ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่อัปเดตตลอดเวลา ทำให้โลกใบนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วฉับไวในหลากหลายมิติ การเลี้ยงลูกด้วยวิธีการแบบเดิมหรือระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมที่เน้นเสริมทักษะทางวิชาการเพียงอย่างเดียว จึงไม่ตอบโจทย์การเตรียมเด็กไทยให้พร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 อีกต่อไป ในห้วงเวลาที่โลกทั้งใบเชื่อมต่อถึงกันได้เพียงปลายนิ้วและแนวคิดการเป็นพลเมืองโลกหรือ Global Citizen ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นสิ่งที่เราทุกควรตระหนักรู้ ครอบครัวและโรงเรียนยุคใหม่ควรมีบทบาทอย่างไรในการส่งเสริมให้เด็กไทยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เราจะมาค้นหาคำตอบเหล่านี้ไปด้วยกัน
อุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับ Edsy สตาร์ทอัพการศึกษา จัดเสวนาหัวข้อ เตรียมพร้อมเด็กไทยสำหรับศตวรรษที่ 21: บทบาทของครอบครัวและโรงเรียน โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาร่วมให้ความรู้สามท่าน ได้แก่ หมอวิน-ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ หมออร-พญ.กัลย์สุดา อริยะวัตรกุล เจ้าของเพจเลี้ยงลูกโตไปด้วยกันกับหมออร Hormone for Kids กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ และคุณเอม-อมฤต เจริญพันธ์ ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ ดําเนินการเสวนาโดย แม่ติ๊ด-ภารดี โฆษะวิสุทธิ์ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกให้ยอดเยี่ยม
ปูพื้นฐานชีวิตติดอาวุธให้ลูกพร้อม
ครอบครัวเป็นสถาบันแรกในการปลูกฝังและประกอบสร้างเด็กคนหนึ่งให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพและมีความสุขกับการใช้ชีวิต โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันและความกดดันสูง ทั้งยังมีปัจจัยภายนอกอีกมากมายที่เราไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด การเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอจึงเป็นทักษะสำคัญอย่างยิ่งสำหรับโลกอนาคต ในประเด็นนี้ หมอวิน-ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ ที่มีเป็นทั้งกุมารแพทย์และคุณพ่อลูกสองให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ผมเองก็ไม่ต่างจากคุณพ่อคุณแม่ทั่วไปที่ต้องการให้ลูกเก่ง ดี มีสุข เอาตัวรอดได้ ซึ่งเมื่อมองไปในสภาพสังคมปัจจุบัน เราจะเห็นว่าบางคนเก่งแต่ไม่มีความสุข บางคนเก่งและดีแต่เอาตัวรอดไม่ได้ บางคนมีความสุขแต่ไม่เก่ง ผมจึงย้อนกลับมาถามตัวเองว่าคุณสมบัติอะไรที่เราควรปลูกฝังให้ลูกตั้งแต่เด็ก เราอยากให้ลูกมีอะไรเป็นอาวุธพื้นฐานให้เขานำไปเผชิญโลกในอนาคตที่มีแต่ความไม่แน่นอน ผมตอบได้เลยว่าคือสุขภาพจิตที่ดี เพราะเด็กสุขภาพจิตดีจะพร้อมสำหรับการเรียนรู้และรู้จักแสดงอารมณ์อย่างสมเหตุสมผล จัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ดีทั้งด้านบวกและด้านลบ เมื่อเจออุปสรรคและมีอารมณ์ด้านลบเข้ามา เขาจะจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้นได้ดีและก้าวผ่านมันไปได้ เขาจึงสามารถดูแลตัวเองในวันที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงได้”
โดยคุณสมบัติสำคัญของเด็กที่จะมีสุขภาพจิตดี อันดับแรกคือต้องมีความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง หรือที่เรียกว่ามี Self-esteem นั่นเอง เด็กที่เห็นคุณค่าในตัวเองมักลงมือทำสิ่งต่างๆ ได้ดี และนำไปสู่การเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อว่าตัวเองมีคุณค่า มีระบบความคิดที่ยืดหยุ่นและสามารถตั้งเป้าหมายชีวิตได้ ต่างจากเด็กที่ขาด Self-esteem ซึ่งจะมองตัวเองในแง่ลบอยู่เสมอ ทั้งนี้ ความมั่นใจที่มากเกินไปและน้อยเกินไปเกิดผลเสียกับเด็กเสมอ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องช่วยส่งเสริมความภาคภูมิใจในตัวเองที่ดีพอและพอดีสำหรับลูก