Photo : Website medicalnewstoday
|
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดแถลงข่าวผลสำรวจการอ่านของประชากร พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 มีการนำเสนอผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 55,920 ครัวเรือน ทั่วประเทศ และการจัดทำหนังสือ ‘เข็ม’ รวบรวมข้อมูลความเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีของทศวรรษแห่งการอ่าน (พ.ศ.2552-2561) ข้อมูลต่างๆ รวมถึงข้อสังเกตจากผลการสำรวจ ตลอดจนเนื้อหาในหนังสือจะทยอยนำมาลงเป็นตอนๆ ตลอดเดือนเมษายนจนถึงมิถุนายน
|
ข่าวปลอม หรือ Fake News นั้นเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับความแพร่หลายของการใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ในระยะเริ่มแรกปัญหานี้ยังดูไม่รุนแรงมากนัก แต่ในช่วง 10 ปีมานี้ข่าวปลอมมีอิทธิพลสูงต่อความคิดความเชื่อของผู้คนในสังคม และกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมืองหรือมีการแข่งขันช่วงชิงมวลชน
สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับปัญหาข่าวปลอมซึ่งขยายไปสู่วงกว้างผ่านการแชร์ของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย การสำรวจพบว่าชาวอเมริกันกว่า 60% ได้รับข่าวปลอมโดยไม่เจตนาจากช่องทางการบริโภคข่าวสารในแต่ละวัน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2559 สังคมอเมริกันได้รับข่าวสารท่วมท้นจากการเสพผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งในบรรดาข่าวและสารสนเทศเหล่านี้พบว่ายอดการมีส่วนร่วม (engagement) ในข่าวปลอมที่เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก 20 อันดับแรกรวมกันสูงถึง 8.7 ล้านครั้งในช่วงสามเดือนก่อนการเลือกตั้ง สูงกว่ายอดการมีส่วนร่วมในข่าวจริงของสำนักข่าวกระแสหลักที่มีอยู่ 7.3 ล้านครั้ง[1] ข่าวปลอมที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด 5 อันดับแรก มีผู้เข้าถึงมากกว่า 7.8 ล้านครั้ง ทำให้ชาวอเมริกัน 82% เชื่อว่าข่าวปลอมมีผลกระทบต่อผลการเลือกตั้ง[2]
ในอินเดีย มีประชาชนอย่างน้อย 32 คน ถูกประชาทัณฑ์หรือทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต เนื่องจากข่าวปลอมที่แพร่สะพัดในวอทส์แอปเกี่ยวกับการลักพาตัวเด็ก ในเคนยาเหตุจูงใจของข่าวปลอมมักเป็นเรื่องเงินและเทคโนโลยีต่างๆ ส่วนไนจีเรียมักมีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและกองทัพ[3]
สำหรับความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยที่กินเวลายาวนานกว่า 10 ปี แม้จะไม่มีข้อมูลตัวเลขยืนยันขนาดความรุนแรงของข่าวปลอม แต่เชื่อว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องเคยผ่านตาข่าวสารที่แฝงไว้ด้วยอคติและมีการชี้แจงในเวลาต่อมาว่าไม่เป็นความจริง ทำให้แต่ละคนต้องคอยเตือนสติตัวเองในการเสพรับข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดีย
นอกจากแรงจูงใจที่มุ่งเอาชนะทางการเมืองแล้ว ข่าวปลอมยังมีแรงจูงใจจากผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากสื่อใหม่ (new media) ที่เป็นช่องทางหลักของข่าวปลอมนั้นมีรายได้หลักมาจากค่าโฆษณา ซึ่งแปรผันตามยอดคลิกอ่าน ยอดกดไลค์หรือแชร์ หากสามารถเพิ่มยอดคลิกหรือยอดแชร์เนื้อหาได้มากเท่าไหร่ก็หมายถึงค่าโฆษณายิ่งเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นผู้ใช้งานเว็บไซต์หรือสื่อสังคมจึงมักเห็นพาดหัวข่าวที่หวือหวาเร้าใจหรือจงใจปลุกปั่น
ปฏิกิริยาในเชิงความรู้สึก จนตกเป็นเหยื่อของการเพิ่มยอดคลิก (clickbait) วอชิงตันโพสต์เคยรายงานว่าเว็บไซต์ข่าวปลอมบางแห่งสามารถสร้างรายได้สูงถึงกว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยการใช้ Google AdSense[4]
พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย อสมท. และผู้ดำเนินรายการ ‘ชัวร์ก่อนแชร์’ ให้ความเห็นว่า “คนไทยจำนวนมากเพิ่งเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก แต่ขาดความรู้ความชำนาญทักษะชีวิตออนไลน์ เกิดสังคมที่เชื่อง่ายไม่ตรวจสอบ กลายเป็นจุดอ่อน ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงของอาชญากร นักธุรกิจ นักต้มตุ๋นทางออนไลน์”[5]
