Photo : Tuomas Uusheimo
วรรณกรรมสุดคลาสสิก เจ็ดภราดร (Seitsemän Veljestä) ประพันธ์โดย อเล็กซิส กิวิ (Alexis Kivi) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1870 เล่าเรื่องพี่น้องกำพร้าเจ็ดคนผู้ชื่นชอบการถกเถียงกับผู้คนมากมาย จนไม่มีใครอยากได้เป็นลูกเขย แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อต้องเข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นคริสต์ศาสนิกชน พวกเขาจึงจำเป็นต้องหัดอ่านให้แตกฉาน เพราะเป็นข้อกำหนดของพิธี ด้วยความดื้อดึง พวกเขาจึงตัดสินใจหนีเข้าป่า แต่ท้ายที่สุดก็หัดเรียนการอ่านเขียนด้วยตัวเอง และกลับเข้าหมู่บ้านได้สำเร็จ
เจ็ดภราดร ถือเป็นวรรณกรรมที่ได้รับการยกย่องในฟินแลนด์ในฐานะนิยายภาษาฟินแลนด์เล่มแรก และด้วยความสมจริงของเนื้อเรื่องเกี่ยวกับชีวิตผู้คนในสมัยนั้น ทั้งยังเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมการอ่านของฟินแลนด์ ในฐานะรากฐานของประเทศอีกด้วย [1] การอ่านออกเขียนได้จึงนับได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ฟินแลนด์ใช้สร้างความเสมอภาคในประเทศได้สำเร็จ การอ่านและการศึกษาจึงถือเป็นเรื่องเดียวกัน และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาประเทศมาได้จนถึงทุกวันนี้
แต่ไม่มีอะไรได้มาง่ายดายหรอก ดังที่นิยายเล่าไว้ว่า กว่าเจ็ดพี่น้องจะอ่านออกเขียนได้สำเร็จ พวกเขาก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ดังคำว่า ‘sisu’ ในภาษาฟินแลนด์ซึ่งอ่านไปอ่านมาเหมือน ‘สู้สู้’ แต่หากแปลแล้วน่าจะแปลได้ว่า ความมานะบากบั่น กล้าหาญ อดทน กว่าที่ฟินแลนด์จะเดินทางมาถึงทุกวันนี้ พวกเขาพยายามวางรากฐานสวัสดิการต่างๆ ไว้มากมาย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหนังสือได้ง่าย จนในที่สุดเขาก็สามารถสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เป็นสมบัติของคนในประเทศได้
แล้ววัฒนธรรมการอ่านที่ว่าหน้าตาแบบไหน (สถิติปี 2014) [2]
- ฟินแลนด์มีประชากร 5.5 ล้านคน ขายหนังสือกว่า 20 ล้านเล่มในแต่ละปี คิดง่ายๆ ก็คือคนหนึ่งคนจะซื้อหนังสือประมาณสี่เล่มต่อปี (รวมลูกเด็กเล็กแดงแล้วด้วย)
- คนฟินแลนด์ 1 ใน 6 ในช่วงอายุ 15-79 ปี ซื้อหนังสืออย่างน้อย 10 เล่มต่อปี
- 3 ใน 4 คนจะซื้อหนังสืออย่างน้อย 1 เล่มต่อปี
- คนฟินแลนด์ใช้เงินประมาณ 300 ยูโร หรือประมาณ 11,000 กว่าบาทต่อปีไปกับหนังสือและสิ่งพิมพ์อื่นๆ
- คนฟินแลนด์ชอบอ่านสารคดีมากที่สุด
- มีการตีพิมพ์หนังสือใหม่ๆ กว่าหมื่นเล่มต่อปี
- สัดส่วนหนังสือภาษาฟินแลนด์สูงกว่าหนังสือแปลกว่าห้าเท่า
- ปี 2015 [3] มูลค่าการตลาดของสิ่งพิมพ์ซึ่งรวมสื่ออิเล็กทรอนิกส์แล้วอยู่ที่ 232 ล้านยูโร หรือประมาณ 8,816 ล้านบาท (ไม่รวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับสิ่งพิมพ์ 24 เปอร์เซ็นต์ สำหรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์) แบ่งเป็น
