เอก พิชัย แก้ววิชิต : ไม่ใช่ไลฟ์ แต่คือไบค์โค้ช “อาชีพ กับ ตัวตน มันคนละส่วนกัน”
เมื่อปี 2562 ‘เอก’ พิชัย แก้ววิชิต มอเตอร์ไซค์รับจ้างจากวินราชเทวีมีงานแสดงนิทรรศการภาพถ่ายแนวสตรีทโฟโต้ครั้งแรกร่วมกับศิลปินอีกสองคนที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง-อ.ศิลป์ พีระศรี
การปรากฏตัวของเขาเขย่าคนในสังคมให้รับรู้ว่า ‘ความฝัน’ ไม่ใช่นิทานหลอกเด็ก และหากเรามีความมุ่งมั่นจะเรียนรู้อะไรก็สามารถลุกขึ้นมาทำได้โดยที่ข้อจำกัดของชีวิตไม่ได้เป็นอุปสรรคขวางทาง แต่กลายเป็นเงื่อนไขของการสร้างสรรค์งานที่ทำให้เข้าถึงแก่นแท้ของศิลปะ คือ แสง เงา สี เส้น และคอมโพส
มันเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ หากเพียงมี ‘สายตา’ ที่จะมองเห็นมัน
บทเรียนแรกหลังจากผิดหวังจาก ‘ระบบการศึกษา’ ที่เขาเคยมาดหมายว่าจะช่วยเปลี่ยนสถานะทางสังคมคือ การเลือกที่จะไม่ยอมแพ้ต่อชะตาที่ใครก็ไม่รู้กำหนดมา และเดินหน้าพาตัวเองออกจาก ‘กรง’
‘กรง’ ที่สังคมกำหนดว่าหากเป็นวินมอเตอร์ไซค์ก็ต้องเป็นไปตลอดชีวิต
‘กรง’ ของกับดักรายได้ที่บอกว่าไม่ต้องฝันถึงการสร้างงานศิลปะ ขอแค่เลี้ยงชีวิตให้รอดก่อนก็บุญแล้ว
เขาตั้งโจทย์เรียนรู้การถ่ายภาพด้วยตัวเองครั้งแรกจากข้อจำกัดสุดๆ คือ ไม่มีเงิน ไม่มีความรู้ และต้องหารายได้เลี้ยงครอบครัวให้พอ เขานำข้อจำกัดเหล่านั้นมาเป็นโจทย์ในการสร้างสรรค์งานและเผยแพร่ผลงานผ่านอินสตราแกรม @phichaikeawvichit จนวันนี้เขาผ่านการร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกอย่าง Nike และกำลังเปิดการเรียนรู้ใหม่ของตัวเองอีกครั้งในฐานะคอลัมน์นิสต์ผู้เขียนคอลัมน์ ‘เอกภาพ’ ในมติชนสุดสัปดาห์
เรื่องราวการเรียนรู้ของเขาจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ต่อจากนี้
เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินได้หรือยัง
โอ้ ไม่กล้าเรียก (หัวเราะ)
ทำไมถึงไม่กล้า
เพราะว่าปลายทางผมไม่ได้ก้าวออกมาจากการเป็นวินมอเตอร์ไซค์เพราะอยากถูกเรียกว่าศิลปิน แต่อยากเป็นตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ผมชอบงานศิลปะ แต่ไม่ได้คิดว่าจะเป็นศิลปิน ไม่ได้คาดหวัง เป็นความหมายที่คนอื่นมาให้เรามากกว่า
คนให้ความสนใจคุณมากด้วยภาพของวินมอเตอร์ไซค์ที่มาเป็นช่างภาพจนได้แสดงงาน
