‘ดอน กิโฮเต้’ วรรณกรรมจุดไฟฝัน ให้หันมองชีวิตที่ควรเป็น
18 August 2020
3,694
ภาพ Library of the University of Seville
ดอน กิโฮเต้ (Don Quixote) เป็นนิยายที่แต่งขึ้นมานานกว่า 400 ปี โดยมิเกล เด เซรบานเตส (Miguel de Cervantes) นักเขียนชาวสเปน ภาคแรกพิมพ์เผยแพร่ ค.ศ.1605 ภาคสองพิมพ์ห่างจากภาคแรกสิบปีคือ ค.ศ.1615
ใน ค.ศ.1959 เดล วาสเซอร์มาน (Dale Wasserman) นักเขียนบทละครชาวอเมริกัน นำมาดัดแปลงเป็นละครทางโทรทัศน์ ความยาว 90 นาที ได้รับเสียงต้อนรับอย่างดี อีก 7 ปีต่อมาวาสเซอร์มานได้แก้ไขปรับปรุงให้เป็นบทละครสำหรับการแสดงบนเวทีบรอดเวย์ โดยตั้งชื่อใหม่ว่า Man of La Mancha เป็นบทละครที่ตีโจทย์นิยายของเซรบานเตสได้อย่างลุ่มลึก พูดถึงวิญญาณภายในของมนุษย์ ที่ดิ้นรนฝ่าฟันข้อจำกัดทั้งมวลเพื่อไปให้ถึงความฝัน
ว่ากันว่าในคืนเปิดการแสดงรอบแรก ปฏิกิริยาจากผู้ชมทำให้ผู้อยู่เบื้องหลังละครเรื่องนี้ถึงกับกล่าวว่า
"พวกเขาไม่ได้เพียงเข้ามาชมการแสดงละครเรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่กำลังเข้าร่วมพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเราเองก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะตรึงผู้ชมได้ขนาดนี้"
Man of La Mancha ได้รับรางวัลละครเพลงยอดเยี่ยมแห่งปี 1966 นักวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับกล่าวขวัญถึงละครเรื่องนี้อย่างยกย่องว่าเป็นการปลุกวิญญาณของ ดอน กิโฮเต้ ให้กลับฟื้นคืนมาได้อย่างสง่างาม ทรงพลัง และเต็มไปด้วยจินตนาการบรรเจิด และที่สำคัญคือ ด้วยความซื่อสัตย์ต่อความใฝ่ฝันอันเป็นอมตะ ซึ่งสืบทอดส่งต่อจากศตวรรษที่ 17 มาสู่คนรุ่นหลัง
ในประเทศไทย Man of La Mancha ถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครเวทีภาษาไทยโดยกลุ่มคณะละคร 28 ในชื่อ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ เป็นละครเพลงที่มีโปรดักชั่นน่าตื่นตาตื่นใจ ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม รวมไปถึงการร้องและการแสดงของผู้สวมบทบาท ดอน กิโฮเต้ คือ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง และ จรัล มโนเพ็ชร ซึ่งมาสลับกันเล่น ที่ทำให้ผู้ชมต่างรอบได้รับอรรถรสแตกต่างกัน
บันทึกการแสดงบางส่วน สู่ฝันอันยิ่งใหญ่
มิเกล เด เซรบานเตส ผู้แต่งนิยายเรื่อง Don Quixote มีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกับเชคสเปียร์ มหากวีชาวอังกฤษ เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ.1547 ที่เมืองเล็กๆ ใกล้กรุงมาดริด ครอบครัวมีฐานะยากจน แต่ตัวเขายังมีโอกาสได้รับการศึกษาขั้นต้น
