แหล่งเรียนรู้อาจเอื้อต่อการถ่ายทอดและส่งต่อองค์ความรู้อย่างเป็นระเบียบแบบแผน ในทางตรงกันข้าม พื้นที่นอกแหล่งเรียนรู้อาจประกอบไปด้วยเรื่องราวที่กระจายตัวอยู่และรอให้เราไปสกัดเป็นความรู้
TK Park จึงถือโอกาสใช้เทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2023 บุกเบิกเส้นทางการเรียนรู้บนพื้นที่ที่หลากหลายกว่าเดิม โดยใช้จุดเด่นของกรุงเทพมหานคร คือความเป็นเมืองที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน ชุมชน การจราจร ที่ผสมปนเปกลายเป็นมหานครที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว
กิจกรรม ‘รอบบ้านชานครัว’ หนึ่งในกิจกรรม Wonder Walk เพื่อให้การเรียนรู้ขับเคลื่อนไปตามจังหวะก้าวเท้า ตั้งใจเชื่อมโยงคนหลายกลุ่มเข้าด้วยกันอย่างเรียบง่ายและพื้นฐานที่สุด โดย TK Park เป็นตัวกลางในการพาคนทั่วไปที่สนใจ เข้าไป ‘เดิน’ เที่ยวชมบ้าน ลิ้มรสอาหารจากครัว และพูดคุยกับผู้คนที่อาศัยอยู่ใน ‘ชุมชนบ้านครัว’ ที่ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวชาวแขกจามที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเกิน 2 ศตวรรษแล้ว ปัจจุบันชุมชนนี้กำลังเริ่มสนใจเรื่องวิถีชุมชน อัตลักษณ์ท้องถิ่น ที่อาจขยับไปเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาชุมชนในด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต
เมื่อผู้นำชุมชนอารมณ์ดี ซึ่งวันนี้รับหน้าที่เป็นผู้นำสำรวจ มาพบกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ต่างก็มีความสนใจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นทุนเดิม กิจกรรมในวันนั้นจึงเต็มไปด้วยบทสนทนาแลกเปลี่ยนสู่กันฟัง กลายเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์แบบสนุก ๆ บนเส้นทางยาวนานกว่า 200 ปี ตั้งแต่ก่อนที่ชุมชนบ้านครัวจะน่าอยู่และน่าเที่ยวอย่างที่เป็นในปัจจุบัน
ผู้คนคือเสาหลัก
แม้ชาวชุมชนบ้านครัวส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวแขกจามจากนครจามปาที่มาบุกเบิกบริเวณนี้ให้เป็นถิ่นอาศัย แต่ก็กล่าวได้ว่าที่นี่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ก็มีคนอีกหลายกลุ่ม เช่นคนอีสาน และคนจีน ย้ายเข้ามาอยู่ตามการเติบโตของสังคมเมือง ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาเหล่านี้ก็นำพาวัฒนธรรมอื่น ๆ เข้ามาในพื้นที่ด้วย
การอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ จากปากคำของคนในชุมชนแห่งนี้ การอยู่อาศัยของคนที่นี่อยู่บนพื้นฐานของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เช่น ช่วงเทศกาลไหว้เจ้า คนจีนมักเตรียมอาหารในปริมาณมากเพื่อเผื่อแผ่คนรู้จักหรือเพื่อนบ้าน คนจีนเหล่านี้ก็คำนึงเสมอว่าชาวมุสลิมรับประทานอะไรได้หรือไม่ได้ แล้วจึงจัดอาหารมาให้ตามความเหมาะสม
แต่เอ๊ะ! คนต่างเชื้อชาติศาสนาจะสัมพันธ์กันฉันท์เพื่อนบ้านแค่นั้นหรือเปล่า หรือจะร่วมมือกันในระดับแน่นแฟ้นกว่านั้นได้อีก คำถามนี้คลี่คลายตัวเองเมื่อกิจกรรมดำเนินล่วงไป เพราะงานพัฒนาพื้นที่สาธารณะ การซ่อมแซมบ้านเรือน และการจัดระเบียบทางสาธารณะที่ปรากฏให้เห็น ล้วนสะท้อนว่าคนในชุมชนบ้านครัวมีส่วนร่วมในการออกความเห็น และจากคำบอกเล่า คนที่นี่ก็ไม่ได้เห็นตรงกันทั้งหมดในทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยที่สุด การระดมความเห็นก็นำไปสู่การหันหน้ามาพูดคุยกันมากกว่าต่างคนต่างอยู่ และการหาข้อตกลงกลางร่วมกันก็ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียว เสมือนว่าชุมชนคือบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่ง
บ้านคือรากฐาน พื้นที่ส่วนกลางคือหลังคา
