ปัจจุบันทั่วโลกต่างตระหนักถึงภาวะวิกฤติอันเนื่องมาจากธรรมชาติถูกคุกคาม ซึ่งส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและการดำรงชีวิต เรื่องนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องห่างไกลจากวงการห้องสมุด แต่อันที่จริงแล้วห้องสมุดในฐานะขุมทรัพย์ทางสารสนเทศสามารถเป็นสื่อกลางอันทรงพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงกับโลกในอนาคตได้โดยตรง ด้วยการให้ความรู้ ปลูกฝังเจตคติในการอนุรักษ์ธรรมชาติ กระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ ผสานกับการส่งเสริมทักษะการรู้สารสนเทศ (information literacy)
ห้องสมุดกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเริ่มเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อต้นทศวรรษ 1990โดยสถาบันอุดมศึกษากว่า 40 ประเทศได้ร่วมลงนามในสัตยาบันแตลลัวส์ (Talloires Declaration) นำไปสู่การวางแผนการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ทำงานด้วยความตระหนักถึงความยั่งยืนของธรรมชาติ รวมทั้งวางแนวทางให้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเหล่านั้นเปลี่ยนเป็นห้องสมุดรักษ์โลก ขบวนการเคลื่อนไหวห้องสมุดสีเขียว (Green Library Movement) จึงเกิดขึ้นเพื่อแสวงหาแนวทางลดผลกระทบจากการดำเนินงานของห้องสมุดที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
นี่แหละ ! ห้องสมุดสีเขียว
สถาปัตยกรรมสีเขียว เมื่อกล่าวถึงห้องสมุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรื่องของอาคารย่อมเป็นสิ่งแรกๆ ที่คนจะนึกถึง ทั้งนี้ก็เพราะตัวอาคารเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ธรรมชาติ ดังนั้นห้องสมุดสีเขียวจึงต้องหาหนทางลดการใช้พลังงานของตัวอาคาร โดยพิจารณาเรื่องไฟส่องสว่าง การถ่ายเทอากาศ การควบคุมอุณหภูมิ การออกแบบตกแต่งภายในที่เหมาะสม พลังงานทดแทน ระบบกำจัดและหมุนเวียนของเสีย การใช้วัสดุจากธรรมชาติ ฯลฯ
พฤติกรรมสีเขียว เป็นเรื่องของมนุษย์โดยเฉพาะอันจะต้องอาศัยความร่วมใจของเจ้าหน้าที่และผู้มาใช้บริการห้องสมุด เช่น ใช้แสงจากธรรมชาติ การลดหรือนำกระดาษกลับมาใช้ใหม่ (reuse) การใช้บันไดแทนการใช้ลิฟท์ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่หาได้ในท้องถิ่น ปิดไฟที่ไม่ใช้งาน ใช้หมึกเครื่องพริ้นเตอร์แบบเติมซ้ำได้และเลือกใช้หมึกที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ใช้จอแบบ LCD การคัดแยกขยะ ลดการใช้อุปกรณ์การสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
หนังสือสีเขียว เราอาจพิจารณาถึงคุณลักษณะของทรัพยากรห้องสมุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยมีหลัก 3 ประการคือ
หนึ่ง เลือกทรัพยากรที่มีเนื้อหาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การทำสวนออร์แกนิก พลังงาน ปัญหาโลกร้อน เทคโนโลยีสีเขียว ฯลฯ
สอง ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า โดยการจำหน่ายออกหนังสือเก่าหรือทรัพยากรที่ไม่ใช้แล้วด้วยการหาทางรียูสหรือรีไซเคิลแทนที่จะทิ้ง เช่นนำไปขายหรือบริจาค กรณีของหนังสือกระดาษจะสามารถนำไปหมุนเวียนได้ง่ายกว่าสื่อและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
สาม เลือกรูปแบบทรัพยากรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีข้อถกเถียงที่ยังไม่ยุติว่า ระหว่างหนังสือกระดาษกับทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์อะไรที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า หนังสือกระดาษใช้ต้นไม้และพลังงานในการผลิตและขนส่ง ปัจจุบันสำนักพิมพ์หลายแห่งจึงพยายามผลิตสิ่งพิมพ์สีเขียว โดยใช้กระดาษรีไซเคิลและดำเนินการปลูกต้นไม้ทดแทน ในขณะที่ทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ช่วยลดพลังงานในการเข้าถึงสารสนเทศ แต่ในขณะเดียวกันการผลิตอุปกรณ์และการใช้งานก็บริโภคกระแสไฟฟ้าจำนวนมาก อย่างไรก็ตามห้องสมุดสีเขียวก็ต้องหาแนวทางลดการใช้พลังงานจากทรัพยากรทั้ง 2 ประเภทไปพร้อมๆ กัน
