วันเด็กแห่งชาติ - วันเด็ก AEC
เพราะ “เด็ก” คืออนาคตของชาติ ที่จะเติบโตมาพัฒนาประเทศ ผู้ใหญ่จึงให้ความสำคัญกับเด็ก และจัดให้มี “วันเด็ก” วันแสนพิเศษสำหรับพวกเขา ที่จะได้สนุกสนาน อบอุ่น เรียนรู้ เพื่อเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและเป็นกำลังสำคัญของประเทศ
แน่นอนว่า ใครที่อายุยังไม่ถึงวัยใกล้เกษียณ คงจะนึกออกว่าวันเด็กเป็นวันที่มีความสุขขนาดไหน
แล้วทำไมคนเลยวัยเกษียณแล้วถึงนึกไม่ออกล่ะ ทั้งๆ ที่ คุณตา คุณยาย หลายคนยังจำเรื่องตอนเด็กๆ ได้ดี
นั่นเป็นเพราะวันเด็กมีขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว โดยมีสององค์กรระดับโลกกำหนดวันเด็กขึ้นมา คือ
สภาสตรีประชาธิปไตยนานาชาติ (Women’s International Democratic Federation) ซึ่งในปี พ.ศ.2493 ได้กำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี ให้เป็นวันเด็กนานาชาติ (International Children’s Day)
และในปี พ.ศ. 2497 องค์การสหประชาชาติ (The United Nations) ได้กำหนดให้ วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเด็กสากล (Universal Children’s day) ถึงจะแตกต่างกันทั้งปีที่ก่อตั้งและวันที่กำหนดให้เป็นวันเด็ก แต่ทั้งสององค์กรก็มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือต้องการกระตุ้นให้ทุกประเทศคุ้มครองสิทธิในชีวิต สุขภาพ และสิทธิด้านการศึกษาของเด็กและเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่เด็กๆ ทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย ได้เริ่มมีงานวันเด็กเมื่อปี พ.ศ. 2498 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็กให้มากขึ้น ดังเช่นที่นานาประเทศกำลังทำอยู่ โดยประเทศไทยได้จัดวันเด็กครั้งแรกในวันที่ 3 ตุลาคม 2498 ซึ่งทางราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติสำหรับประเทศไทย และได้จัดติดต่อกันมาจนถึงปี พ.ศ.2506 จึงได้มีการเปลี่ยนแปลง
โดยที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้นมีความเห็นพ้องต้องกัน ว่า ควรเปลี่ยนวันเด็กแห่งชาติ เนื่องจากในเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน เด็กๆ ไม่สะดวกมาร่วมงานวันเด็ก และวันจันทร์ตรงกับวันทำงานของผู้ปกครอง ทำให้ไม่สะดวกที่จะพาลูกหลานไปร่วมงานวันเด็กได้ จึงได้เปลี่ยนให้วันเด็กเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม โดยเริ่มต้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2508 มาจนถึงปัจจุบัน
ไม่ใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีงานวันเด็ก แต่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ก็ได้กำหนดให้มีวันเด็กเช่นกัน เพียงแต่ไม่ใช่วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมแบบประเทศไทย อย่างสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดให้วันอาทิตย์แรกของเดือนมิถุนายนเป็นวันเด็ก ใกล้เคียงกับประเทศจีนที่กำหนดในเดือนมิถุนายนเช่นกัน แต่เป็นวันที่ 1 ของเดือนนั้น หรือประเทศญี่ปุ่นที่วันเด็กตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี
สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน ที่แม้จะอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน และหลายประเทศมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน แต่วันเด็กของแต่ละประเทศนั้นไม่ตรงกันเลยทีเดียว หากนับตามปฏิทินเริ่มจากต้นปี ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกของประชาคมอาเซียนที่จัดงานวันเด็ก คือวันเสาร์สัปดาห์ที่สอง เดือนมกราคม
