ที่ผ่านมาห้องสมุดมีบทบาทให้บริการทางสังคม วัฒนธรรม และการศึกษาด้วยการให้บริการยืมทรัพยากรหนังสือ แต่ปัจจุบันเป็นยุคที่ห้องสมุดกำลังเปลี่ยนผ่านจากกายภาพไปสู่ดิจิทัล มีคำถามเกิดขึ้นมากมายถึงบทบาทที่ห้องสมุดควรทำและสามารถทำได้ในยุคดิจิทัล ในห้วงเวลาที่สารสนเทศจำนวนมากสามารถค้นหาออนไลน์ได้ง่ายและมีต้นทุนต่ำลงเรื่อยๆ ห้องสมุดบางแห่งเลือกที่จะเปลี่ยนพื้นที่กายภาพซึ่งครั้งหนึ่งเต็มไปด้วยหนังสือไปให้บริการสิ่งอื่นแทน
ห้องสมุดสรรพสิ่ง (Library of Things) หมายถึงห้องสมุดที่ให้บริการยืมคืนทรัพยากรประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่หนังสือ วารสาร หรือสื่อโสตทัศน์ซึ่งห้องสมุดมุ่งเน้นให้บริการมาก่อนหน้านี้ ห้องสมุดสรรพสิ่งเป็นโมเดลที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จและกำลังมีแนวโน้มเติบโตทั่วโลกโดยฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทั้งที่ริเริ่มโดยห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดวิชาการ ห้องสมุดเฉพาะ และองค์กรอื่นที่ไม่ใช่ห้องสมุด
กระแสห้องสมุดสรรพสิ่งท้าทายผู้คนให้ทบทวนความคิดว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นต้องซื้อ หรืออะไรเป็นสิ่งที่ต้องการแต่อาจแทบไม่ได้ใช้เลย เมื่อปี 1970 ห้องสมุดเครื่องมือ (The Tool Library) เริ่มต้นเปิดให้บริการที่เบิร์กลีย์ (Berkeley) เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของห้องสมุดสรรพสิ่ง ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 40 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา ห้องสมุดสรรพสิ่งแต่ละแห่งให้ยืมสิ่งของแตกต่างหลากหลายกันออกไป หลายสิ่งไม่น่าเชื่อว่าจะมีให้บริการในห้องสมุด เช่น อุปกรณ์ดำน้ำ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เครื่องทำฟองดูว์ รองเท้าลุยหิมะ ไม้เทนนิส ชุดทดลองวิทยาศาสตร์ เลื่อย เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องครัว เต็นท์ อุปกรณ์ดูนก ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ฯลฯ
ห้องสมุดประชาชนซาคราเมนโต (Sacramento) ริเริ่มห้องสมุดสรรพสิ่งขึ้นเพื่อขยายขอบข่ายของงานห้องสมุดในทางที่เป็นประโยชน์ ทรัพยากรที่ให้บริการเช่น เครื่องเคลือบพลาสติก เครื่องดนตรี กล้องดิจิทัล จักรเย็บผ้า และอุปกรณ์เทคโนโลยีอื่นๆ บางสิ่งสามารถให้ยืมกลับบ้านได้ บางสิ่งให้ยืมใช้บริการในพื้นที่ห้องสมุดเท่านั้น เช่น เครื่องพิมพ์หนังสือและเครื่องพิมพ์สามมิติ
บางแห่งมีปริมาณทรัพยากรเพื่อให้บริการหลายหมื่นรายการ เช่นที่ห้องสมุดเครื่องมือโตรอนโต (Toronto Tool Library) ซึ่งเป็นห้องสมุดสรรพสิ่งแห่งแรกของแคนาดา ได้จัดทำโครงการ The Sharing Depot ขยายเครือข่ายออกไป 4 สาขา สมาชิกห้องสมุดสามารถยืมข้าวของที่หลากหลาย ทั้งอุปกรณ์ตั้งแคมป์ อุปกรณ์สำหรับจัดงานปาร์ตี้ อุปกรณ์กีฬา บอร์ดเกม และของเล่น โครงการนี้ยังเป็นโมเดลให้กับองค์กรอื่นๆ ที่ต้องการขับเคลื่อนเรื่องการแบ่งปันให้ขยายตัวยิ่งขึ้นในเมือง
Photo : Facebook @TorontoToolLibrary
ที่ห้องสมุดประชาชนฮิลส์โบโร (Hillsborough County Public Library) สหรัฐอเมริกา ให้บริการยืมอูคูเลเล่ ของใช้ในครัวเรือน อุปกรณ์กีฬา รวมไปถึงชุดอาดูอิโน่ (Arduino Kit)* ซึ่งห้องสมุดมองว่าเป็นไปตามพันธกิจเพื่อ “สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความคิดสร้างสรรค์ โดยให้บริการเครื่องมือที่จำเป็น เพื่อให้ผู้คนได้ค้นหาความสนใจของตนและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ”
ห้องสมุดสรรพสิ่งบางแห่งมีโมเดลการให้บริการแตกต่างออกไป เช่นที่ไลลา (Laila) ในเยอรมนี ไม่ได้มุ่งให้ผู้คนมายืมทรัพยากรของห้องสมุดเพียงอย่างเดียว แต่ยังพยายามสร้างนิเวศที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันในชุมชน โดยสร้างแพลตฟอร์มให้ผู้คนสามารถเชื่อมโยงกันและนำของที่มีอยู่ทุกชนิดมาแลกเปลี่ยนกันใช้สอย ซึ่งห้องสมุดสรรพสิ่งคือผู้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้คนบริโภคน้อยลงแล้วแบ่งปันกันมากขึ้น