- สิ่งพิมพ์ประเภทสารคดี (82 ล้านยูโร หรือประมาณ 3,116 ล้านบาท) ได้รับความนิยมมากกว่าวรรณกรรมประมาณสองเท่า (34.5 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,311 ล้านบาท)
- มูลค่าการตลาดของหนังสือเรียนคือ 80.8 ล้านยูโร หรือประมาณ 3,070 ล้านบาท
เหมือนกับหลายๆ ประเทศ มูลค่าสื่อสิ่งพิมพ์ในฟินแลนด์มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่สิ่งพิมพ์ดิจิตอลมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 1-4 ของปี 2016 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 11.3 เปอร์เซ็นต์
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า การสร้างวัฒนธรรมนั้นต้องการการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐ
- ห้องสมุดประเทศนี้เข้าฟรีทั้งหมด
- โดยเฉลี่ย คนฟินแลนด์หนึ่งคนจะยืมหนังสือจากห้องสมุดประมาณ 12 เล่มต่อปี
- เทศบาลทุกแห่งต้องมีห้องสมุดประจำอย่างน้อยหนึ่งแห่ง
- ทั่วประเทศนี้มีห้องสมุดกลาง 300 กว่าแห่ง
- ห้องสมุดสาขา 500 กว่าแห่ง
- ในพื้นที่ที่มีประชากรน้อย รัฐจะจัดหาห้องสมุดเคลื่อนที่ไปบริการประชาชน (มีจำนวนประมาณ 150 คัน และมีป้ายจอด 12,500 แห่งตามเมืองต่างๆ แถมมีเรือห้องสมุดอีกหนึ่งแห่ง) แต่ทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นเพียงร้อยละ 10 ของสถิติการยืมหนังสือโดยรวมเท่านั้น
- แต่กระนั้นห้องสมุดเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่ประชากรหนาแน่นก็เดินทางกว่า 50,000 กิโลเมตรต่อปี ในพื้นที่ห่างไกลห้องสมุดเคลื่อนที่ต้องเดินทางมากกว่านี้มาก คันหนึ่งอาจมีหนังสือและสิ่งพิมพ์ประเภทอื่นๆ บรรจุอยู่มากกว่า 4,000 เรื่อง
- ประชากรกว่าร้อยละ 40 เป็นขาประจำห้องสมุด และใช้ห้องสมุดอย่างน้อยเดือนละสองครั้ง
คนที่นี่เชื่อว่านิสัยรักการอ่านต้องสร้างที่บ้านก่อน นี่ถือเป็นแนวคิดหลักในการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ครอบครัวจึงถือว่าเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ พ่อแม่ฟินแลนด์กว่าร้อยละ 75 อ่านหนังสือให้ลูกๆ ฟังเพื่อเป็นการสร้างนิสัยในการอ่านที่ดีต่อไปในอนาคต[4]
นอกจากนี้องค์กรอื่นๆ ยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่น The Finnish Reading Center ซึ่งถือเป็นองค์กร NGO ที่สนับสนุนการอ่านของประชากรในฟินแลนด์ ทำงานร่วมกับสมาคมหนังสือและสถาบันต่างๆ อีกกว่า 10 สถาบัน เพื่อส่งเสริมการอ่านร่วมกับโรงเรียนและห้องสมุดทั่วฟินแลนด์ ในปี 2015 มีการจัดโครงการที่ชื่อว่า ‘100 authors, thousands of encounters’ ช่วยสนับสนุนให้นักเขียนได้พบปะผู้อ่านและนักเรียนตามโรงเรียนมากขึ้น ในโครงการนี้นักเขียนยังได้เข้าไปในเรือนจำ โรงพยาบาล เพื่อพบปะนักอ่านอีกด้วย
ผลลัพธ์ของการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน
- ฟินแลนด์มีอัตราการอ่านออกเขียนได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ของประชากร
- คะแนน PISA ประจำปี 2015 ในหมวดการอ่านของฟินแลนด์นั้นอยู่อันดับที่ 5 ของตาราง (อันดับแย่ลงกว่าครั้งก่อน)
