ในปี 2014 นอร์เวย์ได้ประกาศการทบทวนวิสัยทัศน์ห้องสมุดประชาชนใหม่ โดยบทบัญญัติว่าด้วยห้องสมุดประชาชนนอร์เวย์ (The Public Libraries of Norway) ระบุเป้าหมายของห้องสมุดประชาชนไว้ว่า “เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่สารสนเทศ การศึกษา และกิจกรรมวัฒนธรรมอื่นๆ ผ่านการให้บริการเชิงรุก โดยการทำให้ชาวนอร์วิเจียนสามารถเข้าถึงหนังสือและสื่ออื่นๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ห้องสมุดจะเป็น สถานที่พบปะ ที่เป็นอิสระ สำหรับการอภิปรายและถกเถียงประเด็นสาธารณะ”
นอร์เวย์จึงแสวงหาโมเดลและองค์ความรู้ด้านการออกแบบพื้นที่ห้องสมุด ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์ใหม่ที่จะนำไปสู่การให้บริการเชิงรุกและการแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในอนาคตที่มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีกระบวนการทดสอบจนแน่ใจว่าทรัพยากร การให้บริการ พื้นที่ทางกายภาพและดิจิทัล สามารถนำมาใช้กับชีวิตและการทำงานได้จริง ดังที่เดวิด แลนเคส (David Lankes) กล่าวว่า “ชุมชนมีส่วนช่วยเสริมพลังให้บรรณารักษ์สามารถตัดสินใจ จัดลำดับความสำคัญ และใช้ทักษะวิชาชีพ ประสบการณ์ คุณค่าของตน เพื่อก่อให้เกิดการลงทุนในชุมชนให้มากที่สุด”
โมเดลห้องสมุดแห่งอนาคต
การเปลี่ยนแปลงห้องสมุดประชาชนนอร์เวย์ได้รับอิทธิพลทางแนวคิดโดยตรงมาจากประสบการณ์ของประเทศเดนมาร์ก ที่เรียกว่า แบบจำลองจัตวากาศ (Four Spaces Model) โมเดลได้จำแนกพื้นที่ออกเป็น 4 ประเภท คือ พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ (inspiration space) พื้นที่การเรียนรู้ (learning space) พื้นที่พบปะ (meeting space) พื้นที่แสดงออก (performance space) ความคิดเบื้องหลังโมเดลสนับสนุนห้องสมุดให้ทำงานเพื่อสร้างพลเมืองที่เข้มแข็งและเป็นอิสระ ทั้งบุคคลและกลุ่มคน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างนวัตกรรม (Innovation) ประสบการณ์ (Experience) การเสริมพลัง (Empowerment) ความมีส่วนร่วม (Involvement)
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ห้องสมุดประชาชนนอร์เวย์กลายเป็นพื้นที่สำหรับสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจ และเป็นจุดนัดพบของชุมชน มีงานวิจัยระบุว่า ห้องสมุดกำลังเคลื่อนจากทรัพยากร (collection) ไปสู่การเชื่อมโยง (connection) ส่วนกระบวนทัศน์ใหม่ของห้องสมุดคือการเปลี่ยนจากทรัพยากร (collection) ไปสู่การสร้างสรรค์ (creation) ดังนั้นทั้งการเชื่อมโยงและการสร้างสรรค์ต่างเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับห้องสมุด
โครงการนำร่องของเมืองทรอมส์
นอร์เวย์ประกอบด้วย 23 เมือง แต่ละเมืองมีห้องสมุดประชาชนเป็นของตัวเอง ทรอมส์ (Troms) เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุด คือ 74,541 คน ห้องสมุดในเมืองทรอมส์ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายห้องสมุดประชาชนมาตั้งแต่ต้น ผ่านโครงการพิเศษ 2 โครงการ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหอสมุดแห่งชาติ ได้แก่โครงการออกแบบพื้นที่ห้องสมุด (ระหว่างปี 2012-2014) และโครงการบ้านวรรณกรรม (ระหว่างปี 2014-2017) โครงการออกแบบพื้นที่ห้องสมุดเน้นการพัฒนาเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น มุ่งให้ห้องสมุดเป็นศูนย์กลางความรู้ วัฒนธรรม วรรณกรรม รวมทั้งการเป็นพื้นที่พบปะและทำกิจกรรมสนุกๆ ส่วนโครงการบ้านวรรณกรรมเน้นการใช้ประโยชน์แบบใหม่จากพื้นที่ห้องสมุด รวมถึงการพัฒนาความสามารถ การแสดงออกถึงไอเดียและความรู้ การอภิปรายและถกเถียงประเด็นสาธารณะ
