ในยุคที่ใครๆ ก็อยากเป็น Content Creator กันทั้งนั้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ชนิดที่เรียกว่าติดอันดับอาชีพในฝันกันเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะมีอิสระในการทำงานแล้ว ยังสร้างรายได้ และทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักได้อีกด้วย (ถ้าประสบความสำเร็จนะ) แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้
อยากรู้แล้วใช่ไหมล่ะว่า แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะปังในสายอาชีพ Content Creator
โอ๊ต - ปรเมษฐ์ สาระ หรือ Content Creator คนดังที่รู้จักกันในชื่อ ‘โอ๊ต-ครับ-ผม’ เจ้าของเพจเฟสบุ๊ก ‘Lost in Fun มั่ว งง หลงทิศ ผิดแผน’ จะมาเผยเบื้องหลังประสบการณ์การทำงาน รวมถึงแนะนำกลยุทธ์สำหรับผู้ที่อยากเดบิวต์เป็น Content Creator ในอนาคตด้วย
ปูทางด้านคอนเทนต์
โอ๊ตเปิดบทสนทนาด้วยการพาย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นการเป็น Content Creator ของตัวเอง ซึ่งโซเชียลมีเดียที่นิยมในสมัยนั้น ได้แก่ Hi5, Facebook แล้วก็ Pantip (เว็บไซต์สังคมออนไลน์ที่ผู้คนจะมาแชร์สารพัดเรื่องราวในนั้น) คล้ายกับ Twitter ในยุคนี้นี่ล่ะ
ณ ช่วงเวลานั้น โอ๊ตเลือกหยิบความชอบส่วนตัวด้านศิลปะ ดนตรี มาเล่าใน Pantip โดยใช้ชื่อ ‘โอ๊ต-ครับ-ผม’ เป็นการเริ่มต้นการ เขียน จากนั้นก็เขียนมาเรื่อยๆ กระทั่งผันตัวมาเขียนเรื่องท่องเที่ยว
“การได้เที่ยวคือการหาอิสระและความสุขให้ตัวเอง ถ้ามีโอกาส ก็อยากให้ออกไปเที่ยวกัน เพราะจะได้เรื่องราวใหม่ๆ หรืออะไรแปลกๆ ได้ลองทำอะไรที่กว้างขึ้น ลองเรียนรู้ ลองท้าทายดูสักครั้งในชีวิต เมื่อได้พบเจอเพื่อนใหม่ๆ การรับรู้ของเราก็เปิดกว้างขึ้น เพราะเราจะมองเห็นแนวคิดหรือแก่นสารจากการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้คนใหม่ๆ นี่คือสิ่งที่ได้จากการไปเปิดโลกกว้าง”
เขามองว่า การได้พบเจอสิ่งต่างๆ ได้เรียนรู้ผู้คน เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง ยังทำให้เขารักคนรอบข้าง และรู้สึกว่าโลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งมุมมองเหล่านี้นำมาเขียนเป็นเกร็ดความรู้ เป็นการแสดงความคิดเห็นจากมุมมองของเราได้ นี่คือข้อดีของคนที่ผู้ที่ทำงานด้านคอนเทนต์
เขียนจากสิ่งที่หลงใหล
หันไปทางไหน ใครๆ ก็ทำ “คอนเทนต์” กัน นั่นเพราะทุกอย่างเป็นคอนเทนต์ได้หมด ตั้งแต่การเดินทางท่องเที่ยว แนะนำอาชีพ รีวิวของใช้ ของกิน ตลอดจนถึงการแชร์กิจวัตรประจำวัน ตามติดชีวิตคนทำงานด้านต่างๆ ไปจนถึง Study with Me ก็นับว่าเป็นคอนเทนต์ในกระแสที่ได้รับนิยม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและกลุ่มวัยรุ่น
