ความคิดสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นพื้นฐานของการริเริ่มนวัตกรรม รวมถึงการแก้ไขปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ แต่ทว่าโรงเรียนส่วนใหญ่กลับไม่ได้สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการปลดปล่อยความคิดใหม่ๆ หรือไม่ได้มีกิจกรรมการสอนทักษะนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องพรสวรรค์จริงหรือ ความคิดสร้างสรรค์มาจากไหน ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่สอนกันได้หรือไม่ Tina Seelig เจ้าของหนังสือ inGenius วิชาความคิดที่คุ้มค่าหน่วยกิตที่สุดในโลก จะมาเล่าถึงห้องเรียนที่สุดแสนมหัศจรรย์ พร้อมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของผู้คนและผู้ประกอบการทั่วโลกที่เติบโตขึ้นจากความกล้าที่จะคิดและทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น
บรรยากาศภานในชั้นเรียน วิชาความคิดสร้างสรรค์ Photo : Website goodreads.com
ในห้องเรียนวิชาความคิดสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เต็มไปด้วยโจทย์สนุกๆ เช่น อาจจะให้เงินทุนนักศึกษากลุ่มละ 5 เหรียญ หรือให้ของพื้นๆ เช่น ขวดพลาสติกหรือหนังยางหนึ่งกำมือ เพื่อให้ทำธุรกิจที่จะทำให้ได้เงินมากที่สุดใน 1 สัปดาห์ หรืออาจจะให้ถังขยะกลุ่มละ 1 ใบ เพื่อลองสร้างมูลค่าให้กับขยะที่ถูกทิ้ง ฯลฯ หัวใจสำคัญของกระบวนการสอนความคิดสร้างสรรค์ก็คือ การให้นักศึกษารู้จักเผชิญหน้ากับความเสี่ยง ลองล้มเหลวอย่างรวดเร็ว และเรียนรู้จากประสบการณ์ สอนให้รู้จักการใช้เครื่องมือโดยตั้งสมมุติฐานที่ท้าทาย เพื่อจะได้ลองผสมผสานไอเดียหรือปรับมุมมองต่อปัญหา รวมทั้งสอนให้รู้จักที่จะตั้งคำถามที่ถูกต้อง เพราะคำถามที่ผิดจะไม่มีวันนำไปสู่คำตอบที่ถูก เธอเปรียบเปรยว่า ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ก็คล้ายกับการทำงานศิลปะเย็บผ้าแบบ ควิลท์ (Quilt) คือรู้จักที่จะสร้างสิ่งใหม่โดยการเลือกหยิบจับและผสมผสานสิ่งที่มีอยู่อย่างหลากหลายกระจัดกระจายมารวมกันจนเกิดความลงตัว
“Innovation Engine” chart by Stanford’s Tina Seelig Photo : © Tina Seelig
Tina สรุปประสบการณ์การสอนกว่า 15 ปีของเธอออกมาเป็นโมเดล กลไกแห่งความสร้างสรรค์ เพื่ออธิบายให้เห็นว่าปัจจัยทั้งภายในและภายนอกต่างก็สะท้อนถึงกันและกัน ทัศนคติช่วยจุดประกายความกระหายใคร่รู้ ความรู้เป็นเชื้อเพลิงให้กับจิตนาการ จินตนาการเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ดึงทรัพยากรมาสร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างสรรค์ สภาพแวดล้อมและทัศนคติส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมในชุมชน เมื่อเราใส่ปัจจัยทั้งหมดลงไปและเดินเครื่องอย่างเต็มที่ ไอเดียสุดเจ๋งก็จะถูกปลดปล่อยออกมา
ปัจจุบันนอกจาก Tina จะสอนวิชาความคิดสร้างสรรค์ในห้องเรียนแล้ว ในระยะหลังมหาวิทยาลัยได้พัฒนาหลักสูตร E-learning ทำให้มีนักศึกษาเพิ่มจำนวนขึ้นจากการเรียนทางไกล และยิ่งเมื่อโลกการเรียนรู้มีระบบการเรียนแบบเปิดสำหรับมหาชน หรือ MOOCs ก็เป็นโอกาสที่เธอได้ทดลองจัดการเรียนการสอนด้านความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้คนจำนวนมหาศาลจากทั่วทุกมุมโลก และได้เห็นนักศึกษากลุ่มใหญ่นับร้อยคนสุมหัวออนไลน์เพื่อสร้างนวัตกรรมร่วมกัน
Tina Seelig Photo : Website scottbarrykaufman.com
เผยแพร่ครั้งแรก เมษายน 2558 จัดทำเป็น online content ทาง TK Podcast พฤศจิกายน 2560
คลิกฟัง TK Podcast ที่นี่