หากใครได้เดินผ่านชั้นหนังสือเด็กหรือนิทานภาพสำหรับเด็ก คงเคยผ่านตาเรื่องราวของ “ตาตุและปาตุ” สองตัวละครสุดเพี้ยนจากปลายปากกาของนักเขียนและนักวาดภาพมือฉมังชาวฟินแลนด์อย่าง คุณไอโน ฮาวุไกเนน (Aino Havkainen) และคุณซามิ ตอยโวเนน (Sami Toivonen) กันมาบ้าง ซึ่งผลงานผจญภัยของตาตุและปาตุนั้นนอกจากจะเป็นชุดนิทานภาพที่ผู้คนในประเทศฟินแลนด์ต่างแนะนำว่าเป็นหนังสือดีสำหรับเด็กที่ “ต้องอ่าน” แล้ว ยังการันตีด้วยรางวัลคุณภาพที่มอบให้กับนิทานภาพดีเด่นประจำปีอย่าง Rudolf Koivu Prize (2001) และ Finlanddia Junior Prize (2007) อีกด้วย
ในโอกาสที่ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับสำนักพิมพ์นาวา จัดวงสนทนาในหัวข้อ “ถอดรหัสนิทานนอกกรอบ” สองศิลปินเจ้าของเรื่องราวสุดแสบของ “ตาตุ ปาตุ” ได้มาบอกเล่าถึงเบื้องหลังการทำงาน และแลกเปลี่ยนเรื่องราวน่าสนใจของนิทานชุดที่สุดประทับใจที่เราทุกคนได้รู้จักกันอย่างทุกวันนี้
ซามิ: สำนักพิมพ์โอตาวาในฟินแลนด์อยากให้เราทำหนังสือเด็กที่เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จะต้องเป็นหนังสือชุดที่ต่อเนื่องกัน เราเลยมีไอเดียอยากทำหนังสือเด็กที่มีตัวละครที่มาจากที่อื่น ซึ่งการที่มีตัวละครมาจากที่อื่นจะทำให้เรื่องราวที่ปรากฏในหนังสือสอนเด็กๆ ได้ง่ายขึ้น
ไอโน: พอได้ไอเดียแบบนั้น หนังสือเลยกลายเป็นการปะทะระหว่างโลกจริงกับโลกอื่น ซึ่งก็ทำให้เกิดเรื่องราวที่สนุก คุณอาจจะคิดว่าตาตุปาตุเป็นตัวละครที่ทำอะไรนอกกรอบแต่ความจริงแล้วเป็นตัวละครที่อยู่ในกรอบมากๆ เลย
ซามิ : พวกเขาทำผิดทำถูกแต่ก็ไม่เคยเสียใจ พวกเขาก็จะลองต่อไปจนกว่าจะได้ แล้วก็จะเป็นตัวละครที่ตื่นเต้นเสมอเมื่อได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
ไอโน: ตาตุปาตุอาจจะดูเกินๆ ไปหน่อยเพราะพวกเขาต้องลองทำหลายๆ อย่าง แล้วก็มักจะเข้าใจอะไรผิดอยู่เสมอ
ไอโน: ความจริงชื่อนี้มาจากคำว่า “อัคสุ” และ “โอโสะ” เป็นคำที่ค่อนข้างที่จะชินหูของคนฟินแลนด์ แต่ตอนแรกตัวละครที่เราคิดไว้ไม่ใช่แบบนี้นะ เราวาดดราฟต์แรกไปให้บรรณาธิการดูก่อน ซึ่งเขาบอกว่าแก่ (หัวเราะ) แล้วพอหลังจากนั้นเราก็เอากลับมาแก้
ซามิ: พอบรรณาธิการไม่เอาเราก็เลยโกรธมาก แต่ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ได้เอากลับมาแก้ให้มันเป็นแบบเดิมนะ เราเลยเลือกทำให้ตัวละครดูเด็กมากๆ ไปเลย กลายเป็นตัวละครตาโตๆ ดูน่ารักๆ แตกต่างไปอีกทางหนึ่ง (หัวเราะ)
