สำหรับประเทศไทย การศึกษาภาคบังคับจบที่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งนักเรียนในระบบปกติจะจบการศึกษาที่อายุราว 15 ปี แต่การเรียนรู้ไม่สิ้นสุดแค่ที่การจบการศึกษา ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่มีใครแก่เกินที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ และสำหรับบทความนี้ TK Park จะมาลองเสนอว่าไม่มีช่วงวัยใดที่เรียนรู้ได้ช้าหรือมีประสิทธิภาพด้อยกว่าวัยอื่น ๆ อย่างเด็ดขาด เพียงแต่เราจำเป็นต้องปรับวิธีการเรียนรู้ให้เหมาะกับแต่ละช่วงวัยเท่านั้น
ลองมาพูดคุยกันว่า ลักษณะเฉพาะของคนแต่ละช่วงวัยคืออะไร และวิธีการเรียนรู้สำหรับแต่ละวัยน่าจะเป็นอย่างไรบ้าง
วัยรุ่นตอนปลาย ถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (15-25 ปี)
คนในช่วงวัยนี้มักต้องเลือกเส้นทางชีวิตทั้งเรื่องการเรียน อาชีพ สังคม อุดมคติและความรัก ซึ่งเต็มไปด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอน การตัดสินใจในวัยนี้จะส่งผลสำคัญต่ออนาคต แต่ก็อาจเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำมากที่สุดสำหรับใครหลายคน
คนวัย 15 ปีอาจมีความคิดเป็นผู้ใหญ่ขึ้นในหลายมิติ เพราะเริ่มสามารถคิดเชิงนามธรรม คิดฉากทัศน์ หรือประเมินมุมมองที่แตกต่าง รวมทั้งวางแผนระยะยาว และตัดสินใจในเชิงจริยธรรมได้
คนวัยนี้มักมีกระบวนการประมวลเรื่องราวรวดเร็วกว่าผู้ใหญ่ แต่ยังขาดความลึกซึ้งของภูมิปัญญา เพราะมีประสบการณ์ชีวิตน้อยและสมองยังพัฒนาไม่ถึงขีดสุด สมองส่วนคอร์เท็กซ์หรือกลีบหน้าผากส่วนหน้าซึ่งเกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลและวางแผนการกระทำเพื่อบรรลุเป้าหมาย หรือ “หน้าที่บริหารจัดการ” นั้นจะโตเต็มที่เมื่ออายุถึง 25 ปี เป็นเหตุวัยรุ่นจึงชอบความแปลกใหม่ กล้าเสี่ยงและติดกลุ่มเพื่อน พฤติกรรมแบบนี้มีในมนุษย์ทุกวัฒนธรรม รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ชอบสังคมเกือบทุกชนิด ความท้าทายของวัยรุ่นตอนปลายจึงอยู่ที่เลือกเสี่ยงให้ถูกทาง เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้ในอนาคตให้ตัวเอง แทนที่จะมัวแต่กังวลเรื่องความล้มเหลวเสียหน้าในหมู่เพื่อน
วัยรุ่นยังเป็นช่วงอายุที่จดจำได้ดีที่สุด และมีเวลาที่จะทุ่มเทให้การเรียนได้อย่างเต็มที่ จึงไม่ควรทิ้งโอกาสให้เสียเปล่า คนวัยนี้จึงควรซึมซับความรู้เรื่องศัพท์ ไวยากรณ์ กายวิภาค สูตรคณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และทุกอย่างที่เป็นพื้นฐานความรู้ในสาขาต่าง ๆ ไว้ให้มากที่สุดราวกับเป็นของสะสมที่อาจต้องการใช้ในอนาคต นอกจากนี้ วัยรุ่นควรพัฒนานิสัยที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ เช่น นอน ออกกำลังกาย การกินอาหารตามสุขลักษณะ ฝึกสมาธิ ทำกิจกรรมกลางแจ้ง จดบันทึก หรือทำกิจกรรมที่ช่วยทบทวนความคิด
ในทางกายภาพ สมองของวัยรุ่นยังพัฒนาไม่ถึงขีดสุด ดังนั้นอาจต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยวางแผนระยะยาว เช่น โปรแกรมหรือแอปพลิเคชั่นวางแผนเก็บเงินสำหรับเกษียณ สร้างสุขนิสัย หรือช่วยจัดตารางงาน และบริหารจัดการสิ่งรบกวน และหากใครสงสัยว่าตัวเองมีความบกพร่องในการเรียนรู้หรือสมาธิสั้น ควรรีบเข้ารับการทดสอบขณะที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา
ย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ (25-45 ปี)