ในปี 1570 พวกเติร์กซึ่งเป็นมุสลิมได้เข้ายึดเกาะไซปรัส ซึ่งถือเป็นดินแดนชายขอบของยุโรป บรรดารัฐคริสเตียนอย่างอิตาลี ฝรั่งเศส และสเปนจึงร่วมกันต่อต้าน เซรบานเตสขณะนั้นเป็นหนุ่มแน่นอายุ 23 ปีก็สมัครเข้าร่วมสงครามด้วย โดยประจำอยู่ในกองทหารสเปนที่อิตาลี ในระหว่างการสู้รบเขาได้รับบาดเจ็บที่หน้าอกและมือซ้ายจนพิการ แต่ก็ยังเข้าร่วมสมรภูมิรบอีกหลายครั้งกระทั่งปลดประจำการในปี 1574
ขณะที่กำลังเดินทางกลับสเปน เซรบานเตสถูกโจรสลัดชาวมัวร์จับไปขายเป็นทาสอยู่ในแอฟริกาถึง 5 ปี และได้รับการไถ่ตัวเมื่อ ค.ศ.1580 โดยพระรูปหนึ่งเป็นธุระช่วยจัดหาเงินทองให้ เมื่อได้รับอิสรภาพและเดินทางกลับมาถึงสเปน เซรบานเตสจึงได้เริ่มต้นชีวิตเป็นนักเขียนเพื่อหาเลี้ยงชีพ
ชีวิตนักประพันธ์ของเซรบานเตสเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ที่สเปนนี้เองเขาถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมและถูกจำคุกอีกสองสามครั้ง ด้วยข้อหาบ่อนทำลายศาสนจักรอันศักดิ์สิทธิ์ ชีวิตของเขาพบแต่ความลำบากยากจน เขาเขียนหนังสือมากกว่า 30 - 40 เรื่อง แต่ทุกเรื่องไม่ได้รับความสนใจจากผู้อ่านเท่าไรนัก จนช่วงท้ายของชีวิตเมื่อมีการตีพิมพ์เผยแพร่นิยาย ดอน กิโฮเต้ ภาคแรก ในปี ค.ศ.1605 ดูเหมือนว่านี่จะเป็นงานเพียงชิ้นเดียวของเขาที่ประสบความสำเร็จ มีการพิมพ์ซ้ำ 5-6 ครั้งในเวลาหนึ่งปี ส่วนเวอร์ชันภาษาอังกฤษได้รับการแปลหลังจากหนังสือภาษาสเปนออกมาได้สองปี
ดอน กิโฮเต้ ได้รับการถ่ายทอดเป็นหลายภาษา ทำสถิติการพิมพ์เป็นภาษาต่างๆ รวมแล้วมากกว่า 500 ล้านเล่มจนถึงปัจจุบัน นักวิจารณ์บางรายยกย่องว่า นี่เป็นบรรพบุรุษของนิยายสมัยใหม่ทั้งปวง บางคนประเมินว่านี่เป็นเรื่องแต่งหรือ Fiction ที่สำคัญที่สุดเท่าที่โลกรังสรรค์มา
เซรบานเตสเขียนนิยายเรื่องนี้และพิมพ์เผยแพร่ภาคแรกเมื่ออายุล่วงเข้า 58 อีกสิบปีต่อมาภาคสองจึงได้รับการตีพิมพ์ นับว่าเข้าสู่วัยชรามากแล้ว ไม่นานจากนั้นเขาก็ลาจากโลกไป ภายหลังเชคสเปียร์ที่เสียชีวิตไปก่อนหน้าเพียงแค่สิบวัน1 และเป็นเวลานานแสนนานที่ไม่มีใครรู้ว่าศพของเซรบานเตสฝังอยู่ที่ไหน จนล่าสุดพบว่าศพของเขาน่าจะถูกฝังรวมกับคนอื่นๆ ที่โบสถ์ของคณะพระตรีเอกภาพ2 ในเมืองอัลกาลา บ้านเกิดของเขาที่สเปนนั่นเอง
ดอน กิโฮเต้ เป็นหนังสือที่มีความยาวมาก เรื่องเดิมในภาษาสเปนมีถ้อยคำรวมแล้วเกือบ 5 แสนคำ การแปลเป็นภาษาต่างๆ นั้นก็มีหลายสำนวน ตั้งแต่ฉบับสมบูรณ์ครบถ้วนและฉบับย่อ สำนวนแปลภาษาอังกฤษฉบับสมบูรณ์ได้รับการยกย่องว่าเป็นการแปลที่ได้รสชาติใกล้เคียงกับต้นฉบับเดิมมากที่สุดยิ่งกว่าภาษาใดๆ ส่วนในเอเชียมีประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่นำมาแปลอย่างละเอียด
