สยามเมื่อครั้งสถาปนารัฐชาติ มีโครงการสำคัญเกิดขึ้นจำนวนมาก กล่าวคือหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 1 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปลายปี พ.ศ. 2411 มีการปรับเปลี่ยน บัญญัติกฎระเบียบ และริเริ่มการบริหารจัดการไพร่พลอย่างเป็นระบบต่อเนื่องเรื่อยมา เช่น การเริ่มจัดตั้งกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2413 การตราพระราชบัญญัติข้อบังคับสำหรับกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2420 และการจัดตั้งกรมทหารหน้า เมื่อ พ.ศ. 2423
สืบเนื่องจากการสร้างและการปฏิรูปทหาร หนึ่งในโครงการแรก ๆ ที่ช่วยวางรากฐานให้สยามกลายเป็นรัฐชาติสมัยใหม่เทียบเท่านานาอารยประเทศ คือ การสร้างโรงทหารหน้า ที่เป็นหมุดหมายของวิวัฒนาการทางการทหารของไทยสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน
สำหรับกิจกรรม TK Small Tour เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 TK Park ได้รับโอกาสสุดพิเศษจากกระทรวงกลาโหม ให้นำทีมคณะนักเรียนรู้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศาลาว่าการกลาโหม (Defence Hall Museum) และพิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ (Ancient Artillery Museum) ถนนสนามไชย ตรงข้ามพระบรมหาราชวัง ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน และต้องติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชมเท่านั้น!
หลังจบกิจกรรมนี้ TK Park ขอแบ่งปันเรื่องราวที่จะทำให้การเยี่ยมชมครั้งต่อไปของทุกคนมีความหมายยิ่งขึ้น ดังนี้
1. โครงการสร้างโรงทหารหน้า
ศาลาว่าการกลาโหม ซึ่งเป็นที่ทำการของกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน เป็นอาคารโบราณ 3 ชั้น สร้างโดยช่างชาวอิตาลีแบบนีโอปัลลาเดียนในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2425 ด้วยความตั้งใจใช้เป็นที่พักของทหารหน้า ซึ่งเป็นเหล่าทหารที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในงานพระราชพิธีที่พระบรมหาราชวังในโอกาสสำคัญต่าง ๆ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ซึ่งต่อมาได้เป็น จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เป็นแม่กองในการก่อสร้าง โดยมีนายพันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ วิศวกรทุนพระราชทาน เป็นผู้ช่วยแม่กองในการก่อสร้าง กลางปี พ.ศ. 2427 เมื่อการก่อสร้างเริ่มจะเสร็จสมบูรณ์ เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสง-ชูโต) ได้ทำหนังสือทูลเกล้าถวายฯ เพื่อขอพระราชทานนามเพื่อประดับที่หน้าบันของหน่วยทหารนี้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานตอบโดยให้คงชื่อโรงทหารหน้าไว้ และระบุเลขศักราชเพิ่มเข้าไปเพียงเท่านั้น
ณ ที่ตั้งของกระทรวงกลาโหมปัจจุบัน นั้นเป็นที่ตั้งของฉางหลวงเก่า ตั้งอยู่ข้างๆ ศาลหลักเมือง โดยมีขอบเขตทางด้านตะวันออก คือ ตั้งแถวตามริมคลองหลอด จนถึงสะพานช้างโรงสี ส่วนด้านยาว ยาวจากศาลหลักเมืองไปถึงฉางข้าวริมคลองหลอด จัดตั้งเป็นอาคาร 3 ชั้น มีลานกว้างตรงกลาง ค่าก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 7,000 ชั่ง (560,000 บาท) ซึ่งรวมถึงค่าเครื่องตกแต่งและอุปกรณ์ประกอบประมาณ 125 ชั่ง (20,000 บาท) สามารถนำไปใช้สำหรับการบรรจุกำลังพล อาวุธ รถพยาบาล รถม้า และโรงครัวของกรมทหารหน้าได้ทั้งหมด โดยมีการจัดแบ่งพื้นที่การใช้งาน ดังนี้
ทิศเหนือ ชั้นบนเป็นที่อยู่ของทหาร ชั้นกลางเป็นที่ประชุมและอบรมทหาร และชั้นล่างเป็นคลังเก็บอุปกรณ์ทหาร
ทิศใต้ จัดแบ่งเหมือนด้านทิศเหนือ โดยมีหอนาฬิกา โรงงาน และที่ประชุมและอบรมทหาร
ทิศตะวันตก เป็นด้านหน้าอาคาร ตรงข้ามกับวัดพระแก้ว หัน อาคารชั้นบนเป็นที่เก็บอาวุธและเป็นพิพิธภัณฑ์ทหาร ชั้นกลางเป็นที่ประชุมของนายทหาร และชั้นล่างเป็นที่ฝึกฝนดาบ