บริการและกิจกรรมสีเขียว กระแสห้องสมุดสีเขียวกระตุ้นให้บรรณารักษ์ริเริ่มบริการและกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ให้กับชุมชน นอกเหนือไปจากบทบาทพื้นฐานในการจัดหาทรัพยากรและสารสนเทศด้านวิถีชีวิตสีเขียว ห้องสมุดสาธารณะหลายแห่งเริ่มมีบทบาทเป็นศูนย์การศึกษาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการจัดกิจกรรมทางการศึกษาและเวิร์คช็อปเพื่อให้ผู้ใช้บริการมีแนวทางที่จะดำเนินชีวิตแบบสีเขียว เช่น การรีไซเคิล ความปลอดภัยทางอาหาร ฯลฯ ห้องสมุดบางแห่งมีบริการให้ยืมเครื่องมือทำการเกษตรและให้ยืมอุปกรณ์ตรวจวัดกระแสไฟฟ้า บรรณารักษ์ของห้องสมุดบางแห่งสามารถให้ความรู้และสารสนเทศเกี่ยวกับการปลูกพืชผัก การใช้ยาสมุนไพร และการดูแลสุขภาพแบบทางเลือก เป็นต้น
ระบบสารสนเทศสีเขียว ICT ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของห้องสมุดเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นหมายถึงการบริโภคพลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้นด้วย มีการวิจัยที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการใช้ ICT อย่างเหมาะสมสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ แนวทางที่จะนำไปสู่ระบบสารสนเทศสีเขียวก็คือ กระบวนการประมวลผลที่ได้มาตรฐาน การแบ่งปันทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ รียูสเครื่องมือและเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ และพฤติกรรมการใช้ ICT ที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน
ทักษะการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
การให้บริการสารสนเทศเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนภายในห้องสมุดมีปริมาณเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่แง่มุมที่ยังมีการกล่าวถึงกันไม่มากนักก็คือ บทบาทของห้องสมุดในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่กระบวนการคิดอย่างยั่งยืน อันได้แก่ ทักษะการรู้สารสนเทศ (information literacy skill) และทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking skill)
ทักษะการค้นหาสารสนเทศที่คล่องแคล่วช่วยลดระยะเวลาและทรัพยากรในการแสวงหาความรู้ได้ทางอ้อม ห้องสมุดอาจลองนำเสนอข้อเท็จจริงและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี เช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดขึ้นขณะใช้งานเว็บไซต์ และสอนวิธีการพัฒนากลยุทธ์ในการค้นหาอย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจนำเสนอข้อมูลปริมาณการใช้พลังงานหรือปริมาณของเสียอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกขณะที่เราดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อก่อให้เกิดความตระหนักถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
กระบวนการที่สำคัญคือการกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการรู้จักคิดเชื่อมโยงระหว่างการกระทำและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งท้ายที่สุดแล้วสามารถตัดสินและประเมินคุณค่าว่าจะดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติในยุคที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีได้อย่างไรให้เกิดความยั่งยืนที่สุด
ท่อง 8 ห้องสมุดสีเขียว
ห้องสมุดอาราเบียน (Arabian Library) แอริโซน่า, สหรัฐอเมริกา
