อุทยานการเรียนรู้ TK Park ตั้งอยู่ชั้นบนของห้างสรรพสินค้าใหญ่ และจากระดับที่ลอยขึ้นเหนือผืนดิน หลายครั้งเราอาจมองไม่เห็นความเคลื่อนไหวที่อยู่บนพื้นราบได้ถนัดตา
ในเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2023 เราจึงชักชวนมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ หรือ BIGTrees Project มานำเดินสำรวจสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอันหลากหลายในสวนปทุมวนานุรักษ์ พื้นที่สีเขียวในโอบล้อมของตึกสูง กับกิจกรรม NATURE LAB
งานนี้ BIGTrees หอบหิ้วเครื่องไม้เครื่องมือในการสำรวจและความรู้ปนความสนุกจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องธรรมชาติมาต้อนรับผู้เข้าร่วม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่มีเด็กเล็ก และนักสำรวจรุ่นเล็กที่สุดมีอายุเพียง 3 ขวบเท่านั้นเอง และเมื่อนักสำรวจส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเล็ก กิจกรรมนี้จึงให้บรรยากาศที่ผสมรวมทั้งการเรียน การทดลอง และการเล่นสนุก
BIGTrees คือใคร
มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ หรือ BIGTrees Project คือกลุ่มคนที่ต้องการสร้างความตระหนักให้ผู้คนรู้สึกถึงความรับผิดชอบในการบำรุงพื้นที่สีเขียวให้ยั่งยืนไปพร้อมกับเมือง พวกเขาเชื่อว่า “สิ่งที่ต้นไม้ในเมืองต้องการคือการดูแลอย่างถูกต้องบนพื้นฐานของความเข้าใจ” ภารกิจของพวกเขาจึงเน้นการปลูกปั้นนักดูแลต้นไม้ และสั่งสมเครือข่ายนักดูแลต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างอาสาสมัคร ชุมชน ภาครัฐ และเอกชน ซึ่งพยายามสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับธรรมชาติให้คนอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว
พื้นที่สีเขียวในเมืองสำคัญไฉน
ต้นไม้ใช้งานสารประกอบในอากาศสวนทางกับปอดของมนุษย์ ต้นไม้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์แล้วคายออกซิเจนสู่ภายนอก ขณะที่ปอดของมนุษย์และสัตว์จำนวนมากทำตรงกันข้าม ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้โลกใบนี้มีสมดุลซึ่งเอื้อต่อสรรพชีวิตมายาวนาน จึงไม่แปลกที่ว่า แม้สังคมมนุษย์จะพัฒนาไปอย่างไร พื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจก็ยังคงเป็นสวัสดิภาพอย่างหนึ่งซึ่งจำเป็นต่อสุขภาพกายและใจของมนุษย์
สวนสาธารณะเป็นได้ทั้งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นพื้นที่ให้ผู้คนได้มาใช้เวลาร่วมกัน และสถานที่จัดกิจกรรมนันทนาการ แสดงดนตรี สร้างความสนุกสนานรื่นเริงชวนผ่อนคลาย เป็นเหมือนโอเอซิสใจกลางเมืองที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนเมืองในด้านสุขภาพ สังคมเมืองที่น่าอยู่ และเปิดโอกาสให้กับความสร้างสรรค์
และพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองก็เป็นลานแห่งการเรียนรู้ได้ด้วย กิจกรรม NATURE LAB ในครั้งนี้ สวนปทุมวนานุรักษ์ได้กลายเป็นห้องแล็บแห่งธรรมชาติให้ผู้เข้าร่วมได้ใช้สองตาสอดส่อง สองมือสัมผัส และรู้จักตั้งคำถามต่อสิ่งที่เห็นอยู่ทุกวันแต่อาจไม่เคยเอะใจ ว่าทำไมพื้นที่ธรรมชาติแบบนี้จึงสามารถมอบทั้งความสบายใจและความรู้ให้กับผู้ที่เดินเข้าหามัน
ทำไมเราต้องเข้าใจธรรมชาติ
“เอ๊ะ นี่ตัวอะไร?” คือคำถามยอดฮิตจากเสียงเจื้อยแจ้วของเด็กเล็ก ๆ ตลอดการสำรวจสวนปทุมวนานุรักษ์ ตามด้วยเสียงของวิทยากรที่ช่วยไขความกระจ่าง โดยเฉพาะในเรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในพื้นที่สีเขียว
