“เป็นไปได้ไหมที่จะรักใครโดยไม่ต้องเจ็บปวด?”
ในจักรวาลความสัมพันธ์ของมนุษย์ทุกคน เราหวังที่จะให้มันเต็มไปด้วยความรักความเมตตา มีแต่สิ่งดีงามที่จะคอยจุนเจือหัวใจกันและกัน เป็นพลังใจให้กับเราท่ามกลางการใช้ชีวิตในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้ ทว่าจิตใจคนนั้นก็แปรเปลี่ยนได้ว่องไวไม่ต่างอะไรกับโลกนี้เหมือนกัน และด้วยความแปรปรวนสุดคาดเดาทำให้ทุกความสัมพันธ์ของคนเราต้องมีวันประสบพบเจอกับปัญหาอยู่ไม่น้อย แถมทิ้งแผลเป็นไว้กลางใจที่เหมือนจะไม่มีวันหาย จนความเจ็บปวดในความสัมพันธ์กลายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
แล้วถ้าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะทำอย่างไรให้ความสัมพันธ์อยู่รอด?
“เราคิดว่าการรับฟัง คือหัวใจสำคัญของทุกความสัมพันธ์” นั่นคือคำตอบที่ “โดม-ธิติภัทร รวมทรัพย์” นักศิลปะบำบัดเจ้าของเพจ he, art, psychotherapy และนักศึกษาปริญญาโท สาขา Art Psychotherapy บอกกับเรา
“เรามองว่า ไม่มีความสัมพันธ์ไหนที่ไม่ต้องปรับตัว แต่มันอยู่ที่ว่าปรับมากหรือปรับน้อย คือบางทีเราก็ปรับ เราเปลี่ยน แต่เราไม่ได้รู้สึกลำบาก จนเราเองก็อาจจะไม่ได้นิยามสิ่งที่เปลี่ยนไปว่าเป็นการพยายาม ลิมิตของการปรับ การเปลี่ยนตัวเองอยู่ที่อะไร ผมว่าเราต้องมาทบทวน สมมติถ้าเรายังเข้ากับเขาไม่ได้ ก็แปลว่าไม่ให้เขาเป็นฝ่ายปรับ ก็เป็นเราเองที่ต้องปรับ ถ้าลองปรับดูแล้ว เราไม่โอเคหรือเปล่า จะรู้หรือไม่รู้ อยู่ที่การคุยและทบทวนกับตัวเอง เพราะฉะนั้นลิมิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเราเปลี่ยนแล้วมันพอได้ อาจจะไม่แฮปปี้แต่ก็โอเค หรือมีเรื่องอื่นที่ยังโอเคอยู่ก็ถือว่าอยู่ในลิมิตนะ รับได้ก็คือรับได้ รับไม่ได้ก็คือรับไม่ได้“
เราทุกคนคาดหวังให้ความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสุข สงบ มั่นคง ราวกับมีพื้นที่ปลอดภัยในใจไว้หลบพักยามที่ชีวิตเหนื่อยแรงอ่อนล้าเมื่อโชคชะตาไม่เป็นดั่งใจหวัง แต่ในโลกความจริง เมื่อความสัมพันธ์ที่มนุษย์ต่างเชื่อมต่อไว้ให้กันและกันนั้น มักซ่อนไว้ด้วยความคาดหวังส่วนตนที่โตขึ้นมาเป็นเงาตามตัว ดังนั้นแม้ว่าปากจะบอกว่าแคร์เขามากแค่ไหน รักเขามากแค่ไหน แต่ในใจเราก็หวังจะได้รับการปฏิบัติกลับเพื่อสนองใจตนอยู่ไม่มากก็น้อย (อยู่ที่ใครจะควบคุมมันได้มากกว่ากัน) และเมื่อใดที่ดีลนี้มันไม่สมดุลขึ้นมา ทุกปัญหาความสัมพันธ์ก็สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในบัดดลกันเลยทีเดียว
