Maker Space พื้นที่การเรียนรู้แนวใหม่
คิด ทำ แบ่งปัน และเรียนรู้จากข้อผิดพลาด
Maker Movement หรือกระแสความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่นิยมสร้างสรรค์หรือซ่อมแซมสิ่งของต่างๆ เองโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งจะแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาไม่ถึงสิบปี วิถีของเมกเกอร์แตกหน่อมาจากวัฒนธรรม DIY (Do it by yourself) หรือ “อยากได้ต้องทำเอง” ซึ่งฝังรากอยู่แล้วในสังคมชนชั้นกลางของอเมริกา เพราะสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของตนเองผ่านงานอดิเรกและข้าวของที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน
Maker movement มีคุณค่าอย่างเด่นชัดในมิติทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการผลักดันเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ กล่าวคือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนทำได้ง่ายขึ้น ก่อให้เกิดอาชีพประเภทใหม่ๆ และเพิ่มโอกาสในการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการให้แก่คนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ หากมองในมิติทางการศึกษา สังคมของเมกเกอร์ยังเป็นรูปธรรมสำคัญของชุมชนแห่งการเรียนรู้ มุ่งเน้นการเรียนรู้จากการลงมือทำและประสบการณ์ ซึ่งแนวคิดนี้ถูกพูดถึงกันมานานหลายสิบปีแต่ก็เกิดขึ้นจริงไม่มากนักในรั้วโรงเรียน
สำหรับประเทศไทย การรับรู้เรื่องเมกเกอร์ยังอยู่ในวงจำกัด ธุรกิจ Maker Space หรือ Hacker Space สำหรับพบปะและสร้างสรรค์งานของชาวเมกเกอร์เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีนี้ สถาบันอุดมศึกษาและโรงเรียนบางแห่งเริ่มพัฒนาพื้นที่สำหรับการทำโครงงานควบคู่กับกระบวนการเรียนการสอน โดยอาจถูกเรียกด้วยชื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Fab Lab (Fabrication Laboratory) หรือ Incubator ฯลฯ
อุทยานการเรียนรู้ TK park มีโอกาสสนทนากับเจ้าของเมกเกอร์สเปซ 2 ราย จาก 2 เมืองใหญ่ ที่ดูเหมือนจะอยู่ในสถานะคู่แข่งทางธุรกิจ แต่กลับไปมาหาสู่กันฉันท์มิตร นั่นคือ ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ ผู้ก่อตั้ง Maker Zoo ย่านเอกมัย และนที แสง ผู้ก่อตั้งบริษัท เมกเกอร์สเปซ จำกัด ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อช่วยกันบอกเล่าความหมายและที่มาของเมกเกอร์ ตลอดจน เมกเกอร์คัลเจอร์ ที่กำลังก่อตัวขึ้นทีละน้อยในสังคมไทย ซึ่งปรากฏการณ์นี้อาจเป็นการเปลี่ยนผ่านที่นำไปสู่การก่อเกิดพื้นที่การเรียนรู้แนวใหม่ในอนาคตอันใกล้
ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ (ซ้าย) นที แสง (ขวา)
เมกเกอร์คือใคร
นที เริ่มต้นอธิบายนิยามของเมกเกอร์ให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ว่า “เมกเกอร์ไม่ใช่แค่คนที่สามารถใช้เครื่องพิมพ์สามมิติหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกรหรือมีอาชีพนักประดิษฐ์ จริงๆ แล้วเมกเกอร์หมายถึงคนที่มีจิตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ แล้วลงมือสร้างผลงานนั้นออกมา ดังนั้นช่างไม้ก็เป็นเมกเกอร์ ช่างเฟอร์นิเจอร์ก็เป็นเมกเกอร์ คนชอบทำอาหารก็เป็นเมกเกอร์อยู่แล้ว โลกนี้มีเมกเกอร์อยู่เต็มไปหมด ส่วนคนไทยก็มีธรรมชาติของความเป็นเมกเกอร์ เพราะใช้มือเก่ง ผลิตเก่ง และมีความคิดสร้างสรรค์สูง”