ด้วยการปลูกฝังความรู้รอบเกี่ยวกับตัวเองทั้งใจ อารมณ์ ร่างกายให้กับเด็กตั้งแต่ช่วงปฐมวัย เพราะเด็กเล็กจะมองตัวเองผ่านการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ซึ่งคนที่เด็กปฐมวัยใกล้ชิดสนิทสนมมากที่สุดก็มักจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ หากชื่นชมมากเกินพอดีลูกอาจกลายเป็นเด็กที่มี Self-esteem สูงเกินไป แต่ถ้าถูกตำหนิดุด่าหรือลงโทษรุนแรงบ่อยๆ ก็อาจทำให้เขากลายเป็นเด็ก Self-esteem ต่ำได้ และหลายครั้งการดุด่าไม่ได้ทำให้เด็กหยุดรักพ่อแม่ แต่ทำให้เด็กหยุดรักตัวเอง
นอกจากนี้ หมอวินยังเสริมอีกว่า “ครอบครัวไม่ควรมีเงื่อนไขในการได้มาซึ่งความรัก หลายบ้านเด็กถูกตั้งเงื่อนไขก่อนที่จะได้รับความรัก ต้องเป็นเด็กดี สอบได้คะแนนดี ไม่แกล้งน้อง เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ทำให้ความภาคภูมิใจในตัวเองของเด็กถูกสั่นคลอน และทำให้ในอนาคตภายภาคหน้าเขากลายเป็นคนที่มองว่าตัวเองไม่มีคุณค่า สิ่งแวดล้อมภายในบ้านต้องปลอดภัยสำหรับเด็กทั้งแง่ของกายภาพและจิตใจ เป็นบ้านที่อยู่แล้วสบายใจ ออกจากบ้านแล้วมีความคิดถึงอยากกลับบ้าน ยิ่งลูกโตเรายิ่งต้องใช้หูมากขึ้น สอนให้น้อยลงฟังให้มากขึ้น พื้นฐานทางอารมณ์และพฤติกรรมเหล่านี้ต้องเริ่มต้นจากที่บ้านจริงๆ”
เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสให้ลูกน้อยพร้อมเติบโต
การแข่งขันที่นับวันจะยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนเล็งเห็นถึงความสำคัญในการวางแผนอนาคตให้กับลูก หมออร-พญ.กัลย์สุดา อริยะวัตรกุล กุมารแพทย์ที่มีลูกน้อยวัย 4 ขวบ 8 เดือนและ 2 ขวบ ก็เป็นคุณแม่ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เช่นกัน ซึ่งหมออรมองว่าแม้วันนี้อนาคตจะยังอีกยาวไกลแต่ทักษะที่เด็กในยุคศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องมีแน่นอนคือทักษะด้านภาษาและการปรับตัว
“ทุกวันนี้ทุกคนอยากผลักดันให้ลูกประสบความสำเร็จระดับอินเตอร์ ได้ทำงานกับบริษัทต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้ไม่ได้ไกลเกินฝันแล้ว เพราะทุกอย่างในโลกเชื่อมถึงกันหมด เราไม่ใช่แค่พลเมืองประเทศไทยเราคือพลเมืองโลก สำหรับคนที่ลูกยังเล็กสิ่งที่เราเตรียมพร้อมให้เขาได้อย่างแรกคือเรื่องภาษา เพราะสมองของเด็กจะเรียนรู้ภาษาได้ดีที่สุดในช่วง 2-7 ขวบ เรียกว่าเป็น Window of Opportunity คือช่วงเวลาที่เด็กสามารถเรียนรู้ตามธรรมชาติได้เร็วที่สุดโดยไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมาก หลังจากนั้นความสามารถของสมองในการเรียนรู้ภาษาจะค่อยๆ ลดลง ตอนนี้ภาษาอังกฤษเป็นแค่พื้นฐานที่ทุกคนใช้งานได้กันหมด เป็นสิ่งที่เราต้องให้กับลูกอยู่แล้วและพ่อแม่สามารถเริ่มฝึกให้ลูกได้ด้วยตัวเอง ส่วนภาษาที่สาม สี่ ห้าก็มีความจำเป็น ขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่สามารถเตรียมความพร้อมให้เขาได้มากน้อยแค่ไหน”
ประเด็นถัดมาที่หมออรให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ บ้านต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้ คุณพ่อคุณแม่ต้องส่งเสริมความกล้าลองผิดลองถูก และรู้จักชื่นชมลูกอย่างถูกวิธี นั่นคือการชมที่กระบวนการไม่ชมที่ผลลัพธ์ รวมถึงปลูกฝังให้ลูกเป็นเด็กรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ล้มลุกเรียนรู้ให้ไว อย่าไปยึดติดกับความผิดพลาดในอดีต เด็กยุคใหม่จำเป็นต้องมีทักษะความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ดีในทุกสถานการณ์ เพราะในอนาคตหากต้องทำงานร่วมกับชาวต่างชาติต่างภาษาต่างวัฒนธรรม ถ้าไม่เปิดใจ ไม่ปรับตัว ไม่มองคนอื่นในแง่มุมต่างๆ อย่างรอบด้าน เราก็อาจตัดสินคนอื่นไปก่อนล่วงหน้าว่าแบบนี้เธอผิดฉันถูก รวมถึงทักษะระหว่างบุคคลหรือ Interpersonal ก็เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับโลกอนาคต เพราะเป็นซอฟต์สกิลที่ทำให้เราสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้อย่างราบรื่น ทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถปลูกฝังให้กับลูกได้ตั้งแต่ก่อนถึงวัยเข้าโรงเรียน
