วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้น และเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ด้วย โครงการก่อสร้างวัดนี้มีความน่าสนใจ สะท้อนบริบททางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมืองในสมัยนั้นได้ดี อีกทั้งโครงการซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ก็โดดเด่นในแง่ของการสะสมและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ร่วมสมัย ซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน
อุทยานการเรียนรู้ TK Park เชื่อมั่นในการแสวงหาและการสั่งสมความรู้ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายมาโดยตลอด จึงได้จัดกิจกรรม TK Small Tour นำกลุ่มผู้สนใจไปเยี่ยมชมและร่วมเรียนรู้ด้วยตนเองที่สถานที่จริง จากปากคำของผู้มีส่วนร่วมในงานซ่อมแซมสถานที่แห่งนี้โดยตรง จนเกิดเป็นทริปเล็ก ๆ ที่น่าประทับใจ
ในช่วงปลายปีนี้ หลายคนอาจกำลังวางแผนเส้นทางเที่ยวและทำบุญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ TK Park จึงสรุปเรื่องราวและขมวดประเด็นน่าสนใจจากความรู้ที่ได้จากกิจกรรม TK Small Tour วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เพื่อชวนทุกคนไปลองเยี่ยมชม สังเกต และสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในแบบของตนเองที่วัดแห่งนี้กัน
สร้างเพื่อสืบสาน
พระมหาอนุลักษ์ ชุตินนฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และเลขานุการสำนักงานโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐฯ ได้เล่าถึงประวัติของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงพระราชดำริให้สร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเพื่อสืบสานโบราณราชประเพณี ที่ราชธานีจะต้องประกอบด้วยวัดสำคัญ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ (บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ) วัดราชประดิษฐาน (วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงดำริให้สร้าง) และ วัดราชบูรณะ (วัดที่ราษฎรสร้างไว้เดิม แล้วได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยพระมหากษัตริย์) แต่เมื่อเวลาผ่านมา 3 รัชกาล กรุงรัตนโกสินทร์ยังคงขาดวัดราชประดิษฐาน จึงทรงเลือกพื้นที่สวนกาแฟหลวงสมัยรัชกาลที่ 3 และกลายเป็นศาลากลางบ้าน ที่บรรดาเจ้านาย ข้าราชการมาถือศีลบำเพ็ญตนเพราะอยู่ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวัง มาใช้สร้างวัดแห่งนี้ โดยทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินในราคาตารางวาละ 1 บาท (ที่ดิน 2 ไร่ 2 งาน 98 ตาราวา คิดเป็นราคา 1,098 บาท ซึ่งเป็นราคาเมื่อปี พ.ศ. 2407)
ขณะนั้น รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาธรรมยุติกนิกายขึ้นมาไม่นาน มีการแปลงวัดอื่น ๆ จากมหานิกายมาเป็นวัดธรรมยุติกนิกายอยู่เนือง ๆ แต่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเป็นวัดสร้างใหม่ จึงเป็นวัดแรกที่อุทิศถวายแก่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะตั้งแต่สถาปนาวัด
แม้เหตุผลของการสร้างวัดนี้จะเป็นการปฏิบัติตามโบราณราชประเพณี แต่รัชกาลที่ 4 ทรงได้ผสมผสานแนวคิดและองค์ความรู้จากความสนใจส่วนพระองค์ และอิทธิพลทางวัฒนธรรมหลากหลาย ทั้งฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น ขอม รวมถึงวิทยาการของสมัยนั้นเพื่อการก่อร่างสร้างวัดนี้ จนเกิดเป็นความวิจิตรงดงามแปลกตา และทำให้วัดแห่งนี้มีความหมายมากกว่าการเป็นพุทธศาสนสถาน แต่เป็นหลักฐานที่แสดงถึงพระราชอำนาจ พระราชกรณียกิจด้านศาสนา และวิสัยทัศน์ส่วนพระองค์ด้วย
สร้างสรรค์ ผสมผสาน
ดังที่กล่าวก่อนหน้า กระบวนการก่อสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเป็นการผสมผสานระหว่างงานสถาปัตยกรรมและงานประดับตกแต่งที่อ้างอิงงานช่างจากหลากหลายวัฒนธรรมประเพณี จึงโดดเด่นกว่าการสร้างพระอารามหลวงในสามรัชกาลก่อนหน้า เช่น งานโครงสร้างพระอุโบสถ ซึ่งก่อนหน้านี้สร้างโอ่อ่า มีบานประตูด้านหน้า 3 บาน โดยประตูกลางสงวนไว้ใช้เฉพาะกับพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่พระอุโบสถของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามมีประตูกลางใช้ร่วมกันเพียงประตูเดียว ขนาดห้องโถงกะทัดรัด ไม่มีเสาค้ำปรากฏภายในโบสถ์ ใช้กำแพงรับน้ำหนักร่วมกับเสาค้ำขนาดใหญ่ด้านนอกตัวโบสถ์ และยกพื้นสูงหนีน้ำ เพราะที่ดินบริเวณนี้เป็นที่ดินต่ำ น้ำท่วมถึง
