วันนี้ผมขออนุญาตคิดดังๆ ในฐานะผู้สังเกตการณ์นะครับ ท่านคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายลองไปคิดดูว่าประเด็นที่ผมพูดมีน้ำหนักไหม ผมอยากให้มันเป็น Seed for Thought คือเมล็ดพันธุ์พืชที่จะไปคิดต่อ สไตล์ของผมคือมองโลกในแง่บวก เพราะฉะนั้นแทนที่จะมาตัดพ้อต่อว่าเมืองไทยทำไมเป็นอย่างนู้นอย่างนี้ ผมจะพยายามคิดว่าแล้วมันจะมีวิธีหรือว่าคำตอบมันควรจะเป็นยังไง ทำได้หรือไม่ได้ลองฟังดูก็แล้วกันนะครับ
จากหัวข้อที่กำหนด ผมขอแยกเป็นสองอย่างที่ประกอบกันอยู่ อันแรกคือเรื่องของการส่งเสริมการอ่าน ส่วนที่สองคือการส่งเสริมการเรียนรู้ แต่เผอิญผมเป็นคนที่สนใจเรื่อง KM (Knowledge Management) ผมขอจับประเด็นตรงนี้ก่อนแล้วกันนะครับ คือเรื่องของ KM หรือการบริหารความรู้หรือการจัดการความรู้นั้น มันเป็นความรู้คนละชนิดกับที่ผมและท่านเคยเข้าใจมาแต่เดิม ความรู้นี่มีหลายชั้น ผมจัดชั้นความรู้ไว้อย่างนี้ครับ อย่างแรกข้อมูลอะไรที่เข้ามากระทบ เราเรียก data เป็นต้นว่ามีเลข 1 2 3 4 จะมีเฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่รู้ว่า 1 2 3 4 เป็นตัวเลข สิ่งมีชีวิตอย่างอื่นไม่รู้ ซึ่งเมืองไทยนี่ data ท่วมเลย เยอะมาก
ดีขึ้นมาหน่อย คือ 1 2 3 4 ที่มีความหมาย เช่น มีความหมายว่าเป็นเลขทะเบียนรถยนต์ของผม อย่างนี้เราเรียกว่า information เมืองไทยก็บ้าตรงนี้ คือ 1 2 3 4 ที่เป็น information เอาไปสอนในโรงเรียน การสอนการบรรยายในประเทศไทย ไม่ใช่ทั้งหมดแต่น่าจะส่วนใหญ่ คือการถ่ายทอดข้อมูลชนิด information จากสมุดจดของอาจารย์ไปสู่สมุดจดของลูกศิษย์ ก็คือนกแก้วตัวโตพูดกับนกแก้วตัวเล็กจำนวนมากๆ ก็ได้แค่นั้น แล้วก็จบกันไป แล้วสักเดี๋ยวนกแก้วตัวเล็กก็ถูกกลั่นกรองโดยการสอบเสียทีหนึ่ง อะไรอย่างนี้นะครับ
เดี๋ยวนี้มีเครื่องมือชนิดใหม่ที่นกแก้วตัวเล็กเขาตัดปะได้ เราเรียก cut and paste ตัดตั้งแต่เป็นนกแก้วตัวเล็กจนกระทั่งเป็นนกแก้วตัวใหญ่ คือไปทำ PhD. เมืองนอกก็ยังตัดปะกันอยู่ แต่ตัดแบบเยอะๆ จากหลายแหล่ง ตอนนี้ไปตัดปะแบบนั้นไม่ได้แล้ว เขารู้หมดเลยว่าตัดมาจากไหน ที่ท่านเรียกว่า literature search หรือ literature review นั่นเป็นตัวอย่างของ information หรือข้อมูลที่ถ่ายทอดถึงกัน มันก็เหมือนเราไปจ่ายตลาดเวลาเห็นอะไรดีเราก็หยิบมาให้พี่ป้าน้าอา คนไทยไม่ได้นึกว่าเป็นการลอกเลียนแบบนะครับ คนไทยคิดว่าหยิบของดีมาให้พี่ป้าน้าอา อย่างที่เราพูดกันเล่นๆ ว่าถ้าเราลอกคนๆ เดียวนี่เรียกลอก แต่ถ้าลอกคนห้าคนนี่เรียกว่าวิจัย