คือการที่เราทำอาชีพใดอาชีพหนึ่งมันไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องไปเป็นอย่างนั้นตลอดชีวิต มันเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แต่อันดับแรกที่จะเปลี่ยนก็คือเปลี่ยนวิธีคิด แล้วก็เปลี่ยนสำนึกของเราให้มันเป็นสำนึกที่ไม่ขังตัวเอง ผมไม่โอเคกับการขังตัวเองไว้กับอะไร เมื่อจังหวะเวลามาถึงเราก็ต้องปล่อยให้ตัวเองได้เรียนรู้ ไม่ใช่แบบเราเคยอยู่ข้างซ้ายแต่ปฏิเสธไม่อยากรู้จักข้างขวา ไม่ได้ มันต้องรู้จักทั้งสองข้าง
ย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นที่ออกจากการขังตัวเอง
แรกเริ่มเดิมที ผมชอบศิลปะ ภาพวาด การปั้น แต่การชอบศิลปะมันต้องอยู่ในสถาบันใดสถาบันหนึ่งถึงจะได้พูดเรื่องศิลปะ ได้สร้างงานศิลปะ เพราะว่าคนอย่างผมไม่ได้เรียนมาไง เป็นคนหาเช้ากินค่ำ เลี้ยงดูครอบครัวไปเรื่อยๆ ไปวันๆ พอจะพูดถึงศิลปะ มันดูจะ โห… ไกลตัวมากๆ นึกออกไหม ทีนี้พอไม่ได้เรียนหรือไม่ได้สร้างศิลปะ สิ่งหนึ่งที่มันจะทำได้ก็คือการเสพศิลปะ ซึ่งไม่ได้ไปเสพเรื่องของประวัติคนทำว่าคนที่สร้างงานชิ้นนี้เขาคือใคร เป็นมายังไง เปล่าเลย ไปดูงานก็ดูงานจริงๆ ชอบไม่ชอบก็แค่นั้นจริงๆ ดูผ่านหนังสือบ้าง สมัยก่อนไม่มีมือถือ ก็ดูผ่านแกลเลอรีที่เขาเปิดแบบไม่เสียตังค์ ไปดูนู่นนี่นั่นแต่ก็ไม่ได้คิดว่าวันหนึ่งจะได้เอามาใช้ คือตอนนั้นคิดแค่ว่าให้มันมีศิลปะเข้ามาในชีวิต แค่ได้ดูก็มีความสุขแล้ว
คิดไหมว่าจะมาเป็นช่างภาพ แบบตั้งเป้าไว้เลยไหม
ไม่เลย ต้องย้อนกลับไป เมื่อก่อนตอนเด็กๆ ไปช่วยน้าชายขายผลไม้แถวตลาดมหานาค เป็นงานเข็นของตอนกลางคืน 6 โมงเย็นก็ต้องออกจากบ้าน ขายของเสร็จก็เช้า แต่ช่วงเวลาที่กำลังเก็บเข่ง ได้เห็นคนที่อายุใกล้เคียงกับเราในตอนนั้นแล้วแต่งชุดนักศึกษาไปโรงเรียน มัน… โอ้โห อยากเรียน คือเป็นคนชอบเรียนอยู่แล้ว แต่ด้วยความตกร่องก็คือไม่ได้เรียน ผมก็แอบไปเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ ตอนนั้นแค่ป.6 เอง (หัวเราะ) แต่ไปเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ เรียนจนจบม.6 มีครอบครัวแล้วก็ไปเรียนคณะมนุษยศาสตร์สื่อสารมวลชนที่ม.ราม คือตอนเรียนมันค่อนข้างทุลักทุเล แต่คิดแค่ว่า การศึกษามันทำให้เราหนีออกจากความเป็นวินมอเตอร์ไซค์ได้ มีความหวัง พยายามจบปริญญาเพื่อที่จะไปทำอาชีพอื่นที่ไม่ใช่ขับวิน อย่างน้อยก็ได้สู้แล้ว ไม่ใช่ปล่อยแช่ชีวิตไปเรื่อยๆ ตอนนั้นพยายามอย่างนั้นจริงๆ สุดท้ายพอจบมาก็ไม่ได้ทำ เพราะมีครอบครัว แล้วการขับมอเตอร์ไซค์ มันพอเลี้ยงครอบครัว ก็เลิกที่จะคิดเอาปริญญาไปต่อยอดทำอาชีพอื่น
