สตรีนิยม (Feminism) เป็นแนวคิดทวนกระแส ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 โดย ชาร์ล ฟูริเยร์ (Charles Fourier) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส (ซึ่งเป็นผู้ชาย) แม้จะเป็นแนวคิดค่อนข้างใหม่แต่ก็มีผลสะเทือนทางสังคมอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะในยุโรป
กล่าวสำหรับเรื่องหนังสือและห้องสมุด แนวคิดสตรีนิยมชี้ให้เห็นว่าตัวตนของผู้หญิงถูกนำเสนอผ่านวัฒนธรรมหนังสือในมุมมองทางสังคมซึ่งมีผู้ชายเป็นใหญ่อยากจะให้เป็น ภาพลักษณ์ของผู้หญิงจึงหนีไม่พ้นเพศสภาพที่อ่อนแอ บทบาทความเป็นแม่บ้าน และโอกาสทางสังคมที่ด้อยกว่าเพศชาย
แม้แต่ห้องสมุดซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าของสังคม ก็ถูกวิพากษ์ว่ามีจุดยืนที่ไม่เป็นกลางต่อความรู้ แนวทางการจัดคอลเลกชั่นหนังสือสะท้อนอย่างชัดเจนถึงความไม่เท่าเทียม อคติ ชาติพันธุ์นิยม ฯลฯ หรือแนวปฏิบัติในการยืมคืนทรัพยากรก็บ่งถึงอคติเรื่องการเป็นผู้ให้และผู้รับ
นอกจากนั้น ความขาดแคลนพื้นที่แห่งปัญญาที่รวบรวมเรื่องราวและความรู้เกี่ยวกับผู้หญิง รวมทั้งความต้องการพื้นที่แห่งความหลากหลายซึ่งผู้หญิงควรได้รับเกียรติและการยอมรับ ทั้งหมดนี้จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดการสร้างห้องสมุดตามแนวคิดสตรีนิยมมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
ห้องสมุดของผู้หญิง เพื่อผู้หญิง
สหราชอาณาจักรเป็นดินแดนแห่งห้องสมุดสำหรับผู้หญิง เพราะมีห้องสมุดแนวคิดสตรีนิยมอยู่เป็นจำนวนมาก แห่งแรกคือ Women’s Library@LSE ซึ่งก่อกำเนิดมาจากองค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีของอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1926 ภายหลังได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ลอนดอน (London School of Economics and Political Science)
Women’s Library มุ่งเน้นบทบาทในการรวบรวมเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นผลงานทางวิชาการ ชีวประวัติ สิ่งพิมพ์ทางราชการ และงานวรรณกรรม มีการเก็บรวมรวมวัตถุเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ทั้งภาพถ่าย โปสเตอร์ ป้ายรณรงค์ต่างๆ และศิลปวัตถุ
ในปี 1975 ผู้หญิงที่มีความคิดก้าวหน้าในลอนดอนยังรวมตัวกันก่อตั้ง The Feminist Library ปฏิญญาของห้องสมุดแห่งนี้ก็คือ “ไม่มีใครที่จะหยิบยื่นการเรียนรู้ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิสตรี นอกเสียจากผู้หญิงเท่านั้น” นอกเหนือจากคอลเลกชั่นหนังสือแล้ว ห้องสมุดแห่งนี้จึงมุ่งให้แรงบันดาลใจในการเรียนรู้และการเป็นพื้นที่ทางสังคมสำหรับผู้หญิง
ห้องสมุดอีกแห่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องสตรีนิยมได้ก้าวมาไกลเพียงไหนจากอดีตสู่ปัจจุบัน คือห้องสมุดผู้หญิงกลาสโกว์ (Glasgow Women’s Library -GWL) ในสกอตแลนด์ ซึ่งเพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 1991 ให้บริการสารสนเทศด้านสตรีนิยม ทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการพัฒนา โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการศึกษา การฝึกอบรม และการแบ่งปันประสบการณ์ของผู้หญิง มีหนังสือกว่า 20,000 เล่ม และจดหมายเหตุกว่า 300,000 รายการ ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้มาจากการบริจาค ห้องสมุดผู้หญิงกลาสโกว์ดำเนินงานโดยเจ้าหน้าที่ 22 คน และอาสาสมัครนับร้อยคน
