เกาหลีใต้เคยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเนื่องมาจากพิษภัยแห่งสงคราม แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ส่วนหนึ่งนั้นมาจากการเห็นความสำคัญของการศึกษาและการเรียนรู้ รวมทั้งความเอาจริงเอาจังในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ
รัฐนำทางด้วยกฎหมายและนโยบายที่ชัดเจน
เกาหลีใต้มีการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยห้องสมุดมาตั้งแต่ปี 1963 ซึ่งถูกปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะๆ รวม 11 ครั้งจนถึงปัจจุบัน เนื้อหาของกฎหมายเน้นการก่อตั้งห้องสมุดสาธารณะ และจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสารสนเทศภายใต้การกำกับดูแลของประธานาธิบดี
ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา พ่อแม่ชาวเกาหลีเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านในวัยเยาว์และให้ความสนใจในเรื่องการอ่านของเด็กมากขึ้น เป็นผลให้มีการสร้างห้องสมุดใหม่หลายแห่ง ซึ่งนำไปสู่โครงการสร้าง “ห้องสมุดปาฏิหาริย์” หรือ “Miracle Libraries” ในปี 2003 ดำเนินการโดย MBC ซึ่งเป็นบริษัทวิทยุและโทรทัศน์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของเกาหลี โครงการนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างห้องสมุดขนาดเล็กมากมายทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกระตุ้นให้ภาครัฐทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นในประเทศเกาหลีเริ่มตื่นตัว กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศแผนพัฒนาห้องสมุดแบบครบวงจร (Comprehensive Development Plan for the Library) นอกจากนี้องค์กรภาครัฐระดับท้องถิ่นยังได้พยายามปรับปรุงการบริการสำหรับเด็ก เช่น สร้างห้องสมุดแห่งใหม่ และการขยายพื้นที่สำหรับเด็กในห้องสมุดสาธารณะ เป็นต้น นโยบายนี้ส่งผลให้จำนวนห้องสมุดสาธารณะเพิ่มจาก 436 แห่งในปี 2001 เป็น 748 แห่งในปี 2010
ในปี 2006 มีการประกาศใช้กฎหมายส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ซึ่งบัญญัติให้จัดตั้งแผนพื้นฐานเพื่อการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยให้องค์กรของรัฐในระดับท้องถิ่นให้การศึกษาด้านการอ่านแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน และกำหนดบทบาทของชุมชน โรงเรียนและบริษัทเอกชนต่างๆ ในการสนับสนุนการอ่าน
กฎหมายส่งเสริมห้องสมุดโรงเรียน (The School Library Promotion Act) ได้อธิบายกติกาและข้อบังคับเรื่องการจัดตั้ง การปฏิบัติงาน และการช่วยเหลือห้องสมุดโรงเรียน รวมทั้งการสนับสนุนทางกฎหมาย เช่น การช่วยเหลือด้านเงินทุนสำหรับการจัดตั้งห้องสมุดโรงเรียน การจัดทำแผนพื้นฐานเพื่อการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของห้องสมุด การจัดวางตำแหน่งบุคลากรห้องสมุด และการสร้างเครือข่ายห้องสมุด เป็นต้น กล่าวได้ว่ากฎหมายส่งเสริมห้องสมุดโรงเรียนนี้มีส่วนช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมของห้องสมุดโรงเรียนให้ดีขึ้น
การสำรวจสถานการณ์การอ่านของประเทศเกาหลีใต้ปี 2010 เปรียบเทียบกับปี 2002 พบว่า เด็กและเยาวชนอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นจาก 11.6 เล่ม เพิ่มเป็น 16.5 เล่มต่อเทอม ผู้ใช้ห้องสมุดสาธารณะที่เป็นเด็กเพิ่มจากร้อยละ 54.3 เพิ่มเป็นร้อยละ 71.5 ผลการเรียนของนักเรียนเกาหลีในปีนั้นยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 2 ในโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อการพัฒนาและร่วมมือทางเศรษฐกิจ (OECD)
NLCY ห้องสมุดแห่งชาติสำหรับเด็กและเยาวชน
ห้องสมุดแห่งชาติสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ National Library for Children and Young Adults (NLCY) ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 ในฐานะตัวแทนห้องสมุดเด็กในเกาหลี NLCY ได้แสดงออกถึงความเป็นผู้นำให้ห้องสมุดเด็กทั่วประเทศได้เห็นเป็นตัวอย่างในการพัฒนาบริการแก่เด็กๆ และเผยแพร่แนวทางเหล่านั้นสู่ห้องสมุดสาธารณะและห้องสมุดตามโรงเรียนต่างๆ ห้องสมุด NLCY ตั้งอยู่ในอาคาร 4 ชั้น ประกอบด้วยหนังสือภาพสำหรับเด็กเล็ก หนังสือสำหรับเด็กโต หนังสือต่างประเทศ ห้องมัลติมีเดีย โถงนิทรรศการ ห้องประชุมขนาดใหญ่ และห้องอภิปรายขนาดเล็ก