ห้องสมุดอาราเบียนเป็นสาขาของห้องสมุดเมืองสก็อตส์เดล สร้างขึ้นเมื่อปี 2003 ท่ามกลางภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยทะเลทรายในมลรัฐแอริโซน่า จุดมุ่งหมายของห้องสมุดแห่งนี้คือการเป็นพื้นที่เรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาสารสนเทศด้วยตัวเอง สถาปนิกจึงออกแบบอาคารให้สวยงามน่าเข้ามาใช้บริการ มีภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัยพร้อมกับสร้างความรู้สึกที่กลมกลืนกับธรรมชาติ
เมืองสก็อตส์เดลวางเป้าหมายให้อาคารหลายแห่งของเมืองได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED[1] ห้องสมุดอาราเบียนเป็นอาคารรุ่นแรกๆ ที่พัฒนาขึ้นในระยะนำร่องและได้รับการรับรองระดับเงิน นอกจากนี้ห้องสมุดยังได้รับรางวัล IIDA/Metropolis Smart Environments Award ในปี 2008
ห้องสมุดอาราเบียนก่อสร้างด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น โครงสร้างหลักประกอบด้วยเหล็กและหินแกรนิต ฉนวนกันความร้อนทำด้วยฝ้ายรีไซเคิลจากเมืองใกล้เคียงในแอริโซน่า เพดานทำมาจากกระดานไม้อัดรีไซเคิล ดวงไฟแขวนสามารถยกเคลื่อนย้ายตำแหน่งได้ตามต้องการ ห้องสมุดเลือกใช้สีทาผนังที่มีสารเคมีต่ำ และออกแบบให้มีระบบการไหลเวียนอากาศที่ดี ทั้งยังมีบริการชาร์จไฟสำหรับยานพาหนะที่ใช้กระแสไฟฟ้า
การจัดวางหนังสือในห้องสมุดอาราเบียนพยายามให้ดูคล้ายกับร้านหนังสือ ผู้อำนวยการห้องสมุดมองว่า ห้องสมุดนั้นไม่ต่างอะไรกับร้านค้า ซึ่งต้องการดึงดูดให้คนเข้ามาแล้วเกิดความสนใจในตัวสินค้า สิ่งที่จำเป็นก็คือการสร้างความน่าสนใจให้กับตัวสินค้าให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และทลายข้อจำกัดในการซื้อ/ยืมหนังสือออกไปให้มากที่สุด ห้องสมุดเพิ่งค้นพบว่าเคาน์เตอร์บรรณารักษ์นอกจากจะไม่มีความจำเป็นแล้วยังเป็นสิ่งขวางกั้นปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการ สุดท้ายแล้วจึงเปลี่ยนเป็นคีออสสืบค้นฐานข้อมูลและยืมคืนด้วยตนเองโดยมีบรรณารักษ์คอยยืนข้างๆ ให้คำแนะนำ ลูกค้าสามารถจองหนังสือออนไลน์แล้วเดินเข้าไปรับในช่อง drive through ที่สะดวกรวดเร็วได้ทันที
[1] หลักมาตรฐานสากล LEED เป็นมาตรวัดประสิทธิภาพของอาคารสีเขียว แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับผ่านมาตรฐาน ระดับเงิน ระดับทอง และระดับแพลทตินัม
ห้องสมุดประชาชนวียานูเอวา (Villanueva Library), โคลอมเบีย
โคลอมเบียเป็นประเทศที่ขาดเสถียรภาพและมีความไม่ปลอดภัยสูงที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกา อันเนื่องมาจากกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลและกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ห้องสมุดประชาชนวียานูเอวาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตท่ามกลางไฟปะทุของสงครามและความรุนแรง และเป็นเสมือนสื่อกลางในการแสวงหาสันติภาพด้วยการเยียวยาและบูรณะสังคมทางอ้อม
ความไม่มั่นคงทางการเมืองฉุดรั้งให้เศรษฐกิจโคลอมเบียเติบโตอย่างเชื่องช้า ประชากรนับร้อยหมู่บ้านทั่วประเทศมองไม่เห็นช่องทางในการศึกษาระดับสูง วียานูเอวาเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมเข้ามาสร้างเครื่องมือเพื่อยกระดับคุณภาพในการเรียนรู้ มีการประกวดการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ซึ่งมีโจทย์ให้สามารถสร้างอรรถประโยชน์สารพัดอย่างให้กับชุมชน ทีมสถาปนิกหน้าใหม่อายุเพียง 20 กว่าๆ จากมหาวิทยาลัยโบโกต้าชนะการประกวดครั้งนี้ พวกเขาออกแบบให้ห้องสมุดตั้งอยู่ชั้นบนของอาคาร ส่วนชั้นล่างเป็นห้องฉายภาพยนตร์ ห้องสมุดเด็ก ออฟฟิศสำนักงาน ห้องอาบน้ำ และมีระเบียงทางเดินรายรอบที่สามารถประยุกต์เป็นโถงสำหรับจัดกิจกรรมได้อีกด้วย
