Photo by Jon Tyson on Unsplash
การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการล็อคดาวน์ส่งผลกระทบต่อห้องสมุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ห้องสมุดส่วนใหญ่ปิดให้บริการ แต่อัตราการใช้งานทรัพยากรออนไลน์กลับเพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตา บางแห่งเพิ่มขึ้นสูงถึง 800% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ
มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ (University of Exeter) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้จัดทำสำรวจเรื่อง "E-resources in Public Libraries: Learning from Lockdown." ถึงความต้องการบริโภคเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ (e-content) และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อห้องสมุดในช่วงที่มีการล็อคดาวน์ เพื่อทำความเข้าใจทัศนคติและประสบการณ์ของบรรณารักษ์เรื่องผลกระทบด้านดิจิทัล กลยุทธ์การตลาด การจัดอบรม และงบประมาณ ในสถานการณ์ดังกล่าว การสำรวจครั้งนี้จัดทำเป็นแบบสอบถามออนไลน์ มีบรรณารักษ์เข้ามาตอบแบบสำรวจจำนวน 87 คน
72% เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าทรัพยากรออนไลน์ถูกนำมาใช้น้อยเกินไป
2 ทศวรรษที่ผ่านมาโลกของเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ก้าวหน้าไปไกล และห้องสมุดเป็นหนึ่งในองค์กรที่กุมเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ไว้มากที่สุด แต่ปริมาณการใช้งานกลับอยู่ในระดับที่น่าผิดหวัง เพราะคนทั่วไปไม่รู้ว่ามีเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์กระจายอยู่ที่ไหน จะใช้มันอย่างไร และช่องทางการเข้าถึงเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการใช้งานเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ก็มีทิศทางที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
76% กล่าวว่าการใช้งานทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นมหาศาลช่วงล็อคดาวน์
สถานการณ์ที่บีบคั้นในช่วงล็อคดาวน์พิสูจน์แล้วว่านี่ไม่ใช่ยุคที่ห้องสมุดล้มเหลว แต่ส่งสัญญาณให้ผู้คนเห็นถึงศักยภาพที่แฝงอยู่ ในขณะเดียวกันก็ทำให้บุคลากรของห้องสมุดตระหนักอย่างแท้จริงถึงช่องว่างที่จำเป็นต้องเติมเต็ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ห้องสมุดจะเริ่มกลับมาให้บริการ และผู้เข้ามาใช้บริการที่ห้องสมุดกายภาพยังมีแนวโน้มลดลง
78% กล่าวว่าห้องสมุดไม่มีกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ทรัพยากรให้กับกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้า ( non-user)
ทุกวันนี้ห้องสมุดมีจุดอ่อนเรื่องการตลาด บรรณารักษ์ส่วนใหญ่มีความพยายามไม่มากนักที่จะค้นหา non-user หากห้องสมุดคิดหาวิธีทำให้ผู้คนรู้ว่ามีอะไรให้บริการ ทั้งหนังสือ และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ กิจกรรม การเข้ามาใช้บริการห้องสมุดน่าจะเพิ่มสูงขึ้น
9% กล่าวว่าสามารถควบคุมทิศทางเว็บไซต์ของห้องสมุด
บรรณารักษ์ 9% เท่านั้นที่กล่าวว่าสามารถควบคุมควบคุมทิศทางเว็บไซต์ของห้องสมุดเพื่องานด้านการตลาด ส่วนอีก 51% ระบุว่าควบคุมเว็บไซต์ห้องสมุดได้เพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้เลย แต่บรรณารักษ์ส่วนใหญ่ก็พอใจในการใช้งานเหล่านั้น ทั้งนี้ บรรณารักษ์ 5% ได้ใช้ SEO (Search Engine Optimization) ซึ่งหมายถึงกระบวนการที่ช่วยผลักดันให้เว็บไซต์ขึ้นหน้าแรกของระบบ Search Engine และ SEM (Search Engine Marketing) ซึ่งเป็นวิธีการทำการตลาดบน Search Engine
หลังยุคโควิดห้องสมุดมีความท้าทายที่ต้องเผชิญเรื่องพื้นที่ทางกายภาพ งบประมาณ และความปลอดภัย การวิจัยครั้งนี้ได้ค้นพบสถานการณ์ที่เป็นบวกและศักยภาพที่จะสนับสนุนการทำงานที่สร้างสรรค์ ห้องสมุดจำนวนมากได้พิสูจน์ว่าสามารถใช้เว็บไซต์และทรัพยากรออนไลน์ขับเคลื่อนการให้บริการใหม่ๆ และเมื่อห้องสมุดกลับมาเปิดอีกครั้งก็ไม่ได้หมายความว่าการให้บริการทรัพยากรออนไลน์ด้อยคุณค่ากว่าการให้บริการทางกายภาพ ทั้งสองส่วนสามารถผสานกันเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้งานห้องสมุดให้สูงขึ้นและเกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น เช่น การอ่านออกเขียนได้ การสนับสนุนเด็กๆ ผู้สูงอายุ และธุรกิจสตาร์ทอัพ การฝึกอบรมและการจ้างงาน รวมถึงการให้บริการแก่คนกลุ่มน้อยของสังคม
ที่มา
แปลและสรุปความจาก Barney Allan.Our Survey Says...E-learnings from Lockdown (2020)