การเล่นสำคัญอย่างไร?
โตแล้วเล่นได้หรือไม่?
ผู้สูงอายุจะเล่นอะไรดี ถึงมีประโยชน์กับสมอง ร่างกายและจิตใจ?
อุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับ แปลนทอยส์ จัดเสวนา “เล่น แล้ว Young” สร้างสุขภาวะที่ดีในใช้ชีวิต พร้อมเตรียมตัว เตรียมครอบครัวในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยชวนผู้ใหญ่หัวใจสนุกที่สนใจศาสตร์แห่งการเล่น อย่าง ดร.สิทธา สุขกสิ นักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ อดีตพยาบาลวิชาชีพ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และ คุณสุภาพร หันชัยเนาว์ อดีตพยาบาลวิชาชีพชำนาญการศูนย์ผู้สูงวัย สุขกาย สุขใจ สถาบันประสาทวิทยา ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและขยายขอบเขตของการเล่นว่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่วัยเด็กเท่านั้น
โตแค่ไหนก็เล่นได้
การเล่นไม่ใช่แค่สำคัญกับเด็ก แต่กับคนทุกวัย ทั้งให้ความสนุกสนาน เสริมสร้างพัฒนา ดร.สิทธา กล่าวว่า การเล่น เป็นการกระตุ้นที่ดีสำหรับมนุษย์ทุกวัย ได้ประโยชน์ทั้ง 4 ด้าน คือด้านร่างกาย ด้านสมอง ด้านอารมณ์ และด้านสังคม ซึ่งไม่ว่าเราจะเป็นวัยไหน เราก็จะต้องต้องมีทั้ง 4 ด้านนี้อยู่แล้ว ดร.สิทธายกตัวอย่าง การเล่น ที่กระตุ้นด้านร่างกายของผู้สูงอายุ ก็มีการออกกำลัง เล่นกีฬา เล่นเปตอง รำไทเก๊ก ไปจนถึงการเล่นกับหลาน ได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ได้วิ่งไล่จับกับหลาน อันนี้ก็คือการกระตุ้นร่างกาย จากการเล่นเหมือนกัน
“ฉะนั้นการเล่น ไม่จำเป็นต้องเป็นคำจำกัดความเก่าๆ ว่าการเป็นการนั่งจับของเล่น แต่มันเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นด้านต่างๆ ของร่างกาย ที่สำคัญการเล่นยังผูกไปในอีกหลายๆ ด้าน อย่างการวิ่งตามหลาน อารมณ์ที่คุณยายวิ่งตามหลานก็จะมีความสุข ความสนุก ความภูมิใจว่าฉันมีหลานมีครอบครัวที่มีความสุข ก็เป็นการกระตุ้มด้านอารมณ์ หรือการได้อุ้มหลาน ก็เป็นการกระตุ้นด้านสังคมด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว”
ทางด้านคุณสุภาพร อดีตพยาบาลวิชาชีพชำนาญการศูนย์ผู้สูงวัย แสดงความเห็นเพิ่มเติมถึงประเด็นการเล่นว่า ไม่ว่าช่วงวัยไหน ก็สามารถเล่นได้ อีกทั้งยังนำไปสู่การเรียนรู้สิ่งต่างๆ เป็นต้นว่า ได้ฝึกสมอง มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในครอบครัว เพราะว่าการเล่นเป็นเหมือนสื่อกลาง ที่เข้ามาช่วยเพิ่มพูนความสัมพันธ์และพัฒนาด้านต่างๆ
สำหรับดร.ภัทรารัตน์ ร่วมแบ่งปันเพิ่มเติมว่า “เมื่อไหร่ที่มีการเล่นเกิดขึ้น ปฏิสัมพันธ์จะมาทันที มีการสื่อสารกัน ช่วยเหลือร่วมกัน และนอกจากการสร้างสัมพันธ์ สิ่งสำคัญที่สุดคือกระตุ้นสมองให้ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในบางกิจกรรม เช่น กิจกรรมที่ผู้สูงอายุได้เล่าเรื่องอดีต ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้ช่วยเพิ่มคุณค่าในตัวเขา ว่าอดีตที่ผ่านมาเขาทำอะไรได้บ้าง พอเขาได้เล่า ก็จะช่วยสร้างความภูมิใจและรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ว่าสามารถพึ่งพาตนเองได้”
