
ถ้าถามถึงวงการโฆษณา คนส่วนใหญ่จะนึกถึง ‘ครีเอทีฟ’ ที่มักมาในลุคเก๋มาดเท่สไตล์คูลๆ มีความอาร์ตในตัว เป็นอาชีพที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างผลงานเพื่อให้โดนใจลูกค้า นี่คือนิยามคร่าวๆ ของครีเอทีฟในความเข้าใจของคนทั่วไป แต่จะมีอะไรพิเศษกว่านี้บ้าง เต้ - ศรุติ ยั่งเจริญ ครีเอทีฟเอเจนซีโฆษณา จากบริษัท เดอะ ลีโอเบอร์เนทท์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ที่ล่าสุดคว้ารางวัล Silver & Bronze จากเทศกาลความคิดสร้างสรรค์ระดับโลก Cannes Lions Festival ประจำปี 2022 จะมาเล่าให้ฟัง

“คำว่า ‘โฆษณา’ ในปัจจุบัน ได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ แต่จริงๆ แล้ว แทบจะครอบคลุมทุกพื้นที่รอบตัวเรา โฆษณาทำได้ทุกอย่าง อย่างเช่น จะทำอย่างไรให้คนซื้อขนมยี่ห้อนี้ ก็ต้องคิดโฆษณาให้น่าสนใจและน่าดึงดูด” เต้อธิบายถึงความสำคัญของโฆษณาก่อนพาไปรู้จักตำแหน่งงานด้านโฆษณา
“การทำงานโฆษณา เราเรียกว่า เอเจนซีโฆษณา มีหลายแผนกมาก เช่น โปรดิวเซอร์ ตัดต่อ ทุกฝ่ายสำคัญหมด แต่ขอยกตัวอย่าง 3 แผนกที่ต้องติดต่อสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง ได้แก่ แผนก Creative คือฝ่ายคิดสร้างสรรค์ไอเดียต่างๆ ออกมาเป็นชิ้นงาน อีกแผนกคือ Planner ต้องคิดกลยุทธ์ เพื่อให้ฝ่ายครีเอทีฟเติมความสนุกเข้าไป ส่วนอีกแผนกคือ Cilent Service เป็นฝ่ายประสานงานระหว่างลูกค้ากับเอเจนซี”

- เริ่มต้นอย่างไรกับสายโฆษณา
เต้ขอเน้นไปที่งานด้านครีเอทีฟ ซึ่งเป็นทั้งตำแหน่งของเขา และเป็นคุณสมบัติสำคัญที่คนทำงานโฆษณาต้องมี
ความที่งานครีเอทีฟไม่มีหลักการที่แน่นอน และไม่ใช่งานวิชาการ การเริ่มต้นที่ดี เต้แนะนำให้หมั่นเรียนรู้ด้วยตัวเอง “สมัยนี้จะค้นหาอะไรทำได้ง่ายมาก อยากให้เปิดกูเกิล พิมพ์ Best Ad of The World จะเจองานโฆษณามากมาย ซึ่งมีบอกด้วยนะว่า แต่ละชิ้นงานจัดอยู่ในหมวดหมู่ไหน เป็นฟิล์ม เป็นปรินต์ เราเรียนรู้จากตรงนี้ได้เลย งานโฆษณาดูได้ทุกวัน และควรต้องดูงานเยอะๆ เพื่อรู้จักงานสายนี้และสำรวจว่าเราชอบจริงไหม สนุกจนคิดที่อยากจะลองทำเองหรือเปล่า เป็นการค้นหาตัวเองผ่านการศึกษาจากงานของคนอื่น ถ้าชอบค่อยต่อยอดด้วยการเริ่มคิดลองทำเอง อาจจะทำจากโจทย์ที่ได้รับ หรือสร้างโจทย์ขึ้นมาเองก็ได้”
แม้ปัจจุบันจะมีการเรียนการสอนด้านโฆษณาในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ยังไม่มีหลักสูตรที่เน้นจริงจัง เต้จึงแนะนำให้รู้จักกับ B.A.D Student Workshop ซึ่งเป็นเสมือนพื้นที่ที่เปิดให้นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจวงการโฆษณา ได้ลองทำโฆษณาส่งเข้าประกวด โดยจะคัดเลือกเพียง 20 คนเข้าไปเรียนรู้การทำงานทั้งด้านโฆษณาและด้านครีเอทีฟอย่างจริงจังกับกลุ่มคนในวงการ เต้ย้ำว่า ไม่อยากให้พลาดโครงการนี้ เพราะส่วนมากผู้ที่ได้คัดเลือก จะมีโอกาสได้ทำงานสายนี้ได้ง่ายขึ้นในอนาคต หากฉาย ‘แวว’ ให้เห็น
แต่ผู้ที่ไม่ได้รับคัดเลือกก็ไม่ต้องเสียใจไป เต้ให้กำลังใจว่า
“ความครีเอทีฟมีความหลากหลายและกว้างมาก สามารถอยู่ได้ในทุกอาชีพ ขอแค่ชอบงานครีเอทีฟ ไม่ต้องกะเกณฑ์ว่าจะต้องทำงานในเอเจนซีเท่านั้น ถ้าใครรักความอิสระ แนะนำให้ลองเป็นฟรีแลนซ์ หรือเป็นยูทูปเบอร์ก็ได้ เพราะการทำคอนเทนต์ก็ถือเป็นการครีเอทีฟอย่างหนึ่งเช่นกัน หรือจะไปฝึกงานสายโฆษณาก็ช่วยเสริมทักษะให้ได้ แม้จะไม่ได้เรียนด้านโฆษณามาโดยเฉพาะก็ตาม”