กว่าที่ ดอน กิโฮเต้ ภาคแรก จะมีการแปลฉบับสมบูรณ์เป็นภาษาไทย ก็ล่วงเข้าปลายปี ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548) หรือเป็นเวลา 400 ปีพอดีนับจากที่นิยายภาษาสเปนได้รับการตีพิมพ์ โดยเป็นการจัดพิมพ์เล่มพิเศษจำกัดจำนวน ในชื่อ ‘ดอน กิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน’ แปลโดย สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ต้นปีถัดมาจึงได้อวดโฉมตามร้านหนังสือให้นักอ่านชาวไทยได้เสพวรรณกรรมชั้นเลิศระดับโลกเรื่องนี้ ส่วนภาคสองแปลเสร็จและวางจำหน่ายเมื่อปี 2019 (พ.ศ.2562) โดยผู้แปลคนเดิม ในชื่อ ‘อัศวินนักฝัน ดอน กิโฆเต้ แห่งลามันช่า’3 ทั้งสองภาคจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
ดอน กิโฮเต้ เป็นเรื่องราวของขุนนางชราวัยห้าสิบ ผู้คลั่งไคล้หลงใหลนิยายผจญภัยและอัศวินผู้ปราบอธรรม จนคิดไปว่าทุกสิ่งในนิยายเป็นเรื่องจริง และมองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวผนวกหลอมรวมเข้ากับจินตนาการจากนิยายจนแยกแยะไม่ออก ความปรารถนาจะเป็นยอดอัศวินของชายชรา ทำให้เขามุ่งมั่นคอยช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ยากและอ่อนแอกว่า ต่อสู้กับเหล่าร้ายและอันธพาล เป็นเสมือนตัวแทนความดีหรือความใฝ่ฝันถึงโลกอุดมคติ ต้องการเห็นสังคมยุติธรรม
โลกของ ดอน กิโฮเต้ จึงแตกต่างจากคนทั่วไป
กังหันลมที่เขาเห็นคือมังกรยักษ์ โรงเตี๊ยมโทรมๆ คือปราสาท อ่างโกนหนวดคือหมวกเหล็กของยอดวีรบุรุษ ถุงข้างอานม้าเก่าๆ คือเครื่องประดับม้าที่ทำด้วยเพชรพลอย ตั้งชื่อม้าผอมโซเสียใหม่ให้โก้หรูคู่กับอัศวินว่า โรสินันเต้ และสมมติให้หญิงชาวบ้านผู้มีฝีมือในการหมักหมูเค็มรสเลิศที่ชื่อ อัลดอนซ่า ว่าเป็นเลดี้หญิงงามสูงศักดิ์นามว่า ดุลสิเนอา
การผจญภัยของ ดอน กิโฮเต้ นั้นเต็มไปด้วยความพิลึกพิลั่นและน่าสมเพช หลายต่อหลายครั้งที่เขาพบกับความปราชัยพ่ายแพ้หมดรูป บ้างก็ถูกตีหัวร้างข้างแตก พาร่างสะบักสะบอมกลับมายังปราสาท(สมมติ) รวมถึงบทสนทนาและความคิดแปลกประหลาดที่ดูราวคนสติไม่สมประกอบ การเดินทางท่องไปตามเมืองต่างๆ พร้อมคู่หูคู่ใจนามว่า ซานโช ปานซ่า ชาวนาผู้ภักดีและหวังจะได้เป็นเจ้าของครอบครองที่ดินหรือเกาะใดเกาะหนึ่งเป็นรางวัลตอบแทนความดีความชอบในการติดตามอัศวินผู้นี้ แต่ ซานโช่ นั้นมีวิธีคิดวิธีมองโลกที่แตกต่างไปจากเจ้านายของตน ตลอดเรื่องราวการเดินทางผจญภัยจึงคู่ขนานไปด้วยบทสนทนาที่เกิดจากการปะทะกันระหว่างโลกทัศน์ชีวทัศน์มุมมองสองแบบของคู่นายบ่าว นี่คือกลวิธีการเขียนที่เสมือนการเสียดเย้ยล้อเลียน แต่เป็นการล้อเลียนที่แทรกความคิดเพื่อยกระดับจิตใจผู้อ่าน และยังเหน็บแนมทิ่มแทงสภาพสังคมและประเพณีในยุคนั้นไปพร้อมกันด้วย
ในหนังสือ เส้นทางนักประพันธ์ เขียนโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล วิเคราะห์วรรณกรรมชิ้นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“...หนังสือเรื่อง ดอน กิโฮเต้ มีอะไรซ่อนอยู่มากกว่าความขบขันมากนัก ไม่ว่าเซอร์วานเตส4 จะจงใจหรือไม่ก็ตาม หนังสือของเขานับเป็นวรรณกรรมที่ให้กำลังใจผู้แพ้ เป็นเรื่องที่สรรเสริญความดีงาม ด้วยการเย้ยหยันมันอย่างถึงที่สุด