ทางด้านเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ได้เลือกเอาวันที่สภาสตรีประชาธิปไตยนานาชาติเลือกให้เป็นวันเด็กนานาชาติ คือ วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปีให้เป็นวันเด็กของชาติตัวเอง
ถัดมาอีกหนึ่งเดือนประเทศอินโดนีเซียได้จัดงานวันเด็กในวันที่ 23 กรกฎาคมของทุกปี
ด้านสิงคโปร์ ได้เลือกวันศุกร์แรกของเดือนตุลาคมให้เป็นวันเด็กแห่งชาติ
ส่วนมาเลเซียได้กำหนดให้วันเด็กแห่งชาติ ตรงกับวันเสาร์สุดท้ายของเดือนตุลาคม
สำหรับอีกสองประเทศสมาชิกอาเซียน คือฟิลิปปินส์และบรูไน ได้เลือกวันที่จะเฉลิมฉลองวันเด็ก ในวันเดียวกับวันเด็กสากลขององค์การสหประชาชาติ คือ วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี
ถึงแม้วันเด็กของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนจะไม่ได้จัดตรงกันทั้งหมด แต่ทุกประเทศล้วนมีกิจกรรมในวันนั้นแบบเดียวกัน คือ การจัดให้เด็กๆ ได้ร่วมทำกิจกรรมกับครอบครัวและเพื่อนๆ ในงานวันเด็กที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น โดยในบางประเทศได้มีกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา เช่น ประเทศลาว ที่วันเด็กของเขายังเป็นวันปลูกต้นไม้แห่งชาติอีกด้วย ดังนั้นนอกจากเด็กๆ จะได้สนุกสนานกับกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่า จะเป็นการแสดง การแข่งขันกีฬา เด็กๆ ชาวลาวยังจะได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่สมาชิกในครอบครัวจะได้ทำร่วมกัน หรือสิงคโปร์ที่ เลือกวันศุกร์แรกของเดือนตุลาคมให้เป็นวันเด็ก ก็เพื่อให้พ่อแม่ได้หยุดพักจากการทำงานและพาลูกๆ ไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งมักจะจัดกิจกรรมวันเด็กอย่างสนุกสนาน ขณะที่มาเลเซียซึ่งเลือกวันเสาร์สุดท้ายของเดือนตุลาคมให้เป็นวันเด็กนั้น จะนิยมฉลองวันเด็กที่โรงเรียนมากกว่า
แม้กิจกรรมวันเด็กของแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันไปบ้าง แต่วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเด็กของประเทศสมาชิกอาเซียน หรือประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือให้ผู้ใหญ่ไม่ลืมความสำคัญของเด็ก และให้เด็กเองได้รู้ว่าพวกเขาก็มีความสำคัญต่อประเทศชาติไม่น้อยไปกว่า ผู้ใหญ่ รวมทั้งเพื่อปลูกฝังการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ รู้จักหน้าที่ของตนเอง อยู่ในระเบียบวินัยอันดี มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และระบบการปกครองของแต่ละประเทศ
ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นวันเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อันเป็นก้าวแรกที่ประชาคมอาเซียนจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ละประเทศมีความตื่นตัวที่จะทำความรู้จักกับประเทศสมาชิก โดยนำเรื่องประชาคมอาเซียนเข้ามาเชื่อมโยงกับกิจกรรมหรือวันสำคัญต่างๆ รวมถึงงานวันเด็กที่หลายหน่วยงานได้ส่งเสริมและสอดแทรกความรู้ด้านประชาคมอา เซียนเข้าไปในกิจกรรมด้วย หรือการที่ไปรษณีย์ไทยได้ออกแสตมป์วันเด็กแห่งชาติเป็นภาพเด็กๆ ใน 10 ประเทศสมาชิก เพื่อสะท้อนถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของภูมิภาคอาเซียน
ในอนาคตไม่แน่ว่า วันเด็กของทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาจจะมีการกำหนดวันให้ตรงกันก็เป็นได้ แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น อย่างน้อยที่สุดเด็กและเยาวชนในอาเซียนก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานวันเด็ก และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศสมาชิกอย่างแน่นอน
ข้อมูลอ้างอิง
Mix Magazine, The Perspective of AEC Vol.86