- ความอาร์ตต้องได้ ความกดดันต้องพร้อม (รับมือ)
เต้ฝันอยากทำงานด้านโฆษณามาตั้งแต่อยู่มัธยมปลาย เขาจึงไปเรียนวาดรูป และเลือกต่อมหาวิทยาลัยในสาขานิเทศศิลป์ ก่อนมาทำงานโฆษณา เขามีคำแนะนำในการเตรียมตัวสำหรับผู้ที่อยากเข้าสู่สายงานนี้ว่า
“ในฐานะ Creative ต้องมีทักษะพื้นฐานด้านศิลปะ การเริ่มต้นงานโฆษณามีด้วยกัน 2 สาย สายที่ 1 คือ Art Director ควรมีทักษะการทำ Photoshop, Illustration พ่วงด้วยโปรแกรมตัดต่อ สายที่ 2 เริ่มที่ Copy Writer หรือคนเขียนคำโฆษณา ให้ฝึกเขียน Caption (คำบรรยายภาพ) หรือ Headline (หัวข้อ) สวยๆ เขียนคำติดหูไปก่อน แล้วค่อยๆ ต่อยอดทักษะตัวเองไปเรื่อยๆ เราเลือกได้ว่าจะทำสายไหน หรือจะทำทั้ง 2 อย่างไปในตัวก็ได้ ใครวาดรูปไม่สวยไม่ต้องท้อ ฝึกไปเถอะ ยังไงก็ทำได้”
เต้บอกต่ออีกว่า จะทำงานโฆษณา ต้องรับได้กับรูปแบบการทำงานที่ค่อนข้างยืดหยุ่น “วงการนี้ไม่มีเวลาทำงานที่แน่นอน ไม่มีกำหนดการเข้างาน อาจมีเลิกงานช้า เลิกดึก บางทีทำงานวันเสาร์ อาทิตย์ก็มีนะ ไม่ได้ชิลล์สบายอย่างที่คิด เราไม่ใช่ศิลปินที่อยากวาดอะไรก็ได้วาด เราต้องสร้างสรรค์ผลงานเพื่อให้ลูกค้าที่เป็นเจ้าของโปรดักส์ซื้อให้ได้ การทำงานเลยมีหลายขั้นตอน ไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าจะได้ผลงานออกมา แต่ก็สนุกในแบบของงานโฆษณา”