ช่วงวัยนี้คือช่วงเวลาแห่งการซึมซับและทบทวนเนื่องจากสมองเติบโตเต็มที่แล้ว การใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่มักเป็นไปตามขนบวัฒนธรรม ผสมผสานกับทางเลือกและประสบการณ์ส่วนตัว มากกว่าจะถูกกำหนดด้วยปัจจัยทางพันธุกรรม
ในวัย 40 ปี บางคนอาจเป็นปู่ย่าตายาย หรืออาจเพิ่งมีลูกคนแรก ในขณะที่บางคนเกษียณจากอาชีพแล้ว เช่น นักกีฬาที่อำลาวงการเมื่ออายุ 30 ปี หรือบางคนอาจเพิ่งเริ่มเรียนแพทย์เฉพาะทาง วัยนี้จึงเป็นวัยที่ประกอบด้วยบทบาททางสังคมที่หลากหลาย แต่คนวัยนี้มีจุดร่วมคือต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงในเรื่องงาน ชีวิตครอบครัว สุขภาพร่างกาย ฯลฯ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ดี เพราะเริ่มพ้นจากพฤติกรรมเสี่ยงแบบวัยรุ่น แต่ก็ยังมีภูมิคุ้มกันทางร่างกายที่เข้มแข็ง ยังไม่ค่อยมีโรคประจำตัว และยังได้สั่งสมความรู้ ทักษะประสบการณ์ และทักษะความชำนาญทางใดทางหนึ่งมาระยะหนึ่ง
การเรียนรู้ในช่วงวัยนี้จึงมาจากประสบการณ์ตรง หลายอย่างไม่มีในตำรา ความท้าทายอยู่ที่ว่าจะหาเวลาซึมซับและทบทวนบทเรียนชีวิตอย่างไร
เคล็ดลับการเรียนรู้อย่างมีความสุขในวัยผู้ใหญ่ คือรักษาสุขภาพร่างกายให้ดี เพราะจะส่งผลถึงจิตใจด้วย สุขนิสัยในช่วงวัยนี้คืออนาคตที่ดีในบั้นปลาย ทั้งร่างกายและจิตใจ การนอนหลับและออกกำลังจะช่วยเพิ่มความสามารถในการซึมซับ วิเคราะห์และใช้ความรู้ใหม่ ๆ ทักษะ ตลอดจนความชาญฉลาดให้เป็นประโยชน์
เทคนิคสำคัญคืออย่าจำกัดบทบาทของตัวเอง การมีผู้คนหลากหลายต่างวัยรอบตัวคอยช่วยเสริมความคิดสร้างสรรค์และเปิดโอกาสการเรียนรู้คือจุดแข็งร่วมกันของคนวัยนี้ นอกจากนี้ ควรผสมผสานทักษะ ความรู้ และมุมมองภายในตัวเองให้ใช้ได้ในหลายบทบาทและสถานการณ์ด้วย
วัยผู้ใหญ่เต็มตัว (45-60 ปี)
เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว ทุกอย่างรอบตัวและร่างกายของตัวเองย่อมมีจังหวะช้าลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนวัยนี้จึงจำเป็นต้องพร้อมรับการถดถอยในหลาย ๆ ด้าน แต่ในทางตรงกันข้าม ความเฉลียวฉลาดรอบคอบและภูมิความรู้มักสูงขึ้นชดเชยกัน ความสามารถผสมผสานประสบการณ์ จัดระเบียบความคิด ความจำ แล้วนำมาใช้ร่วมกับตัวช่วยภายนอกและเครือข่ายผู้คน จึงเป็นลักษณะสำคัญของคนวัยนี้ ซึ่งถือเป็นการใช้สิ่งที่สะสมมาตลอดชีวิต ทั้งสุขนิสัย ความสัมพันธ์ ความชำนาญ และการรู้จักตัวเอง เพื่อสร้างสมดุลระหว่างจุดแข็งเหล่านี้กับการเรียนรู้สิ่งใหม่ หากคนวันนี้มีพื้นฐานจุดแข็งที่มั่นคง ย่อมประเมินความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำจนกล้าที่จะออกจากพื้นที่ปลอดภัยโดยไม่กลัวล้ม
เมื่อตระหนักถึงความรู้ความสามารถของตนแล้ว คนวัยผู้ใหญ่เต็มตัวก็มักอยากส่งต่อความรู้ความสามารถให้คนรุ่นหลัง ทั้งลูกหลาน รุ่นน้องในที่ทำงาน และช่วยเหลือสังคม แต่ความท้าทายของวัยนี้คือการที่ต้องไม่ยึดติดกับความคิดของตนเองเท่านั้น และต้องคิดแผนสำรองไว้เผื่อความผิดพลาดที่คาดไม่ถึงด้วย ท้ายที่สุด สมดุลของคนวัยนี้จึงย่อมเป็นการที่ทั้งให้และได้รับความรู้ รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์กับคนต่างรุ่น ผ่านการลองทำกิจกรรมและการสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ ที่สำคัญคือควรประเมินสุขภาพกายและใจอยู่เสมอเพื่อดูแลตัวเองได้อย่างมั่นคงและยืนยาว