ห้องสมุดส่วนใหญ่ในเมืองทรอมส์มีขนาดเล็กและกลาง นับเป็นเรื่องท้าทายในการทำงานข้ามหน่วยงานเพื่อร่วมกันตอบโจทย์การให้บริการประชากรหลากหลายกลุ่มและสร้างสรรค์การขับเคลื่อนชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเมืองทรอมส์ร่วมมือกับห้องสมุดหลายแห่งเพื่อจัดงานและกิจกรรมต่างๆ โดยมีบทบาทเป็นสะพานเชื่อมภาคีที่ทำงานจากหลายองค์กร ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มีกิจกรรมเกิดขึ้นกว่า 100 กิจกรรม ในห้องสมุด 20 แห่ง มีผู้เข้าร่วมกว่า 3,200 คน
โครงการออกแบบพื้นที่ห้องสมุด ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้งานห้องสมุดสำหรับอนาคตในเมือง 15 แห่ง มีกิจกรรมซึ่งถูกริเริ่มโดยผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ใช้บริการตั้งแต่เด็กจนชรา มีกิจกรรมที่มุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์ในประเด็นและความสนใจที่หลากหลาย กลายเป็นความร่วมมือเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ห้องสมุดเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม การทำความรู้จักซึ่งกันและกัน และก่อให้เกิดความสัมพันธ์กับผู้คนและชุมชน
พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ (inspiration space) ห้องสมุดหลายแห่งในเมืองทรอมส์ได้จัดทำเฟอร์นิเจอร์เป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้รองรับกิจกรรมต่างๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือคนเดียวหรือกิจกรรมขนาดเล็ก
พื้นที่การเรียนรู้ (learning space) การออกแบบพื้นที่ให้สามารถตอบสนองสไตล์การเรียนรู้และความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้บริการเป็นเรื่องท้าทายของห้องสมุด กล่าวคือผู้ใช้บริการบางคนต้องการพื้นที่เงียบ แต่บางคนต้องการทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่ออภิปรายถกเถียงหัวข้อต่างๆ ห้องสมุดซาลังเงน (Salangen Library) ได้ปรับการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาเรื่องเสียงและพื้นที่การเรียนรู้แบบร่วมมือ โดยออกแบบซุ้มเป็นพิเศษสำหรับอ่านหนังสือ การศึกษาค้นคว้าแบบเงียบๆ หรือการใช้สไกป์
พื้นที่พบปะ (meeting space) ห้องสมุดเบิร์ก (Berg Library) ตั้งอยู่ในเมืองประมงขนาดเล็กในเกาะเซนจา (Senja Island) มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเดินทางมาทำงานให้กับอุตสาหกรรมประมงที่นี่ ชุมชนจึงมีความหมายรวมถึงผู้อพยพลี้ภัยจากประเทศต่างๆ ด้วย ห้องสมุดมีบทบาทเป็นพื้นที่สาธารณะที่นำพาผู้คนมารวมกัน จึงได้ออกแบบและตกแต่งใหม่ให้กลายเป็นพื้นที่กิจกรรมและพื้นที่พบปะ ห้องสมุดแห่งนี้ได้รับความสนใจอย่างยิ่งในระดับชาติ และได้รับรางวัลห้องสมุดแห่งปี 2015 ของนอร์เวย์
