เรารู้จักสวนสุนันทาในฐานะมหาวิทยาลัยราชภัฎที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง แต่น้อยคนนักจะทราบว่าภายในรั้วมหาวิทยาลัยมีพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ซ่อนอยู่
เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดพื้นที่ให้อุทยานการเรียนรู้ TK Park จัดกิจกรรม TK Small Tour พาผู้สนใจด้านศิลปวัฒนธรรมเข้าชมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ พิพิธภัณฑ์วังสวนสุนันทา↗ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดขององค์ความรู้วิชาการบ้านการเรือนของสยามตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิชาคหกรรมศาสตร์ในยุคปัจจุบัน
ถ้าจะถามว่าเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์วังสวนสุนันทาแห่งนี้มีอะไรบ้าง เรื่องแรกคือ วังสวนสุนันทาเคยเป็นศูนย์กลางของราชสำนักฝ่ายในซึ่งนับว่าเป็นเขตหวงห้ามสำหรับบุคคลนอก และที่นี่ก็ถือเป็นราชสำนักฝ่ายในแห่งสุดท้ายก่อนสยามเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบรัฐธรรมนูญที่เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2475 เรื่องต่อมา ด้วยเหตุที่กลุ่มอาคารวังสวนสุนันทาคือที่พำนักของพระมเหสีของรัชกาลที่ 5 และเจ้านายสตรีชั้นสูงมากมาย ที่นี่จึงมีข้ารับใช้ที่ได้รับการฝึกฝนทักษะฝีมือเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นโรงเรียนฝึกวิชาการบ้านการเรือนและกริยามารยาทของกลุ่มหญิงสาวเหล่านี้ไปโดยปริยาย และข้อสุดท้าย ที่นี่เป็นต้นกำเนิดของอาหารหลากหลายเมนูที่เราในปัจจุบันอาจเคยลิ้มลอง เช่น สะเต๊ะลือ น้ำพริกลงเรือ แกงรัญจวน เป็นต้น
อาคารสายสุทธานภดล เป็นหัวใจของพิพิธภัณฑ์วังสวนสุนันทา ทั้งด้วยความสำคัญและด้วยทำเลที่ตั้งใจกลางมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาในปัจจุบัน ทว่า เมื่อครั้งแรกสร้างวังสวนสุนันทานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริจะสร้างสวนป่าสำหรับประทับพักผ่อนในบรรยากาศสบาย ๆ ตามแบบวังที่เคยได้ทอดพระเนตรเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป แต่ด้วยขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชกาล พื้นที่ภายในพระบรมมหาราชวังแออัดไปด้วยกลุ่มอาคารเดิม ซึ่งเป็นที่พำนักของเจ้านายและข้าราชบริพารฝ่ายในไปแล้วกว่า 30,000 คน พระองค์จึงโปรดฯ ให้สร้างสวนป่าที่ด้านตะวันตกของพระราชวังดุสิต พร้อมกลุ่มอาคารพระตำหนักไว้ภายในสวนป่า เพื่อรองรับบรรดาพระมเหสี เจ้าจอม และเจ้านายฝ่ายในทั้งหลายที่ไม่ได้เสด็จออกไปประทับกับพระราชโอรสหรือพระราชธิดาหลังสิ้นสุดรัชกาลของพระองค์ โดยพระราชทานนามวังแห่งนี้ว่าวังสวนสุนันทา การก่อสร้างกลุ่มพระตำหนักเหล่านี้เสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยต่อมา
ด้วยชื่อวังสวนสุนันทา ผู้คนจำนวนมากอาจเข้าใจว่าที่นี่คงเคยเป็นที่ประทับหรือเป็นที่ประดิษฐานพระสรีรางคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์หรือพระนางเรือล่ม แต่ความจริงแล้ว รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามที่นี่ว่าวังสวนสุนันทาเพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เพียงเท่านั้น ด้วยเพราะพระองค์สิ้นพระชนม์ไปนานมากก่อนที่สวนแห่งนี้จะถูกสร้างขึ้น และพระสรีรางคารของพระองค์ก็ประดิษฐานไว้ที่สุนันทานุสาวรีย์ในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