ไอโน: หลักๆ เราก็ต้องประชุมระดมสมองกันอยู่เรื่อยๆ จนกว่าที่จะคิดคอนเซ็ปต์และรายละเอียดคร่าวๆ ของเรื่อง ซึ่งการประชุมร่วมกันจะช่วยการทำงานได้มาก พอเทียบกับการที่เราต้องคิดทุกอย่างเองคนเดียวหมดเลย เพราะถ้าคิดคนเดียวทุกอย่างปกติก็จะต้องใช้เวลานานมาก ส่วนที่ยากที่สุดไม่ใช่การวาดภาพหรือจัดส่วนประกอบอื่นๆ แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการสร้างไอเดียขึ้นมา การช่วยกันสองคนทำให้เราสามารถที่จะหาความคิดเพิ่มเติม เราคุยกันได้ตลอดเวลา
ไอโน: กว่าความคิดทั้งหมดจะลงตัวก็ใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือนขึ้นไป โดยส่วนตัวจะคิดทุกอย่างให้เสร็จเลยแล้วพอตอนวาดก็ไม่ต้องคิดแล้ว ตอนคิดเราก็จะตั้งคำถามว่าเด็กที่ไปเจอสิ่งนู้นสิ่งนี้จะรู้สึกอย่างไร โดยเราก็จะหาข้อมูลเยอะมากเกี่ยวกับเรื่องและรายละเอียดต่างๆ รวมถึงวิธีที่เราจะสื่อสารกับเด็กๆ ด้วย แล้วพอถึงเวลาที่จะวาดก็จะวาดอย่างเดียวเลย วาดวันละหลายชั่วโมงกว่าจะเสร็จ แต่ละเล่มเราใช้เวลาประมาณหนึ่งปี
ซามิ: ถ้าตรงนี้เรามีขั้นตอนที่ต่างกันอยู่นะ ส่วนของผม ผมจะเขียนออกมาเป็นภาพร่างคร่าวๆ ส่วน ไอโน จะชอบคุยก่อน มาถกกันก่อน อย่างเล่มที่เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนอันนี้ผมจะวาดหลายๆ ดราฟต์เลย แล้วก็ทิ้งไปเยอะเหมือนกันนะ ผมเริ่มจากพอได้ไอเดียเรื่องสิ่งประดิษฐ์แล้ว จากนั้นก็จะลองจินตนาการตัวเองเป็นตาตุปาตุ ว่าถ้าเราเป็นตัวละครเราจะใช้สิ่งประดิษฐ์นี้ยังไง จะใช้ถูกหรือผิดยังไง แล้วก็เขียนเรื่องราวที่เกิดจากความเป็นไปได้พวกนั้นออกมา
ซามิ: เราจะคิดไอเดียด้วยกัน ออกแบบภาพต่างๆ ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงทางสีหน้าหรือออกแบบท่าทางต่างๆ แล้วจากนั้นผมจะวาดเป็นหลัก แต่ทั้งหมดนี้ก็เกิดจากแบบร่างที่เราออกแบบมาด้วยกัน และปรึกษากันไปแล้ว พอวาดเสร็จก็จะเอาไปให้ ไอโน ทำขึ้นโครงแล้วก็ใส่รายละเอียดเป็นภาพเว็คเตอร์ จากนั้นก็ลงสีด้วยกัน
ไอโน: เพิ่มเติมคือในขั้นตอนวาดเส้นพวกเราจะวาดด้วยมือทั้งหมด ซึ่งอาจจะเป็นวิธีที่เก่านิดหนึ่ง แล้วเราก็จะมาดูภาพร่างด้วยกัน
ซามิ: ผมคิดว่าเป็นตอนที่เราเจอปัญหาแล้วเราพยายามจะแก้ไข เหมือนกับเราขบคิดกับมันมากๆ แล้วก็ไปเจอบางอย่างที่คลิกเข้ากันพอดี อย่างในเล่มที่ตาตุปาตุจะต้องเดินทางไปฟินแลนด์ คือความจริงเราก็ไม่ได้เห็นภาพทั้งหมดหรอกว่าแต่ละตอนมันควรที่จะต่อกันยังไงดี เพราะเรื่องราวในแต่ละเล่มก็มีความแตกต่างกัน แต่พอเราคิดกับมันมากๆ มันพาเราไปส่วนต่อไปที่มันคลิกกันพอดี มันก็เป็นอะไรที่ท้าทายแล้วก็สนุก
