เล่นตามพ่อ
ถ้า “เด็ก” กับ “การเรียน” เป็นของคู่กัน
“การเล่น” คงเป็นเสมือน “เงา” ของเด็กทุกคน
คงไม่มีผู้ใหญ่ (และเด็กๆ ) คนไหนจะกล้าปฏิเสธ ว่าไม่เคยผ่านการเล่นมาก่อน บางคนเล่นกับพี่น้อง เพื่อนฝูง สัตว์เลี้ยง หรือของเล่นแสนรักของตน
แต่ไม่ว่าจะเล่นกับใคร หรือเล่นกับของอะไรก็ตาม
“การเล่น” ของเด็กๆ นั้น ล้วนให้ความเพลิดเพลิน ความสนุกสนาน สร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมจินตนาการ
เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช หรือ “พระองค์เล็ก” (พระนามที่คนใกล้ชิดเรียก) ทรงประทับอยู่ที่วังสระปทุม พระองค์ทรงโปรดการเล่นเหมือนกับเด็กทั่วไปใน
วัยเดียวกัน และทรงได้รับการอภิบาลเลี้ยงดูจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกา ทั้งเรื่องการส่งเสริมพลานามัยให้สมบูรณ์ รวมถึงการปลูกฝังเรื่องคุณธรรม ความเสียสละ เพื่อประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง
“...ลูกของหม่อมฉัน หม่อมฉันรักอย่างดวงใจและหม่อมฉันมีความตั้งใจอยู่เสมอที่จะนำลูกไปในทางที่ถูกที่ดีสำหรับจะได้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ญาติและบ้านเมือง ตัวของหม่อมฉันเองทำประโยชน์อะไรให้บ้านเมืองไม่ได้มาก แต่ถ้าได้ช่วยลูกๆ ให้ได้รับความอบรมและเล่าเรียนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้แล้ว หม่อมฉันก็จะรู้สึกอิ่มใจเหมือนกัน”
ในสมัยนั้น วังสระปทุม ยังเป็นบริเวณชานเมือง มีพื้นที่กว้าง เต็มไปด้วยหมู่ไม้
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงทรงอนุญาตให้พระองค์เล็กทรงเล่นกับพระเชษฐา (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล) และพระเชษฐภคินี (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) ได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกลางแจ้งในกระบะทราย รถเข็น จำลองพิธีโกนจุก สวมบทช่างไม้และเจ๊กหาบน้ำ
ใครเล่าจะรู้ ว่าการเล่นตามประสาเด็กๆ ในวันวาน กับของเล่น อย่างตัวต่อไม้ กองดินกองทราย เรือจำลองและบ่อน้ำ จะทรงนำมาเป็นแนวพระราชดำริประกอบพระราชกรณียกิจ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรชาวไทย และพัฒนาชาติบ้านเมืองในเวลาต่อมา
.....................................................
1.แผนที่ชีวิต
เล่าเรื่องเล่น
"...อนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนนเรียกว่าวงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว..."
พระราชดำรัส เนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชดาภิเษก ครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี พ.ศ.2514
ความสนพระราชหฤทัยในถนนหนทางหรือภูมิศาสตร์ ล้วนเกิดจากการบ่มเพาะจากพระราชชนนี ทรงสอนให้พระองค์ทรงรู้จักการใช้แผนที่และเรียนรู้ภูมิประเทศของไทย โดยโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียน
เพาะช่างทำตัวต่อเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย เลื่อยเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ เพื่อให้ในหลวงทรงเล่น
แม้จะเป็นการเล่นของเด็กๆ แต่ในหลวงทรงเรียนรู้เรื่องของภูมิศาสตร์ การศึกษาแผนที่ และทรงนำมาประยุกต์ พัฒนากลายเป็นแผนการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกเป็นจำนวนมาก ดังที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าไว้ในหนังสือ เจ้านายเล็กๆ –ยุวกษัตริย์ ว่า
“...พี่น้องก็ช่วยกันหาความรู้โดยการเล่นต่างๆ เช่น เวลารับประทานอาหารจะเล่นทายอะไรกันต่างๆ บางพักจะเป็นเกมภูมิศาสตร์ บางพักก็จะเป็นเกมประวัติศาสตร์ แต่พระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาจะเล่นอะไรหลายอย่างๆ ซึ่งจะนำประโยชน์มาได้ภายหลัง...”