บทบาทของโรงเรียนที่ช่วยส่งเสริมความพร้อม
การสร้างเด็กไทยยุคใหม่ที่มีคุณภาพพร้อมสำหรับโลกอนาคต สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาคือสองส่วนสำคัญที่ต้องผนึกกำลังกันอย่างแข็งขัน เพื่อส่งเสริมศักยภาพของเด็กตามพื้นฐานความสนใจและเป้าหมายที่เขาอยากพิชิตในอนาคต ทั้งบ้านและโรงเรียนจึงควรเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่สนับสนุนการค้นหาตัวเองของเด็กอย่างเต็มที่ ในประเด็นนี้คุณเอม-อมฤต เจริญพันธ์ ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ ทั้งยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง HUBBA และผู้ร่วมก่อตั้ง Techsauce พูดถึงเรื่องของระบบการศึกษาและแบ่งปันประสบการณ์ไว้อย่างน่าสนใจ
“สิ่งหนึ่งที่ผมสงสัยมาตลอดคือถ้าผมรู้หลายๆ เรื่อง เช่น รู้จักซิลิคอนวัลเลย์ตั้งแต่เด็ก ชีวิตจะไปไกลแค่ไหน ผมได้เรียนรู้ทุกอย่างหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย แม้ตอนนั้นจะภูมิใจมากที่ได้ปริญญาแต่พอรู้ตัวเองอีกทีก็พบว่าเราตกเทรนด์หมดเลย เพราะมัวแต่ตั้งใจเรียนมาก ถ้าเราเริ่มสนใจเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมตั้งแต่ตอนเด็กๆ เราคงไม่ต้องมาเริ่มตอนอายุ 25 เราเสียเวลาและเสียโอกาสไปเยอะ ผมจึงมองว่าสถาบันการศึกษาต้องทำงานเป็นทีมร่วมกับครอบครัว เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนให้น้องๆ สามารถเติบโตไปในทิศทางที่ต้องการได้”
โดยคุณเอมมองว่าความรู้บนโลกออนไลน์สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ได้บางส่วน แต่ต้องมีโรงเรียนที่ช่วยสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อส่งเสริมให้เด็กสามารถค้นพบตัวเองว่าสนใจหรือไม่สนใจอะไรและตั้งเป้าหมายเองได้ ซึ่งแน่นอนว่าขอบเขตของความรู้ในโลกยุคปัจจุบันนั้นกว้างใหญ่ไพศาลมาก ครูในโรงเรียนไม่สามารถรู้ทุกเรื่องบนโลก ครูจึงต้องมีบทบาทเป็น Learning Designer ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและช่วยหาผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ มาให้คำแนะนำแก่เด็ก และปลูกฝังให้เด็กรู้จัก Learning How to Learn เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
หมอวินเสริมว่าหากครอบครัวมีความพร้อมสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เด็กอย่างเต็มที่ โรงเรียนนานาชาติหรือโรงเรียนทางเลือก ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในการส่งเสริมพัฒนาการ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในระบบการศึกษาแบบไหน คนที่ควรรู้จักลูกดีที่สุดคือพ่อแม่ “เมื่อลูกสนใจอะไรขอให้คุณพ่อคุณแม่ลงไปคลุกวงในว่าสิ่งที่ลูกสนใจนั้นเราสามารถต่อยอดด้วยทรัพยากรที่มีได้หรือไม่ เพราะการสนใจในสิ่งที่ลูกสนใจ เป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองมีค่าควรรักและพ่อแม่เห็นความสำคัญของเขา จากนั้นจึงค่อยต่อยอดต่อไป ทุนทรัพย์ดีก็หาโอกาสที่ดีให้ลูก แต่ถ้าทุนทรัพย์ไม่ได้เยอะขนาดนั้นก็เอาเท่าที่ทรัพยากรเรามีและส่งเสริมให้เต็มที่ ไม่ว่าจะเรื่องของภาษา นวัตกรรมใหม่ๆ หรือทักษะเล็กๆ แต่ทำให้เขาเลี้ยงตัวและเลี้ยงใจรอดได้ในอนาคต อย่ามัวแต่หาโรงเรียนและกังวลกับการหาเงินแต่ไม่เลี้ยงลูก ถ้าความสัมพันธ์ภายในครอบครัวไม่ดีโรงเรียนก็อาจจะช่วยไม่ได้ ต้องเริ่มต้นจากครอบครัวก่อน ให้พื้นฐานของจิตใจดี กล้าที่จะลงมือทำ กล้าที่จะผิดหวัง และให้โรงเรียนที่ดีช่วยต่อยอดในสิ่งที่ลูกอยากเป็นและไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง”