เบื้องหลังความคิดและจินตนาการ
ของนักออกแบบแหล่งเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21
ปลายศตวรรษที่ 20 ย่างเข้าศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่สถาปัตยกรรมห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้เริ่มก้าวข้ามไปจากขนบการออกแบบเดิมๆ มันจะไม่ใช่พื้นที่ที่ผู้คนเดินเข้าไปรับความรู้อย่างเชื่องๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่เป็นยุคซึ่งพื้นที่ (space) ถูกออกแบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้คนในสังคมอนาคต
เมื่อแหล่งเรียนรู้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเลยที่วันนี้คนจำนวนหนึ่งไปที่พิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุดเพื่อจัดการแสดงทางวัฒนธรรม งานเทศกาล นัดเจรจาทางธุรกิจ สร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งจัดงานแต่งงาน ในขณะเดียวกันสถานที่เหล่านั้นก็ยังคงรักษาบทบาทในการให้บริการด้านการเรียนรู้และสารสนเทศไว้อย่างเหนียวแน่น
แหล่งเรียนรู้ยุคมิลเลนเนียมสามารถออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่และมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ส่วนหนึ่งก็เพราะวิทยาการด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น และส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือนักออกแบบซึ่งต้องตีโจทย์ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชน จนกระทั่งแปรจินตนาการที่กว้างไกลให้กลั่นตัวเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าจดจำ
ซีรี่ส์ชุด “เบื้องหลังความคิดและจินตนาการของนักออกแบบแหล่งเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21” จำนวน 6 ตอน นำเสนอเรื่องราวและผลงานของนักออกแบบเจ้าของไอเดียแหล่งเรียนรู้ที่โดดเด่น 7 ราย ได้แก่ เร็ม คูลฮาส (Rem Koolhaas) โจชัว ปรินซ์-รามุส (Joshua Prince-Ramus) อึน ยอง ยี (Eun Young Yi) ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) แฟรงก์ โอเวน เกห์รี (Frank Owen Gehry) นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) และโตโย อิโตะ (Toyo Ito)
Photo : Rem Koolhaas (Courtesy of MERLIJN DOOMERNIK)
Photo : Joshua Prince-Ramus (Photograph : Matthias Vriens-McGrath)
เร็ม คูลฮาส (Rem Koolhaas) เป็นสถาปนิกชาวดัตช์ เกิดเมื่อปี 1944 นิตสารไทม์ได้คัดเลือกเขาให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลที่มีอิทธิพลต่อโลก ในฐานะนักคิดและนักออกแบบที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองในยุคสมัยใหม่ คูลฮาสก่อตั้งบริษัทสถาปนิกระดับแนวหน้าชื่อว่า OMA ซึ่งต่อมาหนุ่มน้อย โจชัว ปรินซ์-รามุส (Joshua Prince-Ramus) ได้เข้ามาร่วมงานกับเขา แม้วัยจะต่างกันถึง 25 ปี แต่เขาก็ได้กลายเป็นคู่หูรู้ใจที่สร้างผลงานที่มีชื่อเสียงร่วมกันหลายครั้งหลายครา
รามุสเป็นคนรุ่นใหม่ที่ชีวิตเปี่ยมไปด้วยสีสัน หากมีใครถามว่าเขาเป็นใคร เขาอาจจะตอบแบบติดตลกว่า เป็นสถาปนิกเพียงคนเดียวในโลกที่สามารถทำสเต็กทูน่าได้ในเวลาต่ำกว่า 12 วินาที นั่นก็เพราะอาชีพแรกในชีวิตของรามุสคือแรงงาน (เถื่อน) ในร้านขายปลา นอกจากนี้เขายังเป็นศิลปิน เป็นนักกีฬาเรือพายและเป็นโค้ชคุมทีมชาติจนเข้ารอบรองชนะเลิศโอลิมปิกปี 1996 เมื่อรามุสเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานจนปีกกล้าขาแข็งเขาได้ขยายสาขาย่อยของ OMA ไปยังนิวยอร์ก และต่อมาแยกตัวไปเปิดบริษัท REX ซึ่งเขาเป็นประธานบริหารอย่างเต็มตัว พรสวรรค์ของรามุสทำให้บางคนเรียกเขาว่า “เร็มน้อย” ในวันนี้เขาก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 5 สถาปนิกอายุไม่ถึง 50 ปีที่มีผลงานยิ่งใหญ่ระดับโลก