เล่นเป็นงาน
ปัญหาด้านการจราจรไม่ว่าจะเป็นถนนในกรุงเทพฯ หรือชนบทอันห่างไกล ในหลวงทรงเห็นว่าเป็นปัญหาระดับประเทศ ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างยิ่งยวด โครงการจากแนวพระราชดำริด้านการจราจร จึงมีหลายโครงการ เช่น
ถนนห้วยมงคล จ.ประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ.2495 ในหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวรสร้างถนนจากตลาดเข้าไปยังบ้านห้วยมงคล ช่วยย่นเวลาการเดินทางจากเดิมต้องใช้ระยะเวลาเป็นวัน ให้เหลือเพียงไม่ถึง 20 นาที นับเป็นพระราชกรณียกิจแรกๆ ที่อาจถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเวลาต่อมา
โครงการถนนรัชดาภิเษก (ถนนวงแหวนชั้นใน) ในหลวงทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนเพิ่มขึ้นเป็นถนนวงแหวนเพื่อพระราชทานเป็นของขวัญแก่ประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก
โครงข่ายจตุรทิศตะวันตก-ตะวันออก เป็นการแก้ไขปัญหาจราจรจากฝั่งตะวันตกถึงฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ โดยปรับปรุงเส้นทางตั้งแต่ถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก เข้าสู่ถนนบรมราชชนนี เข้าแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยสะพานพระราม 8 เข้าถนนราชดำเนิน และถนนเส้นต่างๆ เข้าสู่ถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก
โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณถนน
บรมราชชนนีและทางแยกสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
โครงการสะพานพระราม 8 เชื่อมต่อกับโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้า ช่วยให้การเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามีความสะดวกขึ้น
โครงการ “ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ” โครงการเริ่มต้นตั้งแต่ ปี พ.ศ.2536 เพื่อให้ตำรวจจราจรจัดตั้ง “หน่วยเคลื่อนที่เร็ว” เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาจราจรในจุดที่รถติดอย่างรวดเร็ว ช่วยทำคลอดและนำหญิงใกล้คลอดส่งโรงพยาบาล หรือช่วยทำหน้าที่ปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บบนท้องถนน
2.สร้างเขื่อน เคลื่อนคลอง
เล่าเรื่องเล่น
“ฉันสนใจชลประทานมาตั้งแต่เล็ก”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการชลประทานและการจัดการน้ำ มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดังที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าถึงงานชลประทานและการปลูกป่าครั้งแรกของในหลวงเอาไว้ ในหนังสือ เจ้านายเล็กๆ –ยุวกษัตริย์ ว่า
“ในสมัยนั้นวังสระปทุมยังนับว่าอยู่ชานเมือง อากาศยังบริสุทธิ์ แม่จึงอยากให้ลูกๆ ได้อยู่กลางแจ้งให้มากที่สุด ท่านจัดที่ทาง สิ่งก่อสร้าง และอุปกรณ์ให้ทีละเล็กทีละน้อย สิ่งแรกที่สร้างขึ้นคือที่เล่นทราย ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับที่เห็นได้ในสวนสาธารณะในต่างประเทศ คือเป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยมซึ่งมีทรายอยู่ข้างใน”
“ในไม่ช้าการเล่นในกองทรายนั้นจะรู้สึกว่าไม่สนุกนักเพราะเมื่อเอาน้ำเทลงไปในทราย น้ำก็จะซึมลงไปหมด จึงย้ายกันออกมาเล่นข้างนอก ขุดคลองในดิน นำน้ำมาใส่ให้มาไหลในคลองแล้ววิ่งไปเก็บกิ่งไม้ที่พุ่มไม้”
“...ทั้งสองพระองค์ (รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9- ผู้เรียบเรียง) สนพระทัยในการกั้นน้ำสร้างเขื่อน แต่เพิ่งได้ทราบว่าไม่ใช่เป็นเพียงการเล่นแต่ยังเป็นการเรียนรู้อีกด้วย ... เมื่อรัชกาลที่ 9 ยังทรงพระเยาว์มาก คือเมื่อประทับอยู่ที่โรงเรียน เลอ ฟัวเย่ ที่เลเพลหยาดส์ ปี 2477 และ 2478 ได้ทรงสังเกตและจำวิธีที่เขาใช้ในการนำน้ำมาใส่ในอ่างให้เด็กเล่น เขาไปเอาน้ำจากลำธารที่ไหลใกล้ๆ ทำทางตื้นๆ ให้น้ำไหลลงมาได้ เอาดินเหนียวใส่ลงไปในทางและขวดไปถูให้เรียบ”
เล่นเป็นงาน
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีมากมายหลายประเภท ในจำนวนนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการน้ำหรือการชลประทานถึงร้อยละ 70 เช่น
เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนคอนกรีตรูปโค้งขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ของประเทศไทย สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้