เพราะฉะนั้นเราก็เลยวิจัยด้วยการไปลอกคนหลายๆ คนมา ซึ่งทำกันอย่างนี้หมด อันนี้เป็นความเชื่อที่ต่างกัน ผมเองไม่เชื่อ เพราะเหมือนกับเราไปขโมยมะม่วงวัด เราไม่คิดว่าเรากำลังทำอาชญากรรม (crime) เราไม่ได้คิดว่าเราเป็นขโมย เราคิดว่ามันเป็นความฉลาด ตอนเด็กๆ ผมก็เอาหนังสติ๊กยิงมะม่วงวัด เก็บมากิน อร่อยมากเลยมะม่วงที่ขโมยมานี่ ถ้าปลูกเองกินเองมันก็งั้นๆ สิ่งที่ผมปรารภมานี้ ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าเรื่องของความรู้ที่เราพูดกันนี่ต้องมีการจัดการแล้วล่ะครับ
ความรู้ระดับที่สามคือข้อมูลหรือข้อสนเทศที่เอาไปใช้ได้ เราเรียกว่า knowledge แต่ก่อนเมื่ออดีตนั้นตัว knowledge จะมาจากประสบการณ์ที่คนบางพวกเช่นทางตะวันตกเขารวบรวมร้อยเรียงและบันทึกเอาไว้ สมัยโบราณก็เป็นหนังสือ สมัยใหม่ก็อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ปัจจุบันนี้คนอยากจะดักความรู้ที่เป็นประสบการณ์ดิบๆ ไม่ต้องไป process ไม่ต้องเข้า Data processing โรงเรียนสำคัญๆ ของโลกเช่น Harvard หรือ London School of Economics เขาจะดักไว้เป็นกรณีศึกษาหรือ case study ดักไว้ทั้งดิบๆ อย่างนั้น เพราะคนที่สนใจจะสามารถอ่านหรือรับรู้แล้วตีความเอาเอง ซึ่งทำให้เกิดความคิด คำว่า knowledge ก็เลยแปลเป็นไทยได้สองอย่าง ตัวหนึ่งคือเราเรียก knowledge ว่าความรู้ แปลว่าข้อมูลหรือ information ที่ใช้เป็นประโยชน์จำเพาะ ถ้าจะเปรียบก็ประมาณ know how อีกตัวหนึ่งคือข้อมูลจากประสบการณ์คือ knowledge ที่เกิดจากประสบการณ์ เราเรียกว่าองค์ความรู้
Knowledge ที่เรียกว่าองค์ความรู้ได้รับความสำคัญมากขึ้น ผมขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง รัฐวิสาหกิจและสถาบันใหญ่ๆ ในรอบยี่สิบปีที่แล้วเขามีกระบวนการ early retire คือคนที่ทำงานมานานๆ พอถึงอายุห้าสิบ เขาก็ให้ option ที่จะเกษียณก่อนเวลา โดยจะให้เงินก้อนใหญ่ไปตั้งตัว เพราะฉะนั้นคนเก่งๆ ก็มักจะใช้สิทธินี้ลาออกกันไปหมด แล้วก็เกิดปัญหาที่ไม่ทันคาดคิดครับเพราะคนที่เขา early ออกไปนี่บางทีก็เป็นพวกวิศวกรโรงไฟฟ้า วิศวกรก่อสร้างเขื่อน เขาลาออกไปเลี้ยงหลานหรือไปปลูกผักปลูกต้นไม้อยู่บนดอยที่ไหนก็ไม่รู้ ได้เงินไปสิบล้านก็สบายแล้วนอนกินดอกเบี้ย ปัญหาก็คือเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าที่สร้างไว้ 20-25 ปี เมื่อถึงเวลาจะต้องซ่อม คนที่ยังอยู่ก็นึกไม่ออกว่าต้องซ่อมอย่างไร เพราะคนที่สร้างมากับมือเขาเกษียณล่วงหน้ากันไปหมด จะตามหาก็ไม่รู้จะไปตามที่ไหน นี่จึงเป็นที่มาของความสำคัญที่จะต้องดักความรู้ประเภทนี้เอาไว้
อีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าท่านใดเคยไป Las Vegas จะมีโรงแรมที่สวยมากอยู่แห่งหนึ่ง ข้างหน้ามีน้ำพุเต้นระบำได้ โรงแรมนั้นชื่อ Bellagio โรงแรมนี้รัฐบาลอเมริกาซื้อไว้เพื่อให้คนของรัฐตั้งแต่ระดับรองอธิบดีขึ้นไป เวลาจะเกษียณหรือเกษียณไปแล้วให้มานอนเล่นได้สองปี เพื่อเขียนรายงานให้รัฐบาลชิ้นหนึ่ง เรียกว่า Memo ส่วนบุคคล อธิบายว่าตั้งแต่ทำงานมานี่ได้อะไรบ้าง ความยาวไม่ต่ำกว่า 500 หน้าหรือหนึ่งพ็อคเก็ตบุ๊ค นี่ครับคือภูมิปัญญาในหัวเราจากประสบการณ์ และได้รับความสำคัญมากขึ้น เดี๋ยวนี้หลายคนก็เปลี่ยนทัศนคติ คือถ้าใครเข้าใจตรงนี้ เราจะไม่ตัดบทเวลาฟังผู้อาวุโสแล้วท่านพูดเยอะ การฟังคนอื่นเล่านี่ถือเป็นศาสตร์เลยนะครับ เรียกว่า story telling ก็คือการล้วงเอาประสบการณ์ที่ฝังในตน ภาษาอังกฤษเรียก tacit knowledge ออกมาเป็น explicit knowledge ซึ่งแบบหลังมัน document ได้ กระแสนี้ในประเทศไทยเกิดขึ้นมาเป็นสิบปี และก็มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตหลายคนเริ่มแยกและบัญญัติศัพท์ knowledge เป็นสองอย่าง ถ้าเป็น knowledge แบบที่เป็น information เรียกว่าความรู้ กับ knowledge แบบที่บอกเล่าประสบการณ์เป็น experience document ในรูปแบบซึ่งถ่ายทอดให้คนอื่นได้ เรียกว่าองค์ความรู้
ตอนที่ผมทำธุรกิจผมยังไม่รู้เรื่องนี้ แต่หลังจากผมเกษียณผมก็ไปทำงานเอ็นจีโอ ปรากฏว่าพวกเอ็นจีโอเขามีศัพท์ที่ยิ่งใหญ่ของเขา คือคำว่าถอดบทเรียน (lesson learn) สมัยก่อนในวงการธุรกิจเวลาเราทำผิดเราจะกลัวมาก บางทีเราก็เลยซุกไว้บ้างอะไรบ้างเพราะว่าธุรกิจนี่หลุดไม่ได้ แต่เวลามาทำงานเอ็นจีโอ มันจะพังมากกว่าไม่พัง เพราะว่างานที่ทำมันเป็นเรื่องไม่รู้มากกว่ารู้ ถ้าเป็นธุรกิจเวลาทำพัง ธุรกิจก็ทรุดหรือเจ๊งไป แต่เอ็นจีโอเวลาพัง เขาจะถามว่าเราได้บทเรียนอะไรบ้างหรือ what is lesson learn เป็นคำถามที่ positive มากและดีมาก ไม่ใช่ชี้หน้ากัน คุณผิดฉันไม่ผิด คนไทยนี่เวลาที่ถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดกันเรามักไม่ค่อยนึกว่านี่คือ diversity of idea เพราะเราไม่ค่อยชินกับความคิดที่หลากหลายนะครับ