ดอน กิโฮเต้ นั้นเป็นคนบ้าก็จริง แต่บ้าที่จะทำความดี เขาถูกเย้ยหยันดูแคลนโดยผู้ที่ได้ชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะครบถ้วน สภาพเช่นนี้คืออะไรเล่า หากมิใช่ชะตากรรมของคนที่พยายามจะทำความดีในทุกยุคทุกสมัย มนุษย์มิได้เปลี่ยนไปมากนักในรอบ 400 ปีที่ผ่านมา และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ดอน กิโฮเต้ ยังเป็นนิยายที่มีพลัง
ความทรหดต่อบาดแผล ความบอบช้ำ ตลอดจนจิตใจอันเด็ดเดี่ยวทรนงแบบคนบ้าของ ดอน กิโฮเต้ นั้น แม้ว่าจะเป็นเพียงภาพล้อที่เกิดจากจินตนาการของผู้ประพันธ์ แต่ก็มีวิญญาณของความจริงรองรับและสามารถปลุกเร้าจิตใจของนักรบ ที่ยืนต้านอธรรมอยู่ในสมรภูมิชีวิตทุกคน จิตใจของ ดอน กิโฮเต้ นั้นเป็นจิตใจของคนประเภทที่ฆ่าได้หยามไม่ได้ จิตใจของคนที่รักเกียรติรักศักดิ์ศรี และมุ่งทำแต่ความดีโดยไม่ยอมประนีประนอมกับผู้ใดทั้งสิ้น ถ้าจะกล่าวในเชิงสัญลักษณ์แล้ว ดอน กิโฮเต้ ก็คืออุดมคติที่บริสุทธิ์ อันเป็นสิ่งที่มนุษย์โดยเฉลี่ยไม่สามารถยอมรับได้
ในทางตรงกันข้าม ซานโช ปานซ่า คือตัวแทนของความเป็นจริง เป็นตัวแทนของความจำเป็นทางด้านปากท้อง ซึ่งมนุษย์ทุกคนจะต้องเผชิญ เขาคือสัญลักษณ์ของความต้องการขั้นต่ำของมนุษย์ ซึ่งเกิดจากความจำเป็นโดยธรรมชาติ ซานโชไม่ใช่คนชั่วร้าย แต่เขาก็ไม่ใช่คนที่สูงส่ง เมื่อเซอร์วานเตสให้ซานโชมาเป็นผู้ติดตามของดอน กิโฮเต้ ก็เท่ากับจับอุดมคติมาประกบกับความเป็นจริงตลอดเวลา และมันได้ให้กำเนิดรสชาติที่สำคัญยิ่งของวรรณกรรมชิ้นนี้...
...ภาพที่ตัดกันระหว่างดอน กิโฮเต้ กับซานโช ปานซ่านั้น ได้กลายเป็นภาพอมตะ ก็เพราะมันสะท้อนแก่นแท้ในการดำรงอยู่ของโลกมนุษย์ สะท้อนเอกภาพของสิ่งตรงข้าม ซึ่งมีอยู่ทั้งในปัจเจกบุคคลและในสังคม มันอาจจะเป็นภาพขัดแย้งระหว่างอุดมคติกับความเป็นจริง ระหว่างจิตใจกับร่างกาย ระหว่างมโนธรรมกับตัณหา หรืออะไรอีกหลายๆ อย่างที่ขัดแย้ง แต่แยกออกจากกันไม่ได้ สภาพเช่นนี้มิใช่เรื่องตลกเพ้อเจ้ออีกต่อไปแล้ว หากคือข้อเท็จจริงของชีวิต
เราทุกคนล้วนมีดอน กิโฮเต้ และซานโช แฝงเร้นอยู่ในตัว จะต่างกันตรงที่ในบางคนนั้น ดอน กิโฮเต้มีฐานะครอบงำ ส่วนบางคนคอยแต่คล้อยตามซานโชอยู่ร่ำไป”
นิยายเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในชีวิต ความคิด ความรู้สึก ทั้งยังแฝงไว้ด้วยปรัชญาแห่งการแสวงหาความหมายของชีวิตได้อย่างคมคาย แนบเนียน ชวนให้ติดตามเรื่องราวพร้อมทั้งขบคิดสาระที่ผู้เขียนสื่อออกมาทางตัวละคร เรื่องราวในหนังสือ ผู้คนต่างมองว่า ดอน กิโฮเต้นั้นวิกลจริตหรือเป็นบ้า จนกระทั่งกัลบกและบาทหลวงซึ่งเป็นเพื่อนบ้านต้องออกติดตามและหาทางพาตัวเขากลับบ้านเพื่อจะได้รักษาอาการเสียจริตให้หาย แต่เหลือเชื่อว่าจิตใจของคนปกตินั้นเองกลับถูกสั่นคลอนด้วยอุดมการณ์อันแน่วแน่ของอัศวินวิกลจริตคนนี้
อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า โลกของ ดอน กิโฮเต้ นั้นแตกต่างจากคนทั่วไป จึงถูกผู้คนรอบข้างหัวเราะเย้ยหยัน แต่โลกภายในของ ดอน กิโฮเต้ กลับอุดมด้วยพลังแห่งความใฝ่ฝัน ตรงกันข้ามกับสภาพความเป็นจริงที่ผู้คนมองเห็นและมีชีวิตอยู่กันอย่างว่างเปล่าสิ้นหวัง
ในละครเวทีภาคภาษาไทยที่ถูกปรับและดัดแปลงมาจากนิยายนั้น สติสัมปชัญญะของดอน กิโฮเต้ อัศวินแห่งลามานช่า ได้ถูก ‘อัศวินกระจก’ ดึงกลับมาสู่โลกของความเป็นจริง พูดง่ายๆ ก็คือรักษาคนบ้าให้กลับมาเป็นปกติ แต่ทว่าสติที่ถูกฟื้นฟูก็แลกมาพร้อมกับความทรุดโทรมทั้งร่างกายและจิตใจ
บทละครช่วงนี้ได้โยนคำถามสำคัญกลับมายังผู้ชมให้ขบคิดว่า ใครกันแน่ที่เป็นคนบ้า?
ใช่หรือ... ที่คนวิกลจริตนั้นคือ ดอน กิโฮเต้ ผู้เปี่ยมด้วยอุดมคติและความใฝ่ฝัน ไม่กลัวแม้จะพ่ายแพ้เจ็บปวด ขอเพียงได้ส่งต่อความฝันให้กับผู้คนรอบข้าง ให้กล้าที่จะมองโลกอีกแบบหนึ่ง กล้าที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลกรอบข้าง
ดอน กิโฮเต้ อาจแพ้พ่ายสังขารตนเองและสิ้นชีวิตไปในที่สุด แต่อุดมคติและความฝันของเขากลับไม่ตาย เพราะมันถูกส่งผ่านไปยังผู้อ่านและผู้ชมให้ยืนหยัดมองโลกอย่างที่ควรจะเป็น
เป็นโลกใบใหม่ที่ทุกคนสามารถดัดแปลงและสร้างขึ้นเองได้
ในบทละคร เซรบานเตส/ดอน กิโฮเต้ (ใช้ผู้แสดงคนเดียวกัน เปรียบเป็นโลกความจริงและความฝัน) กล่าวประโยคซาบซึ้งกินใจคนดูมากที่สุดตอนหนึ่งว่า
“...ผมอยู่มาเกือบห้าสิบปีแล้ว ผมได้เห็นชีวิตอย่างที่มันเป็น เห็นความเจ็บปวด ทุกข์ยากหิวโหย ...มันเป็นความโหดร้ายเกินกว่าจะทำใจให้เชื่อได้ ผมได้ยินเสียงคนเมาร้องเพลงดังมาจากร้านขายเหล้า ได้ยินเสียงครวญครางดังมาจากกองขยะข้างถนน ผมเคยเป็นทหาร และได้เห็นเพื่อนล้มลงในสนามรบ... หรือไม่ก็ค่อยๆ ตายลงไปทีละน้อยอย่างทรมาน ผมเคยโอบพวกเขาไว้ในอ้อมแขน เมื่อวาระสุดท้ายมาถึง คนเหล่านี้ล้วนมองชีวิตอย่างที่มันเป็น กระนั้นก็ตายอย่างสิ้นหวัง ไม่เคยรู้จักความรุ่งโรจน์ ไม่เคยเอ่ยคำอำลาโลกอย่างกล้าหาญ... มีแต่ดวงตาที่เต็มไปด้วยความสับสน เฝ้าสะอึกสะอื้นถามว่า ‘ทำไม’ เขาคงไม่ได้ถามว่า ทำไมเขาต้องตาย หากปรารถนาจะถามว่า ทำไมจึงต้องมีชีวิตอยู่ด้วยเล่า... ในเมื่อชีวิตนั้นเองคือความบ้า ใครจะบอกได้ว่าความวิกลจริตมันอยู่ตรงไหน บางทีการพยายามปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เป็นอยู่นั่นแหละคือความบ้า การยอมล้มเลิกความใฝ่ฝันสิอาจเป็นความบ้า การไขว่คว้าหาดวงแก้วในที่ซึ่งมีแต่สิ่งปฏิกูล การพยายามเหนี่ยวรั้งสติสัมปชัญญะไว้ในโลกของเหตุผลนั่นแหละ คือความวิกลจริต และที่สุดของความบ้าทั้งปวง คือการมองชีวิตอย่างที่มันเป็น แทนการมองชีวิตอย่างที่มันควรจะเป็น...”