- ตามงานวิจัย World’s Most Literate Nations จาก Central Connecticut State University ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีอัตราการอ่านออกเขียนได้ดีที่สุดในโลก (รวบรวมจากผลการทดสอบต่างๆ พฤติกรรมการอ่านหนังสือพิมพ์ จำนวนห้องสมุด ปีที่เข้าเรียนหนังสือ และจำนวนคอมพิวเตอร์ที่มีใช้ในประเทศ)[5]
เท่าที่สำรวจมาก็ไม่มีสูตรอะไรซับซ้อน คือทำอย่างไรก็ได้ให้คนเห็นคุณค่าของการอ่าน และทำให้การอ่านเป็นเรื่องง่ายเข้าถึงได้ทุกคน และทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกัน
- สร้างรากฐานวัฒนธรรมจากสิ่งที่พื้นฐานมาจากความเชื่อว่าการอ่านออกเขียนได้สำคัญ และต้องให้คุณค่าเพื่อที่จะได้มีสิทธิและความเสมอภาคในสังคมได้
- ครอบครัวช่วยสร้างนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนช่วยสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้
- รัฐจัดหาพื้นที่และสิ่งพิมพ์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค (ฟรีนั่นเอง)
ในปี 2014 ประเทศฟินแลนด์มีห้องสมุด 291 แห่ง ตั้งอยู่ในทุกๆ เทศบาล มีทั้งห้องสมุดสาขาและห้องสมุดเคลื่อนที่จำนวนมาก จำนวนการใช้งานห้องสมุดรวมแล้วกว่า 50 ล้านครั้ง คิดเป็นหนังสือและสื่อที่ถูกหยิบยืมถึง 91 ล้านชิ้น ตัวเลขเหล่านี้ชวนให้สงสัยว่า นอกจากบริการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายแล้ว ห้องสมุดฟินแลนด์ทำอะไรอีกบ้างเพื่อชวนให้คนเข้ามาใช้งาน
การอ่านไม่ใช่ทุกสิ่ง
การให้การศึกษาประชาชนฟินแลนด์อย่างไม่เป็นทางการนั้นดูจะมีคำจำกัดความที่กว้างออกไป ฟินแลนด์มองว่าข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อวันเวลาหมุนไป เทคโนโลยีต่างๆ ที่เริ่มเปลี่ยนไป ห้องสมุดต้องตามทุกสิ่งให้ทัน และทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลเหล่านั้น ดังนั้นสิ่งที่อาจทำได้ในห้องสมุดฟินแลนด์จะไม่เป็นแค่เพียงการอ่านอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้ข้อมูลที่เคยอยู่ในรูปแบบเดิมๆ อย่างเทปคาสเซ็ตต์ หรือแผ่นเสียง กลายเป็นไฟล์ดิจิทัล เพราะเมื่อข้อมูลถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบดิจิทัลแล้ว การแลกเปลี่ยนและเข้าถึงก็จะง่ายขึ้นเป็นกอง
งานศิลปะต่างๆ ก็ถือเป็นสิ่งที่พบได้ในห้องสมุด และงานศิลปะในและนอกห้องสมุดฟินแลนด์ก็มีตั้งแต่ภาพวาดไปจนถึงการแสดงต่างๆ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ห้องสมุดแห่งเมืองตูรกุ ทางตะวันตกของฟินแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นห้องสมุดที่เก่าที่สุดในฟินแลนด์ กล่าวว่า “เราอยากมอบทั้งความรู้และประสบการณ์ให้ผู้มาเยือน” ประสบการณ์นี้ก็ได้แก่ การจัดกิจกรรมนอกอาคารยามฤดูร้อนมาเยือน (ฤดูร้อนถือเป็นเดือนแห่งการพักผ่อนของชาวฟินแลนด์ ช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม ผู้คนจะมีวันหยุดยาว และนี่ถือเป็นโอกาสทำคะแนนของห้องสมุดต่างๆ) ตัวอย่างกิจกรรม เช่น ทัวร์ห้องสมุดต่างๆ ด้วยการปั่นจักรยาน การชมการแสดงต่างๆ หรือแม้แต่บริการให้ข้อมูลกิจกรรมนอกอาคารต่างๆ ของเมือง