ซู จอห์น (Sue John) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีกล่าวว่า “ห้องสมุดแห่งนี้ไม่เหมือนที่ไหนในยุโรป มันไม่ใช่ห้องสมุดวิชาการเสียทีเดียว ไม่ได้อยู่ในกำมือของรัฐ... ปัจจุบันมีการยอมรับความคิดของผู้หญิงในการเก็บรักษาเรื่องราวที่ล้ำค่าของพวกเราและพลังของเรื่องราวเหล่านั้น เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคทอง จนพูดได้เต็มปากว่าเราเป็นแกลเลอรี่และห้องสมุดระดับชาติที่ไม่ได้น้อยหน้าห้องสมุดชั้นนำแห่งอื่นเลย”
นอกจากนี้ ในสหราชอาณาจักรยังมีห้องสมุดของศูนย์สตรีนอตติงแฮม (Nottingham Women’s Centre) ซึ่งโดดเด่นเรื่องการเก็บรักษาหนังสือและนิตยสารหายากเกี่ยวกับผู้หญิง หอจดหมายเหตุสตรีนิยม (The Feminist Archive) ในมหาวิทยาลัยบริสตอลและมหาวิทยาลัยลีดส์ หอจดหมายเหตุดนตรีเพื่อการปลดแอกผู้หญิง (The Women’s Liberation Music Archive) ซึ่งรวบรวมผลงานของนักสิทธิสตรีที่สื่อสารประเด็นทางการเมืองและสังคมผ่านบทเพลง เป็นต้น
ส่วนทางฝั่งสหรัฐอเมริกามีองค์กรที่ชื่อว่า ศูนย์สตรีเพื่องานสร้างสรรค์ (Women's Center for Creative Work - WCCW) ซึ่งเน้นการส่งเสริมศิลปะกับเรื่องสิทธิสตรี ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเครือข่ายกลุ่มสิทธิสตรีในระดับท้องถิ่นในลอสแอนเจลิส สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสิทธิสตรีต่างๆ และสาธารณชนผ่านกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคม WCCW ได้จัดทำโครงการห้องสมุดสตรีนิยมเคลื่อนที่ (The Feminist Library On Wheels - F.L.O.W.) เพื่อเป็นหน่วยย่อยสำหรับทำกิจกรรมขับเคลื่อนทางสังคม โดยมีอาสาสมัครส่งเสริมสิทธิสตรีขี่จักรยานที่มีหนังสือบรรจุไว้ท้ายรถไปยังสถานที่ต่างๆ
มากกว่าหนังสือ แต่คือพื้นที่แห่งปฏิสัมพันธ์เพื่อการเปลี่ยนแปลง
ห้องสมุดแนวคิดสตรีนิยมมีจุดยืนที่ชัดเจนในการนำความรู้มาสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับสังคมและระดับปัจเจก ดังเช่น The Feminist Library ปรารถนาให้ห้องสมุดเป็นพื้นที่ที่ต่อต้านแนวคิดแบบแบ่งแยก ไม่เพิกเฉยต่อเรื่องการกีดกันทางเพศ การรังเกียจคนรักเพศเดียวกันหรือข้ามเพศ ชาติพันธุ์นิยม ตลอดจนพฤติกรรมที่อยู่บนฐานของความไม่เท่าเทียมกันเชิงโครงสร้าง ซึ่งรวมถึงความพิการบกพร่อง สถานะทางเศรษฐกิจสังคม อายุ ศาสนา การศึกษา หรือการแสดงออกทางเพศ
“เราตั้งใจสนับสนุนความเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีในปัจจุบัน ด้วยการให้บริการพื้นที่สำหรับการพบปะ รวมตัว และการวิจัย ไม่ใช่เพียงการเข้ามาอ่านเรื่องราวของผู้หญิงที่ให้แรงบันดาลใจ แต่ห้องสมุดพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่องให้เกิดความเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี ความเคลื่อนไหวที่แสดงถึงความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของเรา ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลาย ความกระตือรือร้น และความรับผิดชอบ เพื่อให้พลังของถ้อยคำนำไปสู่การลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่แท้จริงและยั่งยืน”
ส่วนห้องสมุดผู้หญิงกลาสโกว์ ได้ทำงานร่วมกับชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมานานกว่า 25 ปี เพื่อเรียนรู้ถึงความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิง จากการดำเนินโครงการระดับรากหญ้านำไปสู่การรวบรวมคอลเลกชั่นหนังสือและวัตถุที่มีความสำคัญ เช่นเรื่องผู้หญิงมุสลิมในสหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอในฐานะตัวแทนประสบการณ์ด้านความไม่เท่าเทียมที่ชาวมุสลิมในหลายประเทศกำลังประสบ