ทีนี้มันก็เคว้งคว้างเหมือนกันนะ จบปริญญาแล้วยังต้องมาขับวิน แต่ผมเป็นคนที่ปลอบประโลมตัวเองเป็น ก็บอกว่า ไม่เป็นไร วิ่งวินจนเราจบปริญญาได้นี่ถือว่ามันเป็นความภาคภูมิใจเล็กๆ ของคนคนหนึ่งเลยนะ ก็อยู่กับสิ่งนี้มา จนเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ผมก็ไปช่วยพี่ช่างภาพคนหนึ่งแขวนภาพ เป็นงานภาพขาวดำ พี่เขาไปอยู่ปารีสมา เขาจะถ่ายสวยๆ ถ่ายฝรั่ง แวบแรกผมรู้สึกว่า ผมอยากอยู่ในพื้นที่แบบนี้ รู้สึก เฮ้ย พื้นที่นี้แหละที่เป็นของเรา ผมอยากจะใช้ชีวิตแบบนี้ ฝันไกลเลยแล้วก็แวบตัดไปที่ภาพที่ตัวเองใส่เสื้อวินอยู่บนท้องถนน แว้นๆ แว้นๆ (หัวเราะ)
ความฝันกับความจริงในตอนนั้นต่างกัน
กลับมาอยู่กับความเป็นจริงแล้วอยากตาย ผมใช้คำว่าอยากตายนะ คืออยากตายแล้วไปเกิดใหม่แล้วเริ่มเรียนศิลปะ คือรู้แล้วว่าจิตวิญญาณของเรามันต้องมาทางนี้ หลังจากไปช่วยพี่เขาแขวนรูป ผมก็มานั่งคุยกับตัวเอง เฮ้ย ถ้าคิดถึงขั้นตายเพราะศิลปะได้ แสดงว่าก่อนหน้านี้มันไม่ใช่แค่ชอบเฉยๆ แล้ว มันต้องมีอะไรมากกว่านั้น ก็เลยเริ่มทบทวนตัวเองว่าตอนนี้เราอายุเท่าไหร่ทำอะไรให้ตัวเองบ้าง ที่ผ่านมาไม่เคยทำอะไรให้ตัวเองเลย อย่างมากก็ดูแลครอบครัว ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ไม่มีตัวตนอะไรสักอย่าง มีหน้าที่แต่ไม่มีตัวตน
ก็คิดว่า เอาไงดีวะ อยากวาดรูป แต่กว่าจะวาด กว่าจะวิ่งรถ เลิกมาสองสามทุ่ม มานั่งวาดรูป ไม่น่าจะไหว แวบหนึ่งมันมีคำว่า ‘ถ่ายภาพ’ ขึ้นมา แต่มันก็ยังไม่จบปัญหา มันจะไปถ่ายอะไร เราไม่ได้ไปเที่ยว ไม่ได้ไปถ่ายทะเล ภูเขาสวยๆ แล้วจะถ่ายอะไร คิดวนอยู่แค่นี้ สักพักก็มีอีกประโยคแวบขึ้นมาอีกว่า ‘การถ่ายภาพมันคือศิลปะ’ แล้วศิลปะมาจากไหน มันก็มาจากเส้น รูปร่าง รูปทรง แสงเงา สี ซึ่งไม่ว่าศิลปินหรือคนธรรมดามันก็หนีสิ่งเหล่านี้ไม่พ้นเหมือนกัน เอ๊ะ แล้วถ้าอย่างนั้น มองตึก มองเสา มองอะไรพวกนี้ให้มันเป็นองค์ประกอบศิลปะล่ะ มันก็เป็นศิลปะได้สิ แต่เราเป็นวินมอเตอร์ไซค์ จะถ่ายอะไร ก็ต้องถ่ายกรุงเทพฯ แล้วถ่ายผ่านมุมมองศิลปะ ผ่านเส้น ผ่านองค์ประกอบ ก็เลยใช้พวกมือถือถ่าย snap เล่นๆ ไป ตัดไปตัดมา ลูกเห็นงานก็ถามว่า ‘ทำไมพ่อไม่เล่นไอจีล่ะ’
‘มือถือ’ คือเครื่องมือความศิลปินชิ้นแรก?