ภัทรพร กล่าวเสริมว่า “ลักษณะนิสัยของคนที่เป็นเมกเกอร์มักจะไม่ได้มองข้อจำกัดของปัญหามากนัก คือจะคิดว่า ฉันอยากทำแบบนี้ มันน่าจะทำได้ ฉันก็ลองทำดู ถ้าฉันรู้ว่ามันผิดฉันก็แก้ไข แล้วพอถึงจุดหนึ่งถ้าเขารู้สึกว่ามีความรู้ไม่พอที่จะพัฒนางานต่อ เขาก็จะไปอ่านหนังสือหรือคุยกับคนที่รู้จริงแล้วค่อยกลับมาแก้งานดีไซน์ของตัวเองอีกครั้ง เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบ Learning by doing ซึ่งใช้เวลาน้อยแต่ได้ผลที่ดี”
เมกเกอร์สเปซ ชุมชนแห่งการแบ่งปัน
การพัฒนาต้นแบบงานของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ต้องการพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และอุปกรณ์ที่เหมาะสม เช่น เครื่องมือช่าง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องตัดเลเซอร์ ฯลฯ ซึ่งเครื่องมือบางชิ้นมีราคาสูงเกินกว่าจะซื้อหาไว้ใช้เอง พื้นที่ที่เรียกว่าเมกเกอร์สเปซจึงเกิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยลดต้นทุนให้กับนักพัฒนา รวมทั้งยังมีมิตรสหายที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ การทำงาน DIY จึงกลายเป็น DIT หรือ Do it together
ภัทรพร เล่าว่าวัฒนธรรมที่เป็นหัวใจของชาวเมกเกอร์ก็คือการแบ่งปัน “เมกเกอร์สเปซคือชุมชนของผู้คนที่มีความสนใจและความถนัดที่หลากหลาย อาจจะมีทั้งคนที่เชี่ยวชาญ และคนที่ยังไม่มีความรู้ในสิ่งที่ตนอยากทำ หรือยังใช้เครื่องมือต่างๆ ไม่เป็น คนที่รู้อยู่แล้วก็จะทำหน้าที่ช่วยสอนคนที่ทำไม่เป็น”
บรรยากาศการทำงานพร้อมกับการเรียนรู้ที่ Maker Zoo
วัฒนธรรมการแบ่งปันสิ่งของเป็นสิ่งมีอยู่แล้วในวัฒนธรรมไทย แต่เรื่องการแบ่งปันความรู้อาจยังไม่ใช่สิ่งที่สังคมเราคุ้นเคย อย่างไรก็ตามทิศทางการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 บอกเราว่า การหวงแหนความรู้ หรือค่านิยมการแข่งขันไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้คนรุ่นใหม่อยู่รอดได้ในสังคมอนาคต การเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนรู้ไปสู่การแบ่งปันและการร่วมมือกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่วันนี้
“หากผู้ประกอบการในบ้านเราเอาวัฒนธรรมของเมกเกอร์ไปใช้ อุตสาหกรรมที่เข้มแข็งอยู่แล้วก็จะยิ่งเข้มแข็งมากไปกว่านี้อีก ถ้าไม่ได้มองว่าคนอื่นเป็นคู่แข่ง แต่ทุกคนแบ่งปันข้อมูลกัน มันก็จะทำให้ player ทุกคนมีศักยภาพอยู่ในระดับที่สูงกว่าเดิมและแข่งขันกับประเทศอื่นได้ง่ายขึ้น เพราะคนที่ยังไม่เก่งก็จะเก่งขึ้น และคนที่เก่งอยู่แล้วก็จะเก่งมากขึ้นอีก เพราะอาจจะมีบางอย่างที่คนเก่งไม่รู้ แต่คนไม่เก่งอาจจะรู้และแบ่งปันให้ก็ได้
“สังคมไทยคนส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดใจยอมรับหรือการกล้าที่จะแบ่งปัน แต่วัฒนธรรมแบบนี้จะต้องเปลี่ยน ไม่อย่างนั้นคนที่เก่งก็จะอยู่เป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ สังคมก็ไม่พัฒนาไปไหน หรือถ้ามีการแชร์แต่ไม่มีการเปิดรับความเห็นหรือความรู้ของผู้อื่นก็ไม่เกิดประโยชน์ ในสังคมของเมกเกอร์เรามีความสุขกับการเจอกัน แลกเปลี่ยนความคิดกัน ใครก็ตามที่เข้ามาในชุมชนของเรา เราก็ไม่ได้ปล่อยให้เขาเข้ามาทำงานให้สำเร็จอย่างเดียว แต่จะสอดแทรกคุณค่าเรื่องการแบ่งปันนี้ด้วย”
นที ได้ยกตัวอย่างถึงกลุ่มเชียงใหม่เมกเกอร์คลับ ชุมชนที่ชาวเมกเกอร์ได้ร่วมกันเรียนรู้และแบ่งปันความรู้ใหม่ๆ ทั้งในพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่โลกออนไลน์ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่าร้อยคน และได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นเคสที่ก้าวหน้าแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ที่นี่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้โดยไม่ต้องเสียเงิน เรามีคนที่ช่วยสอนวิธีการใช้เครื่องมือให้ แต่มีเงื่อนไขว่าผลงานที่ทำขึ้นที่จะต้องเป็น Open source และผู้พัฒนาจะต้องเขียนวิธีการทำผลงานนั้นเผยแพร่ผ่านบล็อก (Blog) เพื่อให้คนอื่นนำไปเรียนรู้ต่อได้ ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่ายิ่งเราสอนคนอื่นเราก็จะยิ่งมีความรู้เพิ่มขึ้นด้วย”