เมื่อห้องสมุดสตรีนิยมเป็นมากกว่าการให้บริการสารสนเทศที่เกี่ยวกับผู้หญิง พื้นที่ห้องสมุดจึงไม่ใช่เพียงคลังทรัพยากร แต่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ให้เข้ามาแลกเปลี่ยนและเสริมพลังจนนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม
ลอตตี มูน (Lottie Moon) และคริสตินา ริออส (Cristina Rios) อาสาสมัครของ The Feminist Library กล่าวว่า ห้องสมุดแห่งนี้ทำให้การสานเสวนาที่น่าตื่นเต้นกลายเป็นจริงได้ ต่างจากความทรงจำในครั้งวัยเด็กซึ่งคำว่า “สตรีนิยม” เป็นเหมือนคำสกปรก พวกเธอได้รับการสนับสนุนให้ขบคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบทางกายภาพของพื้นที่ห้องสมุดกับการกระตุ้นให้ผู้คนได้อภิปรายถกเถียง รวมถึงการจัดหมวดหมู่หนังสือที่แตกต่างไปจากหลักการทางบรรณารักษศาสตร์อย่างสิ้นเชิง โดยจัดแบ่งตามประเด็นที่กระตุ้นความสนใจของผู้ใช้บริการ เช่น ไลฟ์สไตล์ เพศและศิลปะ อาชญากรรมต่อผู้หญิง ฯลฯ
ห้องสมุดผู้หญิงกลาสโกว์ได้ริเริ่มกิจกรรมที่สตรีทั้งหลายรอคอยกันอย่างใจจดใจจ่อ “เฮอร์แลนด์” (Herland) เป็นกิจกรรมพิเศษยามค่ำคืนที่ผสมผสานการเรียนรู้ที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพื่อให้ผู้หญิงที่มารวมตัวกันได้ค้นพบไอเดียใหม่ๆ และทดลองลงมือทำงานสร้างสรรค์ท่ามกลางบรรยากาศที่รื่นรมย์ เป็นวงเสวนาที่ผู้หญิงได้แบ่งปันความคิดที่มีต่อโลกใบนี้ได้อย่างอิสระ เฮอร์แลนด์ยังเป็นเหมือนงานกิจกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งห้องสมุดได้เชิญผู้หญิงที่เปี่ยมด้วยพรสวรรค์มาร่วมสร้างแรงบันดาลใจ เช่น ศิลปิน นักดนตรี นักเขียน และผู้ผลิตภาพยนตร์
ในเมืองฟุกุอิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประชากรสตรีส่วนใหญ่ของเมืองมีอาชีพทำงานนอกบ้านแบบเต็มเวลา ธนาคารฟุกุอิจึงสร้างห้องสมุดแรงบันดาลใจของผู้หญิง (Woman's inspiration library) เป็นพื้นที่เพื่อสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพในการทำงานของลูกค้าผู้หญิง ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการรักษาความสมดุลของชีวิตสมรส ผ่านการเวิร์คช็อปและกิจกรรมพบปะกับผู้ประกอบการสตรี ทั้งนี้ สถาปนิกได้ออกแบบให้โต๊ะในห้องสมุดให้มีรูปทรงคดโค้งขนาดใหญ่และเจาะเป็นหลุม เพื่อให้เป็นพื้นที่ผ่อนคลายที่เอื้อต่อการรวมกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนหรือทำกิจกรรมร่วมกัน
ในพื้นที่การเรียนรู้ของศูนย์สตรีเพื่องานสร้างสรรค์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตอกย้ำให้เห็นอย่างชัดเจนถึงพลังความสร้างสรรค์ของผู้หญิง ภายในองค์กรแห่งนี้มีทั้งห้องสมุด ครัว โรงพิมพ์ เมกเกอร์สเปซ และ co-working space พื้นที่บางมุมอาจไม่ได้ดูสวยงามละมุนละไมแต่มีข้าวของวางระเกะระกะคล้ายสตูดิโอศิลปะ บางพื้นที่เป็นห้องโล่งมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน สามารถปรับเพื่อเล่นคอนเสิร์ต วงเสวนา เล่นเกม หรือจัดปาร์ตี้ บางพื้นที่มีบรรยากาศน่าสบายคล้ายห้องนั่งเล่นในบ้าน ซึ่งผู้หญิงสามารถพบปะพูดคุยกันได้อย่างผ่อนคลายและเป็นกันเอง
“การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมควรทำด้วยความสุข แล้วมันจะส่งผลสะท้อนกลับมาหาพวกเราเอง ในก้นบึ้งของหัวใจ พวกเราสนใจวิธีการหล่อเลี้ยงชุมชนและผลลัพธ์ที่จะงอกงามจากที่นี่ บางครั้งผู้คนอาจต้องการพื้นที่เพื่อการอภิปรายถกเถียงด้านการเมืองอย่างเข้มเข้น หรือสถานที่ทำงาน บางครั้งอาจจะต้องการถ่ายทอดทักษะที่ตนมีให้แก่ผู้อื่น บางครั้งอยากหารายได้ บางครั้งก็อยากได้รับการปลอบประโลมทางจิตใจ สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับความสามารถของผู้หญิงในการทำงานสร้างสรรค์ และพวกเราก็จะส่งเสริมเรื่องสตรีนิยมผ่านการงานเหล่านี้”