โครงการส่งเสริมการอ่านที่ NLCY พัฒนาขึ้น ได้แก่ โครงการการศึกษาต่อเนื่องสำหรับบรรณารักษ์ห้องสมุดเด็ก เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่ห้องสมุดซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้จบบรรณารักษ์ ไม่มีความรู้เชิงลึก และไม่มีความเข้าใจในการบริการเด็ก โครงการอ่านหนังสือกับห้องสมุด มุ่งส่งเสริมการอ่านในกลุ่มเด็กด้อยโอกาส NLCY ร่วมมือกับห้องสมุดสาธารณะ 90 แห่งทั่วประเทศ ออกเยี่ยมศูนย์สงเคราะห์เด็กหรือศูนย์ดูแลเด็กเป็นประจำทุกสัปดาห์ โครงการสมุดธนาคารหนังสือ จูงใจให้เด็กๆ รักการอ่านด้วยสมุดบันทึกรายการหนังสือที่ได้อ่านไปแล้ว คล้ายกับสมุดบัญชีของธนาคาร การผจญภัยในห้องสมุดโดยหนอนหนังสืออายุ 13-18 ปี คัดเลือกนักอ่านวัยรุ่นกว่า 800 คน เพื่อแนะนำหนังสือแก่เพื่อนๆ ในประเด็นที่พวกเขาสนใจ และมีแกนนำที่สามารถเขียนบทวิจารณ์หนังสือเผยแพร่ในชุมชนออนไลน์ โครงการพัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลการอ่านให้กับครอบครัวหลากวัฒนธรรม NLCY จัดทำโครงการแปลนิทานภาพเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาต่างๆรวมทั้งจัดทำแอนิเมชั่น เพื่อรองรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมเนื่องมาจากแรงงานข้ามชาติและการแต่งงาน
ห้องสมุดปาฏิหาริย์ (Miracle Libraries)
แม้ว่าภาพรวมของงานส่งเสริมการอ่านของเกาหลีใต้จะมีรัฐเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน แต่ก็มีขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนที่พยายามหาทางขยายและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อที่ประชาชนถ้วนหน้าทุกคนจะมีสิทธิเท่าเทียมกันในการที่จะเข้าถึงความรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ก่อเกิดเป็น “ห้องสมุดปาฏิหาริย์” แห่งแรกซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2003 โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน มีการบริหารจัดการโดยใช้ระบบเอกชน การก่อสร้างห้องสมุดปาฏิหาริย์ได้รับเงินสนับสนุนจากเงินบริจาคของภาคประชาชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น ในขณะที่การจัดการจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลที่ประกอบด้วยบุคลากรจากทุกสาขาอาชีพในฐานะที่เป็นตัวแทนชุมชนและหน่วยงานของรัฐในท้องถิ่น
วัตถุประสงค์ของห้องสมุดปาฏิหาริย์คือ เพื่อนำบริการห้องสมุดมาสู่เยาวชนทั้งในเมืองเล็ก เมืองใหญ่ และพื้นที่ห่างไกลในชนบท เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กๆ ได้อ่านหนังสือโดยไม่มีการกีดกั้นจินตนาการของตนเอง ห้องสมุดปาฏิหาริย์เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของชุมชน สถานดูแลเด็กเล็กสำหรับพ่อแม่ และในเวลาเดียวกันยังเป็นพื้นที่แห่งการอ่านที่ถูกใจสำหรับเด็กๆ
พื้นที่ห้องสมุดได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิดว่า ห้องสมุดสำหรับเด็กจะต้องเป็นสถานที่แห่งความสนุกที่เต็มไปด้วยจินตนาการที่สดใสร่าเริง ห้องสมุดปาฏิหาริย์เป็นสถานที่สวยงามและน่ารื่นรมย์ เป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ อันประกอบไปด้วยพื้นแบบออนดอล (Ondol floor) ซึ่งเป็นระบบการให้ความอบอุ่นจากพื้นแบบดั้งเดิมของเกาหลี ห้องเด็กอ่อน ห้องเล่านิทาน ห้องอเนกประสงค์ โพรงขนาดเล็ก และห้องใต้เพดาน กิจกรรมสร้างสรรค์จัดขึ้นอย่างหลากหลายโดยมุ่งเน้นทำให้เด็กๆ และผู้คนในท้องถิ่นมีความสุข
ที่มาเนื้อหา
เอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2554 (Thailand Conference on Reading 2011) ของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กลยุทธ์เพื่อการพัฒนาห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่านในเด็กและเยาวชนของประเทศเกาหลี โดย Sook Hyeun Lee (ดาวน์โหลดเอกสารที่นี่)
เอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2555 (TK Conference on Reading 2012) ของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ โครงการห้องสมุดเด็กในเกาหลี : ห้องสมุดมหัศจรรย์ โดย Mr. Chan Soo Ahn (ดาวน์โหลดเอกสารที่นี่)
ที่มาภาพ
สไลด์ประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2554 (Thailand Conference on Reading 2011) ของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ Bringing Books Alive for Children: Korea’s Reading Promotion Efforts โดย Sook Hyeun Lee (ดาวน์โหลดเอกสารที่นี่)
สไลด์ประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2555 (TK Conference on Reading 2012) ของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ Reading Promotion for Children in Korea โดย Mr. Chan Soo Ahn (ดาวน์โหลดเอกสารที่นี่)
https://www.facebook.com/NLCY.GO.KR/