ดังนั้นการได้พูดคุยรับฟัง ถึงข้อตกลงในความสัมพันธ์ เป็นสิ่งสำคัญขั้นพื้นฐานที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะมันคือจุดเริ่มต้นของการทำความรู้จัก ยอมรับในข้อดีและข้อเสียของอีกฝ่าย รวมไปถึงโอกาสในการเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากันภายใต้เงื่อนไขความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามจังหวะชีวิต
“แม้ว่าการพูดคุยเพื่อการปรับตัวระหว่างกันคือสิ่งสำคัญมากๆ ในความสัมพันธ์ แต่ต้องไม่ลืมว่าแต่ละคนก็มีเงื่อนไขการปรับตัวที่ไม่เหมือนกัน สำคัญที่สุดคือการให้โอกาสตนเองได้ปรับตัว และอย่าล้ำเส้นไปเปลี่ยนแปลงอีกฝ่ายโดยอ้างในนามของความรัก เพียงเพราะอยากให้เขาเป็นในสิ่งที่เราต้องการ เพราะนั่นอาจเป็นเรื่องของความเอาแต่ใจส่วนตนมากกว่าส่วนรวม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าลืมว่าทั้งเราและเขาก็ต่างมีลิมิตของการปรับตัวกันทั้งนั้น ให้ได้มากน้อยแค่ไหน ก็คือเรื่องระหว่างคนสองคนแล้วที่จะหาข้อสรุประหว่างกันให้ได้”
แต่ถ้าสุดท้ายแล้วความสัมพันธ์มีอันต้องจบลง ไม่ได้ไปต่อ สำหรับหลายคนสิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่ เราเห็นตัวอย่างความสัมพันธ์ที่ไม่สมหวังมากมาย ที่ทำให้คนรอบตัวต่างกลายเป็นคนสิ้นหวัง หมดกำลังใจ บางคนถึงกับท้อแท้ในชีวิตไปเป็นเดือน ๆ ปีๆ บางคนก็ชีวิตเสียหลักไปจนถึงเสียการเสียงาน ซึ่งเชื่อว่าหลายคนก็เคยอยู่ในสเตจของความรู้สึกแบบนี้มากันบ้างแล้ว ซึ่งถ้าวันหนึ่งเรื่องของเรามาถึงจุดจบจริงๆ ถือว่าเราเป็นคนที่ล้มเหลวในเรื่องความสัมพันธ์ไหม
“ตอนที่จะเลิกรากันไป ถ้าย้อนไปก่อนที่จะเจอกัน จริง ๆ แล้วเราก็ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ซึ่งเราก็ไม่คิดหรอกว่าเดี๋ยวจะต้องเจอคนนี้ ในตอนนี้ หรือคิดว่าหลังจากนี้คงรักใครไม่ได้อีก มันก็แค่วนกลับมาเป็นเหมือนตอนแรกเลยที่เราไม่ได้รู้จักเขา ไม่ได้เจอเขา หรือสุดท้ายเราก็อาจจะมีความรักอีกครั้งก็ได้ แต่จริงๆ ไม่มีใครตอบได้หรอกว่าอนาคตเราจะตกหลุมรักใครอีกได้หรือเปล่า”
ส่วนหนึ่งของคลิปสนทนา ‘วิชาความสัมพันธ์’ ระหว่างผู้คนหลากหลายวัย กับ “โดม-ธิติภัทร รวมทรัพย์” นักศิลปะบำบัดเจ้าของเพจ he, art, psychotherapy ที่จะชวนทุกคนมาไขปริศนาความสัมพันธ์ผ่านกระบวนการรับฟังและเข้าใจผู้อื่น วิธีการง่าย ๆ แต่สำคัญที่หลายคนอาจมองข้ามไป ไม่แน่ว่าบทสนทนาเล็กๆ อันนี้ อาจช่วยเปลี่ยนแปลงมุมมองความสัมพันธ์ที่คุณมีก็ได้นะ