ใช่ๆ แต่สักพักก็เปลี่ยน เงินก็ไม่มีนะแต่อยากได้กล้องมากตอนนั้น เครื่องร้อน (หัวเราะ) มองตึก หูย เห็นมุมอะ แต่มือถือมันไปไม่ได้แล้ว ก็เอามอเตอร์ไซค์นี่แหละไปจำนำ หมื่นสอง ขี่รถไปที่ไฟแนนซ์ เขาถามเอาเงินเท่าไหร่ ตอบเร็วเลย กล้องหมื่นสองก็เอาหมื่นสอง เอาเงินไปซื้อกล้องคอมแพคที่มันซูมได้ ตอนนั้นเริ่มเล่นไอจีตามที่ลูกบอกละ โพสต์ภาพลงไอจี จนน่าจะปีที่แล้วมีพี่คนหนึ่งเขาจะจัดงานแสดงศิลปะที่งานต้องมาจากคนนอกแวดวงศิลปะ บังเอิญว่าเขาเห็นงานผมในไอจี แล้วตอนแรกเขาคิดว่าเป็นฝรั่งในกรุงเทพถ่าย แต่พอเขารู้ว่าผมเป็นวินมอเตอร์ไซค์ เขาก็เลยรีบมาชวนเลย
เขาโทรเข้ามา ผมก็ส่งคนอยู่ที่ตลาดอยู่ (หัวเราะ) พอรับสาย พี่เขาบอกว่าอยากเอางานผมมาแสดงด้วยที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง ผมไม่รู้จักว่าบ้านอาจารย์ฝรั่งคือใครยังไง สุดท้ายผมก็เข้าใจว่ามันเป็นบ้านของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก็ตกปากรับคำเขาไป
ความรู้สึกของการแสดงงานครั้งแรก
จริงๆ นิสัยส่วนตัวผมเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว ขี้อาย ก็ได้เปลี่ยนตัวเองไปเยอะมาก คือพอจัดนิทรรศการ มีสื่อมาสนใจ หรือมีคนที่เขาเดินมาบอกว่าเขาดูภาพแล้วเซอร์ไพรส์มากถ่ายออกมาเก่งจัง เห็นมุมนี้ได้ยังไง เขาเดินผ่านทุกวันยังไม่เห็นเลย ดีจังเลย บางคนมาเล่าว่าเลิกถ่ายภาพไปแล้ว พอเห็นภาพของผมแล้วรู้สึกว่าอยากเอากล้องมาถ่าย มีคนบอกว่า ‘ผมเห็นมุมมองของภาพพี่แล้วรู้สึกมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งเลย’ ได้ฟังแบบนี้แล้วรู้สึกเปลี่ยนข้างในผมเยอะเหมือนกัน
คิดว่าคนมาดูงานแล้วรู้สึกอย่างไร
จังหวะชีวิตของผมน่าจะเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งในสังคมว่า ‘มันมีคนอย่างนี้อยู่จริง’ คนที่รู้สึกว่าอยากทำอะไรแล้วทำได้ มันมีตัวตนจริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่สร้างขึ้นมาเป็นนิทานหลอกเด็ก หรือหนังสือที่เขียนบอกว่า ‘ทุกคนทำได้’ แต่คนที่ทำได้มีตัวตนจริงๆ ยืนอยู่ตรงนี้จริงๆ คนไม่มีตัวตนได้แสดงงานศิลปะแล้วจริงๆ เป็นหลักฐานที่ยืนยันกับทุกคนว่า ‘ใครก็ทำได้’ จริงๆ เพราะแค่ความเป็นตัวผมกับกล้อง กับการถ่ายภาพจากเงื่อนไขข้อจำกัดที่เดินทางไปถ่ายภาพไกลไม่ได้ แต่เห็น แสง เงา สี เส้น คอมโพส ศิลปะมันเกิดขึ้นได้จริงๆ ทุกคนทำได้ และเรียนรู้เองได้ มันไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้