หากว่าแนวคิดการก่อสร้างที่ยั่งยืนหมายถึงการใช้วัสดุในท้องถิ่น แรงงานท้องถิ่น ใช้ต้นทุนที่จำกัด สอดคล้องกับสภาพอากาศ และต้องการการดูแลซ่อมแซมต่ำ ห้องสมุดประชาชนวียานูเอวาก็ถือว่าได้รวมเอานิยามเหล่านั้นไว้อย่างครบถ้วนในอาคารเดียว
งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดกลับนำมาซึ่งทางออกที่มีคุณภาพที่สุดและเปี่ยมไปด้วยความสร้างสรรค์ โครงสร้างหลักของอาคารทำมาจากหินแม่น้ำนำมาบรรจุในตะแกรงเหล็ก กรุผนังด้วยไม้ระแนงซึ่งนำมาจากป่าสนที่ได้รับการควบคุมมาตรฐานด้านระบบนิเวศ การใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นมีส่วนช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง อาคารมีความแข็งแกร่งในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยช่องว่างระหว่างหินและไม้ซึ่งเอื้อต่อการไหลเวียนของอากาศ
สถาปนิกมุ่งเน้นให้กระบวนการก่อสร้างใช้วิธีการที่เรียบง่ายที่สุด ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีทักษะการก่อสร้างขั้นสูง แค่เพียงจัดเวิร์คช็อประยะสั้นให้แก่ชาวบ้านละแวกนั้นงานก่อสร้างก็เริ่มต้นได้แล้ว พื้นผิวที่มีเนื้อหนังไม่ได้เรียบสนิทดูเหมือนจะหยอกล้อกับแสงและเงาสลัวก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมอันสุนทรียะ เหนือสิ่งอื่นใด อาคารที่สร้างขึ้นจากแนวคิดความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมแห่งนี้ ได้จุดประกายให้เกิดกิจกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในท้องถิ่นอีกหลายโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม
ห้องสมุดบ้านต้นไม้ (My Tree House) หอสมุดแห่งชาติ, สิงคโปร์
ห้องสมุดบ้านต้นไม้เป็นห้องสมุดสีเขียวสำหรับเด็กแห่งแรกของโลก ตั้งอยู่ภายในอาคารหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ แนวคิดของห้องสมุดบ้านต้นไม้คือการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม (environmental literacy) ของเด็กๆ และท้าทายให้พวกเขาใส่ใจเรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อมด้วยบรรยากาศที่สนุกสนานอย่างมีปฏิสัมพันธ์
สีสันของพรมสื่อถึงรากของต้นไม้ที่แผ่กระจายไปยังชั้นหนังสือที่อยู่รายรอบ เฉกเช่นเดียวกับรากทางความคิดที่แตกหน่อกลายเป็นสติปัญญาที่เติบใหญ่ กลางโถงห้องสมุดมี “ต้นไม้วิเศษ” ส่องแสงเรืองรอง ซึ่งหากมองดูอย่างถี่ถ้วนจะพบว่าทำมาจากขวดพลาสติกที่ใช้แล้วกว่า 3,000 ใบ ซึ่งเก็บมาจากพื้นที่สาธารณะของเมือง ส่วนลำต้นทำจากแกนเหล็กหุ้มด้วยไม้อัดรีไซเคิล
ภายในห้องสมุดบ้านต้นไม้มีหนังสือให้บริการกว่า 45,000 รายการ เหมาะสำหรับเด็กอายุ 4-12 ปี ครอบคลุมทั้ง 4 ภาษาที่ใช้ในประเทศสิงคโปร์ ร้อยละ 30 ของหนังสือจำนวนนี้มุ่งเน้นเรื่องธรรมชาติ เช่น สัตว์ พืช น้ำ ทรัพยากร อากาศ สิ่งแวดล้อม การรีไซเคิล การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ฯลฯ ส่วนหนังสือประเภทเทพนิยายหรือเรื่องเล่าพื้นบ้านก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับป่ากว่าร้อยละ 70
ภายในห้องสมุดมีคีออสสำหรับอ่านอีบุ๊คและเกมการศึกษาที่เกี่ยวกับธรรมชาติ มีฟังก์ชั่นช่วยอ่านออกเสียงให้กับเด็กๆ ที่ยังอ่านหนังสือไม่คล่อง และเน้นให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับเนื้อหา นอกจากนี้ยังมี “ตอไม้พยากรณ์” ซึ่งติดตั้งข้อมูลมัลติมีเดียเกี่ยวกับสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ทั้งอุณหภูมิ ความเร็วลม ความชื้นในอากาศ และปริมาณน้ำฝน โดยใช้สัญลักษณ์ที่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ อาทิ “วงปี” เตือนให้ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่ธรรมชาติได้เก็บบันทึกไว้ สีน้ำเงินและสีแดงบ่งบอกอุณหภูมิระหว่าง 20-35 องศา ความสั้นยาวของเส้นตรงบ่งบอกถึงความเร็วลม ปริมาณน้ำฝนดูได้จากคลื่นกระเพื่อมที่ปรากฏบนตอไม้