เพื่อให้ได้เห็นภาพมากขึ้น เต้อธิบายขั้นตอนการทำโฆษณาสักชิ้นว่า
“ในแต่ละชิ้นงานใช้เวลาทำต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่างานนั้นเร่งรีบแค่ไหน หากเป็นงานด่วน อาจต้องทำแบบหามรุ่งหามค่ำ แต่ถ้างานไม่เร่ง จะมีเวลาค่อยๆ คิดสร้างสรรค์งานให้ลูกค้า Planner ก็จะเป็นอีกแบบ อาจเริ่มด้วยการคิดกลยุทธ์ให้ลูกค้า สมมติสินค้าเป็นบัตรเครดิตของธนาคารเพื่อคนรุ่นใหม่ เราจะไปพูดคุยกับผู้คนเพื่อหาความเป็นแบรนด์นั้นขึ้นมา จนเกิดเป็นโงาน เราจะเข้ามามีส่วนร่วมหลังจากที่ลูกค้าซื้อ เขาเรียกว่ากลยุทธ์ พอซื้อแล้ว เราก็จะต้องคิดต่อยอด ใส่ความครีเอทีฟลงไป แล้วกลับไปขายลูกค้าให้ผ่านอีกที
“บางทีถ้าลูกค้าต้องการแก้ ก็ต้องแก้จนกว่าลูกค้าจะโอเค ถ้าผ่านแล้วจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตหรือการถ่ายทำ เรียกว่า Production House ซึ่งใช้เวลาเป็นเดือน หรืออาจจะช้ากว่านั้นด้วย อาชีพนี้จึงไม่ได้สวยงามเสมอไป เพราะเราต้องพบเจอกับความเครียด และความกดดัน แถมนอนน้อยอีกด้วย ดังนั้นนอนให้เก่ง ถ้ามีเวลาว่างก็นอนไปเลย”
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องรับมือคือการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก การจะได้อะไรที่สดใหม่ต้องแลกมาด้วยการวิ่งอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงสำหรับคนทำงานสายโฆษณาและต้องยอมรับวิถีชีวิตแบบนี้ให้ได้
ข้อควรระวัง คืออาการ Burnout ซึ่งคนทำงานในสายนี้อาจเจอบ่อย การดูแลตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เต้ฝากไว้ว่า อยากให้ทุกคนสนุกกับสิ่งที่ทำ เพราะเขาเชื่อว่า หากเป็นการทำสิ่งที่ชอบ แม้จะยุ่งยังไงก็จัดสรรเวลาได้ ดังนั้นความเชื่อ และ Passion สำคัญมากต่อการทำงานสายนี้

- 3 ทักษะเพื่อคนครีเอทีฟสุดปัง
เต้สรุป 3 ทักษะสำคัญที่ใช้เป็นแนวทางการเลือกเรียนในคณะที่ใช่และได้ทำงานในสายงานโฆษณา
“อย่างแรกคือภาษาอังกฤษ เพราะการสื่อสารสำคัญมาก โดยเฉพาะการคุยงานกับลูกค้า อย่างที่สอง ความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าออกนอกกรอบ ซึ่งต้องใช้เวลาและการฝึกฝนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบ แต่ขอให้ศึกษางานเยอะๆ อย่างที่สาม ต้องฝึกฝนทักษะการนำเสนองานที่ดี หลายคนไอเดียดีมากแต่ขายลูกค้าไม่ผ่าน ในขณะที่อีกคนใช้ไอเดียเดียวกันแต่กลับขายผ่าน อย่าลืมว่าไอเดียก็เหมือนกระดาษที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ต้องเล่าให้ดีที่สุด ให้เหมือนออกมาจริง”
แนวทางฝึกการนำเสนองาน เต้อธิบายเพิ่มว่า “เมื่อได้เข้าไปทำงานจริง ให้เรียนรู้งานจากหัวหน้า สังเกตวิธีพูด การตอบโต้กับลูกค้าในห้องประชุม ว่ามีวิธีคิดหรือมีการพูดเชื่อมโยง และพัฒนาตัวงานอย่างไร หรือจะหาหลักสูตรสอนในยูทูปแล้วลองฝึกกับตัวเอง สิ่งสำคัญคือต้องมีความมั่นใจ เพราะทุกอย่างจะถ่ายทอดจากภาษาร่างกายที่เราต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ให้ลูกค้าเชื่อมั่นในตัวเราก่อนที่จะขายงานของเรา
สุดท้ายเต้อยากส่งความปรารถนาดีถึงผู้ที่ตั้งใจเดินทางในเส้นทางนี้ “เรื่องของ Passion แต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเราค้นหา Passion ของตัวเองเจอเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การทำงาน ตัวตน การใช้ชีวิต จะทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้ดี ได้ทำสิ่งที่อยากทำ มีเป้าหมายในชีวิต และจะเหนื่อยน้อยลง เพราะ Passion จะเป็นแรงผลักดันให้เรามุ่งมั่นทำต่อไป”