แนวทางการออกแบบที่คูลฮาสและรามุสถนัดก็คือสถาปัตยกรรมด้านวัฒนธรรมที่มีรูปลักษณ์สะท้อนถึงวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของพวกเขาก็คือ โครงการปรับปรุงห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิล ซึ่งเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีงานออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม และแกลลอรี่ที่มีรูปลักษณ์ทันสมัยอีกหลายแห่ง
ห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิล
Seattle Central Library, สหรัฐอเมริกา
Photo : © REX
ห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิลก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1891 ภายหลังจากชาวผิวขาวมาตั้งรกรากที่เมืองนี้ได้ไม่นาน เคยเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ ย้ายสถานที่ตั้ง และผ่านการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง จุดเปลี่ยนสำคัญของห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิลคือการปรับปรุงกายภาพห้องสมุดครั้งใหญ่ซึ่งออกแบบโดยเร็ม คูลฮาส และโจชัว ปรินซ์-รามุส จนกระทั่งกลับมาเปิดให้บริการอย่างสง่างามอีกครั้งในปี 2004
รูปโฉมใหม่ของห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิลดูเหมือนหนังสือหลายเล่มวางซ้อนทับกัน สื่อถึงจุดยืนของห้องสมุดในอนาคตว่า แม้ยุคดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 จะมาถึงแต่คนก็จะไม่ทอดทิ้งหนังสือกระดาษ นอกจากนี้สถาปนิกยังต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ห้องสมุดยุคเดิมที่ดูล้าสมัยเพื่อเชื้อเชิญผู้คนมาใช้บริการมากขึ้น
ห้องสมุดมีทั้งหมด 11 ชั้น ส่วนหลักของอาคารเรียกว่า “Book Spiral” กินพื้นที่ตั้งแต่ชั้น 1 ทะลุขึ้นไปถึงชั้น 4 ออกแบบการจัดวางหนังสือโดยยังคงรักษาระบบทศนิยมดิวอี้ ผู้ใช้บริการรวมถึงผู้พิการสามารถเพลิดเพลินกับการเลือกดูหนังสือแต่ละชั้นได้โดยใช้ทางลาดไม่ต้องเดินขึ้นบันได ภายในห้องสมุดยังมีห้อง Microsoft Auditorium อยู่บริเวณชั้นล่าง ห้องนั่งเล่นสำหรับอ่านหนังสือที่ชั้น 3 ส่วนที่ชั้น 10 มีโต๊ะบริการให้คำแนะนำด้านสารสนเทศและการวิจัยโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความรู้สหสาขาวิชา และมีห้องอ่านหนังสือมุมสูงที่มองเห็นทิวทัศน์ของอ่าวเอลเลียต
Photo : © Bruce Mau Design
เมื่อการปรับปรุงห้องสมุดหน้าตาแปลกประหลาดเสร็จสิ้น ก็ได้รับคำวิจารณ์หลากหลายทิศทาง ทั้งคนที่ยกย่องว่า ห้องสมุดแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมแห่งยุคสมัยที่ควรจารึกไว้ แต่บ้างก็มองว่าขัดกับแนวทางเรื่องความเชื่อมโยงกับชุมชน เนื่องจากอยู่ห่างจากถนนสายหลักที่ผู้คนสัญจรกันทั่วไป อีกทั้งยังมีผังที่สับสน ไม่เป็นส่วนตัว ร้อนอบอ้าว และใช้วัสดุไม่สมกับราคา อย่างไรก็ตาม ในปีแรกมีผู้เข้ามาใช้บริการถึงกว่า 2.3 ล้านคน ซึ่งเป็นคนจากต่างเมืองถึงร้อยละ 30 อีกทั้งในปี 2007 ห้องสมุดแห่งนี้ยังได้รับการโหวตให้เป็นหนึ่งใน 150 สถาปัตยกรรมในดวงใจอเมริกันชน และมีการประเมินผลกระทบทางสังคมว่าได้กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่โดยรอบ กว่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ
ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตคอร์ทริจค์
Kortrijk BibLLLiotheek, เบลเยี่ยม
เมืองคอร์ทริจค์มีประชากรประมาณ 75,000 คน ส่วนท้องถิ่นมียุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาสิ่งแวดล้อม 6 ด้านเพื่อช่วยยกระดับการดำรงชีวิตของคนเมือง ซึ่งห้องสมุดเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด จึงจัดให้มีการประกวดออกแบบห้องสมุดขึ้นในปี 2009 บริษัท REX ของโจชัว ปรินซ์-รามุส ได้รับรางวัลชนะเลิศด้วยแนวคิดที่ว่า ห้องสมุดควรจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning Center) ของเมือง เขาประดิษฐ์ชื่อให้มันว่า “BibLLLiotheek” ซึ่งถูกเปรียบเทียบว่าเป็น “ห้องสมุดซีแอตเทิล เวอร์ชั่น 2.0”
Photo : © REX