ทิศตะวันออก เป็นด้านหลังอาคาร มีสระน้ำ และฉางข้าวสำหรับเก็บข้าวสารและโรงครัวประกอบเลี้ยงทหาร
เมื่ออาคารหลังนี้สร้างเสร็จ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นโรงทหารหน้าและเสด็จมาในพิธีเปิดใช้อาคาร เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2427 ต่อมามีประกาศจัดการทหาร โดยรวมทหารบกและทหารเรือเข้าด้วยกัน และจัดตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้น ในวันที่ 8 เมษายน 2430 ทำให้อาคารโรงทหารหน้ากลายเป็นที่ทำการของกรมยุทธนาธิการ และในปี พ.ศ. 2437 มีการแบ่งแยกการปกครองออกจากกระทรวงมหาดไทย และรวมการบังคับบัญชาทางการทหารมาไว้ที่กระทรวงกลาโหม และย้ายกระทรวงกลาโหมออกจากศาลาลูกขุนใน มายังศาลายุทธนาธิการ อาคารนี้จึงกลายเป็นที่ทำการของกระทรวงกลาโหมมาจนถึงปัจจุบัน
2. การจัดสรรพื้นที่ส่วนจัดแสดง
ที่ด้านหน้าอาคารศาลาว่าการกลาโหมมีปืนใหญ่โบราณกว่า 40 กระบอก ตั้งเรียงรายกัน ส่วนตัวพิพิธภัณฑ์ศาลาว่าการกลาโหม (Defence Hall Museum) และพิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ (Ancient Artillery Museum) อยู่ภายในอาคาร มีส่วนจัดแสดงหลักสองห้อง คือห้องต้อนรับ ที่มีโมเดลจำลองอาคารและพื้นที่ต้อนรับ และอีกห้องที่มีขนาดใหญ่กว่า ประกอบด้วยวัตถุจัดแสดงนานาและภาพแผนผังปืนใหญ่ ซึ่งจากห้องนี้ ผู้เยี่ยมชมสามารถมองลอดหน้าต่างกระจกออกมาเห็นปืนใหญ่เหล่านี้ได้ โดยปืนใหญ่แต่ละกระบอกสะท้อนถึงศิลปะการออกแบบของแต่ละยุคสมัย หนึ่งในปืนใหญ่ที่สำคัญคือ คือ “ปืนใหญ่พญาตานี” ปืนใหญ่โบราณที่ยาวที่สุดในประเทศไทย หล่อขึ้นจากสำริด ปลายปืนเป็นรูปสังข์ปลายงอน เพลาปืนประดับรูปราชสีห์ บนกระบอกปืนมีจารึกว่า "พญาตานี" ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณสนามฝั่งทิศใต้ ตัวปืนมีรูชนวนบริเวณท้ายปืน และห่วงสำหรับยก 4 ห่วง
ชื่อของปืนกระบอกอื่น ๆ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางทหารกับชนชาติต่าง ๆ เช่น ไทใหญ่เล่นหน้า ฝรั่งร้ายปืนแม่น ขอมดำดิน ยวนง่าง้าว จีนสาวไส้ ฯลฯ
พิพิธภัณฑ์ศาลาว่าการกลาโหมและพิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์จากโรงทหารหน้า สู่ศาลาว่าการกลาโหม และเรื่องราวสำคัญของทหารไทยยุคใหม่ หลังการสถาปนารัฐชาติแบบสากลในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยทั้งสองพิพิธภัณฑ์เปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะ โดยไม่คิดค่าเข้าชม ตามเงื่อนไขที่ทางพิพิธภัณฑ์กำหนด
3. บรรยากาศและสิ่งอำนวยความสะดวก
พิพิธภัณฑ์ศาลาว่าการกลาโหมและพิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ ตั้งอยู่ที่ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิดให้บริการเฉพาะในวันเวลาราชการ และต้องนัดหมายล่วงหน้าเนื่องจากจำเป็นต้องมีผู้นำชมพิพิธภัณฑ์ และผู้อำนวยสะดวกในการผ่านประตูเข้า–ออกจากฝั่งศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ที่มีทหารยามคอยคุ้มกันอย่างเคร่งครัดตลอดเวลา ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม และสามารถเดินทางมาด้วยโดยรถประจำทาง รถไฟฟ้า MRT สถานีสนามไชย หรือทางเรือ ที่สถานีท่าช้างหรือท่าพระจันทร์ (หมายเหตุ: ข้อมูลข้างต้นอาจมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาตรวจสอบกับทางพิพิธภัณฑ์อีกครั้งก่อนเข้าชม)
ลักษณะพื้นที่ส่วนจัดแสดงหลักทั้งสองห้อง (ห้องต้อนรับและห้องวัตถุจัดแสดง) มีความสงบ เป็นสัดส่วน ประกอบวัตถุจัดแสดงจำนวนไม่มากจึงทำให้พื้นที่ไม่แออัด ที่ห้องวัตถุจัดแสดงมีบันไดที่ยกระดับให้ผู้เข้าชมสามารถขึ้นไปมองลอดหน้าต่างกระจกออกมาชมเหล่าปืนใหญ่เทียบกันกับแผนผังปืนใหญ่ที่แสดงอยู่ในห้องได้ บรรยากาศโดยรวมปลอดโปร่ง มีเจ้าหน้าที่ต้อนรับและอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้แก่ผู้เข้าชม ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์สามารถเข้าเยี่ยมชมได้เนื่องจากพิพิธภัณฑ์อยู่บริเวณชั้นล่างของอาคาร ทั้งนี้ ควรตรวจสอบรายละเอียดเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ จากเจ้าหน้าที่ขณะนัดหมายเข้าชม