ความรู้ยังมีขั้นสี่ เหนือ knowledge ขึ้นไป เรียกว่าภูมิปัญญาหรือ wisdom ภูมิปัญญานี่แปลกครับ มันมักจะไปอยู่กับคนที่ต่ำต้อยหรือชายขอบที่สุด เพราะคนพวกนี้ต้องดิ้นรนทุกวัน ในต่างจังหวัดคนที่เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านก็มี wisdom เยอะมากเช่นกัน ชาวบ้านธรรมดาที่อยู่กินลำบากเขาต้องดิ้นรนจนเอาตัวให้รอด นี่แหละคือ wisdom เพราะเป็นคนที่ลงมือทำอะไรมากับมือตัวเอง ทำซ้ำมานานและฟังเสียงในตัวเองเยอะ ภาษาพระเค้าเรียก ปรโตโฆสะ คือฟังเสียงตนเอง เราฟังเสียงชาวบ้านหรือโยนิโสมนสิการสักครึ่งหนึ่ง ให้รู้ว่าคนอื่นเตือนเราอย่างไร แต่อีกครึ่งหนึ่งที่ต้องฟังคือเสียงเตือนจากตัวเราเอง
Public Hearing หรือการประชุมพูดคุยในหมู่คนจำนวนมากที่เปิดให้มีการอภิปรายซักถาม จะมีลักษณะการพูดคุยอยู่สองแบบคือ discussion แปลว่าเถียงกันไปเถียงกันมาซึ่งทางตะวันตกเขาชินกับวิธีการอย่างนี้ ทางตะวันออกหรืออาเซียนเราไม่ discuss แต่เราจะ dialogue กันเรียกว่าสุนทรียสนทนาหรือสนทนาหาทางออก เราต้องพยายามทำให้ชินกับการพูดคุยลักษณะนี้นะครับ เพราะการสนทนาหาทางออกมันจะมี wisdom อยู่เยอะเนื่องจากไม่ได้มุ่งหาข้อสรุป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยแบบนี้มักจะเกิดเสียงจากข้างในซึ่งมาจากการฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ (deep listening) จริงๆ แล้วกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นกระบวนการระหว่างคุย ระหว่างทำงาน การเรียนรู้จึงเกิดขึ้นระหว่างทำ ไม่ใช่เกิดขึ้นตอนที่ทำเสร็จแล้วมาสรุป
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ ซึ่งเรียกได้ว่าบอดเกือบสมบูรณ์ในประเทศไทย เพราะว่าไม่เข้าใจสี่ระดับของความรู้ คือ data information knowledge และ wisdom ระดับที่สามกับสี่นี่น่าสนใจมาก คนที่เอา knowledge มาเล่นจนเข้าฝักกลายเป็น wisdom จะอยู่รอดได้ในยุค globalization ถ้าไม่มีก็ไม่รอด
ต่อไปเป็นข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่าน ข้อสังเกตประการแรกคือเราไม่สามารถใช้ยาสามัญประจำบ้านแก้ได้ทุกโรคในเรื่องเกี่ยวกันการอ่าน เพราะว่ามันมีคำว่ามิติทางประชากรศาสตร์ (demographic dimension) คือ เพศ การศึกษา รายได้ อายุ ในเรื่องการอ่านผมขออุปโลกน์ว่าเรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่องอายุก็แล้วกัน เพื่อทำความเข้าใจได้ง่ายๆ ในที่นี้ ดังนั้นการอ่านต้องแบ่งตามอายุ เช่น นักเรียนประถมหนึ่งหรือปีแรกของการเรียนรู้อย่างเป็นทางการ การอ่านก็ต้องเป็นอย่างหนึ่ง แตกต่างกับการอ่านของคนวัยทองคือเกษียณแล้ว ซึ่งจะต้องอ่านอีกแบบหนึ่ง นี่คือพื้นฐานอย่างแรกที่ต้องพึงเข้าใจว่าคนแต่ละรุ่นอายุจะมีความต้องการการอ่านไม่เท่ากัน และเป็นตัวอย่างที่อยากชี้ให้เห็นว่าการส่งเสริมการอ่านจำเป็นต้องจำแนกและเข้าใจมิติทางประชากรศาสตร์