ประเด็นสำคัญที่ห้องสมุดสรรพสิ่งทุกแห่งควรคำนึงถึงคือการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและอุปกรณ์เพื่อดูแลรักษาและซ่อมแซมสิ่งของให้คงอยู่ในสภาพดี งบประมาณจัดซื้อทรัพยากรสำหรับห้องสมุดสรรพสิ่งมีทั้งได้รับการสนับสนุนจากเมือง รัฐ องค์กรเอกชน และการบริจาค
Photo : Facebook @ libraryofgreatthings
ห้องสมุดสรรพสิ่งลอนดอน (London Library of Things) ก่อตั้งโดยรีเบ็กกา เทรวัลเลียน (Rebecca Trevalyan) ผู้ประกอบการเพื่อสังคมและนักเคลื่อนไหวทางสังคมในเมืองบริกซ์ตัน ในระยะแรกยังต้องใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของห้องสมุดประชาชน ต่อมาเธอรณรงค์ระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding) จนกระทั่งสามารถจัดหาสถานที่ตั้งสำหรับห้องสมุดสรรพสิ่งได้เป็นผลสำเร็จ “เราหวังว่าพื้นที่แบบนี้จะเกิดขึ้นในอีกหลายๆ บริบท ทั้งในห้องสมุด ย่านที่พักอาศัย ศูนย์กลางชุมชน และร้านค้า” ก้าวต่อไปของห้องสมุดสรรพสิ่งลอนดอนคือการเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้บริการสามารถยืม เช่า แลกเปลี่ยน หรือซื้อสิ่งของเหล่านั้นได้ด้วย
Photo : Facebook @ libraryofgreatthings
นอกจากการแบ่งปันสิ่งของโดยมีห้องสมุดสรรพสิ่งเป็นสื่อกลางแล้ว ยังมีนวัตกรรมการแบ่งปันที่น่าสนใจเกิดขึ้นในลอนดอน เรียกว่า The Economy of Hour หรือ Echo แพลตฟอร์ม “แบ่งปันแรงกาย” ซึ่งเปิดให้ผู้คนในเมืองได้แลกเปลี่ยนเวลาว่างและทักษะของตนกับผู้อื่น โดยกำหนดให้เวลา 1 ชั่วโมงของแต่ละคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ซึ่งแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นเช่น TaskRabbit, Fiverr หรือ PeoplePerHour ตรงที่จะไม่มีการแลกเปลี่ยนในรูปเงินตรา
ยีน โฮมอกกิ (Gene Homocki) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร myTurn แพลตฟอร์มที่ช่วยให้ทุกคนสามารถสร้างระบบการยืมสิ่งของได้เองกล่าวว่า “ความสำเร็จสูงสุดของห้องสมุดสรรพสิ่งเป็นมากกว่าเรื่องการให้ยืมสิ่งของ แต่มันยังสร้างจิตสำนึกชุมชนที่เข้มแข็ง”
ที่ SHARE Library of Things ซึ่งเป็นห้องสมุดสรรพสิ่งแห่งแรกของอังกฤษ รณรงค์ให้ผู้คนซื้อน้อยลง ทิ้งน้อยลง แต่เชื่อมโยงกันมากขึ้น ชาร์เลย์ เมอเรล (Charley Murrel) ผู้จัดการโครงการของห้องสมุดกล่าวถึงความเห็นของผู้ใช้บริการว่า “ในแต่ละวันเราได้รับเสียงตอบรับในทางบวกเกี่ยวกับไอเดียนี้ และชุมชนรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากห้องสมุดอย่างเต็มที่”
Photo : Facebook @ libraryofgreatthings
ห้องสมุดสรรพสิ่งช่วยให้ผู้คนที่ขาดกำลังในการซื้อหาของใช้ต่างๆ มีทางออกในการได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้ สำหรับคนที่อาศัยในเมืองมักมีพื้นที่เก็บของไม่เพียงพอ พวกเขาจึงมักซื้อของมาเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วก็ขายไป ดังนั้น คำว่า Library of Things ที่ดูเผินๆ เหมือนว่าจะเกาะกระแส Internet of Things ที่กำลังเฟื่องฟู แต่จริงๆ แล้วกลับปรากฏขึ้นมาก่อนหน้านี้นานนับสิบๆ ปี และรากฐานการก่อกำเนิดของห้องสมุดสรรพสิ่งน่าจะมีความสอดคล้องใกล้ชิดกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ที่ปัจจุบันกำลังแผ่ขยายไปทั่วโลก เพราะจุดมุ่งหมายเบื้องลึกของห้องสมุดสรรพสิ่งนั้นคือช่วยลดการซื้อของและการใช้พื้นที่อย่างสิ้นเปลือง และภายใต้บริบทที่เหมาะสม พวกเขายังร่วมแบ่งปันความรู้ ถ่ายทอดทักษะ และให้คำแนะนำซึ่งกันและกันอีกด้วย
________________________
* บอร์ดหรือชุดควบคุมขนาดเล็กที่นำไปเชื่อมต่อเพื่อสั่งการเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เป็นแพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์สสำหรับการสร้างต้นแบบทางอิเล็กทรอนิกส์
ที่มาเนื้อหา
Website : shareable.net
Website : 99percentinvisible.org
Website : theguardian.com
Website : shareable.net
Website : wikipedia.org