ออกแบบการเล่นสำหรับผู้สูงอายุแบบไหนดี
สำหรับรูปแบบกิจกรรมการเล่นสำหรับผู้สูงอายุนั้น คุณสุภาพรเล่าให้ฟังว่า การเล่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองเป็นอย่างยิ่ง และเราสามารถออกแบบกิจกรรมได้มากมาย “หากในกิจกรรม มีทั้งผู้สูงอายุสมองดี และผู้สูงอายุที่สมองเสื่อม เราอาจแบ่งกิจกรรมการเล่นเป็น 2 แบบ ได้แก่ กิจกรรมรวมตัว กับกิจกรรมเดี่ยว โดยกิจกรรมรวมตัวเล่นระหว่างผู้สูงอายุที่สมองเสื่อมกับผู้สูงอายุที่สมองดี ก็เช่น ให้นั่งล้อมวง ร้องเพลงง่ายๆ อย่าง เพลงลอยกระทง การร้องเพลงก็เป็นการกระตุ้นให้ผู้สูงอายุได้พัฒนาด้านต่างๆ มีความเพลิดเพลิน ได้นึกถึงเพลงเก่าๆ หรือเกมส่งบอลหยุดที่ใครให้ตอบชนิดของผลไม้ แต่ถ้าวันไหนมีผู้สูงอายุสมองดีเยอะ เราก็อาจตั้งโจทย์เพิ่ม เช่นผลไม้ชนิดไหนมีสีแดง ผลไม้ไหนรสเปรี้ยว ส่วนกิจกรรมเดี่ยว เช่น ต่อจิ๊กซอว์ง่ายๆ 9 ชิ้น โดยที่เราต้องเล่นด้วย กิจกรรมอาจใช้เวลานานสำหรับผู้สูงอายุแต่ละท่านที่เริ่มต้น จากนั้นอาจค่อยๆ เพิ่มชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ได้ แต่สำหรับผู้ผู้สูงอายุที่สมองเสื่อม อาจต่อไม่ได้แล้ว
“การเล่นบางอย่างก็คอยระวัง กรณีผู้สูงอายุที่สมองเสื่อมมากๆ อาจแยกไม่ออกระหว่างของเล่นกับของกินได้ ซึ่งอาจหยิบเข้าปาก ดังนั้นการจัดกิจกรรมก็ต้องวิเคราะห์ก่อนว่าแต่ละกลุ่มแต่ละคนมีอาการอย่างไร แล้วจะจัดกิจกรรมให้ยากง่ายอย่างไร และที่สำคัญความปลอดภัยต้องมาควบคู่กับความสามารถในการเล่น”
ทางด้าน ดร.ภัทรารัตน์ แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมถึงการออกแบบกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุว่า “เมื่อจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เราจะไม่ใช้คำว่าเล่น เพราะพอใช้คำว่าเล่น บางทีผู้สูงอายุจะปิดกั้นทันที ไม่เอา ไม่เล่นไม่ใช่เด็ก เราก็จะเชิญชวนว่ามาทำกิจกรรมฝึกสมองร่วมกัน ดีกว่านั่งรอหมอเฉยๆ และกิจกรรมก็ไม่ควรไปกำหนดว่าต้อง 1 2 3 แต่ควรร่วมเรียนรู้ว่าผู้สูงอายุคนนี้เหมาะกิจกรรมแบบไหน เช่น บางกิจกรรมให้เขาจับคู่ อย่างกระทะกับตระหลิวต้องคู่กัน เขาอาจไม่ได้จับคู่แบบนั้นก็ได้ แต่จับเป็นกระทะกับไข่ เพราะจะเอาไปทอดไข่ ซึ่งเป็นการกระตุ้นจากประสบการณ์ของแต่ละคน กระตุ้นจินตนาการ ได้คิดเชื่อมโยง และที่สำคัญเวลานั้นเป็นเวลาที่มีญาติคนไข้อยู่ร่วมด้วย เขาก็จะได้เรียนรู้ร่วมด้วย หรือนำกิจกรรมไปประยุกต์ที่บ้าน เพื่อกระตุ้นด้านต่างๆ ของร่างกายคนไข้ต่อได้”
