ความน่าเชื่อถือของข้อมูลออนไลน์
โลกไซเบอร์เป็นพื้นที่อิสระเสรีซึ่งข้อมูลข่าวสารถูกสร้างขึ้นมาด้วยใครก็ได้ และสามารถแพร่กระจายไปสู่สังคมวงกว้างได้ง่ายๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียที่กำลังเป็นที่นิยม เนื้อหาในโลกอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันมีทั้งจริงและเท็จซึ่งสามารถถูกแชร์ต่อๆ กันไปอย่างรวดเร็ว ลักษณาการที่เรียกว่า “เงิบ” เนื่องจากการแชร์เรื่องเท็จ แชร์ภาพตัดต่อที่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นภาพจริงหรือภาพเก่าบรรยายใหม่ จึงเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ ทว่า เรื่องและภาพเท็จหลายเรื่องกลับส่งผลกระทบต่อบุคคลโดยที่ไม่มีผู้รับผิดชอบเยียวยา บางครั้งก็เกิดปรากฏการณ์ “ล่าแม่มด” อันมีเหตุมาจากความคิดความเชื่อที่แตกต่างกัน โดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพร้อมที่จะเชื่อข่าวสารหรือภาพที่สอดคล้องกับอคติและความคิดเห็นของตนเป็นทุนเดิม แล้วใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการคุกคามหรือใช้ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังแก่คนซึ่งมีความคิดเห็นแตกต่างไปจากตน
ปกรณ์ สันติสุนทรกุล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เด็กดีให้ความเห็นว่า ระยะแรกอาจเป็นประเด็นที่น่ากังวลสำหรับสังคม แต่สุดท้ายแล้วคนก็จะค่อยๆ เรียนรู้มากขึ้น
“ตอนนี้อยู่ในช่วงปรับสมดุล ถ้าผู้ดูเริ่มรู้สึกว่าข่าวสารนั้นไว้ใจไม่ได้ ก็จะเริ่มพัฒนาตัวเองว่ายังไม่ควรเชื่อ เช่นช่วงที่ผ่านมา 10 กว่าปีก่อน ในโลกออนไลน์มีข่าวทำให้คนเชื่อเรื่องเครื่องสำอางค์ที่ให้ข้อมูลด้านเดียว เชื่อเรื่องการทำงานที่บ้านแล้วรวย หรือเชื่อภาพที่ถูกตัดต่อ เดี๋ยวนี้คนจะเริ่มคิดแล้วว่าจริงหรือเปล่า การไลค์หรือแชร์ก็จะเริ่มระวังตัวมากขึ้น เพราะถ้าแชร์ข้อมูลเท็จมันก็จะตามตัวเราไปด้วย”
เทคนิคเบื้องต้นสำหรับการพิจารณาความน่าเชื่อถือของข่าวสาร ได้แก่ การตรวจสอบข้อมูลหลายๆ ทาง เช่น การสำรวจดูคร่าวๆ จาก Google การดูที่มาของแหล่งข้อมูล การสืบค้นกลับไปยังแหล่งอ้างอิงของข่าวที่มีระบุไว้ หรืออาจชั่งน้ำหนักจากความเห็นของผู้อ่านรายอื่น การย้อนกลับไปดูข้อมูลอีกครั้งวันหลัง อย่างไรก็ตามพึงตระหนักไว้เสมอว่าแหล่งที่มาของข่าวดังกล่าวก็สามารถผิดพลาดได้ และปริมาณของผลการสืบค้นหรือปริมาณครั้งที่ข้อมูลถูกแชร์ไม่สามารถการันตีความถูกต้องได้เสมอไป
คลิกที่นี่ เพื่อติดตามอ่านเนื้อหาฉบับเต็มและดาวน์โหลดหนังสือ “เต็มสิบ” 10 ปีทีเคพาร์ค : 1 ทศวรรษการอ่านของสังคมไทย