งานศิลปะในความหมายของคุณเอกคืออะไร
‘เรื่องเล่า’ พอทำปุ๊บรู้เลยว่ามันคือเรื่องเล่า มนุษย์ถ้ำที่เขาวาดผนังถ้ำ แรกสุดก็คือแค่อยากจะเล่าเท่านั้น (หัวเราะ) แค่เอามือตัวเองไปวาดควายไบซันเพราะแค่อยากจะเล่าว่ามันมีการเลี้ยงสัตว์หรือมันมีสัตว์อยู่ในป่าแถบนี้ มันคือเรื่องเล่า ไม่มีหรอกศิลปะ มันไม่ใช่ของสูงส่งขนาดนั้น มันเป็นการแสดงออกผ่านสีสัน แสง เงา หรืออะไรก็ตาม ศิลปะมันคือเรื่องเล่าของอารมณ์ มันไม่ใช่ของวิเศษ ไม่ต้องกราบไหว้อะไร ศิลปะมันต้องอยู่กับความเป็นจริง ไปเพ้อฝันแล้วมันจะเข้าถึงผู้คนได้ไง คนจะไปเสพศิลปะได้ยังไง ถ้าคนทำไม่รู้จักชีวิตเลย มันก็แค่แฟชั่นโก้เก๋ ศิลปะมันลึกกว่านั้น แต่เราไม่ได้ถูกสอนมา วิธีที่เราถูกสอนมาคือ ลงทะเบียนเรียนดิ เทคนิคนี้ โอเค A+ เราเรียกว่าเป็นศิลปะ (หัวเราะ)
ทักษะการถ่ายภาพกับทักษะการเป็นวินมอเตอร์ไซค์ต่างกันเลย คุณฝึกฝนตัวเองอย่างไร
โห…ไม่เหมือนกันเลย ขับวินนี่มันร้อนรนมากเลย ทักษะต้องไวมาก ต้องแบบปุ๊บปั๊บๆ แล้วมันเครียด ใครบอกว่าขับรถไม่เครียด อันนี้ไม่จริง มันเครียดมากๆ เพราะว่ามันต้องเจอแรงกดดันทุกอย่าง อันตรายรอบตัว ทุกอย่าง ทั้งผู้โดยสารที่อยู่ข้างหลังเอย เราจะพาเขาไปตกไปกลิ้งเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ คือมันทุกอย่าง 5 บาท 10 บาทก็เสี่ยงชีวิตแล้ว แต่ 20 บาทนี่คืออาจจะโดนรถเมล์ทับตายได้เหมือนกัน (หัวเราะ) คือมันเป็นอย่างนั้น
แต่พอถ่ายรูป มันคนละโลกเลย มันเป็นโลกที่หมุนช้าลง แล้วมันเหมือนเป็นการสำรวจอารมณ์ผมได้ทุกขณะ มันใช้อารมณ์ที่เรียกว่าสุนทรียะ มันเพลิน เวลามันก็จะเหมือนหยุดหมุน แต่ขับวินนี่คือทุกอย่างต้องเร็วมาก
เรียนรู้การเป็นช่างภาพอย่างไร
ตอนซื้อไม่ได้มีความรู้อะไรเลย ก็ไปเสิร์ชในเน็ตนั่นแหละว่ากล้องซูมยี่ห้อไหนซูมได้เยอะ พกสะดวกราคาพอสู้ไหว นี่คือความรู้ในการซื้อกล้องของผม (หัวเราะ)