และเมื่อการอ่านเป็นเรื่องแสนสำคัญ ห้องสมุดเซลโล (Sello) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองเอสโป (Espoo) เมืองปริมณฑลของเฮลซิงกิ จึงจ้างนักบำบัดสำหรับเด็กๆ ผู้มีอาการบกพร่องทางการอ่าน ที่น่ารักที่สุดคือเจ้า ‘เบอริเย’ (Börje) เจ้าตูบที่จะคอยต้อนรับเด็กๆ ยามมาใช้ห้องสมุด ซึ่งเจ้าเบอริเยถือเป็นผู้ช่วยบำบัดเด็กๆ เหล่านี้ แถมผู้ใหญ่ก็ชื่นชอบตามอ่านบล็อกของมันที่คอยเล่าเรื่องกิจกรรมการอ่านสนุกๆ อีกด้วย[6]
วีดิทัศน์ ‘เบอริเย’ เจ้าตูบเพื่อนรักนักอ่านแห่งห้องสมุดเซลโล
ส่วนตัวคิดว่า แนวคิดการออกแบบห้องสมุดและกิจกรรมต่างๆ ของห้องสมุดที่ให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานอย่างแท้จริงเป็นกลไกอันสำคัญยิ่งที่จะทำให้คนหันมาใช้บริการห้องสมุดมากขึ้น ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นก็คือ โครงการปรับปรุงห้องสมุดกลางแห่งเมืองเฮลซิงกิ ที่เปิดโอกาสให้ชาวเมืองเข้าร่วมกิจกรรมการแสดงความคิดเห็นในการออกแบบห้องสมุดแห่งใหม่นี้ [7]
ผู้อ่านไม่ได้เหมือนกันทุกคน
ปรัชญาพื้นฐานหนึ่งของการให้บริการและสวัสดิการของรัฐบาลฟินแลนด์คือ ‘ความเสมอภาค’ คำนี้ไม่ได้หมายความว่าประชากรทุกคนจะได้รับบริการแบบเดียวกัน แต่มันยังครอบคลุมถึงบันไดที่ไปสู่บริการเหล่านั้น ซึ่งอาจแตกต่างไปตามความจำเป็นทั้งทางกายภาพและทางสังคมของบุคคลนั้นๆ ตัวอย่างหนึ่ง เช่น บริการภาษาเข้าใจง่าย หรือ Selkokieli ซึ่งเป็นบริการจัดผลิตสื่อช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าว หรือหนังสืออื่นๆ Selkokielikeskus หรือศูนย์ภาษาเข้าใจง่ายนี้ ให้บริการกับบุคคลผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้และผู้อพยพ ซึ่งอาจไม่เข้าใจภาษาฟินแลนด์มากพอ โดยศูนย์มีการจัดพิมพ์ข่าว Selkosanomat หรือข่าวภาษาอ่านง่าย ในรูปแบบออนไลน์ ทั้งภาษาฟินแลนด์และภาษาสวีเดน (ผู้เขียนก็เรียนภาษาฟินแลนด์จากการอ่านและฟังข่าวเหล่านี้เช่นกัน)
นอกจากนี้ยังให้บริการกับองค์กรรัฐและเอกชนผู้ต้องการจัดพิมพ์สื่อสำหรับบุคคลกลุ่มนี้ ซึ่งคาดว่ามีประมาณร้อยละ 4-7 ในประเทศฟินแลนด์ และยังมีการสนับสนุนให้จัดพิมพ์หนังสือ โดยให้บริการทั้งรูปแบบสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน เครื่องมือเหล่านี้ยังช่วยให้พ่อแม่และองค์กรทางการศึกษามีอุปกรณ์ในการใช้สื่อสารและให้ข้อมูลต่างๆ กับคนกลุ่มนี้ได้อีกด้วย[8]
กิจกรรมการอ่านในห้องเรียนก็เปลี่ยนไปแล้ว
เนื่องในวาระฉลองครบรอบการก่อตั้งประเทศฟินแลนด์ปีที่ 100 (ปี 2017) มีโครงการมากมายที่ถูกคิดค้นโดยครูและนักเรียนในโรงเรียน เพื่อทดลองวิธีการเรียนการสอนและกิจกรรมแบบใหม่ๆ ทุกๆ โครงการมีการกำหนดระยะเวลาการทดลอง ต้องรายงานผลระหว่างและหลังจากการดำเนินโครงการไปแล้ว หากพบว่าได้ผลดีก็ค่อยขยายผลกันต่อไป