ภายในพระอุโบสถเป็นงานตกแต่งผนัง บานประตูและหน้าต่าง งานจิตรกรรมประดับผนังโบสถ์วาดในรูปแบบสองมิติ วาดตัวบุคคลไม่สมจริง และไม่ได้จัดองค์ประกอบโดยใช้ทัศนมิติที่ใช้แนวเส้นและแสงเงาเพื่อสร้างแนวลึก เรื่องราวบนผนังแต่ละชิ้นระหว่างหน้าต่างและประตูเป็นเรื่องพระราชพิธี 12 เดือน ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 จึงสันนิษฐานว่าทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และยังมีเรื่องราวการทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริปยุปราคาเต็มดวง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ด้วย
หมู่ซุ้มเหนือบานประตูและหน้าต่างเป็นจารึกหลักธรรมภาษาบาลีด้วยอักษรขอม ส่วนบานหน้าต่างด้านนอกเป็นงานฉลุไม้ ซ้อนไม้ทับกันหลายชั้นตามแบบวัดสุทัศน์เทพวราราม ส่วนด้านในหน้าต่างเป็นบานไม้ประดับมุก แบ่งบานหน้าต่างเป็นสามส่วน ส่วนกลางเป็นงานรักลายนูน เรื่องราวตามคติจีน ส่วนด้านบนและล่างเป็นงานศิลปะญี่ปุ่นโบราณประดับมุก ตามแบบวัดนางชี ส่วนล่างของบานหน้าต่างเป็นภาพวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น ด้านบนสุดเป็นสัตว์มงคลในตำนานจีน ส่วนองค์ประกอบด้านนอก มีทั้งการใช้หินอ่อนประดับแบบสถาปัตยกรรมอิตาเลียน ระฆังสามใบเถาเป็นแบบดึงเชือกตีระฆังจากด้านใน ซึ่งสั่งทำพิเศษจากโรงหล่อเดียวกับระฆังของนาฬิกา Big Ben ที่ Elizabeth Tower กรุงลอนดอน และรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ปั้นแบบสมจริงโดยช่างชาวสวิสชื่อ ร.เวนิง
สืบเสาะเพื่อซ่อมแซม
เมื่อพระอารามหลวงแห่งนี้ก่อสร้างด้วยรายละเอียดเฉพาะตัว งานบูรณะซ่อมแซมเพื่อคงสภาพความวิจิตรงดงามจึงเป็นงานที่ต้องใช้ความตั้งใจ การศึกษาประวัติศาสตร์ การสืบประวัติการดำเนินงาน รวบรวม และสังเคราะห์องค์ความรู้เรื่องวัสดุ เคมี งานโครงสร้าง ฯลฯ รวมถึงการพัฒนาทักษะช่างฝีมือเพื่อซ่อมแซมเป็นการเฉพาะ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามจึงตั้งโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐฯ ขึ้น เพื่องานซ่อมแซมวัดโดยเฉพาะ
พระมหาอนุลักษ์ได้เล่าถึงความท้าทายหลายประการ ทั้งเรื่องการทรุดตัวของพระอุโบสถ การเทียบกรณีศึกษาวัดอื่น ๆ การซ่อมแซมระฆังสลักชื่อ FOUNDERS LONDON ที่หอระฆังยอดมงกุฎ ซึ่งผู้ผลิตเดิมเลิกกิจการไปแล้ว แต่ยังรื้อประวัติได้จากใบสั่งซื้อ จึงสามารถสั่งผลิตตามต้นฉบับเดิมเพื่อทดแทนระฆังใบเก่าทั้ง 3 ใบที่ชำรุดไปตามกาลเวลาได้ นอกจากนี้ ทางวัดยังร่วมมือกับภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาช่วยพัฒนาระบบควบคุมการตีระฆังอัตโนมัติ โดยดัดแปลงจากระบบพื้นฐานให้มีช่วงจังหวะและน้ำหนักการตีแบบสามลา ตามแบบฉบับของวัดพุทธไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้แรงคนตีระฆังซึ่งอาจลงน้ำหนักไม่สม่ำเสมอ เสี่ยงต่อการชำรุดเสียหายก่อนเวลาอันควร
สำหรับงานเรือธงของการบูรณะพระอารามหลวงแห่งนี้ คืองานบูรณะงานจิตรกรรมประดับมุกหลังบ้านหน้าต่าง ที่ต้องใช้ความละเมียดละไมและความชำนาญของช่าง แต่ด้วยความที่งานเหล่านี้ใช้เทคนิคโบราณที่ปัจจุบันเลิกนิยมไปแล้ว และช่างฝีมือที่ญี่ปุ่นได้เว้นการสืบทอดตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางวัดจึงร่วมกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และสถาบันวิจัยมรดกวัฒนธรรมกรุงโตเกียว ในการวิจัยและฝึกอบรมช่างไทย เพื่อดึงสีเดิมออกมา รวมถึงยังมีการสร้างห้องวิจัยและปฏิบัติการ ใต้อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อให้ช่างปฏิบัติงานได้ภายในพื้นที่วัด
แม้วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามจะตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาดเล็ก ท่ามกลางพระอารามหลวงมากมายในย่านพระบรมมหาราชวัง แต่ก็เป็นวัดที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว มีรายละเอียดเบื้องหลังเป็นความวิจิตรงดงาม และมีการสั่งสมองค์ความรู้ร่วมหลายวัฒนธรรม หลากเชื้อชาติจากยุคอดีต วิจัยต่อยอดเพื่อมเติมในปัจจุบัน และมองไปยังการใช้งานในอนาคต จึงเป็นตัวอย่างที่ล้ำค่าของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
ชมคลิปวิดีโอไฮไลต์ของกิจกรรม TK Small Tour วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ในรูปแบบวิดีโอตามที่ปรากฏด้านล่าง หรือคลิกที่ ลิงก์นี้↗
VIDEO