ในโลกดิจิทัลความรู้มิได้ถูกจำกัดอยู่ในหนังสือ สารสนเทศจำนวนมากถูกสร้างสรรค์ด้วยแฟลตฟอร์มใหม่ สื่อสารด้วยวิธีใหม่ และมีวิธีใช้งานที่แตกต่างออกไปจากหนังสือกระดาษ จนเกิดพัฒนาการใหม่ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมหนังสือที่เกิดขึ้นในแวดวงอุดมศึกษา อันเนื่องมาจากความต้องการสารสนเทศของนักศึกษามีมากขึ้น และวิทยาการทางเทคโนโลยีซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด
ปัจจุบันผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับแหล่งเรียนรู้ออนไลน์แบบเปิดหรือ MOOC (Massive Open Online Course) ที่ทำให้คนทั่วโลกเข้าถึงความรู้ที่มีมาตรฐานได้ง่ายขึ้นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นวัตกรรมนี้มีส่วนจุดประกายให้เกิดเนื้อหาการเรียนการสอนที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน ดังเช่น BOOC (Big Open Online Course) เป็นการผสมผสานแพลตฟอร์มระหว่าง Google Course Builder และ edX เพื่อตอบสนองการเรียนการสอนออนไลน์ในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ มีการนำไปทดลองใช้ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถรองรับนักศึกษาจากชั้นเรียนปกติ 25 คน เพิ่มขึ้นเป็น 500 คน ความโดดเด่นของ BOOC อยู่ตรงที่ระบบการประเมินผลการเรียนที่ให้นักศึกษาร่วมกันประมวลความรู้เป็นงานเขียนลงใน wikifolio ซึ่งเพื่อนร่วมเรียนทุกคนสามารถเข้าไปอ่านและให้ความเห็นซึ่งกันและกันได้
ส่วนที่ประเทศอังกฤษ UCL Press ในสังกัด University College London เป็นสำนักพิมพ์แห่งแรกที่เผยแพร่หนังสือวิชาการและตำราเรียนดิจิทัลแบบเปิดหรือ BOOC (Book as Open Online Content)โดยผู้ที่สนใจในประเด็นเดียวกันสามารถร่วมอภิปรายเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ ร้านหนังสือ หรือห้องสมุด จนกระทั่งหนังสือนั้นมีเนื้อหาหลากหลายรอบด้าน ดูคล้ายกับชุมชนกองบรรณาธิการออนไลน์ที่ช่วยกันเติมเต็มเนื้อหาหนังสือให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน จึงถูกเรียกขานว่า “หนังสือมีชีวิต” ทั้งนี้ รูปแบบของหนังสือแห่งอนาคตจะก้าวไปอย่างไร้ขีดจำกัด สามารถผนวกรวมข้อเขียน วีดิทัศน์ บล็อก พอดคาสต์ อย่างไรก็ตามผู้อ่านไม่ต้องกังวลว่า BOOC แต่ละหัวข้อจะมีปริมาณเนื้อหาที่ล้นเกิน เพราะ BOOC ถูกออกแบบให้มีเครื่องมือสำหรับเลือกอ่านตามความสั้นยาวหรือชนิดของสื่อตามความต้องการของผู้อ่านแต่ละคนได้
คำว่า BOOC ทั้ง 2 ความหมายซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ แม้จะมีความแตกต่างกันตรงที่ นิยามแรกสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในมุมของผู้บริโภคความรู้ ส่วนนิยามหลังสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของผู้ผลิตเนื้อหา ทว่า พลวัตดังกล่าวก็ทำให้เห็นทิศทางที่สอดคล้องกันของโลกความรู้ในอนาคต ที่ผ่านมาความรู้อาจผูกขาดโดยผู้รู้เพียงไม่กี่คน ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนที่ (ดูเหมือนว่าจะ) รู้น้อยกว่า แต่ในวันข้างหน้าทุกคนสามารถเป็นผู้สร้างความรู้โดยกลั่นกรองจากประสบการณ์และความเข้าใจของตน ซึ่งเมื่อมีการแบ่งปันกัน ความรู้นั้นก็จะขยายกลายเป็นความรู้ร่วมของชุมชนหรือสังคมที่มีแง่มุมลึกซึ้งหลากหลาย บนพื้นฐานของความเคารพในสติปัญญาและความคิดเห็นของผู้อื่น
แปลและเก็บความโดย
ทัศนีย์ แซ่ลิ้ม นักจัดการความรู้ ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พฤศจิกายน 2560
ที่มาเนื้อหา
https://ucldigitalpress.co.uk/BOOC/Article/1/18/
http://www.indiana.edu/~booc/1st-booc-to-begin-in-september-turning-point-for-open-online-courses/
ที่มาภาพ
https://ladeetdareads.wordpress.com/category/quote