ตัวอย่างแรก เจ้าด้วงสีแดงลายจุดสีดำไม่ได้มีชื่อว่าเต่าทองเหมือนยี่ห้อขนม แต่ชื่อ "ด้วงเต่าลาย" ต่างหาก! ด้วงตัวนี้มักกัดกินใบไม้ในสวนของเราจนเกิดรูโหว่ชวนหงุดหงิดใจ แต่หารู้ไม่ว่าหากไม่มีมันคอยกินศัตรูพืช เช่น เพลี้ยแป้ง ศัตรูพืชก็อาจจะเข้ามารุกรานจนต้นไม้ของเราตาย แถมมูลของด้วงเต่าลายก็เป็นปุ๋ยชั้นดีให้ต้นไม้ด้วย ดังนั้น การกำจัดแมลงทุกชนิดหรือซากไม้ชื้น ๆ ที่มีราขึ้นให้สิ้นซากจากสวนของเราอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะในความไม่เป็นระเบียบสะอาดตาเหล่านี้ ซากไม้กำลังทำหน้าที่เป็นบ้านให้กับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากมาย และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กก็ยังใช้ชีวิตของมันอย่างขะมักเขม้น ซึ่งการมีอยู่ของพวกมันล้วนสำคัญต่อสมดุลของระบบนิเวศด้วยกันทั้งนั้น
กว่าจะหมดวัน ทีมนักสำรวจก็ได้ทำความรู้จักสัตว์ใหญ่น้อย ต้นไม้นานาพันธุ์ และปะติดปะต่อภาพรวมของห่วงโซ่อาหาร ได้รับพื้นฐานความรู้ที่อาจต่อยอดให้กับภารกิจบริหารจัดการสวนหน้าบ้านตัวเอง เช่น การรักษาสมดุลสิ่งมีชีวิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมทั้งในแง่จำนวนและความหลากหลาย รวมถึงการดูแลสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นด้วยวิธีคิดที่ครอบคลุม และแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องนั่นเอง
สวนหน้าบ้านที่บ่งบอกได้ถึงสุขภาวะของคนในบ้าน สภาพพื้นที่สีเขียวในเมืองก็บ่งบอกถึงสุขภาวะของคนเมือง การดูแลพื้นที่สีเขียวในเมืองร่วมกันด้วยความเข้าใจจะส่งผลให้พื้นที่เหล่านั้นเติบโตอย่างแข็งแรง และเอื้อให้คนเมืองได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากสวนสาธารณะในแง่มุมต่าง ๆ อย่างที่เล่าไว้ข้างต้น
ปลูกฝังความเข้าใจ เพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
ผลประกอบการของห้องทดลองสีเขียวขนาดใหญ่ NATURE LAB ในวันนี้เป็นที่น่าพอใจ เห็นได้จากท่าทีของเหล่านักสำรวจรุ่นเล็กที่เปลี่ยนจากความกล้า ๆ กลัว ๆ ในตอนแรก ไปเป็นความแปลกใจ สงสัยใคร่รู้ และสนุกสนานกับการค้นพบธรรมชาติ ในช่วงต้นของกิจกรรมเด็ก ๆ จะชักมือหนี หรือบางครั้งก็กรีดร้องเวลาเจอแมลงที่หน้าตาไม่คุ้นเคย แต่ในช่วงท้ายของกิจกรรมพวกเขากลับเดินเข้าไปสังเกต ลองจับ และถามคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เห็น
เมื่อสะท้อนกลับมายังผู้ใหญ่ เราอาจลองตั้งคำถามง่าย ๆ ถึงบทบาทในการเป็นผู้ชักชวนชี้แนะ และสื่อสารให้เด็ก ๆ เข้าใจธรรมชาติและไม่เผลอทำร้ายสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ด้วยความไม่เข้าใจ เพราะนี่คือบทบาทที่สำคัญในการส่งต่อภารกิจดูแลพื้นที่สีเขียวไปสู่คนรุ่นถัดไป และประเด็นนี้คือสิ่งที่ผู้จัดกิจกรรมต้องการเน้นย้ำเมื่อพูดเรื่องการรักษาสมดุลทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน
เมื่อสิ้นสุดการสำรวจ ห้องทดลองนี้ไม่ได้ทำให้เราค้นพบสูตรลับทางวิทยาศาสตร์หรือขุดพบขุมทรัพย์สีทอง แต่ขุมทรัพย์สีเขียวนี่แหละคือหนึ่งในทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดของมนุษย์ การส่งต่อความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติไปสู่คนรุ่นใหม่ จะส่งผลให้พวกเขาใช้ชีวิตด้วยทัศนคติที่ดีต่อธรรมชาติ และจะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังเองเมื่อความรู้ความเข้าใจเหล่านี้เกิดเป็นผลลัพธ์อันประเมินค่าไม่ได้ให้กับเมืองของเราในอนาคต