เมื่อใครๆ ก็ทำคอนเทนต์ได้ แต่จะทำอย่างไรให้แตกต่างและเป็นตัวของตัวเองล่ะ
โอ๊ตแนะนำว่าสิ่งแรกที่ควรหาคำตอบให้ได้ คือให้ถามตัวเองว่า อยากทำคอนเทนต์เกี่ยวกับอะไร
“ต้องรู้จักตัวเองว่าชอบอะไร สนใจอะไรเป็นพิเศษ หยิบออกมาแล้วลองเล่าจากมุมมองตัวเอง สื่อสารจากตัวเอง ถ้าชอบต้นไม้ เขียนเล่าชมต้นไม้ไป คอนเทนต์กว้างมากในโลกนี้ ทุกอย่างเป็นเรื่องราวที่เล่าได้หมด ไปให้สุดกับทางที่เลือก ชอบกิน กินให้สุดจนอ้วนไปเลย”
การได้ทำในสิ่งที่ชอบ นอกจากจะให้ความสุขแล้ว ยังช่วยให้เห็นตัวเองชัดเจนขึ้นด้วย อย่างที่โอ๊ตได้แชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยวของเขาว่า “เวลาได้เห็นหรือเจออะไร ช่วยทำให้เราเกิดไอเดียต่างๆ และมองสิ่งต่างๆ ได้ละเอียดขึ้น แล้วเราจะรู้ว่าอยากเขียนอะไร” แต่เหนือสิ่งอื่นใด แรงผลักดันสำคัญที่จะทำให้เราทำสิ่งนั้นได้อย่างที่ตั้งใจ ก็คือ Passion ซึ่งโอ๊ตเชื่อว่าทุกคนต้องมีเพื่อนำพาเราไปถึงปลายทางที่หวังไว้
หาคาแรกเตอร์ให้เจอ
สไตล์การเขียนที่เป็นตัวเองเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะจะช่วยเพิ่มน้ำหนักและเติมรสชาติที่ดีให้กับคอนเทนต์ของเรา ทั้งยังเป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนตัวเราอีกด้วย ฉะนั้น ถ้าเรามีคาแรกเตอร์การเขียนที่ชัดเจนมากพอ ก็จะดึงดูดความสนใจให้มีผู้ติดตามเราได้
โอ๊ตทำคอนเทนต์บนเพจเฟสบุ๊ก โดยใช้ชื่อ ‘Lost in Fun มั่ว งง หลงทิศ ผิดแผน’ แค่เห็นชื่อเพจ ก็เดาได้ไม่ยากว่า เจ้าของต้องร่าเริงและมีอารมณ์ขันแน่นอน
“ได้ชื่อมาตอนผมเดินทางในทริปต่างประเทศครั้งแรกของตัวเอง ก่อนไปเขียนแพลนเป็นลำดับอย่างดี พอไปถึงปรากฏว่า แพลนที่เตรียมไว้ไม่ได้ช่วยอะไรเลย เราหลงทิศหลงทาง เดินมั่วไปหมด จริงๆ พูดภาษาอังกฤษได้แต่ไม่ยอมสื่อสารไง ก็เดินงงๆ ไปเรื่อยๆ ทุกอย่างเลยผิดแผนไปหมด”
แต่โอ๊ตกลับพบว่า “ในความพินาศบ้างบางที (หัวเราะ) เช่น ความขัดข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินเลื่อนไฟลต์ หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เป็นเรื่องดีนะ ถ้ามองให้เป็นเรื่องสนุกได้ เพราะเอามาเขียนใส่อารมณ์ตลกๆ แทรกในบทสนทนาได้ สิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้เจอตัวตน เจอคอนเซ็ปต์ และกลายมาเป็นชื่อเพจของตัวเอง เมื่อกำหนดคาแรกเตอร์ชัดเจน ทำให้การเขียนง่ายขึ้น เพราะรู้ว่าต้องนำเสนอในรูปแบบใด จากนั้นเลยไม่ต้องกังวลการบรรจงคิดปั้นคำให้สวยอีกต่อไป”