พื้นที่แสดงออก (performance space) ตัวอย่างกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่แสดงออก เช่น เด็กๆ มารวมตัวกันเพื่อเล่นเกม ฟังบรรณารักษ์อ่านหนังสือ เด็กอนุบาลเข้าร่วมกิจกรรมฟังนิทานปรัมปราและรับประทานอาหารในห้องสมุด นักเรียนมัธยมมีโอกาสสวมบทบาทจำลองเกี่ยวกับอาชีพการตลาดส่วนผู้หญิงรวมตัวกันทำงานเย็บปักถักร้อย ผู้คนในชุมชนสามารถต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ในเมกเกอร์สเปซ และร่วมกิจกรรมสันทนาการสำหรับครอบครัวในวันเสาร์ นักประวัติศาสตร์ชุมชนจัดหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องผังเครือญาติ ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างบางส่วนที่เกิดขึ้นในห้องสมุดเมืองทรอมส์ ดังคำกล่าวของ เอส.อาร์ รังกานาธาน (S.R. Ranganathan) ที่กล่าวไว้ว่า “ห้องสมุดคือสิ่งมีชีวิตที่มีการเจริญเติบโต” ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงห้องสมุดในโครงการขนาดใหญ่ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวนมากประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี การเปลี่ยนแปลงในจุดเล็กๆ ก็ได้เกิดขึ้นทั่วนอร์เวย์ เช่น โครงการ “Small Scenes” ซึ่งริเริ่มโดยห้องสมุดในเมืองซอร์ทรอนดีลัก (Sor-Trondelag) เป็นการทำงานร่วมกับสถาปนิกที่มุ่งจะปรับเปลี่ยนผังกายภาพและการออกแบบตกแต่งห้องสมุดจำนวน 15 สาขา เพื่อให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์และมีส่วนสนับสนุนให้กิจกรรมต่างๆ ในห้องสมุดสามารถบรรลุผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยโครงการขนาดเล็กหรือใหญ่ หัวใจสำคัญคือ “ความยืดหยุ่น” ของพื้นที่ห้องสมุด ซึ่งหมายถึงศักยภาพที่จะปรับเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ของห้องสมุดเพื่อจุดมุ่งหมายและบทบาทที่แตกต่างหลากหลาย
“ห้องสมุดสังคม” แนวคิดใหม่ที่ไดค์มัน สโตฟเนอร์
มีการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้ห้องสมุดในนอร์เวย์ พบว่ากว่า 90% มักมากับเพื่อนหรือนัดพบปะสังสรรค์ การรวมกลุ่มทางสังคมจึงเป็นเป้าหมายหลักของผู้ใช้บริการห้องสมุดในปัจจุบัน หลังเลิกเรียนเป็นเวลาที่เด็กๆ หลั่งไหลเข้ามาเต็มพื้นที่ ส่วนตอนค่ำกลุ่มผู้ใช้บริการหลักคือผู้ใหญ่ ส่วนเช้าตรู่เป็นช่วงเวลายอดนิยมของกลุ่มผู้สูงอายุหรือพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก การเปลี่ยนแปลงห้องสมุดไดค์มัน สโตฟเนอร์ (Deichman Stovner Library) ในเมืองออสโล (Oslo) จึงมีแนวคิดเบื้องหลังว่าด้วยการเป็นห้องสมุดสังคม (social library) ซึ่งออกแบบพื้นที่ให้มีความยืดหยุ่นสูง ผู้คนทุกช่วงวัยสามารถอ่านหนังสือ อภิปรายถกเถียง และมีประสบการณ์ใหม่ๆ ในห้องสมุด
“นี่คืออนาคตของห้องสมุดไดค์มัน สโตฟเนอร์ และหวังว่าจะเป็นอนาคตสำหรับบรรณารักษ์แห่งอื่นในเมืองด้วย ความต้องการของประชากรกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง งานของเราคือการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพื่อความรู้ การคิดใคร่ครวญ และการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้” ผู้อำนวยการห้องสมุดคนใหม่ของเมืองออสโลกล่าว
“การพัฒนาห้องสมุดไดค์มัน สโตฟเนอร์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ใหญ่กว่า ซึ่งมีเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนการให้บริการห้องสมุดในออสโล ห้องสมุดมิได้มีความสำคัญต่อบุคคล แต่ยังมีความสำคัญต่อสังคมส่วนรวม ห้องสมุดต้องเป็นสถานที่ที่เปิดรับทุกคนและให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน ทุกคนสามารถมาเยือนตามที่ต้องการ แม้ในคืนวันอาทิตย์เวลา 22.45 น.” ประธานสภาเมืองออสโลกล่าว