เขื่อนขุนด่านปราการชล (เขื่อนคลองท่าด่าน) จ.นครนายก เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดที่ยาวที่สุดในโลก โดยเป็นเขื่อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำนครนายก แก้ปัญหาดินเปรี้ยว และกักเก็บน้ำในการเกษตร และอุปโภคบริโภค
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จ.ลพบุรี เขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นแหล่งน้ำสำคัญ
ในการชลประทาน ป้องกันอุทกภัย และแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่
ประตูระบายน้ำ “อุทกวิภาชประสิทธิ” จ.นครศรีธรรมราช โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มและเก็บกักน้ำจืด รวมทั้งบรรเทาปัญหาน้ำท่วม
คลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ช่วยการบริหารจัดการน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และป้องกันน้ำเค็มเข้ารุกพื้นที่ทางการเกษตร
3.ช่างใหญ่ วัยเยาว์
เล่าเรื่องเล่น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องเครื่องยนต์กลไก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านช่างกล ช่างไฟฟ้า หรือช่างวิทยุ
เมื่อมีพระชนมายุ 10 พรรษา ทรงจับสลากได้คอยล์ (ขดลวดที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่าน) พระองค์ได้ทรงศึกษาถามผู้รู้เพื่อหาชิ้นส่วนวัสดุต่างๆ นำมาประกอบกับแร่สีดำ (galena หรือ galenite หรือ PbS) เพื่อประดิษฐ์เป็นเครื่องวิทยุด้วยพระองค์เอง และเคยทรงช่วยแก้จักรเย็บผ้า พระพี่เลี้ยงจึงถวายรถของเล่นคันใหม่เป็นรางวัลอีกด้วย
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรีชาในการออกแบบและการต่อเรือด้วยพระองค์เอง ดังความตอนหนึ่งที่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าไว้ในหนังสือ เจ้านายเล็กๆ –ยุวกษัตริย์ ว่า
“...พระอนุชาได้เริ่มทำแบบเรือต่างๆ ด้วยไม้ เช่น แบบเรือรบที่ไม่มีขาย ในระยะนั้นกำลังทำเรือใบที่ใหญ่พอสมควร ใบก็เย็บเองด้วยจักรเสร็จแล้ว เหลือแต่การทาสี เมื่อเริ่มไปแล้วก็พอดีเป็นเวลาที่กำลังจะตัดสินว่าจะอพยพออกไปสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเล่าว่าทุกคนก็ถามอย่างล้อๆ ว่า เรือจะแห้งทันไหม”
ครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงนำภาพถ่ายเรือรบลำหนึ่งให้ข้าราชบริพารดูและให้ตอบคำถามว่าเป็นเรืออะไรและถ่ายที่ใด แต่ไม่มีใครตอบได้ถูก ยกเว้นนายทหารท่านหนึ่งตอบถูกว่าเป็นเรือรบหลวงศรีอยุธยา แต่ทุกคนทราบดีว่าพระองค์ไม่เคยเสด็จฯ ทางเรือโดยมีเรือรบหลวงศรีอยุธยาโดยเสด็จด้วย จึงไม่มีใครตอบได้ว่าถ่ายภาพจากที่ใด
ในหลวงทรงเฉลยว่า “ถ่ายในห้องนี่เอง” เพราะพระองค์ทรงประดิษฐ์เรือรบหลวงจำลอง ด้วยชิ้นส่วนนับร้อยจนเหมือนของจริง และทรงจัดวางฉากในห้องให้เหมือนท้องทะเล เมื่อทรงถ่ายภาพจึงเหมือนภาพถ่ายเรือรบกลางทะเล
เล่นเป็นงาน
ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ.2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักกีฬาเรือใบทีมชาติไทย และทรงชนะเลิศได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค แสดงพระอัจฉริยภาพทางด้านการกีฬาเป็นอย่างยิ่ง ในการแข่งขันครั้งนั้น พระองค์ยังทรงใช้เรือใบที่ทรงต่อขึ้นเองอีกด้วย
เรือใบที่เคยทรงต่อด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง มีดังนี้
1.เรือใบประเภท เอนเตอร์ไพรส์ (InternationalEnterpriseclass) ชื่อ “ราชปะแตน” เรือใบลำแรกที่ทรงต่อเอง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2507
2.เรือใบประเภท โอเค (International OK class) ชื่อ “นวฤกษ์” ทรงใช้ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง จนชนะเลิศได้เหรียญทอง และทรงต่อเรือใบประเภทเดียวกันอีก คือ “เวคา 1” “เวคา 2” และ “เวคา 3”
3.เรือใบประเภท ม็อท (International Moth class) มีทั้งหมด 3 ลำ ได้แก่ “เรือมด” “เรือซูเปอร์มด” และ “เรือไมโครมด”
4. “เรือโม้ก” (Moke) เรือใบลำสุดท้ายที่ทรงต่อด้วยพระองค์เอง ทรงออกแบบให้มีลักษณะผสมระหว่างเรือโอเคและเรือซูเปอร์มด
4.น้ำคือชีวิต
เล่าเรื่องเล่น
“...หลักสำคัญต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...”