ผนังด้านหนึ่งของห้องสมุดบ้านต้นไม้เป็น “ต้นไม้แห่งความรู้” นำเสนอโดยใช้จอภาพขนาดใหญ่ซึ่งออกแบบให้เด็กๆ มีปฏิสัมพันธ์กับภาพผืนป่า เช่น ทำให้ต้นไม้วิเศษงอกและเติบโต เพื่อสร้างความตระหนักให้พวกเขารู้ว่าการกระทำของมนุษย์ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบกับธรรมชาติ
นอกจากนี้ คณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (NLB) ยังร่วมกับสำนักงานเลขาธิการการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศแห่งชาติ ในการริเริ่มกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น กิจกรรมเล่านิทานซึ่งจัดขึ้นทุกสัปดาห์ เกมและศิลปะจากวัสดุรีไซเคิล และกิจกรรมทัศนศึกษาซึ่งช่วยเชื่อมโยงความรู้ให้เข้ากับประสบการณ์ชีวิต
ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเดลฟท์ (Delft University of Technology Library – TU Delft), เนเธอร์แลนด์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเดลฟท์ เป็นมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีที่เก่าแก่ที่สุด ใหญ่ที่สุด และมีสาขาหลากหลายที่สุดของเนเธอร์แลนด์ มุ่งเน้นศาสตร์ด้านพลังงาน ยานยนต์ การก่อสร้าง สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ห้องสมุดก่อตั้งมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เอกลักษณ์อันโดดเด่นอยู่ที่ยอดทรงกรวยซึ่งสื่อความหมายถึงพลังของเทคโนโลยีที่ทะลุทะลวงออกมาจากห้องสมุด
ห้องสมุดมีพื้นที่ 15,000 ตารางเมตร อาคารแบ่งออกเป็น 5 ชั้นประกอบด้วยห้องอ่านหนังสือ ห้องเก็บรักษาหนังสือ สำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัย สำนักงาน คลังหนังสือประวัติศาสตร์ นิทรรศการ ห้องเรียน และร้านหนังสือ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเดลฟท์ได้รับรางวัล National Steel Award ในปี 1998 และ Corus Construction Award ในปี 2000
องค์ประกอบของอาคารเป็นไปตามมาตรฐานด้านความยั่งยืน แสงธรรมชาติสามารถส่องลงมายังห้องสมุดผ่านสถาปัตยกรรมทรงกรวยและผนังกระจก ภายในอาคารใช้สีทาผนังที่ปราศจากสารโคบอลต์ ผนังด้านชั้นวางหนังสือเลือกใช้สีน้ำเงินเข้มช่วยสร้างเสน่ห์น่าค้นหาเช่นเดียวกับโรงภาพยนตร์ ส่วนพื้นสีน้ำตาลได้แรงบันดาลใจมาจากทะเลทรายซาฮาร่า หลังคามีทั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และผืนหญ้าน้ำหนักเบาที่หยั่งรากลึก 6 นิ้วซึ่งช่วยกักเก็บความร้อนและความเย็น อีกทั้งยังเป็นสถานที่อาบแดดยอดนิยมในฤดูหนาวมาหลายทศวรรษ
ปัจจุบันห้องสมุดแห่งนี้เป็นประตูด้านดิจิทัล (digital gateway) ที่สำคัญของเมืองเดลฟท์ พร้อมไปกับบทบาทดั้งเดิมของห้องสมุดในด้านการเข้าถึงความรู้และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เยี่ยมยอด มีโต๊ะสำหรับนั่งทำงานกว่า 300 ตัว ซึ่งเปลี่ยนภาพของสถานที่อ่านหนังสือให้กลายเป็นห้องแล็บขนาดใหญ่ รองรับนักศึกษาและนักวิชาการที่มาใช้บริการมากกว่า 3,000 คนต่อวัน
หอสมุดแห่งชาติคิงฟาฮัด (King Fahad National Library), ซาอุดิอาระเบีย
หอสมุดแห่งชาติคิงฟาฮัด เมืองริยาห์ด เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายในการพัฒนาเมืองผ่านโครงการทางวัฒนธรรม เพิ่งบูรณะครั้งใหญ่เสร็จสิ้นปลายปี 2013 กลายเป็นสถาปัตยกรรมด้านวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดของซาอุดิอาระเบีย ห้องสมุดตั้งอยู่บริเวณจุดตัดระหว่างถนนหลักสองสายของเมืองหลวง ย่านที่รัฐบาลมีแนวทางจะพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่องสร้างชีวิตชีวาให้กับเมืองเสมือนกับเป็นโอเอซิสท่ามกลางทะเลทราย