กล้องตัวแรกไม่มีอะไรเลย ซูมได้ ไม่มี manual ด้วย คือออโต้หมด ก็ถ่ายแบบออโต้ไปเรื่อยๆ พอทำไปก็จะเกิดคำถามว่า ทำไมมันถึงไม่ได้ดั่งใจ แล้วถึงกลับมาที่เบสิก อ๋อ รูรับแสงมันเป็นอย่างนี้ speed shutter เป็นอย่างนี้ ISO เป็นอย่างนี้ หรือ white balance เป็นอย่างนี้ ค่าเคลวินเป็นอย่างนี้ ซึ่งสิ่งพวกนี้มันมาทีหลัง ไม่ได้เริ่มต้นรู้จักมันก่อน เริ่มจากความรู้สึกกับประสบการณ์ แล้วประสบการณ์มันทำให้เราเจอปัญหา พอเจอปัญหามันก็จะทำให้เกิดคำถาม แล้วคนที่จะแก้คำถามได้ก็คือตัวเรากับกล้องนี่แหละ แล้วในขณะเดียวกันมีกูเกิลกับยูทูปที่ตอบคำถามได้ ก็แก้ปัญหาได้เลย สร้างงานได้เลย
เรียนแบบด้นสด?
ใช่ แล้วที่สำคัญคือศักยภาพมนุษย์มันมีมากมหาศาลจริงๆ ไม่ใช่แค่กับผมคนเดียวนะ กับทุกๆ คนเลย บางทีตำราเล่มหนาๆ เล่มหนึ่งมันเทียบไม่ได้กับศักยภาพของคนคนหนึ่งที่มี เพียงแต่ว่าบางทีอาจจะถูกกระบวนการหรืออะไรบางอย่างไปกดทับ
ผมว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ว่าถ้ามันจะเกิดประโยชน์ที่สุดเลยนะ คือต้องรู้จักตัวเองก่อน บางทีแบกความรู้เยอะมากแต่สิ่งเดียวที่ไม่รู้คือ ไม่รู้จักตัวเอง ก็จะไม่รู้ว่าจะเอาของที่มีเยอะๆ แบกไว้เยอะๆ ไปทำอะไร แต่ถ้ารู้จักตัวเองปั๊บ ความรู้ที่มีและอาจจะไม่ต้องรู้เยอะก็ได้ น้อยชิ้นแต่เกิดประโยชน์ได้ก็พอแล้ว บางคนอยากเป็นพ่อครัว เขาก็ต้องรู้เรื่องมีดใช่ไหม รู้เรื่องวิธีการหั่น เขาไม่จำเป็นต้องไปรู้ต้องใช้สียี่ห้อไหนวาดรูป หรือไม่ต้องรู้เรื่องความชัดตื้นชัดลึกของภาพถ่าย คือบางอย่างมันก็ไม่จำเป็นสำหรับคนบางคน แต่พอคนที่รู้ต่างกันมาอยู่รวมกัน ก็เป็นสังคมได้ เราทำกับข้าวไม่เก่งอะ แต่เพื่อนเราทำกับข้าวเก่ง ทำกับข้าวกินกันเถอะ เป็นการอยู่ร่วมกัน ให้เกียรติกัน แบ่งปันความรู้กัน ให้เกียรติความเป็นมนุษย์ด้วยว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเรียนรู้
การเรียนรู้ของคุณเป็นแบบไหน
มันไม่ต้องเคร่งเครียด อยากรู้เรื่องอะไรก็จะไปศึกษามาอ่าน อยากรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ก็ไปอ่านวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้อ่านในฐานะนักวิทยาศาสตร์นะ อ่านในฐานะคนอยากรู้ (หัวเราะ) เขาพูดถึงเรื่องควอนตัม ถ้าสงสัย ก็ไปอ่านดูก็ อ๋อ โอ้โห ปวดหัว งง (หัวเราะ) แต่อ่านเพราะอยากรู้ มันจะพอรู้เค้าโครงสร้าง อย่างศิลปะก็ดูจากงานของเขา มันมาจากความประทับใจมากกว่า พอมันไปประทับในใจแล้ว มันก็จะเกิด อย่างผมมองเสพ หรือมองภาพ Abstract พอถ่ายรูปมันก็จะเห็นอะไรที่ไม่เหมือนช่างภาพเขาถ่าย มันเหมือนภาพวาด แต่ว่าผมวาดภาพไม่เป็นเลยมาถ่ายภาพ