กิจกรรม Chiang Mai Maker Party จัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2558
เป็นงาน Maker Faire หรืองาน “ปล่อยของ” สำหรับชาวเมกเกอร์ งานแรกๆ ของเมืองไทย
เมกเกอร์สเปซกับการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน
แม้ว่านทีและภัทรพรจะเป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่ทั้งสองก็มีความสนใจงานด้านการศึกษาด้วย เพราะมองเห็นจุดร่วมของโรงเรียนและเมกเกอร์สเปซในเรื่องกระบวนการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง Learning by doing ซึ่งเมกเกอร์สเปซสามารถช่วยเติมเต็มมิติที่ยังขาดหายไปในโรงเรียน
“การศึกษาปัจจุบันกำลังล้มเหลว มหาวิทยาลัยกลายเป็นโรงงานที่ปั๊มคนไม่มีคุณภาพออกมาป้อนระบบ ในอดีตเราเชื่อว่าคนที่สำเร็จปริญญาถึงจะมีงานทำ แต่ปัจจุบันโลกไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว เรียนจบสูงก็ไม่แน่ว่าจะมีงานทำ ในขณะที่ยังมีการเรียนรู้นอกห้องเรียนอีกมากมาย แนวโน้มเนื้อหาการเรียนในอนาคตนั้นคือวิชาหลักที่เรียกย่อๆ ว่า STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) แต่ปัญหาก็คือโรงเรียนในไทยยังเรียนจากตำรากันอย่างเดียว… เป็นไปได้ยังไงที่เราเรียนวิทยาศาสตร์กันโดยขาดแคลนห้องแล็บ!
เมกเกอร์สเปซเป็นสิ่งที่เหมาะเจาะกับเนื้อหาวิชาเรียนสำหรับอนาคต เพราะทำให้คนได้ลงมือปฏิบัติจริงจากสิ่งที่เรียนจากตำรา เด็กๆ สามารถเข้าถึงเครืองมือไฮเทคในชุมชนที่อยู่บนรากฐานของความรู้ โดยโรงเรียนไม่ต้องใช้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอง บางโรงเรียนมาหาเราแล้วบอกว่าอยากให้เด็กได้เรียนรู้เนื้อหาเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราก็มีหน้าที่สร้างโปรเจ็คให้เด็กคิดและทดลองทำ เช่น การเรียนฟิสิกส์โดยสอนให้เด็กสร้างจรวด ซึ่งได้เรียนรู้ทั้งการดีไซน์ การทำโมเดล และเรื่องสารเคมีที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง” นทีกล่าว
ส่วนภัทรพร เห็นว่า “เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนรู้จากประสบการณ์หรือการลงมือปฏิบัติมากนัก ไม่ว่าจะในหรือนอกห้องเรียน พอเด็กเข้ามัธยมก็เริ่มต้องกวดวิชากันแล้ว เรื่องพวกนั้นอาจจะสำคัญ แต่สุดท้ายแล้วคนที่จะอยู่ได้บนโลกนี้ก็คือคนที่รู้จักเรียนรู้จากปัญหา กระบวนการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย กระบวนการคิดมันเกิดขึ้นได้จากชีวิตประจำวัน ถ้าโรงเรียนเข้ามาช่วยได้ตั้งแต่จุดนี้ก็จะดี
“มีโรงเรียนนานาชาติหลายแห่งในประเทศไทยที่เริ่มสร้างเมกเกอร์สเปซในโรงเรียน ซึ่งเริ่มต้นง่ายๆ โดยการจัดหาเครื่องมือตามเนื้อหาที่จำเป็นจะใช้ในการเรียนการสอน อาจจะมีวงจรไฟฟ้า หัวแร้ง หรือพวกเครื่องมือช่าง สุดท้ายแล้วไม่จำเป็นเลยว่าโรงเรียนจะต้องจะมีเครื่องพิมพ์สามมิติหรือเครื่องมือที่ทันสมัย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเนื้อหาที่จะสอน เครื่องมือก็เป็นแค่เพียงวัตถุหนึ่งซึ่งต้องรู้จักวิธีนำไปใช้เพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุดทางการศึกษา ดังนั้นเราต้องสร้างโปรแกรมการเรียนรู้เสียก่อน คือคิดว่าควรจะสอนเนื้อหาอะไรให้เด็กแต่ละชั้น แล้วจึงนำเครื่องมือมาใช้ตอบโจทย์”
