มิถุนายน เดือนที่ผู้คนร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ใช้โอกาสนี้ในการชวนทุกคนมาตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาห้องน้ำสาธารณะตามแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมความเท่าเทียมกันของทุกคนบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าเขาหรือเธอจะมีอัตลักษณ์ทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศอย่างไร
ห้องน้ำไร้เพศ (Gender-neutral Restroom) เกิดขึ้นแล้วภายในพื้นที่สาธารณะหลายแห่งทั่วโลก ทั้งมหาวิทยาลัย ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ ที่ทำการหน่วยงานของรัฐ ฯลฯ สิ่งนี้นับเป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์ว่าพื้นที่สาธารณะนั้นมีความตั้งใจทลายแนวคิดเรื่องข้อจำกัดและความจำเพาะที่ขึ้นอยู่กับเพศสภาพของแต่ละคนอย่างจริงจัง เพราะการปลดทุกข์เป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นพื้นฐานที่สุด จึงไม่ควรมีการกีดกันเกิดขึ้นไม่ว่ากับใครก็ตาม
(ป้ายห้องน้ำไร้เพศ ที่ Swedish Museum of Natural History ประเทศสวีเดน)
ห้องน้ำไร้เพศดีอย่างไร?
1. เป็นมิตรต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ห้องน้ำไร้เพศแสดงถึงการได้รับการยอมรับ และการมีพื้นที่ปลอดภัยที่เป็นรูปธรรมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะผู้คนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องฝืนแสดงตัวบนพื้นที่สาธารณะ หรือต้องระแวงสายตาคนรอบข้างอีกต่อไป ว่าตนเองเอนเอียงไปทางเพศชายหรือเพศหญิง เพียงเพื่อจะปลดทุกข์ในห้องน้ำแต่ละครั้ง
2. ลดระยะเวลารอคิว ในเมื่อทุกคนมีสิทธิใช้ห้องน้ำว่าง ห้องน้ำไร้เพศจึงสามารถช่วยลดแถวรอคิวที่ยาว โดยเฉพาะห้องน้ำหญิง ในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก
3. เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึง ห้องน้ำไร้เป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือผู้ปกครองที่มากับลูกเล็กต่างเพศ รวมถึงผู้พิการที่อาจต้องการความช่วยเหลือจากผู้ดูแลต่างเพศ
เตรียมพร้อมก่อนทลายกำแพงห้องน้ำชาย-หญิง
1. สร้างมาตรฐานความเป็นส่วนตัว ด้วยการออกแบบห้องน้ำแต่ละห้องให้ฉากกั้นตั้งแต่พื้นจรดเพดานและประตูเต็มความสูงเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และคำนึงถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เช่น การระบายอากาศ กลิ่น และระบบจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล
2. การดูแลความปลอดภัย เมื่อออกแบบให้ห้องน้ำแต่ละห้องเป็นส่วนตัวมากขึ้น ก็ต้องมีมาตรการในการเฝ้าระวังความปลอดภัย และการบังคับใช้กติกาที่เคารพซึ่งกันและกัน รวมถึงมาตรการเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมาย เช่น การสูบบุหรี่ การใช้ยาเสพติด การกลั่นแกล้ง และการล่วงละเมิดในรูปแบบต่าง ๆ
3. ความเหมาะสมทางวัฒนธรรม สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเมื่อจะสร้างห้องน้ำไร้เพศ ก็คือความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนาของชุมชนในพื้นที่นั้น ๆ ดังนั้น อาจเริ่มต้นด้วยการจัดสรรพื้นที่บางส่วนสำหรับห้องน้ำไร้เพศ ควบคู่ไปกับห้องน้ำแยกชายหญิงแบบเดิมเพื่อให้ผู้คนได้ทำความคุ้นเคยกับแนวคิดนี้ รวมถึงทดลองกฎกติกาและการบริหารจัดการให้ลงตัวก่อน แล้วจึงเปลี่ยนแปลงทั้งหมด
4. การรักษาความสะอาด เช่น การมีจำนวนห้องน้ำที่เหมาะสมกับสัดส่วนผู้ใช้งาน ลดความแออัดและลดความเสี่ยงต่อเชื้อโรคที่สะสมมากเกินไประหว่างรอบการทำความสะอาด การแยกโถปัสสาวะของผู้ที่ปัสสาวะในท่ายืนให้อยู่ห่างจากสุขภัณฑ์อื่น ๆ ในห้องน้ำหรือทำฉากกั้น รวมถึงการจัดตารางทำความสะอาดที่เหมาะสม
5. ต้นทุน จากแต่ละข้อข้างต้น การเปลี่ยนไปใช้ห้องน้ำไร้เพศจึงมีต้นทุนเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูง ทั้งในการก่อสร้างและการบริหารจัดการ ทั้งนี้ ต้นทุนดังกล่าวก็อาจคุ้มทุนเมื่อพิจารณาจากคุณค่าและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว จากการที่ผู้คนรู้สึกถึงความเท่าเทียมและเป็นสมาชิกในสังคมนั้น ๆ อย่างถ้วนหน้ากัน
แม้ในปัจจุบัน แนวคิดเรื่องห้องน้ำไร้เพศอาจยังไม่แพร่หลายนักในประเทศไทยหรือในทวีปเอเชีย เนื่องด้วยบริบททางวัฒนธรรมและปัจจัยต่าง ๆ แต่ในอนาคต เมื่อห้องน้ำไร้เพศกลายเป็นความปกติ และแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมสามารถนำมาปรับใช้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างลงตัวยิ่งขึ้น เราอาจจะได้เห็นห้องน้ำไร้เพศภายในพื้นที่สาธารณะในสังคมของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นได้
อ้างอิง [1], [2], [3], [4], [5]