แต่เดิมนั้น ที่นี่เป็นสวนขนาดใหญ่ที่มีการจัดวางแปลนอย่างสวยงาม มีสระน้ำขนาดใหญ่ เกาะแก่ง คลอง และเนินเขา ปลูกต้นไม้ดอกไม้นานาพรรณ และมีพระตำหนักมากถึง 32 ตำหนัก แต่ในปัจจุบัน กาลเวลาทำให้อาคารต่าง ๆ ผุพังลง และมีการรื้อสร้างอาคารอื่นทดแทน อาคารดั้งเดิมจึงเหลือออยู่ไม่กี่แห่ง รวมถึงอาคาร “สายสุทธานภดล” ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา และจัดแสดงนิทรรศการในฐานะพิพิธภัณฑ์
ตัวอาคารสายสุทธานภดลเป็นปูนสองชั้นทาสีเหลืองอ่อน ประตูหน้าต่างทาสีเขียว ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ “ริกาสซี” (Rigassi) ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่ออกแบบสถานีรถไฟอยุธยาและโรงแรมโซฟิเทลหัวหิน ในสมัยแรก พระตำหนักหลังนี้รายล้อมด้วยสวนต้นไม้ดอกไม้หลากชนิด ด้วยพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระอรรคชายาเธอในรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดต้นไม้มาก จึงทรงใช้เวลาว่างทำสวน ทรงปลูกต้นไม้ดอกไม้มากมายทั้งกุหลาบ กล้วยไม้ หน้าวัวทุกสีทุกพันธุ์ ชมพูพันธุ์ทิพย์ และต้นไม้แปลก ๆ หายาก จนบางครั้งถึงกับทรงถือไฟฉายลงมาส่องดูต้นไม้ตอนกลางคืนก็มี
ห้องโถงแรกที่ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงในลักษณะห้องรับแขก ที่ฝาผนังประดับภาพถ่ายขนาดใหญ่ของพระวิมาดาเธอฯ พระธิดา และเจ้านายฝ่ายในที่ใกล้ชิดทั้งภาพสมัยยังพระชนมายุน้อย ไปจนถึงช่วงปลายพระชนม์ชีพ ถัดจากห้องโถงนี้เป็นห้องใหญ่จัดแสดงเสื้อผ้า ทั้งผ้าโจงกระเบน เสื้อลูกไม้แขนพองอย่างที่เรียกว่าแขนหมูแฮม กลางห้องมีตั่งไม้ จัดวางพานพระศรีหรือพานหมาก กาน้ำชา มีฉากไม้ฉลุกั้นด้านหลัง ห้องด้านขวา จัดแสดงเป็นห้องอาหารเล็ก ๆ
ห้องด้านซ้ายมือถือได้ว่าเป็นไฮไลต์ คือจัดเป็นห้องครัว แต่ที่จริงแล้ว ครัวไทยมักอยู่นอกอาคาร แต่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาได้จำลองครัวมาไว้ภายในอาคารเพื่อความสะดวกในการจัดแสดงและศึกษา ตรงกลางห้องมีตั่งไม้เตี้ย วางสำรับอาหารไทยจำลอง 2 สำรับ หนึ่งในนั้นคือสำรับข้าวแช่ที่ขึ้นชื่อ ผนังด้านหนึ่งมีตู้กระจกจัดแสดงอาหารจำลองที่ขึ้นชื่อเช่นกัน เช่น สะเต๊ะลือ ปั้นขลิบและขนมจีบไทย ส่วนผนังอีกสองด้านเป็นชั้นเต็มไปด้วยหม้อ กระทะ เครื่องชั่ง เครื่องมืออุปกรณ์ครัวต่าง ๆ ในห้องนี้มีภาพถ่ายขณะที่พระวิมาดาเธอฯ ทรงงานที่ห้องครัวนี้ด้วย ซึ่งวิทยากรบอกให้ลองสังเกตดูว่าในภาพถ่ายมีปลั๊กไฟอยู่ แสดงให้เห็นว่าสมัยนั้นมีไฟฟ้าใช้แล้ว
พระวิมาดาเธอฯ ทรงพระปรีชาสามารถในด้านการพลิกแพลงสูตรการปรุงและถนอมอาหาร เช่น หากได้ปลาทูมาคราวละมาก ๆ ก็จะทรงทอดพอสุก อัดใส่ไห หล่อน้ำมัน แล้วปิดปากไหให้แน่น ส่งไปถวายพระราชชายาเจ้าดารารัศมีที่เชียงใหม่ ส่วนเจ้านายและข้าหลวงในวังสวนสุนันทาสมัยนั้นก็เก่งไม่แพ้กัน เช่น การคิดค้นสูตรน้ำพริกลงเรือ ซึ่งถือได้ว่าเป็นฟาสต์ฟู้ดแบบไทย ๆ ก็เกิดจากการที่เจ้าฟ้านิภานภดลพระธิดาในรัชกาลที่ 5 และพระวิมาดาเธอฯ โปรดจะประทับเรือเล่นในคลองภายในวังสวนสุนันทา เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ จึงได้นำของเหลือในครัวมาปรุงใหม่เป็นข้าวคลุกน้ำพริกลงเรือ แนมกับปลาดุกย่างที่มีเหลือ นำมาทอดให้ฟูกรอบ และเมนูนี้ก็แพร่หลายมานอกวังในปัจจุบัน