การออกแบบผลงานในไอแพดก่อนจะสั่งพิมพ์เป็นต้นแบบวัตถุด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ
เรียนรู้จากความล้มเหลว สร้าง Maker และ Innovator
เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันมากขึ้นทุกที แต่ประเทศไทยอยู่ในฐานะผู้บริโภคเทคโนโลยีมาโดยตลอด แน่นอนว่าหากสถานการณ์ยังคงเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดความเสียสมดุลทางเศรษฐกิจตามมา
“เราผลิตน้อยลง คิดอะไรเองน้อยลงทุกที เรามัวแต่นำเข้าสินค้าทั้งๆ ที่ของบางอย่างเราสามารถพัฒนาขึ้นเองได้ ในอนาคตโรงงานอุตสาหกรรมจะเล็กลง คนก็มีโอกาสที่จะผลิตสิ่งของได้เองมากขึ้น พวกเราอยากสร้างนักพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีให้มากกว่านี้เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้สังคมดีขึ้น อย่างเช่นแต่ก่อนมีธุรกิจที่ไม่เคยคิดว่าจะต้องใช้เครื่องพิมพ์สามมิติเข้ามาหาเรา แล้วเขาก็พบว่าเมกเกอร์สเปซช่วยลดต้นทุนเขาได้เยอะ หรือเราไปเจอเด็กนักศึกษาสถาปัตย์ที่ต้องทำโมเดลส่งอาจารย์ ซึ่งที่ผ่านมาเขาทำโครงงานโดยใช้เครื่องเลเซอร์ รอบหนึ่งเสียเงิน 4-5 หมื่น แต่พอมาใช้เครื่องพิมพ์สามมิติต้นทุนเหลือแค่หมื่นกว่าบาท แล้วก็ไม่ต้องไปนั่งประกอบแบบด้วย
“ที่ Maker Zoo เราเน้นกลุ่มที่เป็นเมกเกอร์มือใหม่เพราะอยากให้คนเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็สามารถสนุกกับการเรียนรู้เทคโนโลยีได้ เราเพิ่งจัดงาน ‘หุ่นยนต์เห่ย’ เพื่อทำลายกำแพงในการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เห็นว่าคนที่ไม่ใช่วิศวกรหรือคนที่ไม่มีความรู้ซับซ้อนก็สามารถเป็นเมกเกอร์ได้ มาสร้างหุ่นยนต์แข่งกันได้ ชื่อ ‘เห่ย’ มันบ่งบอกถึงความล้มเหลว เพราะความล้มเหลวเป็นขั้นหนึ่งของความสำเร็จ สังคมเอเชียอย่างเช่นสังคมของบ้านเรามักจะกลัวความผิดพลาด กลัวความล้มเหลว เป็นสังคมอนุรักษ์นิยม ก็เลยไม่อยากโชว์ ไม่กล้าแสดงออก เพราะกลัวคนอื่นดูถูก แต่พวกเราอยากให้คนเห็นว่า ในความล้มเหลวมันมีแง่มุมของความสร้างสรรค์ ทุกคนได้สนุกกับมัน ได้เจอกับสิ่งที่ตัวเองไม่ได้คิดมาก่อน แล้วก็ได้เรียนรู้จากการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น” ภัทรพรกล่าวถึงความตั้งใจและผลลัพธ์ที่อยากให้เกิดขึ้นกับสังคม ผ่าน เมกเกอร์สเปซ และวิถีของ เมกเกอร์คัลเจอร์
บรรยากาศการแข่งขัน Hebocon หรือ หุ่นยนต์เห่ย
ส่วน นที ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ตอนผมเป็นนักเรียนถูกสอนมาว่าประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา รุ่นพ่อแม่ของเราก็ถูกสอนมาเหมือนๆ กัน นั่นหมายความว่าตลอด 60 ปีที่ผ่านมาประเทศเราไม่ได้พัฒนาเลย เมกเกอร์สเปซคือพื้นที่สำหรับการพัฒนาในโลกยุคปัจจุบัน ถ้ากระแสการขับเคลื่อนนี้มีพลังมากพอ ก็หวังว่าสักวันหนึ่งจะช่วยเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเสียที”
สรุปและเก็บความโดย นางสาวทัศนีย์ จันอินทร์ ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, มิถุนายน 2558
แหล่งข้อมูล
http://www.techshop.ws/press_releases.html?&action=detail&press_release_id=47
https://www.blognone.com/node/58961
แหล่งภาพ
https://www.facebook.com/makerzoo
https://thainetizen.org/2015/04/chiang-mai-maker-party-part1/
http://www.thairobotics.com/2015/04/23/hebocon-thailand/
http://www.progressth.org/2015/04/maker-movement.html
http://www.123dapp.com/design
http://www.chiangmaicitylife.com/citylife-articles/makerspace-the-future-will-be-open-source/
https://www.facebook.com/makerspaceth