ในการปรับปรุงห้องสมุดครั้งใหญ่สถาปนิกไม่ได้ทุบทำลายอาคารห้องสมุดหลังเก่า แต่ได้แอบซ่อนมันไว้อยู่ใจกลางอาคารที่ทันสมัยเพื่อแสดงถึงความเคารพในคุณค่าของเก่าดั้งเดิม อีกทั้งยังพยายามผสมผสานแนวคิดทางศิลปะของโลกอาหรับให้ยังคงอยู่ในสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ หน้าที่หลักของโครงสร้างอาคารหลังเก่าคือจัดเก็บหนังสือและมีเดีย ชั้นต่างๆ และดาดฟ้าอาคารเดิมกลายเป็นพื้นที่อ่านหนังสือ ส่วนที่ต่อเติมออกมารอบๆ เป็นร้านอาหาร ร้านหนังสือ และพื้นที่แสดงนิทรรศการ
อาคารห้องสมุดมีรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ปกคลุมด้วยผืนผ้าใบโปร่งแสงรูปสี่เหลี่ยมคดโค้ง ช่วยป้องกันแสงแดดและเพิ่มการหมุนเวียนของลมบริเวณผนังอาคาร ซึ่งสามารถลดความร้อนได้ถึงร้อยละ 7 ในขณะที่ยังสามารถใช้ประโยชน์จากแสงสว่างได้อย่างเต็มที่ ทำให้มีความจำเป็นในการใช้พลังงานต่ำมาก จนได้รับรางวัล Global Award ปี 2015 สาขานวัตกรรมสถาปัตยกรรมการก่อสร้าง ทั้งยังเป็นความหวังสำหรับการออกแบบในอนาคตที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะโลกร้อน เพราะอาคารนี้สามารถรับมือกับอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาของภูมิภาคตะวันออกกลางได้อย่างสบาย
ห้องสมุดประชาชนไทเป สาขาเป่ยโถว (Taipei Public Library, Beitou Branch), ไต้หวัน
ห้องสมุดประชาชนไทเปมีสาขาหลัก 12 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งเมือง บางสาขายังมีห้องสมุดย่อยที่มีลักษณะเฉพาะแยกให้บริการอีกด้วย ซึ่งจะมีขนาดแตกต่างกัน และบางแห่งก็มีจุดเน้นและคอลเลกชั่นเด่นของตัวเอง สำหรับห้องสมุดสาขาเป่ยโถวเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2006 ห้องสมุดได้รับการออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออก ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED และได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นห้องสมุดที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
โครงสร้างอาคารส่วนใหญ่สร้างขึ้นจากไม้เนื้อแข็ง มองดูแล้วมีส่วนคล้ายกับสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์เคยเข้ามาปกครองไต้หวัน มีหน้าต่างขนาดใหญ่ช่วยให้แสงจากธรรมชาติส่องสว่างมายังห้องสมุด และทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ บนหลังคาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ วัสดุหลังคาบุด้วยดินหนา 20 เซนติเมตรเพื่อเป็นฉนวนกันความร้อนในฤดูร้อนและเก็บกักความอบอุ่นในฤดูหนาว แต่ละชั้นมีระเบียงไม้ล้อมรอบซึ่งช่วยลดรังสีความร้อนที่จะผ่านเข้าไปยังตัวอาคารโดยตรง หลังคาลาดเอียงของห้องสมุดช่วยกักเก็บน้ำฝนไว้รดน้ำต้นไม้และใช้ในห้องส้วม
บริเวณจุดยืมคืนหนังสือมีกระดานอิเล็กทรอนิกส์ที่แสดงปริมาณกระแสไฟฟ้าซึ่งถูกใช้ในห้องสมุด และยังมีข้อมูลเกี่ยวกับความชื้น ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และอุณหภูมิของแต่ละส่วนในห้องสมุดด้วยมาตราที่ละเอียดถึง 1/10,000 องศา
ห้องสมุดเป่ยโถวมีพื้นที่ใช้สอย 3 ชั้น รวม 2,145 ตารางเมตร ชั้นล่างออกแบบให้เป็นพื้นที่สำหรับเด็กและสื่อโสตทัศน์ ชั้นที่ 2-3 เป็นพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือซึ่งมีทั้งภาษาจีนและภาษาต่างประเทศกว่า 40,000 รายการ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับหนังสือเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติโดยเฉพาะ มีที่นั่งหลากหลายรูปแบบ ชั้นหนังสือออกแบบให้มีความสูงเพียง 110 เซนติเมตรเพื่อให้ความรู้สึกเปิดโล่งไม่อึดอัด รายรอบห้องสมุดเป็นต้นไม้ใหญ่เขียวขจี ผู้ใช้บริการจึงสามารถดื่มด่ำอรรถรสในการอ่านไปพร้อมกับความสงบงามของธรรมชาติ