ข้อสังเกตประการที่สอง ผมแยกเป็น 5 ประเด็นย่อยที่อยากชวนให้คิด อันแรกคือ incentive หรือแรงจูงใจที่จะทำให้คนอ่าน ถ้าเราจะสอนให้เด็กรักการอ่าน ไม่ใช่ว่าเด็กไม่เคยอ่านแล้วก็ไปเคี่ยวเข็ญให้อ่านหนังสืออะไรก็ไม่รู้ ต้องให้เขาอ่านการ์ตูนหรืออะไรก็ได้ที่เขาชอบก่อนครับ หรือให้เขาเลือกเองก็ได้ เขาอาจจะเลือกอ่านอะไรที่ท่านไม่ค่อยชอบใจเท่าไรก็ได้ แต่ถ้าเขาติดแล้วหลังจากนั้นจะแนะนำให้เขาอ่านอะไรก็ไม่ยาก ความหมายคือว่าให้เขารักการอ่านก่อน พอมันเกิด appetite แล้วเดี๋ยวก็จะติด แล้วก็อ่าน เพราะฉะนั้นต้องสร้างแรงจูงใจก่อน
อันที่สอง frequency opportunity หรือโอกาสที่จะได้อ่านอย่างต่อเนื่อง ทุกอย่างที่เป็นนิสัยของคนเราเกิดจากการที่เราได้เจอได้ทำบ่อยๆ ผมเรียกว่าโอกาส เพราะฉะนั้นท่านต้องสร้างให้คนที่ท่านรักมีโอกาสอ่านหรือได้สัมผัสกับการอ่านบ่อยๆ อย่างต่อเนื่อง
อันที่สาม ability หรือความสามารถในการอ่าน ต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ อย่าปล่อยให้คนใช้เลี้ยงลูกเพราะคนใช้มีศัพท์จำกัด ให้พ่อแม่หยุดทำงานหาเวลามาเลี้ยงลูกคุยกับลูกอ่านนิทานให้ลูกฟังบ้าง คำศัพท์เขาจะได้ทันพ่อแม่ เด็กจะได้กล้าอ่านกล้าพูดเพราะเกิดความสามารถที่จะรับและถ่ายทอดสิ่งที่ต้องการจะสื่อได้
อันที่สี่ outcome คือมีประโยชน์อะไรในการอ่าน outcome ไม่ใช่ output เช่น คุณสอนอยู่ในโรงเรียนแล้วทำให้มีเด็กจบการศึกษาได้กี่คน อย่างนี้เรียก output หรืออย่างพวก HR หรือฝ่ายทรัพยากรมนุษย์มีหน้าที่อบรมพนักงาน ก็อบรมกันจนไม่ต้องทำงาน เพราะจะทำผลงานเป็นจำนวนคนผ่านการอบรม นี่ก็ออกมาเป็น output โดยทั่วไปราชการเขาถือว่าผลงานก็คือจำนวนเด็กจบจำนวนคนผ่านการอบรม แต่เอกชนเขามองว่านี่คือการผลาญเงิน ตรงนี้เป็นประเด็นที่เราต้องแยกให้ออกระหว่าง output กับ outcome คำว่า output แปลว่าทำให้มันเสร็จๆ ไป outcome แปลว่าทำแล้วมันได้อะไร เพราะฉะนั้นการที่ท่านยัดเยียดให้ใครอ่านหรือตัวเราเองอ่าน ต้องตอบให้ได้ว่าอ่านแล้วมันจะได้อะไร ถ้าตอบคำถามนี้ไม่ได้อย่าไปบังคับให้ใครอ่าน แม้แต่ตัวเอง
สุดท้ายประเด็นที่ห้าคือ impact หรือผลที่เกิดขึ้นต่อสังคม ขอให้ท่านแยกให้ดีเวลาจะส่งเสริมให้ใครอ่าน อันหนึ่งคือ output แปลว่านับหัวว่ากี่คน ซึ่งเมืองไทยชอบ เราเรียก Performance Indicator คือจำนวนที่วัดได้ แต่ยังมีอีกคำหนึ่งคือ outcome แปลว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการผลิต มันได้อะไรขึ้นมาบ้างเพื่อตัวเองหรือเพื่อคนใกล้ชิด สุดท้ายมันต้องได้ impact แล้วสังคมกระเพื่อมอะไรบ้าง อ่านแล้วมันได้อะไรร่วมกันบ้าง