ตั้งแต่ปี 1980-2017 ห้องสมุดไดค์มัน สโตฟเนอร์ ตั้งอยู่บริเวณชั้นล่างของอาคารจอดรถซึ่งไม่ดึงดูดให้เข้าไปใช้บริการ “ห้องดูเชย เล็ก และทรุดโทรม มันได้สร้างช่องว่างอันห่างไกลระหว่างผู้คนกับห้องสมุด” ผู้อำนวยการห้องสมุดสโตฟเนอร์กล่าว สถาปนิกออกแบบจึงเลือกสร้างสรรค์ห้องสมุดแห่งใหม่ในพื้นที่กว่า 1,100 ตารางเมตรซึ่งมีความยืดหยุ่นและเน้นการสร้างแรงบันดาลใจ “ห้างสรรพสินค้าเป็นหัวใจของสโตฟเนอร์ ดังนั้นห้องสมุดควรเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ที่ผู้คนดำรงอยู่” ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองออสโลกล่าว
ห้องสมุดแห่งใหม่ในห้างสรรพสินค้า ขยายเวลาให้บริการครอบคลุมตั้งแต่ 7.00-23.00 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ “ห้องสมุดสังคม” ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ผู้คนมารวมตัวและมีปฏิสัมพันธ์กันได้โดยสะดวก ที่นี่จึงไม่ใช่ห้องสมุด “ของคุณ” แต่เป็น “ของเรา”
สถาปนิกกล่าวว่า “แทนที่จะออกแบบพื้นที่ห้องสมุดให้มีบรรยากาศแตกต่างกันออกไปตามกลุ่มอายุของผู้ใช้บริการ เราใช้ทางเลือกที่มีความเป็นกลางมากขึ้นสำหรับผู้ใช้บริการทุกวัย พื้นที่หลักที่ให้แรงบันดาลใจคือสวน (park) ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงและให้ความรู้สึกอิสระ เพื่อผ่อนคลาย เล่น อ่านหนังสือพิมพ์ หรือนั่งทานบาร์บีคิวกับครอบครัว สวนเติมเต็มความสมดุลระหว่างความเป็นกลาง (neutrality) และความยืดหยุ่น (flexibility)
“ห้างสรรพสินค้าตั้งอยู่ชานเมืองออสโล ซึ่งผืนป่ามาบรรจบกับความเจริญของเมือง ห้องสมุดต้องการสร้างมิติใหม่สำหรับการพบปะ เรียนรู้ และให้ความบันเทิง ขณะเดียวกันก็มีนัยถึงเมืองที่ใกล้ชิดธรรมชาติ ทั่วทั้งพื้นที่จึงเน้นการออกแบบให้ดูมีความเขียวขจีเจริญงอกงาม การเลือกใช้สีเขียวมาจากรากฐานทางจิตวิทยาว่า สีเขียวอยู่ตรงกลางของสเปกตรัม ช่วยให้เกิดความรู้สึกสงบ การออกแบบตกแต่งสอดคล้องกับความรู้สึกดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่นสีเอิร์ธโทน มีต้นไม้ และใช้วัสดุจากไม้ เติมความสดชื่นด้วยสีฟ้าและผนังกระจก ดูคล้ายโรงเรือนกระจกสำหรับเพาะต้นไม้
นักออกแบบระดับโลกได้ผลิตของตกแต่งเป็นพิเศษ เช่น รังนกขนาดใหญ่พอสำหรับให้คนเข้าไปนั่งรวมกันข้างใน วัสดุหลายอย่างได้มาจากกระบวนการรีไซเคิล เช่น เปลือกไม้จากสวนสาธารณะ กรอบหน้าต่างจากเศษเหล็กภาคอุตสาหกรรม ชั้นหนังสือทำมาจากวัสดุ 3 ชนิดคือ คอนกรีต แผ่นไม้ที่ยังคงมีรูปทรงตามธรรมชาติ และเหล็กฉากรับน้ำหนัก เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ มีล้อเลื่อนเพื่อให้ง่ายสำหรับเคลื่อนย้ายและปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน
ห้องสมุดตั้งใจเปิดกว้างให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน สามารถสร้างความทรงจำและมีประสบการณ์ที่เปี่ยมด้วยความหมาย รวมทั้งมีความรู้สึกร่วมต่ออัตลักษณ์ของท้องถิ่นและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ขณะเดียวกันก็สร้างความเป็นไปได้ในการออกจากกรอบเดิมๆ นำไปสู่การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง
ที่มาเนื้อหาและภาพคลิกที่นี่