สำหรับการนัดหมายและข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับการเข้าชม สามารถตรวจสอบได้ทาง Facebook Page ของพิพิธภัณฑ์ศาลาว่าการกลาโหมและพิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ ที่นี่↗
4. วัตถุจัดแสดงชิ้นสำคัญ
ดังที่กล่าวข้างต้น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีวัตถุจัดแสดงจำนวนไม่มาก ทว่าล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุชิ้นสำคัญที่บอกเล่าเหตุการณ์สำคัญทางการทหารของสยามและประเทศไทยไว้ได้เป็นอย่างดี TK Park จึงขอยกตัวอย่างวัตถุชิ้นสำคัญที่ผู้เข้าชมไม่ควรพลาด นอกเหนือจากจากปืนใหญ่โบราณที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น มีดังนี้
ประติมากรรมปูนปั้นจอมพลและมหาอำมาตย์เอก
ประติมากรรมชิ้นนี้จัดแสดงอยู่บริเวณห้องต้อนรับ เป็นรูปปูนปั้นขนาดเท่าคนจริง ครึ่งตัว เขียนสี ของจอมพลและมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ซึ่งเป็นผู้ริเริมก่อตั้งอาคารโรงทหารหน้า แต่งกายแบบสากล คือสวมเสื้อสูท คลุมทับเสื้อข้างใน และผ้าผูกคอหูกระต่าย รูปปั้นนี้ท่านสั่งให้ช่างที่ประเทศอังกฤษทำขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกก่อนเดินทางกลับสยาม ด้านหน้ามีแกะสลักว่า CHIRM 1879 และด้านหลังมีชื่อศิลปินและปีที่สร้างไว้ว่า D.B. RUCCIANI LONDON 1879
ตราประทับพระคชสีห์
ตราประทับพระคชสีห์คือสัญลักษณ์ของกระทรวงกลาโหม ประกอบด้วยตรา 3 ดวง คือ ตราพระคชสีห์ใหญ่ พระคชสีห์น้อย และพระคชสีห์เดินดง ที่จัดเก็บอยู่ในเตียบประดับมุก ตราเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
สมุดรายชื่อทหารไทยกองอาสา
สมุดรายชื่อทหารไทยกองอาสาไปสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทวีปยุโรป จำนวน 1,424 นาย ที่บันทึกรายชื่อของทหารทุกนาย และมีฉบับสำเนาที่เปิดให้สาธารณะมาค้นรายชื่อญาติของตนเองที่อาจเคยไปสงครามครั้งนั้นได้
สมุดพกทหารอาสา
สมุดพกที่จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2461 ให้ผู้บังคับบัญชาทหารอาสาเป็นผู้แจกจ่ายให้แก่ทหารไทยกองอาสานำได้นำไปใช้สื่อสารกับทหารต่างประเทศ ภายในสมุดพก ประกอบด้วยตารางเทียบคำภาษาไทย อังกฤษ และฝรั่งเศส โดยแบ่งเป็นหมวดต่าง ๆ เช่น การนับจำนวน หรือคำถามและคำตอบเกี่ยวกับชีวิตประจำวันในการทหารอาสา
นอกจากนี้ ยังมีแบบเรียนตำราแบบฝึกทางการทหารสมัยรัชกาลที่ 5 ภาพประวัติศาสตร์ศาลาว่าการกลาโหม กลุ่มสมุดบัญชีไทยดำ 80 เล่ม และหัวเสาธงชาติอีกด้วย
5. ประเด็นส่งท้าย
แม้พิพิธภัณฑ์ศาลาว่าการกลาโหมและพิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ต้องวางแผนล่วงหน้าในการเดินทางไปเยี่ยมชม และเปิดให้เข้าชมเฉพาะในวันเวลาราชการเท่านั้น แต่ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ควรพลาด โดยเฉพาะผู้ที่สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ยุคอาณานิคม เพราะทั้งตัวอาคารและพิพิธภัณฑ์ คือหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงถึงความพยายามอย่างยิ่งของสยามในการยกระดับระบบบริหารราชการ แสนยานุภาพทางทหาร ด้วยความรู้และศักยภาพของชนชั้นนำของสยามที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ หรือได้รับการศึกษาตามหลักสูตรของชาวตะวันตกเป็นรุ่นแรก ๆ
ติดตามไฮไลต์ของกิจกรรม TK Small Tour ที่พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน ในรูปแบบวิดีโอได้ที่นี่และทางช่อง YouTube ของ TK Park↗ ได้เร็ว ๆ นี้