แม้ในวันนี้ยังไม่มีการประเมินตัวเลขมูลค่าความเสียหายอันเกิดขึ้นจากข่าวปลอม ทว่า ผลสำรวจที่ระบุว่าคนไทยมีทัศนคติเชิงบวกอย่างมากกับการเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์โดยไม่ตระหนักถึงผลที่ตามมา[6] ก็ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะนำไปสู่วิกฤตอันมีที่มาจากข่าวปลอม
ข่าวปลอมถูกยกระดับให้เป็นประเด็นใหญ่ระดับโลก มีการก่อตั้งเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงสากล (IFCN) รวมทั้งโครงการ First Draft Partner Network ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์กรสื่อสารมวลชนและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก 72 แห่ง ส่วนกูเกิลได้ออกแอพพลิเคชั่น Google News ซึ่งใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ช่วยแยกแยะหรือเปรียบเทียบข่าวปลอมได้สะดวกขึ้น
ในประเทศไทยเกิดรายการโทรทัศน์ “ชัวร์ก่อนแชร์” เมื่อปี 2558 ซึ่งต่อมาในปี 2560 ได้พัฒนาเป็น “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” เพื่อตรวจสอบและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเครื่องมือการส่งข้อมูลข่าวปลอม ข่าวมั่ว นอกจากนี้ยังมีเฟนเพจที่ช่วยเตือนสติคนในโลกไซเบอร์ไม่ให้หลงเชื่อข่าวปลอม เช่น อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ซึ่งเน้นประเด็นที่สามารถพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ หมอแล็บแพนด้า ซึ่งเน้นประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมความงามหรือยาลดความอ้วน Drama-addict เน้นประเด็นทางสังคมและการเมือง เป็นต้น
ห้องสมุดในต่างประเทศล้วนมีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริมทักษะการคิดวิพากษ์แหล่งข้อมูลและใช้วิจารณญาณในการบริโภคสารสนเทศ ด้วยความเชื่อว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาความรู้จะไม่มีความหมายเลยหากคนเราปราศจากทักษะการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ (Media and Information Literacy) หรือไม่สามารถแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับข่าวปลอม
ตัวอย่างเช่น สมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association - ALA) ให้ความสำคัญกับปัญหาข่าวปลอมโดยริเริ่มโครงการ Media Literacy @ Your Library เป็นโครงการฝึกอบรมบรรณารักษ์ทั่วประเทศให้มีทักษะส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อแก่ผู้ใช้บริการ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการแพร่กระจายของข่าวปลอมและการเลือกแหล่งสารสนเทศที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังสร้างเครื่องมือที่เรียกว่า The CRAAP test ซึ่งเป็นลิสต์รายการที่ช่วยให้ผู้บริโภคตั้งคำถามกับสารสนเทศอย่างรอบด้าน ทั้งความเป็นปัจจุบันของข้อมูล ความสัมพันธ์ระหว่างสารสนเทศที่ต้องกับสารสนเทศที่พบ แหล่งข่าว ความน่าเชื่อถือและความสมเหตุสมผลของเนื้อหา และวัตถุประสงค์ที่ข่าวนั้นๆ ถูกสร้างขึ้นมา
ช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยเดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิทัล ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และการทะลักท่วมท้นของข้อมูลข่าวสาร ห้องสมุดของไทยต่างก็สนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ยังมีบทบาทน้อยมากในการส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการเรียนรู้รับมือกับข่าวปลอม รวมไปถึงทักษะการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ จึงน่าตั้งคำถามว่าสารสนเทศที่ผู้ใช้จะได้รับผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยนั้น หากเป็นสารสนเทศที่ผิดพลาด จะสามารถตอบโจทย์การแสวงหาความรู้ได้ตรงตามความต้องการหรือวัตถุประสงค์ของผู้ใช้จริงหรือไม่
[2] บทความเรื่อง Shocking Statistics About Fake News
[3] บทความเรื่อง ข่าวปลอม : ลัทธิชาตินิยมอยู่เบื้องหลังการสร้างข่าวปลอมในอินเดีย
[5] บทความเรื่อง สำนักข่าวไทย อสมท. เปิดตัวศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบข้อมูลออนไลน์แก่ประชาชน
[6] บทความเรื่อง ใจดี โลกสวย เชื่อคนง่าย!!! คนไทย 40% เชื่อข่าวปลอมบนโซเชียลสูงสุดในภูมิภาค