โครงการระยะทดลองเกี่ยวกับการอ่านโครงการหนึ่งจึงถือกำเนิดขึ้น โครงการนี้จะเป็นการออกแบบการเรียนการสอนเพื่อนักเรียนระดับประถมศึกษา โดยสอนให้เด็กๆ เป็นนักอ่านที่ชื่นชอบการอ่าน พร้อมกับมีทักษะคิดวิเคราะห์จากการอ่าน โดยสามารถเรียนรู้และเก็บกรองข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเองได้ เอ้อ…แล้วทำยังไงดีล่ะเนี่ย
โครงการนี้จัดอยู่ในหลักสูตรวิชาภาษาฟินแลนด์ โดยมีการตั้งเป้าหมายว่านักเรียนจะต้องสามารถเลือกสิ่งที่ตัวเองสนใจอ่านได้เอง และองค์กรต่างๆ จะช่วยจับมือกันสร้างสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ทั้งวิดีโอ ภาพ และข้อความ กิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทดลองทำไปแล้วในห้องเรียนมากมาย เช่น กิจกรรมการอ่านนิทานร่วมกับการแสดง การบูรณาการกิจกรรมการอ่านเข้ากับวิชาคณิตศาสตร์ การเล่าเรื่องที่นักเรียนอ่านเป็นภาพ และจัดกิจกรรมงานประดิษฐ์ต่างๆ สำหรับเด็กเล็ก การจัดทำแฟ้มการอ่านให้เด็กเล็ก โดยเด็กๆ จะได้ประเมินหนังสือที่ตัวเองอ่านไปพร้อมทั้งเขียนเล่าประสบการณ์การอ่านของตัวเอง (ฟินแลนด์มองว่าต้องสนับสนุนทั้งการอ่านและเขียนไปพร้อมๆ กัน) ทั้งหมดนี้จะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของนักเรียน และการที่นักเรียนมีอิสระในการเลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการอ่านได้โดยมีครูเป็นผู้ช่วยแนะนำ[9]
อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือ การชวนคุณตาคุณยายมาร่วมอ่านหนังสือในห้องเรียน และร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักเรียน กิจกรรมนี้จะให้เวลา 30 นาทีกับคุณตาคุณยายที่สนใจโดยมีองค์กรอย่าง Niilo Mäki Institute คอยสนับสนุนเรื่องการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ โดยคุณตาคุณยายกลุ่มแรกที่ได้เข้าร่วมทดลองอ่านหนังสือในกิจกรรมนี้ เป็นคุณตาคุณยายที่มีภูมิหลังเป็นผู้อพยพมาก่อน โดยกลุ่มนี้ยังร่วมทำงานกับ Suomen Isovanhemmat ry (Finland’s Grandparent Association) หรือสมาพันธ์คุณตาคุณยายแห่งฟินแลนด์ (มีองค์กรแบบนี้ด้วย) และศูนย์ผู้อพยพทั่วฟินแลนด์ เพื่อให้คุณตาคุณยายที่เป็นผู้อพยพได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกับนักเรียนด้วย[10]
Photo : HundrED
วัฒนธรรมการอ่านอันแข็งแกร่งของฟินแลนด์นั้นมีองค์ประกอบหลักมาจากความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมของประชากร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศที่น่าดึงดูดใจตามความต้องการของประชาชน การทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพราะฟินแลนด์ต้องการสร้างประชากรที่มีคุณภาพ ด้วยรู้ตัวดีว่าทรัพยากรธรรมชาตินั้นมีจำกัด แต่ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพจะสามารถต่อยอดทรัพยากรอื่นๆ ที่มีได้ไม่มีที่สิ้นสุด
[1] Finnish Lessons 2.0 เขียนโดย Pasi Sahlberg แปลโดย วิชยา ปิดชามุก สำนักพิมพ์ Open Worlds
[2] finland.fi