ห้องสมุดสีเขียว (Green Library) ลาดกระบัง, กรุงเทพฯ
ห้องสมุดสีเขียว เป็นหนึ่งในห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ภายในสวนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง เป็นห้องสมุดแห่งแรกของประเทศไทยที่ออกแบบเป็นอาคารประหยัดพลังงาน และได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED ระดับแพลทตินัม
อาคารมีลักษณะเป็นศาลาชั้นเดียวทรงแปดเหลี่ยม ใช้หลักการออกแบบตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยที่พิจารณาถึงสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ รอบอาคารเต็มไปด้วยต้นไม้และแหล่งน้ำ ต้นไม้มีส่วนช่วยลดผลกระทบจากแสงแดด ส่วนน้ำช่วยลดไอความร้อนในอากาศ ห้องสมุดทาด้วยสีที่มีคุณสมบัติกันความร้อน ใต้ฝ้ามีฉนวนกันความร้อน ด้านข้างอาคารติดตั้งแผงกันแดดซึ่งทำจากไม้และกระจกรีไซเคิล ระบบไฟฟ้าในอาคารเป็นแบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ และยังมีระบบเก็บกักน้ำฝนไว้ใต้ดินเพื่อหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ กระจกอาคารเป็นกระจกสองชั้นเพื่อลดความร้อน และเน้นการใช้แสงจากธรรมชาติ
ภูมิสถาปัตยกรรมออกแบบเป็นรูปหยดน้ำสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ทางเดินวนไปมาคล้ายเขาวงกตใช้สำหรับพักผ่อนและจัดกิจกรรม ภายในอาคารแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่ นิทรรศการซึ่งให้ความรู้เรื่องอาคารเพื่อความยั่งยืน นำเสนอด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์แบบมีปฏิสัมพันธ์ เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์และยืมคืนหนังสือ ห้องหนังสือสำหรับเด็กและนิตยสารซึ่งสามารถปรับใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรม และห้องอ่านหนังสือ เฟอร์นิเจอร์ภายในห้องสมุดทำมาจากวัสดุที่ได้จากกระบวนการรีไซเคิล
ห้องสมุดสีเขียวจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กๆ เป็นประจำ ทั้งการเรียนรู้จากหนังสือในห้องสมุด การสำรวจธรรมชาติภายในสวนสาธารณะ และการทดลองปฏิบัติที่สามารถนำไปประยุกต์กับชีวิตประจำวัน เช่น การทำน้ำหมักชีวภาพ การปลูกและดูแลต้นไม้ การประดิษฐ์ของใช้จากวัสดุรีไซเคิล ฯลฯ การเรียนรู้ที่นี่จึงสนุกไม่น่าเบื่อ และทำให้ห้องสมุดสีเขียวมียอดผู้ใช้บริการสูงที่สุดในกลุ่มห้องสมุดสังกัดของกรุงเทพมหานคร
จากย่างก้าวแรกที่ประสบความสำเร็จ กรุงเทพมหานครจึงมีแนวทางที่จะสร้างห้องสมุดสีเขียวแห่งที่ 2 ภายในอาคารอนุรักษ์ซึ่งสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่สวนสราญรมย์ เขตพระนคร โดยวางแนวคิดให้เป็นห้องสมุดดิจิทัลที่ส่งเสริมความรู้ด้านพฤกษศาสตร์และการอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายาก
ห้องสมุดเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม (KU Eco Library) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 1 ของประเทศ และอันดับที่ 44 ของโลก ได้ริเริ่มพัฒนา Eco-Library เพื่อให้เป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งด้านการประหยัดพลังงาน การใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ รวมถึงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุเหลือใช้ เมื่อผู้ใช้บริการเดินเข้ามาที่ KU Eco Library สิ่งแรกที่จะได้พบก็คือตู้ใส่บัตรรายการหนังสือซึ่งเป็นภาพตัวแทนของสิ่งที่อาจจะไร้ประโยชน์สำหรับห้องสมุดยุคดิจิทัล แต่เมื่อนำกลับมาทาสีใหม่ก็กลายเป็นป้ายชื่อห้องสมุดที่ดูเก๋ไก๋แบบคลาสสิก