ในหลวงและสายน้ำนั้น แทบจะแยกจากกันมิได้
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่วนใหญ่ มักเป็นเรื่องของการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำ ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นและตระหนักในปัญหาเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง คงเป็นเพราะพระองค์ทรงคุ้นเคยกับน้ำมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ไม่ว่าจะเป็นการทรงกีฬา เช่น กรรเชียงเรือ เรือใบ หรือการเล่นน้ำตามประสาเด็กในวังสระปทุม ดังที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าไว้ในหนังสือ เจ้านายเล็กๆ –ยุวกษัตริย์ว่า
“แม่ให้เล่นน้ำด้วย ตอนแรกๆ เล่นในถังเงินซึ่งสมเด็จย่าทรงทำให้หลานๆ อาบน้ำในห้องน้ำ แต่ไม่สะดวกเพราะหนักมากและดำเร็ว แม่จึงให้ทำถังไม้ทาสีใช้แทน เครื่องประกอบด้วยคือถ้วยชามตุ๊กตาและลูกมะพร้าวที่เขาใช้แล้ว…ต่อมาแม่ก็สร้างบ่อเล็กๆ ให้เล่น ซึ่งใช้น้ำประปาหรือน้ำฝนจากรางน้ำเมื่อฝนตก...”
นอกเหนือไปจากการสร้างเขื่อน ฝาย หรือฝนหลวง เพื่อบริหารจัดการน้ำให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนแล้ว พระองค์ยังทรงใส่พระราชหฤทัยถึงคุณภาพของน้ำอีกด้วย เช่น แนวพระราชดำริ “อธรรมปราบอธรรม” ในการนำผักตบชวากำจัดน้ำเสียที่บึงมักกะสัน หรือการประดิษฐ์
“กังหันน้ำชัยพัฒนา” เพื่อช่วยบำบัดน้ำเสีย โดยทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยจาก “หลุก” เครื่องวิดน้ำเข้านาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน
เล่นเป็นงาน
กังหันน้ำชัยพัฒนา นับเป็นสิ่งประดิษฐ์ประเภทเครื่องกลเติมอากาศที่ได้รับสิทธิบัตรเครื่องที่ 9 ของโลก ในปีพ.ศ.2543 ได้รับรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นสามรางวัล และรางวัลสรรเสริญในพระอัจฉริยภาพสองรางวัล มอบโดยองค์กรนักประดิษฐ์ชื่อ The Belgian Chamver of Inventor ในงาน Brussels Eureka 2000 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
นอกจาก กังหันน้ำชัยพัฒนาแล้ว ยังมีเครื่องกลเติมอากาศประเภทอื่นๆ อีกด้วย ปัจจุบันมีการวิจัยพัฒนามาแล้วถึง 9 รูปแบบ ได้แก่
1.Model RX-1 เครื่องกลเติมอากาศระบบเป่าอากาศลงไปใต้น้ำและกระจายฟอง
2.Model RX-2 เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา”
3.Model RX-3 เครื่องกลเติมอากาศระบบเป่าอากาศหมุนใต้น้ำ หรือ “ชัยพัฒนาซุปเปอร์ฟองแอร์”
4.Model RX-4 เครื่องกลเติมอากาศแรงดันน้ำ หรือ “ชัยพัฒนาเวนจูรี่”
5.Model RX-5 เครื่องกลเติมอากาศระบบอัดและดูดอากาศลงใต้น้ำ หรือ “ชัยพัฒนาแอร์เจท”
6.Model RX-6 เครื่องกลเติมอากาศแบบตีน้ำสัมผัสอากาศ หรือ “เครื่องตีน้ำชัยพัฒนา”
7.Model RX-7 เครื่องกลเติมอากาศแบบดูดและอัดน้ำลงไปที่ใต้ผิวน้ำ หรือ “ชัยพัฒนาไฮโดรแอร์”
8.Model RX-8 เครื่องจับเกาะจุลินทรีย์ หรือ “ชัยพัฒนาไบโอ”
9.Model RX-9 เครื่องกลเติมอากาศแบบกระจายน้ำสัมผัสอากาศ หรือ “น้ำพุชัยพัฒนา”
เรียนรู้จากเรื่องเล่นๆ
ตลอดระยะเวลา 68 ปี แห่งการครองราชย์ 87 พระชนมายุของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อปัดเป่าความทุกข์ยากและสร้างความสุขให้แก่พสกนิกรชาวไทย