ไอโน: ซึ่งส่วนที่สนุกเป็นส่วนที่ยากที่สุดในเวลาเดียวกันเลย
ซามิ: แต่ความจริงมีเรื่องเกี่ยวกับการทำงานที่คนมักเข้าใจผิดก็คือ เวลาที่หนังสือออกหรือว่าเราได้เห็นงานของตัวเอง เราไม่ได้มีความสุขกับงานที่มันเสร็จแล้วนะเพราะเวลาที่เห็นตัวงานออกมาแสดงว่าเราเขียนเรื่องอื่นไปได้สักพักแล้ว เราคิดเกี่ยวกับรายละเอียดอย่างอื่นแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นการทำงานต่อเนื่องกันตลอดไม่เคยหยุดเลย ซึ่งการเขียนเรื่องเป็นซีรีย์ต่อกันแบบใช้ตัวละครเดิมก็เป็นเรื่องที่หนักพอสมควร
ซามิ: เรามีมุมมองกับหนังสือแต่ละเล่มในชุดแตกต่างกัน เรามีหน้าที่ที่จะทำให้เนื้อหามีความน่าสนใจทั้งกับตัวเราเองแล้วก็กับคนอื่น พยายามหาวิธีเล่าและมุมมองที่ใหม่อยู่เสมอ เช่น มีตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับตาตุปาตุออกไปผจญภัยในฟินแลนด์ เราก็ต้องหาวิธีเล่าให้สดใหม่อยู่เสมอ
ไอโน: หลายๆ ครั้ง เราไม่ได้มีโอกาสที่จะสัมภาษณ์หรือคุยกับเด็กๆ ขนาดนั้น แต่สิ่งที่เราทำก็คือจะหาคนอ่านก่อน ส่วนมากก็จะเป็นลูกๆ ของเราทั้งสองคน แล้วจากนั้นก็ถามเขาว่าเป็นยังไงบ้าง แล้วก็ส่งให้บรรณาธิการหรือคนอื่นๆ อ่านด้วย เราชอบที่จะได้คอมเมนท์นะ เพราะมันก็ทำให้เราแก้งานได้ตรงจุด รู้ว่าดีตรงไหนหรือว่าไม่ดีตรงไหน ส่วนมากเราก็จะชอบฟังคอมเมนท์จากหลายๆ ทางเพื่อจะเก็บเป็นความคิดเอาไว้ใช้กับงานเล่มต่อๆ ไป
ซามิ: มีคนถามคำถามนี้กับเราบ่อยมาก ความจริงทั้งสองตัวละครก็คือเราทั้งสองคน
ไอโน: คือตอนที่เจอ ซามิ เขาวาดการ์ตูนอยู่แล้ว ทีนี้เรามีความคิดเกี่ยวกับอะไรที่คล้ายๆ กันแล้วก็มีอารมณ์ขันกับบางเรื่องที่เหมือนๆ กันด้วย เราก็เลยชวนเขามาทำหนังสือภาพ แล้วก็ทำด้วยกันมาเรื่อยๆ
ซามิ: คุณ ไอโน ทำหนังสือให้กับสำนักพิมพ์โอตาวาอยู่แล้ว พอเรามาทำด้วยกันก็เลยเป็นเรื่องง่าย หนังสือภาพเล่มแรกที่เราทำคือเรื่อง Olivia and Max ที่เป็นหนังสือวาดด้วยมือ เป็นอีกเล่มที่เราช่วยกันวาดและลงสี ก่อนจะนำไปเสนอสำนักพิมพ์ งานชิ้นนี้มีบางส่วนที่อยู่ในเรื่องตาตุปาตุด้วยเช่นกัน พอหลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1999 เราก็เริ่มทำหนังสือชุดที่มีตาตุปาตุเป็นตัวละครที่ชื่อ Veera ซึ่งเรื่องนี้ ตัวละครที่ชื่อ Veera จะเป็นด้านของการใช้เหตุผล มาคานกับบุคลิกของตาตุปาตุ