วัยผู้ใหญ่ตอนปลาย ถึงวัยสูงอายุ (60+)
หากเป็นต้นไม้ วัยนี้เปรียบเป็นวัยแห่งการบำรุงรักษา กำจัดวัชพืชและรดน้ำพรวนดิน ในยุคนี้ ผู้คนอายุยืนยาวขึ้น จึงเรียนรู้และทำงานได้นานขึ้น แต่กระบวนการทำความเข้าใจสิ่งใหม่อาจช้าลง ทั้งความจำ สมาธิ การใช้เหตุผล การจัดการข้อมูล และแรงบันดาลใจ จากที่เคยแสวงหาความแปลกใหม่ ก็อาจจะสนใจน้อยลง
ทว่า หากคนวัยนี้ทำความคุ้นชินกับการปรับตัวให้เข้ากับบริบทใหม่ ๆ มาตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ ก็อาจยังสามารถมองหาเป้าหมายใหม่ ๆ เกิดการเรียนรู้ ประมวลผล และทำความเข้าใจต่อสิ่งที่ไม่คุ้นเคยได้ไม่ยาก และคงความสามารถในการจดจำได้อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ หากคนวัยนี้มีทัศนคติว่าการเรียนรู้นี้ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวโยงกับการศึกษาหรือการพัฒนาอาชีพเพียงเท่านั้น ก็อาจพัฒนาความคิด การเข้าสังคม การรู้จักตัวเอง หรือการพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายอื่น ๆ ได้ คนวัยนี้มักพบแรงบันดาลใจจากเป้าหมายหรืออุดมคติส่วนตัวหรือความสุขใจ มากกว่าจะไขว่คว้าความสำเร็จ ทรัพย์สิน หรือสถานะทางสังคม
สำหรับคำแนะนำสำหรับคนวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย จึงเน้นที่การตัดสิ่งรกรุงรังออก เหลือแต่บทบาทหน้าที่สำคัญ และผสมผสานให้สมดุลมากที่สุด เปรียบเหมือนการกำจัดวัชพืชและรดน้ำพรวนดิน เช่น การดูแลและบริหารร่างกายและจิตใจด้วยเกม การเต้นรำ ชี่กง ค้นหาธรรมชาติ ไม่ควรมีทัศนคติในแง่ลบถึงอายุที่เพิ่มขึ้น เพราะการขาดความมั่นใจหรือวิตกกังวล ซึ่งจะเป็นอุปสรรคของการเรียนรู้ ทั้งที่จริงแล้วสมองของผู้สูงวัยอาจมีความสุขุมลุ่มลึก และทำงานได้ดีเกินกว่าที่ตนคาดคิดด้วยซ้ำ
การมีกิจกรรมและโครงการริเริ่มใหม่ ๆ ก็สำคัญ ไม่ต้องใหญ่โตแต่ให้มีแรงขับเคลื่อนไปข้างหน้า ผู้สูงวัยอาจลองกลับไปทำงานอดิเรกที่เคยชอบเมื่อยังเด็ก ติดต่อกับเพื่อนเก่า หรือค้นคว้าเรื่องราวของครอบครัว การหาความรู้ในจุดนี้อาจนำไปสู่ไอเดียใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ หรือเปิดมุมมอง เช่น ลองอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ในแง่ใหม่ ใช้เส้นทางที่ไม่เคยไปมาก่อน เพื่อให้สมองได้ตื่นตัวมากขึ้น
สำหรับการฝึกสมอง เกมคอมพิวเตอร์เกมอาจเน้นเรื่องความสนุกสนานและช่วยเรื่องความจำได้ในเบื้องต้น แต่ควรฝึกสติและทำสมาธิที่จะช่วยเรื่องความสามารถในการจำและประมวลผลในระยะยาว ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมองโดยตรง การรับประทานอาหารมีประโยชน์และออกกำลังกายเป็นประจำก็จะช่วยให้สมองทำงานได้ดียิ่งขึ้น
แต่ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะอายุเท่าไร การเรียนรู้ก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับการมีร่างกายและจิตใจที่ดี และเมื่อเอากายและใจที่ดีมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบข้างที่เอื้อต่อการสร้างความมั่นใจและการเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ แล้ว การเรียนรู้ย่อมเกิดขึ้นได้กับทุกคนอย่างแน่นอน
อ้างอิง
https://www.newsweek.com/how-keep-learning-every-stage-your-life-1663380
https://www.webmd.com/healthy-aging/learning-after-60