ถ้อยประโยคดังกล่าวในละคร เปรียบเหมือนบทสรุปรวบยอดความคิดของนิยาย ดอน กิโฮเต้ ที่ตราตรึงใจคนทั้งโลก
คอยกระตุ้นเตือนให้เรามองโลกและชีวิตที่แตกต่างไปจากสภาพที่เป็นอยู่
แม้จะเป็นโลกและชีวิตที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจลำบากยากยิ่งในการไปถึง
แต่เพื่อให้มนุษย์เผชิญหน้ากับโลกความจริงรอบตัวอย่างไม่สิ้นหวัง
โดยมีพืชพันธุ์แห่งความใฝ่ฝันเติบโตแข็งแรงอยู่ภายในจิตใจ
.........................................................................................
ที่มา
เดล วาสเซอร์แมน, มัทนี เกษกมล (แปล) รัศมี เผ่าเหลืองทอง (แก้ไขสำหรับการแสดง), สู่ฝันอันยิ่งใหญ่, สำนักพิมพ์บีซา (2530)
สมบัติ จำปาเงิน, โลกหนังสือ (ปีที่ 3 ฉบับที่ 1, 2522)
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, เส้นทางนักประพันธ์, สำนักพิมพ์สามัญชน (2538)
https://readthecloud.co/travelogue-11/ ภัทรียา พัวพงศกร, วางกุหลาบแดงให้ Miguel De Cervantes ขุนนางนักฝันที่เขียนหนังสือที่ดีที่สุดในโลก, 24 กรกฎาคม 2560
https://www.thaipost.net/main/detail/58036 นิทรรศการหนังสือที่ดีที่สุดในโลก "ดอนกิโฆเต้", ไทยโพสต์, 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
[1] เชคสเปียร์เสียชีวิตวันที่ 23 เมษายน ค.ศ.1616
[2] ตรีเอกภาพ (ศัพท์โรมันคาทอลิก) หรือ ตรีเอกานุภาพ (ศัพท์โปรเตสแตนต์) หรือ Trinity คือภาวะที่พระเป็นเจ้าพระองค์เดียวเป็นเอกภาพ แต่ปรากฏเป็นสามพระบุคคล คือ พระบิดา พระบุตร (เชื่อว่ามาเกิดเป็นพระเยซู) และพระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือพระจิต เป็นความเชื่อของคริสต์ศาสนาที่ยอมรับว่า “ในพระเจ้าเดียว มีสามพระบุคคล” สามสิ่งนี้ต่างบุคคลกันแต่มีธรรมชาติเดียวคือความเป็นพระเจ้า
[3] โปรดสังเกตตัวสะกดชื่อ กิโฮเต้ ที่ใช้กันจนคุ้นเคย แตกต่างกับ กิโฆเต้ ในการแปลฉบับสมบูรณ์เป็นภาษาไทย ซึ่งคาดว่าเพื่อออกเสียงให้ใกล้เคียงภาษาสเปน
[4] สะกดตามข้อเขียนของเสกสรรค์ หมายถึง เซรบานเตส นั่นเอง