นอกจากนี้ พระวิมาดาเธอฯ ยังทรงเป็นคนแรก ๆ ในประเทศไทยที่ริเริ่มงานสังคมสงเคราะห์ จากการที่สมเด็จเจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี พระราชธิดาประชวรและสิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุเพียง 5 พรรษาเท่านั้น จึงทรงพระอนุสรณ์คำนึงว่าขนาดลูกท่านดูแลเลี้ยงดูอย่างดียังประสบเคราะห์เช่นนี้ เด็กอื่น ๆ จะเป็นเช่นไร จึงได้ทรงตั้งโรงเลี้ยงเด็กกำพร้าเด็กยากจนด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ตำบลสวนมะลิ ซึ่งเด็กเหล่านี้กินอยู่ฟรี มีเสื้อผ้า ของเล่น ได้เรียนหนังสือ ได้รับการอบรมมารยาท และเรียนรู้วิชาชีพ เช่น เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ปลูกบ้าน เพื่อให้ช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อโตขึ้น
ด้านบนของอาคารเป็นพื้นไม้กระดาน โดยรอบมีหน้าต่างและบานเลื่อนด้านล่างที่สามารถเปิดให้ลมเข้าระบายความร้อนได้ ภายในห้องต่าง ๆ จัดแสดงกิจกรรมที่เจ้านายและข้าหลวงในพระตำหนักทำเป็นประจำ เช่น งานปักผ้า กรองดอกไม้ และมุมที่จัดเป็นห้องบรรทมของพระวิมาดาเธอฯ และเจ้าฟ้านิภานภดล พระราชธิดาองค์เล็ก ห้องสรง และห้องจัดเลี้ยงพระกระยาหารขนาดเล็ก ๆ
แค่เพียงอาคารขนาดเล็กหลังเดียว ก็มีเรื่องเล่ามากมายแล้ว แต่วิทยากรก็ยังนำเดินเลาะต่อไปตามทางเดินที่มีหลังคาคลุมเลียบสระน้ำ สู่อาคารนิทรรศการอีก 2 หลัง คือ อาคารจุฑารัตนาภรณ์ ที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีไทย และอาคารอาทรทิพยนิวาสซึ่งจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะไทยแขนงต่าง ๆ ทั้งสถาปัตยกรรม โขน และละคร
อาคารจุฑารัตนาภรณ์ เคยเป็นที่ประทับของพระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 และเจ้าจอมมารดามรกฎ และทรงมีพระอนุชาพระองค์เดียวคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ที่ทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดวงเดือนที่เรารู้จักกันนั่นเอง พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารีทรงเชี่ยวชาญด้านกวีนิพนธ์มาก และนิราศหัวหินที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ก็ถูกนำมาจัดพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกงานพระศพของพระองค์ ด้านล่างของอาคารเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับดนตรี และพระประวัติของพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ผู้ทรงริเริ่มวงเครื่องสายผสมหญิงล้วนที่มีฝีไม้ลายมือดีมากเป็นที่เชิดหน้าชูตาของวังสวนสุนันทา
อาคารหลังสุดท้ายของกิจกรรมในครั้งนี้ คือ อาคารอาทรทิพยนิวาส ที่เล่าวิวัฒนาการของงานศิลปะของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ในงานสร้างเมืองใหม่ จึงต้องฟื้นฟูงานช่างงานศิลปะจากเดิมทั้งหมด ตลอดจนความรุ่งเรืองของงานช่างงานศิลปะหลายแขนงในแต่ละรัชกาลซึ่งมีจุดเด่นต่างกันออกไป การรับเอาวัฒนธรรมและศิลปะจากตะวันตกเข้ามาผสมผสานจนกลายเป็นศิลปะร่วมสมัย ส่วนชั้นบนเป็นห้องจัดแสดงงานศิลปะที่เกี่ยวกับโขน ทั้งเครื่องแต่งกายตัวพระ นาง ยักษ์ ลิง เครื่องประดับ อาวุธที่ใช้ในการแสดง
อาคารทั้ง 3 หลังที่ประกอบเป็นพิพิธภัณฑ์วังสวนสุนันทานี้ เปิดให้เข้าชมตามวันและเวลาราชการ และหากจะเข้าชมเป็นหมู่คณะโดยมีวิทยากร สามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา↗
…
กิจกรรม TK Small Tour: เยี่ยมชมอาคารประวัติศาสตร์ วังสวนสุนันทา เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ TK Park จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและสาระบันเทิง ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ยังคงกระตือรือร้นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยสามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมได้บนเว็บไซต์และช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ของ TK Park