ท่ามกลางโลกแห่งข้อมูลที่มีมากล้นเช่นในปัจจุบัน ส่งผลให้การเสพสื่อในยุคนี้เน้นความรวดเร็ว สั้น และกระชับ โอ๊ตแนะนำว่า สิ่งที่นักเล่าเรื่องควรทำคือ การฝึกจับประเด็นในสิ่งต่างๆ ที่เราสนใจให้เป็น เพื่อนำมาเล่าให้กระชับ อ่านง่าย ความยาวกำลังพอดี เล่าให้เป็นตัวเรา (ย้ำว่าต้องหาตัวเองให้เจอก่อน) แทรกประสบการณ์สนุกๆ ตลกๆ ที่ไปพบเจอระหว่างทาง การหยิบบรรยากาศมาเล่าประกอบเนื้อหา จะช่วยให้เกิดการนำเสนอเนื้องานใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำใคร
ภาษาก็สำคัญ
“ต้องรู้ว่าเล่าให้ใครฟัง ผู้ใหญ่ฟัง วัยรุ่น หรือเด็ก แต่ละกลุ่มใช้ภาษาไม่เหมือนกันแน่นอน แต่ถ้าอยากเล่ากว้างๆ จะใช้ภาษากลางๆ ก็ได้ แล้วแทรกอารมณ์ขันนิดๆ เข้าไป ดังนั้น การเลือกใช้ภาษาในการเขียนจึงต้องรู้จักคาแรกเตอร์และกลุ่มเป้าหมายของมีเดียต่างๆ ให้ชัดเจนก่อน
นอกจากนี้ การหาคำฮิต วลีเด็ดที่กำลังเป็นกระแสในช่วงนั้นมาปรับใช้กับคอนเทนท์ของเรา จะสามารถเรียกความสนใจได้ดี เช่น ‘แนะนำ 3 ร้านเด็ดย่านมีนบุรี โดย…. อร่อยแน่นะวิ ไม่ไปจริงเหรอวิ’ เพื่อสร้างความโดดเด่น และดึงดูดคนอ่าน
อีกเรื่องที่เขาอยากแนะนำ คือ “ไม่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหน ขอให้ถ่ายรูปเก็บไว้ เพราะเอาไปต่อยอดได้หลายทาง เช่น ลงขายในเว็บต่างประเทศ หรืออาจมีคนจ้างทำคอนเทนต์จากภาพที่เราถ่ายก็ได้เหมือนกัน เรียกว่ารูปเดียวทำได้หลายอย่างเลยนะ” โอ๊ตบอก
เขียนต่อเนื่อง แล้วรายได้จะมาเอง
เมื่องานเขียนแสดงความเป็นเรามากขึ้น มีผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง จะมีรายได้ตามมา นอกจากรายได้จากการเขียนเล่าเรื่องราวของตัวเองแล้ว ยังมีอาชีพ ‘นักเขียนเงา’ ด้วย โอ๊ตขยายความว่า “คือการเขียนต้นฉบับส่งสำนักพิมพ์ เขียนให้ลูกค้า หรือเขียนส่งเว็บไซต์ต่างๆ ตามแต่จะว่าจ้าง บางทีเพจเราอาจกลายเป็นช่องทางการลงข่าวสาร หรือประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการของลูกค้า โดยเรามีหน้าที่โพสต์เท่านั้น ในกรณีนี้ก่อนรับงานต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบว่าจะไม่เป็นสิ่งที่ผิดหรือขัดกับกฎหมายด้วย”
โอ๊ตสรุปคุณสมบัติของการเป็น Content Creator ที่ดีไว้ว่า
“อย่างแรกคือจริงใจกับคนอ่าน ด้วยการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นเรื่องจริง และไม่ทำร้ายทั้งตัวเรา ผู้อ่าน และคนในพื้นที่ที่เราพูดถึง สองเคารพความถูกต้องและยึดมั่นในคาแรกเตอร์ตัวเอง อยากทำอะไร สนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ ให้ใช้ Passion นำเสนออย่างซื่อตรงและซื่อสัตย์ ไม่คดโกงตนเองและผู้อื่น”