ในส่วนของข้อสังเกตต่อกระบวนการเรียนรู้ ช่วงแรกผมได้พูดไปแล้วแต่ขอสรุปเป็นแนวคิดไว้ 5 ข้อเช่นเดียวกัน ข้อแรก วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้มี 3 ข้อคือ Learn to know เรียนเพื่อให้รู้ เมืองไทยเก่งสะบัดเลย ผมให้คะแนนตรงส่วนนี้แปดสิบเปอร์เซ็นต์ Learn to do สอนแล้วให้เขาทำได้ ข้อนี้ผมให้สัก 5 ใน 80 คือสอนแทบตายแต่พอลงมือทำจริงกลับทำไม่ค่อยเป็น Learn to work with another หรือ Learn to live with another อันนี้เป็นศูนย์เลย ทั้งๆ ที่สำคัญที่สุดในยุคโลกาภิวัตน์ ยุคประชาคมอาเซียน คือต้องรู้จัก เรียนรู้เพื่อให้ไปทำงานและใช้ชีวิตกับชาวบ้านคนอื่นได้
ประการที่สองคือทำอย่างไรให้ความรู้ที่ฝังในตน (tacit knowledge) ของคนเก่งๆ จะออกมาเป็นความรู้ที่แบ่งปันได้
ประการที่สาม หาโอกาสฝึกการสุนทรียสนทนา คือการที่คนตั้งแต่สองคนคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทำอย่างไรถึงจะเกิดพลังบวก หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสามที่เขาเรียกว่าเสริมพลัง ไม่ใช่เก่งคนเดียวแต่ต้องเก่งเป็นทีม กระบวนการเรียนรู้ผ่านการสุนทรียสนทนาจำเป็นต้องทำให้เกิด CoP (Community of Practice) จะเป็น small CoP ก็ได้ ไม่ต้องไปจดทะเบียนเป็นสมาคมหรือทำอะไรยิ่งใหญ่ ไม่ต้องเป็น Institute of Technology แค่ก๊วนกาแฟหลังกินข้าวกลางวัน แอบมานั่งสุนทรียสนทนากันก็ได้ วิธีการสร้างการเรียนรู้จนเกิดฉันทามติมีกระบวนการให้เลือกใช้เยอะแยะ ไม่จำเป็นต้องให้ mass media ช่วยก็ได้เพราะยุคนี้เป็นยุค social network มันอยู่ที่ วิสาสา ปรมาญาติ การคุยกันเป็นญาติอย่างยิ่ง มันเป็นเรื่อง informal chat สมัยก่อนพลังของการเปลี่ยนแปลงเกิดจาก Broadcast คือถ่ายทอดไปทั่วทางทีวีหรือวิทยุ แต่เดี๋ยวนี้มันเป็น Narrowcast ครับ เกิดขึ้นจาก one by one ผ่านเครือข่ายที่คนในโลกติดต่อเชื่อมโยงกันอยู่เป็นพันๆ ล้านคน ผมขอตั้งประเด็นไว้ว่าสุนทรียสนทนาหรือ dialoging หรือ personal communication และ word of mouth เป็นพลังใหม่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโลกยุคนี้ การที่จะกลายเป็น mass ได้นั้นก็ต้องเริ่มต้นด้วยการสร้าง CoP อย่างเช่นชมรมกาแฟ ชมรมข้าวต้มกุ๊ย ชมรมวิสาสาปรมาญาติ อะไรพวกนี้เป็นต้น
ข้อสังเกตประการที่สี่ ทำอย่างไรถึงจะดักความรู้ดีๆ เอาไว้ได้ ให้ความรู้เหล่านี้ถูกเก็บรักษาและถ่ายทอดถึงกันง่ายๆ และเข้าใจได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้ด้วยตนเอง