พระราชวังของพระเจ้าแผ่นดิน ไม่มีอาคารหรือตึกหลังงามเหมือนในนิยาย แต่เต็มไปด้วยนาข้าวสาธิต โรงเพาะเห็ด โรงเลี้ยงโคนม บ่อเลี้ยงปลา และห้องทดลองต่างๆ ที่พระองค์ทรงใช้ค้นคว้าเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรไทย นอกจากนี้ยังมีโครงการหลวง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกนับร้อยนับพันโครงการ
ผลผลิตเหล่านี้ มิได้เกิดจากใช้เพียงกำลังเงินหรือกำลังคนอย่างเดียว และมิใช่เทพเทวามาเนรมิตจากการบนบานศาลกล่าว แต่เกิดจากความพยายามอุตสาหะ การสังเกต ทดลอง เรียนรู้ และสั่งสมประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ หรือแม้จะเป็นแค่เรื่อง “เล่นๆ” ที่หลายคนอาจจะมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดาในสายตา
การเล่นของเด็กๆ จึงมิใช่เรื่องไร้สาระ อย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนคิด ในขณะที่เด็กๆ กำลังเพลิดเพลินกับการเล่นอยู่นั้น พวกเขาได้เรียนรู้จากสิ่งรอบตัวไปด้วย ช่วยส่งเสริมจินตนาการและความสร้างสรรค์ ทำให้เด็กๆ ได้ค้นหาความชื่นชอบ ความถนัด และความสนใจของตัวเองที่จะเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ หรือสร้างอัจฉริยภาพในอนาคต
นอกจากนี้ การเล่นยังทำให้เด็กๆ เกิดกระบวนการเรียนรู้ ในการคิดแก้ปัญหา ค้นหาสาเหตุ หัดลองผิดลองถูก เลือกหาแนวทางที่หลากหลายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เหมาะสม และช่วยในการตัดสินใจ อีกทั้งทำให้เด็กๆ เกิดความภาคภูมิใจและมีความเชื่อมั่นในตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนหรือเรื่องเล่น สิ่งสำคัญสำหรับเด็กๆ รวมถึงผู้ใหญ่อีกด้วย
คือ การตั้งใจทำในสิ่งที่ตนกระทำอยู่ ดังพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะอาจารย์ ครู และนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2517 ว่า
“...การจะเล่าเรียนหรือทำการใดๆ ให้สำเร็จด้วยดี โดยตลอดนั้น ขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงเป็นใหญ่ เพราะความตั้งใจจริงนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยกำจัดความเกียจคร้าน ความอ่อนแอ และความท้อถอย ได้อย่างดียิ่ง จะปลูกฝังความเอาใจใส่ ความขยันหมั่นเพียร และความเข้มแข็ง ให้เกิดเป็นนิสัยและนิสัยที่ดีที่ปลูกไว้แต่เยาว์วัย จะเป็นคุณสมบัติติดตัวไป ในวันข้างหน้า จะช่วยพาตัวให้องอาจสามารถ เอาชนะอุปสรรค และปัญหาต่างๆ ได้โดยตลอด และประสบความสำเร็จความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในชีวิต...”
รวบรวมและเรียบเรียง :
หนังสือ
ตามรอยพ่อ ก.-ฮ. เรียบเรียง โดย สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ สำนักพิมพ์สารคดี
ความสุขของพ่อ เรียบเรียง โดย มีบุญ สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน
ในหลวงของเรา เรียบเรียง โดย งามพรรณ เวชชาชีวะ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ
แม่เล่าให้ฟัง เขียนโดย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์ เขียนโดย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เว็บไซต์
http://th.wikipedia.org/wiki/ถนนรัชดาภิเษก
http://www.correct.go.th/popnogb/About/m111.html