ส่วน ดร.สิทธา มองว่า “อย่าคิดว่าผู้สูงอายุเป็นมนุษย์ชนิดพิเศษ ผู้สูงอายุก็คือมนุษย์ทั่วไป แค่อายุมากกว่าเท่านั้นเอง มีความชอบ ความไม่ชอบเหมือนเด็ก วัยรุ่น วัยกลางคน เพราะฉะนั้นถ้าจะเล่นแล้วให้ได้ผลจริงๆ ควรเริ่มจากความสนใจ อย่าไปฝืน เช่น ซื้อจิ๊กซอว์ร้อยชิ้นให้พ่อแล้วบอกให้นั่งต่อสิ สมองจะได้เฉียบ ซึ่งก็ไม่ต่างจากเวลาเราบอกลูกว่าออกไปเตะบอลสินั่งอยู่ในบ้านทั้งวันทำไม ฉะนั้นเราควรเริ่มไม่ใช่แค่ว่าผู้สูงอายุสนใจอะไร แต่ทั้งครอบครัวที่จะเล่นด้วยกันสนใจอะไร มีความต้องการแบบไหน อาจจะปลูกผักสวนครัวก็ได้ คือการเล่นไม่จำเป็นต้องเป็นการจับของเล่น แต่เป็นอะไรที่เราสนใจ”
เล่นด้วยกัน เชื่อมสัมพันธ์ในบ้าน
ในช่วงท้ายๆ ของวงเสวนา วิทยากรทั้ง 3 ที่มีประสบการณ์ด้านการออกแบบกิจกรรมสำหรับผู้สูงวัย ร่วมแบ่งปันและสะท้อนมุมมองที่เห็นตรงกันว่า การเล่นเป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
โดย ดร.ภัทรารัตน์ กล่าวว่า “จริงๆ ในครอบครัวมีหลายกิจกรรมที่ทำร่วมได้ ดังนั้นอาจเริ่มต้นด้วยการชวนทำอะไรที่ชอบร่วมกัน อย่างการทำอาหาร ก็คือการเล่นอย่างหนึ่ง แต่เป็นการเล่นที่ได้เป็นอาหารออกมา เราอาจดูว่าคนในบ้านเราชอบทำอะไร บางคนชอบทำความสะอาด ก็อาจมีกำหนด วันอาทิตย์มาช่วยกันทำความสะอาด อีกคนทำอาหาร หรือรดน้ำต้นไม้ด้วยกัน ทั้งหมดนี้ก็ถือว่าเป็นการเล่นที่เป็นกิจกรรมทำกับครอบครัวได้”
ส่วน ดร.สิทธา แสดงความคิดเห็นว่า “เราต้องหาจุดกึ่งกลางเวลาเล่นหรือออกแบบกิจกรรม ไม่จำเป็นต้องออกกติกาเป๊ะมาก แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรไปแบบเปล่า เช่น เอาผ้าไปโยนใส่มือให้เขาเล่น หรือบอกให้ต่อจิ๊กซอว์สิ เขาก็ไม่รู้จะเริ่มยังไง ฉะนั้นควรเล่นให้ดู หรือเล่นไปด้วยกัน พอเขาเห็นแล้วได้ลองเล่นก็จะร้อยเรียงเข้ากับบริบทตัวเองได้ ที่สำคัญคิดว่าต้องลองผิดลองถูก แล้วก็ต้องเปิดใจ เช่น ร้องคาราโอเกะ หลานอิน ยายไม่อิน ก็ไม่เป็นไร ลองไปเรื่อยๆ ลองผิดลองถูก แล้วได้รู้ว่าคนไหนชอบ คนไหนไม่ชอบ บางทีพอมองย้อนกลับมาแล้วขำขันเฮฮาดี ทั้งยังได้รู้จักคนในครอบครัวมากขึ้น”
ด้านคุณสุภาพร สะท้อนมุมมองว่า “การเริ่มต้นช่วงแรกอาจยากหน่อย ยิ่งกับผู้สูงอายุอาจจะไม่อยากทำอะไร อยากจะนอนอย่างเดียว แต่สมาชิกในครอบครัวต้องเสียสละเวลาเพื่อช่วยกระตุ้นด้วย อย่างแรกเลยต้องลองผิดลองถูก เพราะเราไม่รู้ว่าผู้สูงอายุหรือคนที่เราดูแลชอบอะไรบ้าง อาจจะซื้อเป็นของเล่นหลายแบบมาลอง หรือถ้าเป็นการเล่นเชิงกิจกรรม ยกตัวอย่างที่บ้าน ก็มีหลายเจเนอเรชั่นอยู่รวมกัน เราก็ต้องค่อยๆ ปรับตัวเข้าหากัน พยายามเข้าใจ เช่น คุณยายไม่ชอบทำอะไรมาก หลานชอบเต้น ก็ลองให้หลานไปเต้นให้คุณยายดู คุณยายก็จะได้เพลิดเพลิน และก็อยากแนะนำให้ผู้สูงอายุกับเด็กทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะเขาจะได้เห็นพัฒนาการของเด็ก แถมยังได้พัฒนาสมองตัวเองด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย ด้านจิตใจที่ได้ความภูมิใจ ความผูกพันระหว่างลูกหลาน ได้เรียนรู้ร่วมกันผ่านกิจกรรมและการเล่น”