ห้องสมุดเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมมีพื้นที่เพียง 250 ตารางเมตร แต่อัดแน่นไปด้วยแนวคิดรักษ์โลก แบ่งพื้นที่การอ่านเป็น 3 โซน ได้แก่ ต้นไม้แห่งการเรียนรู้ (Tree of Forest) ให้บริการนวนิยายและหนังสือเกี่ยวกับ Eco Design ชั้นหนังสือทำมาจากเศษไม้ที่ไม่ผ่านการตรวจคุณภาพการส่งออก นำมาออกแบบให้มีรูปทรงลักษณะคล้ายต้นไม้ที่ยืนตระหง่านโอบอุ้มความรู้ น้ำตกแห่งองค์ความรู้อัจฉริยะ (Waterfall of Intelligent) เป็นมุมอ่านหนังสือที่ตกแต่งด้วยผ้าม่านสลับสีเย็บให้มีช่องสำหรับใส่หนังสือ ชุดโซฟาทำจากเศษยางพารา รองเท้ายางเก่า และเศษผ้าจากแคตตาล็อก มุมแห่งการค้นพบ (Canyon of Discovery) เหมาะสำหรับนั่งทำงาน ประดับประดาด้วยโคมไฟลูกตุ้มซึ่งทำจากเศษผ้าไหม และมีหนังสือเรียงรายอยู่ชิดฝาผนัง นอกจากนี้ยังมี Kid’s Play-space ให้บริการหนังสือสำหรับเด็ก ปลอดภัยจากมุมโต๊ะและมุมชั้นวางที่เป็นเหล็ก พร้อมทั้งมีโซฟาขนาดใหญ่ที่นำเศษผ้าม่านเหลือใช้มาเย็บต่อกัน
ดังนั้นไม่ว่าจะมองไปทางไหนของห้องสมุดก็จะเห็นวัสดุที่ได้มาจากกระบวนการรีไซเคิล ห้องสมุดยอมรับว่าหากคิดเป็นมูลค่าทางการเงิน การออกแบบและผลิตของใช้ดังกล่าวย่อมมีราคาสูงกว่าการซื้อสินค้าที่ผลิตขึ้นใหม่ แต่ในกระบวนการทำงานก็ได้ก่อให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นรูปธรรมที่จะช่วยปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ผู้ใช้บริการอาจได้รับแรงบันดาลใจที่มีคุณค่า เมื่อกลับไปบ้านก็อาจจะอยากเริ่มเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ด้วยมือของตนเองก็เป็นได้
นอกเหนือจากการใช้ทรัพยากรอย่างมัธยัสถ์แล้ว KU Eco Library ยังมองไปถึงการพึ่งพาตนเองทางด้านเทคโนโลยี โดยการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติจากซอฟต์แวร์แบบเปิดเผยรหัส (open source) แทนที่ระบบซึ่งซื้อจากต่างประเทศมูลค่านับสิบล้านบาทต่อปี คาดว่าในอนาคตจะสามารถพัฒนาให้สามารถใช้งานกับห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกด้วย
ติดตามฟัง TK Podcast ตอน ห้องสมุดสีเขียว ได้ที่นี่ http://bit.ly/2J6HHbK
แหล่งข้อมูล
From Green Libraries to Green Information Literacy จาก
http://www.archdaily.com/13853/villanueva%25e2%2580%2599s-public-library-meza-pinol-ramirez-torres
http://www.dezeen.com/2008/04/13/villanueva-public-library-colombia/
http://www.littledayout.com/2013/06/01/my-tree-house-worlds-first-green-library-for-kids/
http://www.greenroofs.com/blog/2012/01/11/gpw-delft-university-of-technology-library/
http://www.archdaily.com/469088/king-fahad-national-library-gerber-architekten
http://www.chinapost.com.tw/travel/2007/11/01/129117/Beitous-green.htm
https://www.youtube.com/watch?v=l5hsdHGVwGg
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000058490
http://ns.ftpi.or.th/th/knwinf_pcornerdetail.php?pdtlid=1136
http://www.sarakadee.com/2014/07/29/green-library/
แหล่งภาพ
http://inhabitat.com/arabian-library-by-richard-and-bauer/
http://www.e-architect.co.uk/america/arabian-library-scottsdale
http://www.dezeen.com/2008/04/13/villanueva-public-library-colombia/
http://www.thewackyduo.com/2013/06/my-tree-house-world-1st-green-library.html
http://www.mecanoo.nl/Projects/project/27/Library-Delft-University-of-Technology?t=0
http://www.archdaily.com/469088/king-fahad-national-library-gerber-architekten
https://www.architecture.com/Explore/Stories/LibrarySpaces.aspx
https://www.facebook.com/ห้องสมุดสีเขียว-Green-Library-กรุงเทพมหานคร-159489300871989
https://www.facebook.com/KUecolibrary/photos