ความท้าทาย
ปัจจุบันสตรีนิยมยังคงเป็นแนวคิดทางสังคมวิทยากระแสรองที่มิได้กว้างขวางมากนัก แม้กระทั่งในยุโรปหรืออเมริกา และยิ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ของผู้ถูกกดขี่อีกจำนวนมากในหลายประเทศ ห้องสมุดผู้หญิงกลาสโกว์จึงกำหนดบทบาทองค์กรในการขยายกลุ่มเป้าหมายและเครือข่ายการทำงานให้กว้างไกลออกไปจากอาณาเขตที่ห้องสมุดตั้งอยู่ มีกิจกรรมเยี่ยมเยือนห้องสมุดของมิตรสหายจากเวลส์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา แม้แต่ในเมืองกลาสโกว์เองที่ภูมิศาสตร์ของเมืองถูกแบ่งออกเป็นฟากตะวันตกที่มั่งคั่ง กับฝั่งตะวันออกที่ยากจน
“ผู้คนเหล่านั้นถูกมองว่าไร้ความสำคัญ และไม่ได้คิดถึงการมีแกลเลอรี่หรือหอจดหมายเหตุด้วยซ้ำไป สิ่งที่เราประหลาดใจที่สุดคือการเข้ามาใช้บริการของมิตรสหายจากฝั่งตะวันออก พวกเขาประทับใจที่นี่แม้ว่าจะมีเรื่องของการแบ่งแยกและการเชิดชูคนผิวขาว เพราะพวกเราทำงานกับผู้หญิงผิวสี คนกลุ่มน้อย และกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมาก”
ในอีกด้านหนึ่ง ห้องสมุดสตรีนิยมกำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกันกับห้องสมุดทั่วไปในเรื่องของงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอังกฤษ The Feminist Library ถูกองค์กรปกครองท้องถิ่นของกรุงลอนดอนตัดงบประมาณ มิหนำซ้ำยังถูกเรียกร้องค่าเช่าอาคารรายปีเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ผู้คนนับหมื่นจึงออกมาเคลื่อนไหว ท้องถนนเต็มไปด้วยป้ายผ้า “ปกป้องห้องสมุดสตรีนิยม, ปกป้องชุมชนของเรา” “อย่าลบประวัติศาสตร์ (Herstory – ตั้งใจให้ใกล้เคียงเลียนเสียงคำว่า History ซึ่งมีคำว่า His ที่แสดงถึงเพศชาย -- ผู้เขียน) ของพวกเรา” อนึ่ง Women’s Library@LSE ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงลอนดอนก็ถูกตัดงบประมาณด้วยเช่นกัน
สิ่งที่ห้องสมุดและผู้ใช้บริการกำลังยืนหยัดก็คือ ห้องสมุดสตรีนิยมไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่สำหรับค้นคว้าหรืออ่านหนังสือ เพราะปัจจุบันนี้พวกเขาสามารถสืบค้นประเด็นที่ต้องการทำความเข้าใจได้จากอินเทอร์เน็ต และมีช่องทางรับรู้ข่าวสารจากโซเชียลมีเดียต่างๆ แต่พวกเขาไม่อาจหาสถานที่ใดนอกจากห้องสมุดที่ให้ความรู้สึกมั่นคง เปี่ยมด้วยมิตรภาพ และสามารถแสดงความคิดเห็นและตัวตนได้อย่างเสรี รวมไปถึงการเก็บเกี่ยวประสบการณ์และลงมือเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
แม้ว่าที่ผ่านมาห้องสมุดทั่วไปจะถูกกลุ่มสตรีนิยมกล่าวหาว่าขาดความเป็นกลาง เพราะเจือปนไปด้วยอคติเรื่องความไม่เท่าเทียม แต่ลึกๆ แล้วนักสตรีนิยมก็มีความเชื่อว่าห้องสมุดไม่ควรเป็นกลาง ซึ่งในที่นี้หมายความว่าห้องสมุดและบรรณารักษ์ควรมีบทบาทเชิงวิพากษ์สังคมกระแสหลักที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ สนับสนุนความหลากหลาย การมีส่วนร่วม และความโปร่งใส รวมทั้งริเริ่มคอลเลกชั่นและเครื่องมือเพื่อให้ผู้หญิงสามารถสร้างความรู้ใหม่ๆ และมองเห็นความเป็นไปได้ถึงหนทางในการรื้อสร้างรูปแบบทางสังคม ที่ปัจจุบันยังคงมีการแบ่งแยกและกีดกัน
ที่มาเนื้อหา
https://feministlibrary.co.uk/
https://en.wikipedia.org/wiki/Women%27s_Library
https://www.kcet.org/shows/artbound/what-will-the-womens-center-for-creative-work-be
http://journal.code4lib.org/articles/10425
ที่มาภาพ
http://standardissuemagazine.com/arts/25-years-celebrating-women/
https://www.facebook.com/pg/womenscenterforcreativework