กาลเวลาย่อมทำให้สิ่งก่อสร้างทรุดโทรมลง ชุมชนบ้านครัวซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่จึงต้องมีการปรับปรุงสภาพบ้านเรือนและพื้นที่สาธารณะอยู่เสมอ บ้านเรือนที่นี่ส่วนมากเป็นบ้านไม้เก่า บางหลังเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ควรอนุรักษ์ แต่บางหลังก็ถูกทิ้งร้างหรือขาดงบประมาณในการดูแล ชุมชนจึงประสานงานขอรับการอุดหนุนจากภาครัฐ เพื่อเป็นทุนตั้งต้นในการซ่อมแซมบ้าน โดยที่กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างก็เป็นคนในชุมชนเอง โครงการต่อเนื่องลักษณะนี้จึงได้พัฒนาทั้งด้านภูมิทัศน์และคุณภาพชีวิต เพราะสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชนไปพร้อมกัน
นอกเขตรั้วบ้าน พื้นที่ส่วนกลางของชุมชนก็ได้รับการพัฒนาด้วยเช่นกัน เมื่ออุโมงค์ทางเดินริมคลองใต้สะพานเจริญผลถูกแต้มสีใหม่ด้วยสีชมพูสดใส พร้อมภาพการ์ตูนเล่าเรื่องของชุมชนบ้านครัวกับวิถีชีวิตริมคลองแสนแสบในสมัยก่อน พื้นที่บริเวณนี้ก็ดูมีชีวิตชีวาขึ้น ผู้คนใช้โอกาสจากพื้นที่ นำสินค้ามาขาย เช่น อาหารฮาลาลและอาหารชาวแขกจาม และยังมาพบปะพูดคุย เกิดเป็น ตลาดนัดบ้านครัว พื้นที่ทางเศรษฐกิจขนาดย่อมขึ้นมา
อีกหนึ่งตัวอย่างของการสร้างพื้นที่สำหรับชุมชนคือการสร้างสวนสาธารณะ ชุมชนบ้านครัวมีลานกีฬาพัฒน์ 2 ซึ่งเป็นลานกีฬาขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยสนามเด็กเล่น เครื่องออกกำลังกาย และลานอเนกประสงค์ ให้คนทุกเพศทุกวัยออกมาทำกิจกรรมที่ดีต่อทั้งกายและใจ เป็นสวนสุขภาพขนาดเล็กหรือ 'สวน 15 นาที' ที่สามารถเดินเท้ามาได้จากบ้าน และทำให้การรวมกลุ่มและการสร้างความคุ้นเคยของคนในละแวกเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น
วัฒนธรรมคือผนังที่แข็งแรง
สำหรับชุมชนแห่งนี้ เมื่อผู้คนคือเสาหลัก บ้านคือรากฐาน พื้นที่ส่วนกลางคือหลังคา วัฒนธรรมของที่นี่ก็เปรียบเป็นผนังหรือปราการที่แข็งแรง ที่ประกอบกันให้ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นบ้านที่สมบูรณ์ และเมื่อพูดถึงวัฒนธรรม คนในชุมชนบ้านครัวภูมิใจนำเสนอเมนูอาหารแขกจามและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทอ
เมนูชูโรงที่ที่อร่อยเด็ดและมีเกร็ดเรื่องราวให้เจ้าบ้านนำมาเล่าได้อย่างสนุกสนาน คือ 'แกงส้มเขมร' หรือ 'แกงส้มเนื้อ' ซึ่งเป็นเมนูของชาวมุสลิมจามที่ว่ากันว่าพบได้ที่นี่เท่านั้น เพราะเคยมีคนจากบ้านครัวไปตามหาเมนูนี้ในชุมชนแขกจามที่อื่นแต่ก็ยังไม่พบ
สำหรับ 'ผ้าไหมทอ' เกิดจากภูมิปัญญาการทอผ้าถูกส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และแม้เมื่อก่อนคนในบ้านจะทอผ้าใช้กันในบ้านเท่านั้น แต่ตั้งแต่ที่ จิม ทอมป์สัน ฃบุกเบิกธุรกิจผ้าไหม หลายครัวเรือนก็เริ่มผลิตผ้าไหมสีสดสวยออกขายไปยังตลาดภายนอก รวมถึงสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันนี้ ผู้ผลิตผ้าไหมเพียงรายเดียวที่เหลืออยู่ในชุมชนบ้านครัว คือ นิพนธ์ มนูทัศน์ เจ้าของกิจการผ้าไหมรุ่นที่ 3 ซึ่งมีโรงทอผ้าที่ใหญ่ที่สุดในชุมชนบ้านครัว
เมื่อสิ้นสุดวัน ทั้งผู้จัด ผู้นำสำรวจ และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ต่างก็ไม่แน่ใจว่าตลอดกิจกรรมมีบทสนทนาเกิดขึ้นกี่บท ผ่านเรื่องเล่าไปกี่เรื่อง แต่ที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ ผู้คนในชุมชนก็ได้หวนนึกถึงเรื่องราวในอดีตทั้งที่ย้อนไปใกล้และไกล และได้สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ให้ปรากฏชัดขึ้น ในขณะที่ผู้เยี่ยมเยือนก็ได้รับความอิ่มหนำสำราญ สนุกสนาน ประทับใจ และได้ก้าวกลับออกไปในฐานะที่ไม่ใช่คนแปลกหน้าต่อกันและกัน
TK Park หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรม ‘รอบบ้านชานครัว’ จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการพัฒนาชุมชนในเขตเมืองในด้านสังคมและวัฒนธรรม ให้กลายเป็นต้นทุนที่สร้างมูลค่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ในอนาคต