ข้อสังเกตประการสุดท้ายก็คือ การทำอะไรทุกชนิดจะต้องมีการประเมิน ต้องมีการวัด แต่ไม่ใช่การวัดในเชิง quantitative ซึ่งเป็นคติทางตะวันตก ผมคิดว่าอาเซียนเป็นดินแดนเก่าแก่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งที่มี knowledge assets และมี qualitative quality เยอะมาก ผมอยากเชิญชวนท่านทั้งหลายมาช่วยกันหาวิธีวัด qualitative return on investment ที่ไม่ใช่ qualitative research แต่เป็น qualitative measurement นะครับ
ก็ขอสรุปว่าในเรื่องของการเรียนรู้ ประเด็นสำคัญที่ท่านทั้งหลายต้องใคร่ครวญให้ดีและตกลงกันว่าจะทำอะไรกับ 5 ประเด็นนี้ ข้อหนึ่งเราต้องการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ระดับไหน ข้อสองทำอย่างไร tacit knowledge ถึงจะกลายเป็น explicit knowledge ข้อที่สามจะดักความรู้จากประสบการณ์นั้นไว้ได้อย่างไร ข้อสี่จะให้คนอื่นใช้ความรู้ประสบการณ์ที่ดักไว้ได้อย่างไร และข้อห้า ถ้าสินทรัพย์ทางปัญญาเหล่านั้นมีลักษณะเป็น qualitative หรือเชิงคุณภาพ ท่านจะมีวิธีบอกได้อย่างไรว่าสิ่งนั้นผ่านหรือไม่ผ่าน ตรงเป้าหรือไม่ตรงเป้า สอบได้หรือสอบไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับประกวดนางงาม ประกวดนักร้อง หรือการวัดอะไรที่เป็นศิลปะ ซึ่งไม่ได้ใช้อาศัยอ้างอิงข้อมูลตัวเลข สถิติ หรือเชิงปริมาณ
ดังที่ปรารภกับทุกท่านซึ่งเป็นกัลญาณมิตรในที่นี้ว่านี่คือเรื่อง Seed for Thought ผมขออภัยที่ไม่มีคำตอบให้ท่าน แต่ผมว่าในประเทศไทยและในอาเซียนมีคนพร้อมจะตอบอยู่เยอะ เพียงแต่คนที่ตั้ง good question ไม่ค่อยมี ผมจึงมาตั้ง good question เพื่อให้ท่านมี good answer ครับ
ปรับปรุงและเรียบเรียงจากการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ข้อสังเกตบางประการต่อกระบวนการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ของไทย” โดย ศาสตราภิชาน ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ ในงาน Thailand Conference on Reading 2011 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ
- เผยแพร่และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ “เต็มสิบ” (มกราคม 2558)
เรื่อง กระบวนการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ของไทย
-จัดทำเป็น online content ทาง TK Podcast (ธันวาคม 2561)
เรื่อง เจาะลึกการอ่านและการเรียนรู้ มุมมองและคำถามจาก ‘กูรูการตลาด’ (คลิกฟังที่นี่)