แต่การเรียนรู้สำหรับผมมันเกิดจากความรู้สึกเป็นจุดเริ่มต้น แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้ไป ค่อยๆ สังเกตตัวเอง สังเกตงานที่เราถ่าย แล้วค่อยๆ พัฒนา มันจะไม่ตันหรอก มันจะไปเรื่อยๆ
เคยท้อหรือรู้สึกว่าตัวเองจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ไหม
บางทีก็มีเป๋เหมือนกันนะ จะโพสต์เนี่ย คนจะชอบหรือไม่ชอบ ฝีมือเราจะตกไหม คือแวบพวกนี้มันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ มันช่วยทำให้เราไม่บอกตัวเองว่า ‘ฉันเก๋า’ แต่ทีนี้จะตามไปงอแงกับมันหรือเปล่านั่นอีกเรื่องหนึ่ง แบกหรือเปล่านั่นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราแบกไว้มันก็หนัก รู้ว่ามันหนักก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน กลับมาแค่ถือกล้องถ่ายรูปก็พอแล้ว แต่บางทีมันก็มีแวบๆ เข้ามานะ พอเข้ามา ถ้ารู้สึกว่ามันหนัก มันเกินหน้าที่ มันเกินขอบเขต ก็ไม่ไปยุ่งกับมัน
ถ้าจะบอกคนอื่นให้เขาลุกขึ้นมาเรียนรู้ด้วยตัวเอง จะบอกอะไรกับเขาดี
ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร หรือจะเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ต้องสำรวจตัวเอง อย่าขังตัวเองไว้กับอาชีพ ไว้กับหน้าที่การงานในแต่ละวัน อย่าพูดกับตัวเองว่ารอให้ฉันรวยก่อน อีกไม่นานสบายแล้วค่อยทำ มันรอไม่ได้
แล้วในขณะเดียวกันก็อย่าพิพากษาตัวเองว่าฉันทำได้แค่นี้ คนเยอะนะที่ตัดสินไปแล้วว่าฉันไม่มีพรสวรรค์ ต่อให้ดิ้นแล้วมันไม่ได้ อันนี้น่ากลัวมากเลย คนอื่นจะตัดสินยังไงก็ตามไม่มีผลหรอก อยู่ที่เราตัดสินตัวเองไปตามที่เขาพูดไหม ผมว่ามันต้องกลับมาอยู่กับตัวเองอย่างน้อยก็ดูว่าชอบอะไร หาเงินก็ส่วนหนึ่ง ส่วนตัวตนก็ทำในสิ่งที่เป็นตัวตน
ยังมีอะไรที่อยากทำอยู่อีกไหม
ก็ยังถ่ายภาพด้วย เขียนคอลัมน์ด้วย ตอนนี้เขียนให้มติชนสุดสัปดาห์ โอ๊ย เหนื่อย (หัวเราะ) พอมาทำหนังสือแล้วเพิ่งรู้ โอ้โห เอาเรื่องอยู่นะ ผมเพิ่งบ่นไปในบทความ อารมณ์แบบว่าถ่ายภาพเนี่ย บางทีเราย่อเข่าแล้วกดชัตเตอร์ก็จบ แต่พอเขียนหนังสือเนี่ยหลายย่อหน้าแล้วยังไม่จบเลย (หัวเราะ) ยังไม่ได้ความของมันเลย
อ้าว แล้วการเป็นนักเขียนก็คือเรียนรู้เองอีก เริ่มต้นอย่างไร เหมือนถ่ายภาพไหม
