งวางจำหน่ายไปก่อนหน้าในเดือนมกราคม มียอดขายกว่า 1 ล้านเล่มในสัปดาห์แรก และยอดขายในปัจจุบันเกินกว่า 2 ล้านเล่มไปแล้ว[2]
ทรัมป์กับโคมีย์เป็นคู่ปรับกันมาช้านาน เมื่อเดือนมีนาคม 2017 (พ.ศ.2560) ในช่วงที่เอฟบีไอกำลังสืบสวนเรื่องความเกี่ยวพันของรัสเซียกับการรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ มีการกล่าวหาว่าทรัมป์กดดันให้โคมีย์ ประกาศต่อสาธารณะว่าจะไม่มีการสอบสวนประธานาธิบดี เรื่องนี้โคมีย์บอกว่าเขาไม่ยอมทำ ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ทรัมป์จึงสั่งปลดโคมีย์จากตำแหน่งด้วยสาเหตุที่ว่าเขาดำเนินการอย่างไม่เหมาะสมในการสืบสวนกรณีของนางคลินตัน คำสั่งปลดนี้โคมีย์รับรู้จากข่าวโทรทัศน์[3]
เนื้อหาบางส่วนในหนังสือ A Higher Loyalty โคมีย์ระบุว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันเป็นคนไร้จรรยาบรรณ ไม่จริงใจ และไม่เคารพในคุณค่าของสถาบัน และยังเขียนลงทวิตเตอร์ว่า "หนังสือของตนนั้นเกี่ยวข้องกับความเป็นผู้นำที่มีศีลธรรม ซึ่งรวบรวมเรื่องราวจากประสบการณ์ในชีวิตและการทำงานภายใต้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ 3 คน ซึ่ง 2 คนในนั้นช่วยปลูกฝังคุณค่าของความเป็นผู้นำที่ดีให้กับตน แต่อีก 1 คนนั้นกลับตรงกันข้าม ซึ่งตนหวังว่าผู้อ่านจะสามารถมองเห็นประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้" [4]
อันดับ 4 คือหนังสือเรื่อง A Wrinkle in Time เขียนโดย Madeleine L’Engle งานเขียนของ แมเดลีนเลงเกิล เรื่องนี้ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2505 และได้รับรางวัลมากมายจากหลายสถาบัน ล่าสุดถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดยค่ายดิสนีย์ ออกฉายเมื่อปี 2561 ในชื่อ ย่นเวลาทะลุมิติ เป็นภาพยนตร์แนวผจญภัยไซไฟแฟนตาซี เรื่องราวของ Meg ลูกสาวของนักวิทยาศาสตร์ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ ตัดสินใจออกเดินทางข้ามมิติกาลเวลาพร้อมกับน้องชาย และ Calvin เพื่อนสนิท เพื่อตามหาพ่อของเธอซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลที่ติดอยู่ในจักรวาล พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากสามเทพีผู้มีอิทธิฤทธิ์ แล้วยังต้องปกป้องจักรวาลให้พ้นเงื้อมมือจากความมืดที่จะทำลายล้างโลก
อันดับ 5 ได้แก่หนังสือการ์ตูนชุด Dog Man and Cat Kid เขียนโดย Dav Pilkey ผู้เขียนคนเดียวกับการ์ตูนชุดกัปตันกางเกงใน (Captain Underpants)
สำหรับหนังสือยอดนิยมในปี 2561 ตั้งแต่อันดับที่ 6 ถึง 20 สามารถดูรายชื่อได้จากอินโฟกราฟิก (คงแนะนำทั้งหมดทุกเล่มไม่ไหว) ถ้าสนใจอยากรู้เนื้อหาของแต่ละเล่ม ลองเสิชหาข้อมูล แล้วเขียนหรือแปลส่งมาแบ่งกันอ่านผ่านพื้นที่ตรงนี้ TK park จะยินดีมากๆ
To Be Continued… โปรดติดตามต่อตอนที่ 2