รามุส จินตนาการให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ซึ่งให้โอกาสทางการศึกษาแก่ผู้คนตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา มีศูนย์เรียนรู้ดนตรีซึ่งเป็นส่วนขยายเพิ่มเติมจากซีแอตเทิลโมเดล โดยทั่วไปแล้วการเรียนรู้ผ่านสื่อเป็นเรื่องของห้องสมุด การเรียนรู้จากการเรียนการสอนเป็นเรื่องของโรงเรียน และการเรียนรู้ประสบการณ์ดนตรีก็อยู่ในวงการเฉพาะ สำหรับเขาห้องสมุดแห่งอนาคตควรเป็นพื้นที่ที่ลื่นไหล กล่าวคือสามารถเป็นทั้งห้องเรียน พื้นที่ลงมือปฏิบัติ ห้องค้นคว้าวิจัย หรือพื้นที่จัดการแสดงก็ได้ BibLLLiotheek จะทลายกำแพงที่เคยมีอยู่แล้วหลอมรวมการเรียนรู้ทุกรูปแบบไว้ด้วยกัน
Photo : © REX
ห้องสมุดถูกออกแบบให้เอื้อต่อฟังก์ชั่นการใช้งานแบบกลุ่ม พื้นที่ครึ่งหนึ่งจัดสรรอย่างเป็นสัดส่วน และอีกครึ่งหนึ่งเปิดกว้างเชื่อมถึงกันโดยไม่ได้แบ่งออกเป็นชั้นๆ ดูคล้ายเส้นริบบิ้นที่ไขว้กันไปมา ใจกลางของห้องสมุดเป็นที่ตั้งของ Synter (Synergy+Center) ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมสารสนเทศที่เปี่ยมประสิทธิภาพ พร้อมที่จะให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ในเชิงลึก
ภายหลังจากการออกแบบเสร็จสิ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ประสานของบประมาณในการก่อสร้าง แต่จนถึงทุกวันนี้ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตคอร์ทริจค์ก็ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง
พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ในลาสเวกัส
Guggenheim Las Vegas และ Guggenheim Hermitage Museum, สหรัฐอเมริกา
แม้ว่าโจชัว ปรินซ์ รามุส จะเดินออกมาจากร่มเงาของเร็ม คูลลฮาส แต่ทั้งสองคนก็ยังคงมิตรภาพระหว่างกันและร่วมงานกันอยู่เนืองๆ ดังเช่นงานออกแบบพิพิธภัณฑ์ 2 แห่งในลาสเวกัส ที่ OMA กับ REX ออกแบบให้กับมูลนิธิโซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์ เพื่อจัดแสดงศิลปวัตถุล้ำค่าซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนคาสิโน
Photo : © REX
กุกเกนไฮม์เฮอร์มิเทจมิวเซียมตั้งอยู่ในโรงแรมเวนีเชียน เปิดตัวเมื่อปี 2001 ได้รับการเชิดชูว่าเปรียบประดุจ “กล่องอัญมณี” เพราะจัดแสดงผลงานภาพวาดระดับมาสเตอร์พีซของศิลปินแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ โพสต์อิมเพรสชั่นนิส และโมเดิร์นจากทั่วโลก โถงนิทรรศการมีพื้นที่ 5 พันตารางฟุต ผนังห้องกรุด้วยเหล็กที่ทำปฏิกิริยาจนมีสีสันที่ช่วยขับเน้นความโดดเด่นของผลงานศิลปะ วัสดุที่พัฒนาขึ้นใหม่ยังมีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็กซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้การติดตั้งหรือเปลี่ยนตำแหน่งชิ้นงานสามารถทำได้สะดวกยิ่งขึ้น กลางห้องโถงออกแบบเป็นเป็นผนัง 3 ชิ้น ที่สามารถเลื่อนหมุนได้ เพื่อให้ภัณฑารักษ์สามารถกำหนดทิศทางการจัดแสดงที่เหมาะสมกับนิทรรศการแต่ละชุด กุกเกนไฮม์เฮอร์มิเทจมิวเซียมปิดตัวลงในปี 2008 รวมตลอดระยะเวลาที่ให้บริการมีผู้เข้าชมนับล้านคน
Photo : © REX
กุกเกนไฮม์ลาสเวกัสถูกสร้างขึ้นแทนที่พิพิธภัณฑ์แห่งเดิมเพื่อจัดแสดงศิลปะรถจักรยานยนต์ การสรรหาวัตถุจัดแสดงจำนวน 114 คันมีกระบวนการที่เข้มงวดราวกับเป็นเวทีการประกวด เนื้อหาของนิทรรศการได้รับการเรียบเรียงจากนักประวัติศาสตร์ ที่สามารถเชื่อมโยงศิลปะแห่งยานยนต์เข้ากับเรื่องราวทางสังคมเข้าไว้ด้วยกัน แนวทางการออกแบบพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้งเชิง ให้ความรู้สึกทันสมัย มีทั้งห้องสีแดงสด ผนังลายเส้นหลากสี โถงสูงตกแต่งด้วยม่านบางๆ สีขาวดูเรียบหรู และบันไดสีเขียวฉูดฉาด กุกเกนไฮม์ลาสเวกัสมีผู้ซื้อบัตรเข้าชมสูงถึง 4-5 พันคนต่อวัน อย่างไรก็ตามพิพิธภัณฑ์ถูกปิดตัวลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียง 15 เดือน อันเนื่องจากกองทุนกุกเกนไฮม์สาขาแม่ที่นิวยอร์กยุติการให้งบประมาณต่อ
Photo : © REX
แหล่งข้อมูล
Seattle Central Library
Kortrijk Central Library Competition in Belgium
Guggenheim Hermitage Museum
เผยแพร่ครั้งแรก กันยายน 2559