ไอโน & ซามิ: ความจริงเนื้อเรื่องส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากครอบครัวอยู่แล้ว ลูกของเราจึงไม่ได้มีส่วนกับประเด็นต่างๆ ในหนังสือมากนัก แต่อย่างไรก็ตามเราก็จะให้เขาเป็นผู้อ่านคนแรกเพื่อพยายามทำความเข้าใจว่าเมื่อเด็กๆ เยาวชนได้อ่านเรื่องเล่าของเราแล้วพวกเขารู้สึกยังไงบ้าง
ซามิ: กินกาแฟให้เยอะ แล้วถ้าคิดไม่ออกจริงๆ ก็กินช็อคโกแล็ตเข้าไปด้วย (หัวเราะ) เราจะนั่งคิดกันบนโซฟาในห้อง แล้วก็คิดไอเดียทุกอย่างให้เสร็จก่อน แต่นั่นก็เป็นส่วนที่ยากแล้วก็ใช้เวลามากที่สุดอย่างที่เราบอกไปก่อนแล้ว เพราะเราไม่อยากทำสิ่งที่เคยมีมาก่อน เราจะคุยกันไปเรื่อยๆ มันก็เริ่มจากตรงนั้น
ซามิ: ผมชอบหนังสือการ์ตูนนะ โดยเฉพาะหนังสือซูเปอร์ฮีโร่ เช่นพวกสไปเดอร์แมนหรือทินทินของฝรั่งเศส แต่ถ้าพูดถึงหนังสือภาพผมชอบเรื่อง Severin เพราะหนังสือเล่มนี้ให้ภาพที่มีความละเอียดมาก แล้วภาพก็น่าตื่นตะลึงมาก เช่น ภาพของเครื่องจักรที่อยู่ในหนังสือ เราไม่จำเป็นต้องอ่านออกก็ได้ แค่ดูรายละเอียดภาพก็ดีมากแล้ว
ไอโน: ที่น่าสนใจคือเราเจอหนังสือเล่มนี้ในตลาด พอเราลองพลิกดูอีกที เหมือนรายละเอียดต่างๆ ในเรื่อง Severin จะโผล่ในเรื่องตาตุปาตุเต็มไปหมด ส่วนหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจของฉันคือเรื่อง Jumalten Rannan ที่มีภาพวาดโดย เอสเตอริค อูเดโซ อีกเล่มคือภาพที่วาดโดยเซมเป้ เพราะภาพประกอบและเนื้อเรื่องที่มีความเฉลียวฉลาด ในขณะเดียวกันก็สนุกด้วย
ซามิ: เรื่องที่ทำให้ประทับใจคือการที่เรื่องราวในหนังสือของเราช่วยให้เด็กๆ ไปหาคุณหมอง่ายขึ้น หรือไม่กลัวที่จะไปทำอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล อีกอย่างหนึ่งที่สุดยอดมากคือการที่มีเด็กๆ มากมายพยายามทำตามสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่า
ไอโน: สำหรับฉัน ฉันเคยได้รับอีเมลมาจากประเทศแคนาดา มีบ้านหลังหนึ่งที่เด็กๆ อยู่กับคุณย่าของพวกเขา แล้วคุณย่าเป็นคนที่มาจากฟินแลนด์ ก็จะเป็นคนแปลกๆ ที่เด็กๆ ไม่เข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่เขียนจดหมายมาหาเราบอกว่าขอบคุณพวกเรามากๆ เลย เพราะหนังสือของเราช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย ทำให้พวกเขาเข้าใจกันและกันมากขึ้น แม้ว่าคุณย่าจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม
ซามิ: สิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับผมอีกอย่างหนึ่งก็คือภาพวาดและสิ่งประดิษฐ์ของเด็กๆ เช่น เครื่องไล่ปีศาจ เพราะหนังสือเรื่องตาตุและปาตุทำมาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เราเห็นสิ่งนี้มากขึ้นเยอะเลยในโลกโซเชียลมีเดีย
ซามิ: อย่างที่บอกว่างานของเราแบ่งเป็นหลายส่วน เราไม่สามารถที่จะคิดอยู่ตลอดเวลาได้ เราจะคิดในช่วงเช้า ก่อนที่จะลงมือวาด ขั้นตอนวาดเราก็จะไม่เครียดมากแล้ว เราสามารถที่จะทำได้เป็นเวลานาน แล้วเราก็จะหาเวลาทำอย่างอื่นด้วย เราชอบที่จะเล่นบอร์ดเกมที่ชื่อว่า Escape Room เล่นกับลูกๆ เมื่อปีที่ผ่านมาเรายังฝึกเล่นเกมเต้นในโทรศัพท์แล้วก็พบว่ามันสนุกมาก
ไอโน: เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะหาอะไรทำที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือเลย เพราะทำให้เราทำหนังสือได้ดีขึ้น
ไอโน: เรื่องที่ฉันให้ความสำคัญมากที่สุดแล้วก็คิดว่าคนทำหนังสือทุกคนควรจะเป็นเหมือนกันก็คือ คนทำหนังสือทุกคนควรที่จะเปิดใจให้มากๆ เป็นคนที่ใจกว้าง คือใจกว้างมากพอที่จะเห็นความสำคัญในเรื่องราวของเด็กๆ แล้วก็อย่าดูถูกเด็กๆ ไม่ว่าคุณจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรก็ตาม ไม่ว่าเรื่องนั้นมันจะลึกซึ้งหรือมีความซับซ้อนขนาดไหนก็อยากให้นึกเอาไว้ว่าพวกเด็กๆ รับรู้ได้
และที่สำคัญมากกว่านั้นคือหนังสือเล่มหนึ่ง แม้จะถูกเรียกว่าหนังสือเด็กแต่เนื้อหาของเราก็สื่อสารถึงพ่อแม่ด้วย ถ้าหากพ่อแม่หยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาอ่านแล้วมีความสุข ลูกๆ ก็จะมีความสุขตามไปด้วย แม้สารที่เขาได้รับอาจจะมีความแตกต่างจากพ่อแม่ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายอะไรเลย เพราะวันหนึ่งลูกของคุณก็จะเข้าใจเพิ่มมากขึ้นเอง หรือจะเข้าใจในระดับที่ต่างๆ กันก็ไม่เป็นไร
ซามิ: ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเลยที่จะไม่ลืมคำถามว่าทำไมคุณถึงเขียนหรือทำหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาตั้งแต่แรก เพราะสุดท้ายหนังสือจะสร้างผลกระทบอะไรบางอย่างต่อเด็กๆ หรือรวมถึงต่อตัวคุณเองด้วย ซึ่งถ้ามันเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อใครบางคน เราก็ควรจะคิดหรือมีประเด็นที่สร้างผลกระทบในเชิงบวกมากกว่า อันนี้เป็นแก่นที่สำคัญที่สุดของคนทำหนังสือ
รูปภาพจาก
https://alueviesti.fi/2015/10/07/tatu-ja-patu-valkokankaalle/