ก่อนจะถึงนิทรรศการนิทานสร้างงานศิลป์ ตอน เสียงสร้างศิลป์ ที่ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK Park ในวันที่ 20–28 กรกฎาคม 2567 นี้↗ TK Park ชวนครูก้า กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) และสมาคมไท ออร์ฟ ชูลแวร์ค (THAI ORFF Schulwerk Association) มาปฏิบัติการสนับสนุนกลุ่มศิลปินตัวน้อยจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่โลดแล่นออกมาจากหัวใจซึ่งถูกขับกล่อมด้วยเสียงดนตร
สำหรับกิจกรรมเวิร์กช็อป “เสียงสร้างสรรค์ เสียงสร้างศิลป์” ในครั้งนี้ ครูก้าและทีมเริ่มต้นด้วยการบรรเลงเพลงด้วยอูคูเลเล่ในจังหวะสนุกสนาน เพื่อกล่าวทักทายและเอ่ยชื่อเด็ก ๆ แต่ละคนเรียงกันไป และด้วยท่วงทำนองและเนื้อร้องที่วนซ้ำไปมา เด็ก ๆ ทุกคนจึงสามารถทำความคุ้นเคยและร้องคลอตามกันไปได้จนจบลงที่ชื่อสมาชิกคนสุดท้าย
ดังนั้น โดยไม่ได้นัดหมาย ใบหน้าของทั้งทีมงาน เหล่าศิลปินตัวน้อย และผู้ชมทุกคนที่มาร่วมสังเกตการณ์ ต่างเปรอะเปื้อนไปด้วยรอยยิ้มตั้งแต่เริ่มกิจกรรม
แต่วันนี้เหล่าศิลปินตัวน้อยจะไม่ได้เลอะเปรอะเปื้อนไปทั้งตัว เพราะวัสดุอุปกรณ์ที่ครูก้าคัดสรรมานั้นคือเศษผ้า เชือก กระดาษ หลากรูปร่าง หลายสี และคละรูปแบบ ที่เตรียมจะลงไปปะอยู่บนผืนกระดาษกาวตามจินตนาการของเด็กแต่ละคนในไม่ช้า
เมื่อพาเด็ก ๆ ไปนั่งล้อมวงกันเป็นสามกลุ่มเรียบร้อยแล้ว ครูก้าก็ชี้แจงกติกาสร้างสรรค์ โดยให้เด็ก ๆ ทำความคุ้นชินกับสัมผัสของวัสดุ แล้วเปิดหู เปิดใจ รับฟังและลื่นไหลไปกับบทเพลงที่กำลังจะดังขั้นในแต่ละรอบ และเมื่อได้ยินเพลงแล้วเด็ก ๆ เกิดความรู้สึกว่าวัตถุชิ้นไหนและการเคลื่อนไหวแบบใดที่ใช่ ก็ให้วางจรดลงบนแผ่นกระดาษกาวของตัวเองดังที่ใจนึก
หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม ทีมงาน TK Park ได้มีโอกาสพูดคุยกับครูก้าถึงเบื้องหลังและความรู้สึกต่อกิจกรรมในครั้งนี้ จึงบันทึกเป็นบทสรุปไว้ที่นี่
ใจเขาใจเรา = กุญแจสู่หัวใจ
ครูก้าเผยสุดยอดความลับให้พวกเราฟังว่า กลวิธีพื้นฐานที่สุดในการสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูก้าใช้มาตลอด ก็คือการสร้างสัมพันธ์โดยคำนึงถึงใจเขาใจเรา และไม่ได้เฉพาะแค่ในบริบทของการเข้าร่วมกิจกรรมแบบกลุ่ม แต่ใช้ได้กับทุกคน ทุกบริบท เพราะคนที่ไม่คุ้นเคยกันมาก่อนมักจะเริ่มเปิดใจก็ต่อเมื่อต่างฝ่ายต่างแสดงถึงการมีตัวตนของกันและกัน ผ่านรอยยิ้ม น้ำเสียง การสบตา หรือการเรียกขานชื่อ
เมื่อได้เริ่มต้นทำความรู้จักกันในบรรยากาศที่ดี พลังของครูก้าและทีมงานก็สามารถส่งไปถึงหัวใจของเด็ก ๆ นำไปสู่ความเชื่อมั่นในตัวเอง จนเด็ก ๆ สามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาโลดแล่นไปกับเสียงเพลงได้อย่างไม่ต้องกลัวตัดสินผิดถูก แต่ละผลงานที่เด็ก ๆ สร้างขึ้นจึงนับเป็นหลักฐานถึงการมีตัวตน จินตนาการ และความคิดอิสระของเด็ก ๆ ในช่วงเวลานี้ได้เป็นอย่างดี
แม้ไม่เห็น แต่สัมผัสได้
ไม่บ่อยครั้งนักที่ครูก้าและทีมงานจะได้ผนึกกำลังกับเด็ก ๆ ผู้พิการทางสายตา แต่จากกิจกรรมในครั้งนี้ ครูก้ายืนยันว่าเด็ก ๆ เหล่านี้มีประสาทสัมผัสชั้นเยี่ยมในการได้ยินและการสัมผัสด้วยมือ รวมถึงมีพลังในการเรียนรู้ ตอบสนอง และแสดงความคิดอ่านของตนเองออกมาได้ไม่ต่างกับเด็กทั่วไปที่ไม่ได้พิการทางสายตา
และสิ่งที่ครูก้าและทีมงานยึดมั่นตลอดกิจกรรมคือการมอบแรงสนับสนุนให้กับเด็ก ๆ ผ่านน้ำเสียงในการพูด การบรรเลงดนตรี การจับมือ การดูแลระหว่างเด็ก ๆ สำรวจวัสดุอุปกรณ์และลงมือสร้างผลงานศิลปะ เพื่อประคับประคองเคียงข้างเด็ก ๆ ทุกคนอย่างทั่วถึง
มองให้เห็นตัวตนและผลงาน
เมื่อผืนกระดาษกาวและวัสดุที่เด็ก ๆ เลือกสรรมาปะติดกลายร่างเป็นผลงานศิลปะที่สมบูรณ์ ครูก้าเปิดเพลงบรรเลงรอบสุดท้ายโดยกำหนดกติกาว่าในรอบนี้ จะเป็นการให้เด็กแต่ละคนไล่สัมผัสพื้นผิวผลงานของตัวเองอย่างอิสระ ถือเป็นผู้ชมคนแรกของงานศิลปะที่ตัวเองเป็นผู้สร้างขึ้น
ก่อนจากกัน ครูก้าได้บอกให้เด็ก ๆ ทราบว่า ครูเจ อุษา ศรีนวล นักจัดการความรู้อาวุโส ผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการสร้างสรรค์ในครั้งนี้ จะนำผลงานของเด็ก ๆ ไปจัดแสดงในนิทรรศการนิทานสร้างงานศิลป์ ตอน เสียงสร้างศิลป์ ที่ลานสานฝัน TK Park ในวันที่ 20–28 กรกฎาคม 2567 ก่อนจะพาผลงานตระเวนไปจัดแสดงที่หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ ในเดือนตุลาคม 2567
ครูก้าทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงชื่นใจว่ารู้สึกยินดีที่ได้ตอบรับคำเชิญ TK Park และได้มาร่วมงานกับครูเจในครั้งนี้ เพราะครูก้าและทีมงานได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้รับส่งพลังงานที่ดีกับเด็ก ๆ ผู้พิการทางสายตา และภาคภูมิใจที่เห็นเด็ก ๆ หลายคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าการมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้นั้นสนุกจริง ๆ
อุทยานการเรียนรู้ TK Park ขอขอบคุณครูก้า กรองทอง บุญประคอง และสมาคมไทย ออร์ฟ ชูลแวร์ค (THAI ORFF Schulwerk Association) โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ และผู้มีส่วนร่วมในปฏิบัติการสร้างสรรค์ครั้งนี้ด้วยหัวใจ