การพาเด็ก ๆ เข้าไปช่วยประกอบอาหารในครัว สำหรับพ่อแม่หลายคน แค่หลับตานึกก็อาจจะเห็นแต่ภาพความโกลาหล แต่ความวุ่นวายในครัวที่ว่านี้ อาจนำมาซึ่งการเรียนรู้แบบบูรณาการให้แก่เด็ก ๆ เพราะพ่อแม่สามารถทำให้การประกอบอาหารเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ ที่สร้างประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง และทำให้เด็ก ๆ ได้พัฒนาทักษะและสมองทั้งสองซีกอย่างสมดุล พร้อมเสริมสร้างพัฒนาการต่าง ๆ รอบด้าน
ตลอดเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2567 อุทยานการเรียนรู้ TK Park จัดทำนิทรรศการ Le petit chef ที่ห้องเด็ก โดยนำเสนอเมนูง่าย ๆ ที่จะช่วยให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง สามารถพาเด็ก ๆ เข้าครัวทำอาหารร่วมกัน พร้อมกิจกรรมสนุกอ่านสนุกคิด เพื่อสาธิตกิจกรรมให้พ่อแม่สามารถนำไปทำเองหรือต่อยอดที่บ้านได้
สำหรับบทความนี้ TK Park สรุปข้อมูลเบื้องหลังกิจกรรมการประกอบอาหารของเด็ก ๆ ที่พ่อแม่ควรรู้ รวมถึงการเตรียมตัวเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเหมาะสมในการทำอาหารร่วมกับเด็ก ๆ เพื่อให้กิจกรรมนี้เป็นไปอย่างสนุกสนานและเสริมสร้างพัฒนาการได้อย่างเต็มที่
พาเด็กเข้าครัว: เด็ก ๆ ได้อะไร
1. พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กและการทำงานร่วมกันระหว่างอวัยวะต่าง ๆ จากกิจกรรมเช่นการหั่นผัก หั่นผลไม้ ตักเกลือหรือน้ำตาลใส่ลงในหม้อ เทเครื่องปรุงและส่วนผสมลงไปในกระทะ การปั้นแป้งทำขนมหรือแม้กระทั่งการล้างผักหรือล้างอุปกรณ์เครื่องครัว
2. พัฒนาการด้านจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ที่เกิดจากการที่เด็กได้มีส่วนร่วมในการจัดจานอาหาร เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางผัก การราดซอส หรือการจัดเรียงผลไม้
3. พัฒนาการด้านประสาทสัมผัส เพราะการประกอบอาหารช่วยกระตุ้นการใช้ประสาทสัมผัสได้เป็นอย่างดี เช่น “ตา” เมื่อมองเห็นวัตถุดิบและส่วนผสมต่าง ๆ “มือ” เมื่อได้สัมผัสผิวของวัตถุดิบ ผักและผลไม้ต่าง ๆ ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร “หู” เมื่อฟังคำสั่งและคำแนะนำว่าขั้นตอนถัดไปคืออะไร ต้องทำอะไรต่อ รวมถึงเสียงสับหมู และเสียงเครื่องครัวทำงาน “จมูก” เมื่อได้กลิ่นของอาหารและเครื่องปรุงต่าง ๆ “ปาก” เมื่อชิมรสชาติของวัตถุดิบ เช่น เกลือมีรสเค็ม น้ำตาลมีรสหวาน หรือชิมเพื่อรู้ว่าอาหารที่ทำมีรสชาติอย่างไร ต้องเติมสิ่งไหนจึงจะได้รสชาติตามต้องการ
4. พัฒนาการด้านอารมณ์และการมีสมาธิจดจ่อ เด็ก ๆ จะได้ฝึกการควบคุมอารมณ์และรอคอย เช่น เด็กบางคนใจร้อน อยากให้อาหารสุกเร็ว ๆ แต่ถ้าเอาอาหารออกจากเตาก่อนเวลา ก็จะได้กินอาหารที่ไม่สุก เป็นการฝึกให้เด็กควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ที่ดีและเข้าใจถึงความสำคัญของการรอคอยให้ถึงเวลาที่เหมาะสม
5. พัฒนาการด้านสังคมและการแก้ไขปัญหา เด็กจะได้ฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือการทำงานเป็นกลุ่ม ได้ฝึกการวางแผน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ รู้จักการแบ่งปัน มีน้ำใจช่วยเหลือ และสื่อสารระหว่างกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ
6. ทักษะการใช้ภาษาและการสื่อสาร เพราะเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่จากวัตถุดิบ อุปกรณ์ และส่วนผสมที่นำมาใช้ในการประกอบอาหาร เช่น ถ้วย ชาม กระทะ เตาอบ ผักกาด แครอท น้ำปลา น้ำตาล เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้พัฒนาทักษะการพูดและการฟัง ผ่านการพูดคุยสนทนาตอบโต้หรือการแสดงความคิดเห็นอีกด้วย
7. ทักษะความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การปรุงอาหารเองจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และสังเกตการเปลี่ยนแปลงของวัตถุดิบว่าเมื่อนำมาปรุงจนสุกจะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างไร การใส่เครื่องปรุงต่าง ๆ เช่น เกลือ น้ำตาล น้ำปลา ฯลฯ ถ้าใส่มากจะมีรสชาติอย่างไร ใส่น้อยจะมีรสชาติอย่างไร นอกจากนี้ ยังได้ฝึกฝนทักษะการเปรียบเทียบ การจำแนกประเภท การจัดกลุ่มของวัตถุดิบและส่วนผสมที่ใช้ในการประกอบอาหาร
8. ทักษะความรู้ด้านคณิตศาสตร์ จากการชั่ง ตวง วัดเครื่องปรุง และส่วนผสมต่าง ๆ การเรียงลำดับ การนับจำนวน และการกะปริมาณ
9. การสร้างสุขนิสัยในการบริโภคตามหลักโภชนาการ เช่น การทำผัดผักรวม จะช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้ว่าผักมีประโยชน์ ให้วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ เนื้อหมูให้สารอาหารประเภทโปรตีนและไขมัน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้เด็กเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ และปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการรับประทานอาหารอีกด้วย
พาเด็กเข้าครัว: พ่อแม่เตรียมตัวยังไง
1. ดูแลความปลอดภัยเบื้องต้นภายในครัว ขณะเข้าครัวกับเด็ก ๆ พ่อแม่ต้องระวังของมีคม อุปกรณ์ ความร้อน และไฟ โดยเก็บอุปกรณ์อันตรายให้เป็นระเบียบและตกลงกติกาความปลอดภัยกับเด็ก ๆ ด้วย เช่น การไม่ให้เด็กหยิบมีดหรือของมีคมเอง ต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของผู้ใหญ่ การใช้เตาและอุปกรณ์ไฟฟ้าต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด สอนให้เด็กเข้าใจถึงความร้อนและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเตาไฟหรือเตาอบ งดการวิ่งเล่นในครัวหรือหยิบของร้อนโดยไม่มีผ้าจับ ฯลฯ
2. ตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ในครัว เช่น ตรวจสอบความแข็งแรงของมีด การทำงานของเตาไฟฟ้า และการเก็บของมีคมในที่ปลอดภัย หลังจากใช้เครื่องครัวเสร็จแล้วควรเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
3. เตรียมรับมือเหตุฉุกเฉิน พ่อแม่ควรเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นไว้ในครัวเสมอ เผื่อในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นจะได้จัดการได้ทันท่วงที
4. จัดบทบาทและตารางเวลา เพราะการกำหนดเวลาและหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจนจะช่วยให้เด็กเข้าใจและปฏิบัติตามกฎได้ดีขึ้น พ่อแม่ยังสามารถใช้กรอบกติกาเหล่านี้สอนลูกให้รู้จักการทำงานเป็นทีมและแบ่งปันหน้าที่อย่างเหมาะสมได้ด้วย
การให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในครัว แม้บางครั้งอาจทำให้ห้องครัวเลอะเทอะไปบ้าง และใช้เวลาในครัวนานขึ้นสักหน่อย แต่อย่างน้อยเมนูที่ทำร่วมกันนั้นได้มากกว่าความอร่อย เพราะได้ความสำเร็จของเด็กตัวน้อยที่มาพร้อมกับพัฒนาการรอบด้าน เป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กในการสร้างตัวตนของตัวเอง และพ่อแม่เองก็ได้เป็นต้นแบบผู้นำที่ดี เกิดภาพลักษณ์เชิงบวกให้เด็ก ๆ ได้ซึมซับ พวกเขาจะภาคภูมิใจในการรับบทบาทเป็นลูกมือ และสามารถรับประทานอาหารได้หลากหลายและเหมาะสมกับวัยอย่างอบอุ่น มีความสุข เต็มเปี่ยมไปด้วยทักษะและประสบการณ์ที่ดี
อ้างอิง: [1], [2], [3], [4]