เริ่มจากการที่ไม่รู้อะไรเลยเหมือนการถ่ายภาพ รู้น้อยมาก รู้แต่ว่าชอบงานศิลปะ แล้วก็ชอบอ่านหนังสือ แต่ไม่ได้ถึงกับเป็นนักอ่าน ซึ่งก็เป็นการเริ่มทำอะไรแบบที่ไม่มีความรู้เป็นตัวตั้งจริงๆ แต่ผมคิดว่าการที่ทำอะไรโดยไม่ได้เรียนมา จะทำให้เรามองเห็นว่างานที่เราทำนี่แหละวันหนึ่งมันจะยื่นประสบการณ์ให้เรา อันนี้จะต่างจากโลกคนท่ัวไปที่เขาจะถามก่อนเลยว่า มาสมัครทำงานมีประสบการณ์ไหม
อีกอย่างผมจะไม่ทิ้งคำว่า ‘ค่อยๆ เรียนรู้’ คือระหว่างทางมันจะต้องมีความผิดพลาด มีวันที่แบบแย่ที่สุด มีวันที่ดีที่สุด มันจะปนอยู่ในนั้น อันนี้คือประสบการณ์ที่เราต้องเจอ
การเรียนรู้จะมีวันสิ้นสุดไหม
ไม่ เพราะผมว่าอีก 10 ปีข้างหน้า อีก 20 ปี มันจะตกตะกอนมากกว่านี้ หรืออาจจะปล่อยวางมากกว่านี้ก็ได้ อันนี้มันตอบยาก แต่ก็แฮปปี้ทุกครั้งที่ได้เรียนรู้ ผมไม่ชอบขังตัวเองไว้กับอะไรบางอย่าง ไม่โอเคกับการถูกขัง เหมือนการขับวิน ก็ไม่ได้อยากถูกขังกับอาชีพ เพราะมันไม่ใช่ตัวตนของเรา มันถึงได้มีวันที่ต้องออกไปถ่ายรูปบ้าง แล้วก็ไม่ได้ถ่ายเพราะว่าอยากเป็นช่างภาพนะ แต่ถ่ายเพราะอยากมีตัวตนของตัวเองจริงๆ ไม่ใช่เพราะอยาก โอ๊ย เบื่อวินแล้วอยากออกไป ไม่ใช่เลย มันไม่ใช่ประเด็นนี้ ประเด็นเดียวคืออยากมีตัวตน แล้วได้ทำอะไรที่ตัวตนมันเรียกร้อง แค่นั้นเองจริงๆ แต่ส่วนจะต้องขับวินหรือไม่ขับวินผมไม่ค่อยสนใจ ผมว่า เฮ้ย เราเจออะไรบางอย่างแล้ว
อะไรเป็นสิ่งสำคัญของคุณจากประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผ่านมา
สิ่งสำคัญ (นิ่งคิด) ที่ผมอยากให้เกิดคือ อยากให้เกิดแรงกระเพื่อม กระตุ้นเตือนคนในสังคมว่า คุณจะทำอาชีพอะไรก็ตาม มันเปลี่ยนได้ แล้วเราก็รู้สึกว่า ‘การทำอาชีพ’ กับ ‘การเป็นตัวตน’ มันคนละส่วนกัน อย่างคนเป็นหมอ เขาก็อาจจะเป็นนักเขียนหรือเป็นศิลปินวาดรูปก็ได้ ตำรวจทหารก็อาจจะอยากเป็นนักร้องก็ได้ มันเป็นไปได้ ผมคิดว่าผมน่าจะอยู่ตรงนี้แล้วก็ให้เขาเห็นว่าทุกคนทำได้จริงๆ ไม่ได้เป็นไลฟ์โค้ชนะ (หัวเราะ) แต่ทำให้คนได้เห็นว่ามันเป็นได้จริงๆ
บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Learning Designer โดยความร่วมมือระหว่างอุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับ Deep Academy |